คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 74

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพ การพิสูจน์องค์ประกอบความผิด การรับสิทธิจากผู้มีอำนาจ
โจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศภาคีในอนุสัญญากรุงเบิร์น กับเป็นประเทศภาคีในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า อันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ได้ทำและนำออกสู่สาธารณชนซึ่งรายการกีฬาทางโทรทัศน์ช่อง "ESPN" กับ "STAR SPORTS" และรายการข่าวทางโทรทัศน์ข่าว "CNN" ตามลำดับ โดยการแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ จึงเป็นผู้สร้างสรรค์ซึ่งมีลิขสิทธิ์ร่วมกับบริษัทยูบีซี (UBC) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทรูวิชันส์ (true visions) ทำความตกลงการมีสิทธิเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่องดังกล่าวแก่สมาชิกผู้รับบริการภายในเขตประเทศไทย แต่จำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ทั้ง 3 ช่องดังกล่าวมาจาก ล. ที่ประเทศมาเลเซีย โดยจ่ายค่าตอบแทนให้ ล. ทั้งปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ด้วยว่า การรับภาพและเสียงนั้น หากที่จอเครื่องรับโทรทัศน์ไม่ปรากฏเครื่องหมาย "UBC" แสดงว่าเป็นการรับภาพและเสียงจากต้นกำเนิดโดยตรง กรณีมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการช่องดังกล่าวมาจาก ล. ที่ประเทศมาเลเซีย จำเลยทั้งสองจึงมิได้กระทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำแก่งานของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดและไม่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าดังที่โจทก์ฟ้อง ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่ภาพแพร่เสียงจาก ล. มาโดยชอบหรือไม่ ล. ได้รับมอบสิทธิจากโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ให้ทำการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่องดังกล่าวแต่ผู้เดียวในประเทศมาเลเซียและมีสิทธิอนุญาตช่วงให้จำเลยทั้งสองทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำในประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 อาจไปว่ากล่าวเอาแก่ ล. หรือไม่ต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง ของกลางจึงไม่ใช่สิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดไม่อาจริบได้ ต้องคืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11047/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าและการโฆษณาเกินจริง ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้น
บทความเกี่ยวกับวิตามิน อี ที่โจทก์จัดทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เป็นบทความที่จัดทำขึ้นด้วยการใช้ข้อความที่แตกต่างกัน แม้จะประกอบด้วยข้อมูลเพียง 3 ถึง 5 ย่อหน้าสั้น ๆ แต่บทความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเป็นการเรียบเรียงขึ้นโดยอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลหรือเป็นการแปลข้อมูลจากบทความอื่นโดยตรง แต่ได้แสดงให้เห็นถึงทักษะ การตัดสินใจและความวิริยะอุตสาหะในการนำข้อมูลที่มีอยู่มาเรียบเรียงเป็นบทความ จึงเป็นงานสร้างสรรค์และถือได้ว่าเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
กฎหมายลิขสิทธิ์มุ่งประสงค์ที่จะให้ความคุ้มครองการแสดงออก ไม่ได้ให้ความคุ้มครองความคิด ดังนั้น แม้บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิตามิน อี แต่ฝ่ายจำเลยนำสืบให้เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี มีอยู่แล้วในบทความต่าง ๆ ซึ่งมีปรากฏเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วไป ข้อมูลดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องนำมาจากบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ทั้งบทความตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 มีการระบุถึงแหล่งที่มาของบทความอ้างอิงไว้ด้วย เมื่อเปรียบเทียบบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 กับบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการนำข้อความที่เป็นสาระสำคัญในเนื้อหาของบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 มาใช้โดยตรง หรือเป็นการดัดแปลงบทความดังกล่าวเพียงเล็กน้อยหรือในส่วนที่ไม่สำคัญ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ของโจทก์
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 บุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้ชื่อของตน การที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อโจทก์ในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อของโจทก์
จำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิในชื่อของโจทก์ หาได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงไม่จำต้องพิจารณาว่าจะนำข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 74 มาใช้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 หรือไม่ เมื่อไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายแล้วโจทก์จะต้องนำสืบตามข้อกล่าวอ้างของตนให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการละเมิดสิทธิของโจทก์เช่นใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5410/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการดำเนินคดีอาญาต่อกรรมการบริษัทผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ การร้องทุกข์และการระบุตัวผู้กระทำผิด
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 74 มีเจตนารมณ์ให้ดำเนินคดีเพื่อลงโทษกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลที่นิติบุคคลนั้นกระทำความผิดด้วย โดยให้ถือว่าร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลเป็นตัวการด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 แต่ความเป็นนิติบุคคลของบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากจำเลยที่ 2 ที่มีฐานะเป็นกรรมการ ประกอบกับความรับผิดในทางอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำผิด ดังนั้น เมื่อหนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ระบุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น จึงไม่มีผลที่จะให้ถือได้ว่าโจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ด้วย แม้ว่าในขณะที่ไปร้องทุกข์โจทก์ร่วมยังไม่รู้จักชื่อกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ว่าเป็นจำเลยที่ 2 แต่ก็มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่กรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่ระบุตำแหน่งไว้ได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ภายในอายุความแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5410/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาของกรรมการบริษัทในฐานะตัวการร่วม กรณีละเมิดลิขสิทธิ์ของนิติบุคคล
เจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 74 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ต้องการให้ดำเนินคดีเพื่อลงโทษกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลที่นิติบุคคลนั้นกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย โดยให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นได้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลดังกล่าวโดยเป็นตัวการด้วยกัน ตาม ป.อ. มาตรา 83 แต่ความเป็นนิติบุคคลของบริษัทจำเลยที่ 1 นั้น เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากความเป็นบุคคลของจำเลยที่ 2 ที่มีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ประกอบกับความรับผิดในทางอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำผิด กล่าวคือ บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเท่านั้น ดังนั้น แม้บทบัญญัติมาตรา 74 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 จะบัญญัติให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ร่วมมีหนังสือมอบอำนาจให้ ว. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยหนังสือมอบอำนาจระบุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น กรณีจึงไม่มีผลที่จะให้ถือได้ว่าโจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้รับผิดในฐานที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
แม้ว่าในขณะที่ไปร้องทุกข์ดังกล่าวโจทก์ร่วมยังไม่รู้จักชื่อกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ว่าเป็นจำเลยที่ 2 แต่โจทก์ร่วมก็มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่ระบุตำแหน่งไว้ได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามไว้