คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/41 ทวิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขแผนฟื้นฟูและการไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาหลังบอกเลิกสัญญาแล้ว
ผู้บริหารแผนเสนอขอแก้ไขแผน เรื่องการไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาจ้างผู้บริหารตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/63 วรรคหนึ่ง และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนแล้ว แต่ข้อกำหนดที่ขอแก้ไขในแผนดังกล่าวจะดำเนินการได้หรือไม่ย่อมเป็นปัญหาในชั้นปฏิบัติตามแผนที่ขอแก้ไข ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะตรวจสอบเนื้อหาและรายละเอียดข้อเท็จจริงของการใช้อำนาจของผู้บริหารแผนดังกล่าวได้อีกว่าถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่
การไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/41 ทวิ จะต้องเป็นสัญญาที่มีผลใช้บังคับอยู่มิใช่ได้มีการบอกเลิกสัญญาไปแล้ว เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นปฏิบัติตามแผนที่ขอแก้ไขว่า สิทธิตามสัญญาจ้างผู้ร้องได้มีการบอกเลิกสัญญาไปแล้ว แม้ยังมีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ผู้บริหารแผนก็ยื่นข้อเสนอขอแก้ไขแผนเพื่อจะขอใช้อำนาจไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาจ้างผู้ร้องตามมาตรา 90/41 ทวิ ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ยอมรับสิทธิสัญญาหลังบอกเลิกสัญญา: ผู้บริหารแผนต้องพิจารณาผลบังคับใช้ของสัญญา
การไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/41 ทวิ ผู้บริหารแผนจะต้องระบุถึงทรัพย์สินและสิทธิตามสัญญาที่จะไม่ยอมรับในแผนฟื้อฟูกิจการหรือข้อเสนอขอแก้ไขแผน และจะต้องกระทำภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่ผู้บริหารแผนทราบคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือคำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนแล้ว สิทธิตามสัญญาดังกล่าวยังจะต้องเป็นสัญญาที่มีผลใช้บังคับอยู่ มิใช่ได้มีการไม่ยอมรับหรือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวไปแล้ว
เมื่อสัญญาจ้างผู้ร้องได้มีการบอกเลิกสัญญาไปแล้วก่อนศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผน และคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ การที่ต่อมาผู้บริหารแผนยื่นข้อเสนอขอแก้ไขแผนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/63 วรรคหนึ่ง เพื่อที่จะขอใช้อำนาจไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาจ้างผู้ร้องดังกล่าว ทั้งที่สัญญาไม่มีผลใช้บังคับแล้วจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 90/41 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5633-5638/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาก่อสร้างในคดีฟื้นฟูกิจการ ต้องอาศัยเจตนาของคู่สัญญาฝ่ายเดียวกันทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 390
การไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/41 ทวิ นั้น ต้องกำหนดรายการปฏิเสธสิทธิดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามมาตรา 90/42 (10) และเนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้เกี่ยวกับรายละเอียดในการชำระหนี้ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ภายใต้กรอบของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง กรณีใดที่กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วก็จะต้องนำบทบัญญัติในเรื่องอื่นหรือกฎหมายอื่นมาใช้บังคับ การเลิกสัญญาในกรณีที่คู่สัญญาเป็นบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการมิได้บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 390 ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าในสัญญาใดคู่สัญญาเป็นบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง ท่านว่าจะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก็แต่เมื่อบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันใช้ ทั้งใช้ต่อบุคคลเหล่านั้นรวมหมดทุกคนด้วยกัน?" บทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่าการที่ลูกหนี้จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาก่อสร้างในโครงการบำบัดน้ำเสียกับผู้ร้องที่ 4 ซึ่งมีผลเท่ากับบอกเลิกสัญญาก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสียได้นั้น ลูกหนี้กับบริษัท พ. และบริษัท ล. ซึ่งได้ตกลงทำสัญญากิจการร่วมค้าในลักษณะห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนจะต้องแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาด้วยกัน ลูกหนี้จะแสดงเจตนาไปโดยลำพังหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3402/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาผู้ถือหุ้นขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อยของประชาชน โมฆะ ไม่มีผลบังคับ ทำให้ผู้ถือหุ้นไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย
การขอรับชำระหนี้ในค่าเสียหายเนื่องจากผู้บริหารแผนไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือ สิทธิตามสัญญาที่สภาวะเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้และบุคคลภายนอกต่างมีสิทธิและหน้าที่ ซึ่งกันและกัน สัญญาที่จะก่อให้เกิดหน้าที่แก่ลูกหนี้ดังกล่าวได้ ข้อสัญญาดังกล่าวจะต้องสมบูรณ์และมีผลบังคับ ตามกฎหมาย
ผู้ร้องได้สนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทลูกหนี้โดยผู้ร้องเข้าไปซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท สถานะดังกล่าวมีผลเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องมีส่วนในการเป็นเจ้าของลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากเงินลงทุนเพียงใด ย่อมเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1200 มาตรา 1201 และ มาตรา 1269 การที่สัญญาผู้ถือหุ้นระหว่างผู้ร้อง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และลูกหนี้ ข้อ 1 (1)(3) กำหนดว่า "ผู้ถือหุ้น กับบริษัทจะดำเนินการให้กรรมการของบริษัทถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของหุ้นในบริษัทในการออกหุ้นแต่ละครั้งและจะไม่ออกหุ้นใหม่ของบริษัทให้แก่บุคคลใดๆ ซึ่งจะมีผลทำให้กรรมการถือหุ้น คิดเป็นร้อยละต่ำกว่าร้อยละที่ระบุไว้ข้างต้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นและผู้ร้อง" และข้อ 3 กำหนดว่า "บริษัทและผู้ถือหุ้นจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ลงทุนสำหรับต้นทุนค่าใช้จ่าย ค่าสูญหายและค่าเสียหาย (รวมทั้งค่าธรรมเนียมทางกฎหมายที่สมเหตุสมผล) ที่เกิดขึ้นต่อผู้ลงทุนอันเกี่ยวเนื่องกับการที่บริษัทและผู้ถือหุ้นไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ได้" ข้อสัญญาดังกล่าวในส่วนของลูกหนี้กับผู้ร้องจึงขัดต่อบทบัญญัติของ ป.พ.พ. ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดรูปแบบของบริษัทจำกัด รูปแบบผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทอันเป็นกฎหมายที่กำหนดแบบแผนที่สังคมจะต้องปฏิบัติร่วมกัน มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอกถือว่าเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ผู้ร้องจึงมิได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ซึ่งได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/41 ทวิ แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3402/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงผู้ถือหุ้นขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อย ย่อมตกเป็นโมฆะ และไม่มีผลผูกพันในการขอรับชำระหนี้
ผู้บริหารแผนใช้อำนาจไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/41 ทวิ วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางอ้างว่าได้รับความเสียหายโดยการกระทำของผู้บริหารแผนเพื่อให้ศาลได้มีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องพอถือได้ว่าเป็นคำร้องคัดค้านการกระทำของผู้บริหารแผนตามมาตรา 90/41 ทวิ วรรคสอง ถือว่ากรณีมีข้อโต้เถียงเป็นคดี และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้ภายใน 1 เดือน นับแต่วันคดีถึงที่สุดตามมาตรา 90/26 วรรคสอง
ผู้ร้องสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทลูกหนี้ โดยผู้ร้องเข้าไปซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท สถานะดังกล่าวมีผลเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องมีส่วนในการเป็นเจ้าของลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น ประโยชน์ที่ผู้ร้องจะได้รับจากเงินที่ลงทุนซื้อหุ้นไปอย่างไรย่อมเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1200 มาตรา 1201 และมาตรา 1269 กล่าวคือ ผู้ถือหุ้นจะได้รับผลตอบแทนก็แต่เฉพาะเงินปันผลและจะได้รับชำระคืนเงินค่าหุ้นเมื่อมีการเลิกบริษัทและชำระบัญชีและมีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัทครบถ้วนแล้ว การที่ผู้ร้องได้ร่วมลงทุนในบริษัทลูกหนี้โดยเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวโดยมีสัญญาผู้ถือหุ้น (shareholders agreement) ระหว่าง ผู้ร้อง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และลูกหนี้ ซึ่งกำหนดในสัญญาให้ผู้ถือหุ้นกับบริษัทลูกหนี้จะต้องดำเนินการให้กรรมการของบริษัทลูกหนี้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของหุ้นในบริษัทในการออกหุ้นแต่ละครั้งและจะไม่ออกหุ้นใหม่ให้แก่บุคคลใดๆ ซึ่งจะมีผลทำให้กรรมการถือหุ้นคิดเป็นร้อยละต่ำกว่าร้อยละที่ระบุไว้ข้างต้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นและผู้ร้อง และกำหนดให้บริษัทลูกหนี้และผู้ถือหุ้นจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้อง สำหรับต้นทุน ค่าใช้จ่าย ค่าสูญเสียและค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ร้องอันเกี่ยวเนื่องกับการที่บริษัทและผู้ถือหุ้นไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันที่กำหนดในสัญญาผู้ถือหุ้นได้ ข้อสัญญาดังกล่าวในส่วนลูกหนี้กับผู้ร้องจึงขัดต่อบทบัญญัติของ ป.พ.พ. ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดรูปแบบของบริษัท รูปแบบผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทอันเป็นกฎหมายที่กำหนดแบบแผนที่สังคมจะต้องปฏิบัติร่วมกัน มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก ทั้งเป็นการวางรูปแบบองค์กรทางธุรกิจเพื่อให้สาธารณชนยึดถือและปฏิบัติ ถือว่าเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาผู้ถือหุ้น (shareholders agreement) เฉพาะส่วนที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทลูกหนี้กับผู้ถือหุ้น และความรับผิดอันเกิดจากการผิดสัญญาดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อข้อสัญญาในส่วนที่กำหนดให้ลูกหนี้มีหน้าที่ต่อผู้ร้องตกเป็นโมฆะ ผู้ร้องจึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ซึ่งได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/41 ทวิ