คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ม. 22

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11102/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการซ้ำซ้อนขัดหลักกฎหมาย อนุญาโตตุลาการชุดหลังมีคำชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อย
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดก่อนได้มีการจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงผู้ร้องและผู้คัดค้านโดยชอบแล้ว ย่อมเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณี ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 21 วรรคสี่
กำหนดระยะเวลาที่มาตรา 23 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คู่กรณีมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดนั้น หมายถึงเฉพาะกรณีที่มีคู่กรณีฝ่ายใดไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดและจำเป็นที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องบังคับให้คู่กรณีฝ่ายนั้นยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดเท่านั้น เมื่อคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดก่อนไม่เข้าเกณฑ์ที่ผู้คัดค้านจำเป็นจะต้องร้องขอให้ศาลบังคับให้ผู้ร้องยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาด แม้ผู้คัดค้านมิได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 23 วรรคหนึ่งดังกล่าว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดก่อนก็ยังมีผลผูกพันคู่กรณีอยู่ หาสิ้นผลบังคับไปไม่ ดังนั้น การนำข้อพิพาทที่ได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วโดยอนุญาโตตุลาการชุดก่อนซึ่งคำชี้ขาดเป็นที่สุดและยังคงมีผลผูกพันคู่กรณีอยู่ไปรื้อร้องขอต่ออนุญาโตตุลาการชุดหลังให้พิจารณาชี้ขาดซ้ำอีก ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือได้ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดหลังขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดได้
การที่อนุญาโตตุลาการชุดหลังได้รับคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องไว้พิจารณาแล้วมีคำชี้ขาดใหม่ ฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2544 เป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 อันเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีคำชี้ขาด เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ให้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดหลังในวันที่ 5 มิถุนายน 2545 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังวันที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีผลใช้บังคับแล้ว กรณีย่อมต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ให้อำนาจศาลที่จะทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ถ้าปรากฏต่อศาลว่าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2551)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2501/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยอายุความ และขอบเขตการอุทธรณ์คำชี้ขาด
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายใช้บังคับขณะพิพาทให้อำนาจอนุญาโตตุลาการที่จะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ดังนั้น อนุญาโตตุลาการย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้ว่าหนี้หรือสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 22 บัญญัติว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดให้เป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณี ดังนี้ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมเป็นที่สุด ส่วนการที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้หรือไม่ เป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 ที่อนุญาตให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้ หากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ปัญหาเรื่องอายุความเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความแล้วไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7655/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพัน แม้ไม่มีข้อกำหนดต้องเสนอข้อพิพาทก่อนบอกเลิกสัญญา
สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย ระบุว่าในกรณีมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญานี้และคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด มิได้มีข้อความใดๆ กำหนดว่าก่อนจะมีการบอกเลิกสัญญาต้องนำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการก่อน และกรณีนี้ก็ได้มีการนำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนฟ้องคดีแล้ว ตามสัญญาข้อ 21.4 ระบุว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือของอนุญาโตตุลาการผู้ชี้ขาดแล้วแต่กรณี ให้ถือเป็นเด็ดขาดและถึงที่สุดผูกพันคู่สัญญา เมื่อได้พิจารณาประกอบกับ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 20 แล้ว เห็นว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยชี้ขาดเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำขอของคู่กรณี คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงชอบด้วยกฎหมาย เป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีตามมาตรา 22 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการ: สิทธิอุทธรณ์จำกัดตาม พรบ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 การวินิจฉัยข้อพิพาทภายในสัญญา
ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ทำสัญญาตกลงกันไว้ว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมาให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทนั้นให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงใช้วิธีระงับข้อพิพาทกับอนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้น ซึ่งการระงับข้อพิพาทดังกล่าวมีพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530มาตรา 22 ได้บัญญัติบังคับไว้แล้วว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดให้เป็นที่สุด และผูกพันคู่กรณีเมื่อผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้น กรณีของผู้คัดค้านจะอุทธรณ์ได้หรือไม่ จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 26 เท่านั้น เหตุผลที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น สรุปได้ว่า อนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยชี้ขาดไปตาม ข้อเท็จจริงและสัญญา ไม่หยิบยกพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้าน เห็นว่าสำคัญขึ้นวินิจฉัย ไม่รับฟังความเห็นของร. ซึ่งเป็นวิศวกรผู้เชี่ยวชาญกลางที่อนุญาโตตุลาการแต่งตั้งขึ้น จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเกี่ยวกับเนื้อหาแห่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้นการที่อนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ย่อมเป็นสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบ ส่วนการที่ผู้คัดค้านอ้างว่าอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยนอกเหนือความรับผิดของสัญญาและกำหนดความรับผิดในดอกเบี้ยผิดกฎหมายอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยนั้น ตามสัญญาก่อสร้างคลองฝั่งซ้ายระบุให้เสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวต่ออนุญาโตตุลาการ การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านรับผิดตามข้อเรียกร้องที่ 13 ค่างานเพิ่มเติมและข้อ 18 ค่าเร่งรัดงาน จึงเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาแล้ว หาใช่การวินิจฉัยนอกเหนือสัญญาไม่ส่วนข้อที่อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยให้ผู้คัดค้านรับผิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2535 แต่ผู้คัดค้านอ้างว่ายังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านผิดนัดและวันที่ดังกล่าวมิใช่วันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นก็เป็นการโต้เถียงในข้อเท็จจริงว่าจะฟังว่าจำเลยผิดนัดแล้วหรือไม่เท่านั้น จึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไม่ต้องตามหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นของบทบัญญัติมาตรา 26 ดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงไม่มี สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น