คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 150

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 796 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4899/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าครบกำหนดแล้วอยู่ต่อถือเป็นการละเมิด สัญญาเช่าต่างตอบแทนพิเศษต้องมีหลักฐานชัดเจน
โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยโดยบรรยายฟ้องว่า สัญญาเช่าที่จำเลยเช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ทั้งสองได้ครบกำหนดระยะเวลาการเช่าแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าอยู่อีกต่อไป จึงฟ้องขับไล่จำเลย ขอให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหาย ส่วนจำเลยให้การว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยมีข้อตกลงเช่ากันเป็นเวลา 20 ปี จำเลยไม่ได้ค้างชำระค่าเช่า สัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนด ประเด็นข้อพิพาทข้อแรกจึงมีว่า ในขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีนี้นั้น สัญญาเช่าอาคารพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยครบกำหนดระยะเวลาการเช่าแล้วหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลในคำวินิจฉัยโดยยกข้อต่อสู้ของจำเลยในทำนองที่ว่า หากฟังได้ตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่ามีสิทธิเช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ทั้งสองได้ 20 ปี นับจากวันทำสัญญาก็ตามขณะที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาอยู่ระยะเวลาการเช่าก็ครบกำหนดแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าอีกต่อไป จำเลยจึงต้องออกจากอาคารพิพาทนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยโดยใช้ระยะเวลาในการตั้งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองและข้อต่อสู้ของจำเลยไม่ตรงกับเหตุในคดี แต่เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้าออกไปเกินสมควร เนื่องจากข้อเท็จจริงในคดีพอวินิจฉัยได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก
ข้อตกลงที่จะยินยอมให้โจทก์ทั้งสองระบุจำนวนค่าเช่าให้ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยตามกฎหมายนั้น ย่อมเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จำเลยจึงไม่อาจยกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในคดีได้ แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้มาเบิกความหักล้างข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวก็ตาม จำเลยและสามีเช่าอาคารพิพาทเพื่อทำเป็นห้องอาหารและห้องเล่นสนุกเกอร์ แม้จะใช้เงินลงทุนปรับปรุงอาคารถึง 7,000,000 บาท แต่ก็เป็นการลงทุนปรับปรุงอาคารเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของจำเลยและสามีเองยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
เมื่อสัญญาเช่าตามฟ้องครบกำหนดระยะเวลาและโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อไปแล้ว การอยู่ในอาคารพิพาทต่อมาของจำเลยจึงเป็นการละเมิดโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายนับแต่วันผิดสัญญาถึงวันฟ้องและนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากอาคารพิพาทตามคำขอของโจทก์ทั้งสองนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4391/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายสิทธิการทำประกันภัยตกเป็นโมฆะเนื่องจากสิทธิเป็นสิทธิเฉพาะตัวที่ไม่สามารถโอนได้
ตามสัญญาจะซื้อขาย ระบุว่า ผู้จะขาย (โจทก์) และผู้จะซื้อ (จำเลย) ตกลงซื้อสิทธิและอุปกรณ์พร้อมการทำประกันวินาศภัยในสำนักงานของโจทก์ ซึ่งเปิดเป็นสำนักงานที่ทำการประกันวินาศภัยของบริษัท ท. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนาของคู่ความคือโจทก์และจำเลยว่า ประสงค์จะซื้อขายสิทธิในการทำสัญญาประกันวินาศภัยที่โจทก์มีอยู่กับบริษัท ท. และอุปกรณ์ในสำนักงาน แต่เนื่องจากสิทธิในการทำสัญญาประกันภัยหรือสิทธิในการเป็นตัวแทนประกันภัยเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่สามารถโอนกันได้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ที่โจทก์เบิกความในชั้นพิจารณาว่า เป็นสิทธิการเช่านั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ เนื่องจากโจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินเชื่อส่วนบุคคลเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด: โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
ข้อกำหนดซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 แห่ง ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาต ตาม ข้อ 5 แห่งประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ไว้ในข้อ 4.4 (1) ให้ผู้ประกอบธุรกิจอาจเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ทั้งนี้ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ (ร้อยละ 15 ต่อปี) โดยอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ ดังกล่าว รวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี (Effective rate) โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ โดยอัตรารวมสูงสุดไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี แต่ข้อเท็จจริงตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาสินเชื่อบุคคลปรากฏว่า ในการที่โจทก์อนุมัติเงินกู้ให้แก่จำเลยจำนวน 18,900 บาท นั้น โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 1.25 ต่อปี หรือร้อยละ 15 ต่อปี และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ กับค่าดำเนินการอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการจำนวน 1,000 บาท ซึ่งสามารถคำนวณเป็นร้อยละได้อัตราร้อยละ 5.29 ของวงเงินกู้ที่โจทก์อนุมัติ เมื่อรวมอัตราดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและค่าดำเนินการ การอนุมัติเงินกู้ซึ่งเป็นค่าบริการเข้าด้วยกันแล้วจะเป็นอัตราร้อยละ 30.29 เกินกว่าอัตราร้อยละ 28 ต่อปี ที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยค่าบริการและค่าธรรมเนียมในอัตราดังกล่าว จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3504/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าจ้างทนาย: สัญญาไม่เป็นโมฆะ แต่ลดหย่อนได้ตามส่วนงานที่ทำจริง
สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลชั้นต้นมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และคู่ความอุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ต่อมาจึงชอบด้วยกฎหมาย
ตามคำฟ้องและคำให้การฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยตกลงค่าจ้างว่าความกัน 250,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะจ่ายค่าจ้างว่าความให้โจทก์ต่อเมื่อจำเลยได้รับเงินจาก ส. ลูกหนี้แล้ว ไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยตกลงให้สินจ้างกันอีกร้อยละ 5 ของเงินที่จำเลยจะได้รับชำระจาก ส. ลูกหนี้ของจำเลยหรือไม่ ดังนั้น ที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์เรียกค่าจ้างว่าความจากจำเลยเป็นเงิน 40,000 บาท และเรียกเพิ่มอีกร้อยละ 5 เมื่อจำเลยได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นรับฟังไม่ได้ คดีจึงไม่มีปัญหาว่าสัญญาจ้างว่าความเป็นโมฆะหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2680/2551 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัย: การผิดสัญญา, ภูมิลำเนา, และการคิดดอกเบี้ยจากหนี้ค่าปรับ
จำเลยทำสัญญาประกันผู้ต้องหากับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล ส. โดยมี อ. เป็นผู้รับสัญญาเป็นตัวแทนคู่สัญญากับจำเลย อ. จึงมิได้กระทำในฐานะส่วนตัว เมื่อจำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาแก่โจทก์ตามกำหนดนัด แม้ อ. ยังเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาล ส. ก็ตาม แต่เมื่อ ธ. เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล ส. ในขณะยื่นฟ้องและเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 จึงมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยได้โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
คำร้องขอประกันและสัญญาประกันผู้ต้องหาที่จำเลยทำกับโจทก์อยู่ในเอกสารฉบับเดียวกัน คำร้องดังกล่าวมีข้อความว่า จำเลยขอประกัน จ. ซึ่งต้องหาว่าออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็ค ฉ้อโกง... ฟังได้ว่าจำเลยเจตนาประกันตัวผู้ต้องหาในความผิดฐานฉ้อโกงด้วย เมื่อโจทก์พิจารณาคำร้องขอประกันของจำเลยและอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา จำเลยจะอ้างว่าประกันผู้ต้องหาเฉพาะความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากใช้เช็คฯ ซึ่งระบุไว้ในสัญญาประกันและจะเรียกหลักประกันเกิน 1 ใน 3 ของจำนวนเงินตามเช็คหาได้ไม่ เมื่อการกระทำความผิดทั้ง 2 ฐานเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การที่โจทก์ใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนเงินให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันเป็นเงิน 975,000 บาท อันเป็นการพิจารณาให้ประกันในความผิดฐานฉ้อโกงที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ซึ่งไม่เกิน 3 ใน 4 ของจำนวนเงิน 1,300,000 บาท ที่ผู้เสียหายถูกผู้ต้องหาฉ้อโกงไปตามหลักเกณฑ์ จึงชอบแล้ว สัญญาประกันไม่เป็นโมฆะ
แม้จำเลยจะอยู่กับครอบครัวที่บ้านเลขที่ 44/16 แต่บ้านเลขที่ 62/2 ซึ่งเป็นที่ทำการพรรคฯ ซึ่งจำเลยได้แจ้งย้ายเข้าไปอยู่เพื่อสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ปี 2529 จนบัดนี้ยังไม่แจ้งย้ายไปอยู่แห่งใหม่ โดยจำเลยอยู่ที่บ้านเลขที่ 62/2 ในวันเสาร์ อาทิตย์และจันทร์ ที่ทำการพรรคดังกล่าวเป็นที่ทำการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฯ มีเจ้าหน้าที่หมุนเวียนประจำอยู่ กับจำเลยได้แจ้งที่อยู่ให้พนักงานสอบสวนว่าเป็นที่อยู่สะดวกแก่การติดต่อดังนี้ บ้านเลขที่ 62/2 จึงเป็นทั้งภูมิลำเนาและเป็นหลักแหล่งที่ทำการตามปกติของจำเลย กรณีถือได้ว่าจำเลยมีถิ่นที่อยู่หลายแห่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 38 การที่โจทก์มีหนังสือให้จำเลยส่งตัวผู้ต้องหาแก่โจทก์โดยส่งไปยังบ้านเลขที่ 62/2 จึงเป็นการส่งตามภูมิลำเนาของจำเลยแล้ว เมื่อมีผู้รับหนังสือแทนโดยชอบและจำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัด จำเลยจึงผิดสัญญา
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคแรก นั้น โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ทันทีที่จำเลยตกเป็นลูกหนี้ผิดนัด แต่การที่จำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัดเป็นเพียงก่อให้เกิดหนี้ต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น จำเลยจะตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ในเงินค่าปรับก็ต่อเมื่อโจทก์ได้เตือนให้จำเลยชำระหนี้แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน, ดอกเบี้ย, และการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ศาลฎีกาแก้ไขดอกเบี้ยเป็นตามที่ตกลงกัน
บริษัทจำเลยมีวัตถุประสงค์ในข้อ (4) คือ การรับ ออก โอนและสลักหลังตั๋วเงินหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้อย่างอื่น และตามข้อ (35) ประกอบธุรกิจบริการรับค้ำประกันหนี้สิน ความรับผิด และการปฏิบัติตามสัญญาของบุคคลอื่น การที่จำเลยรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งเป็นการค้ำประกันอย่างหนึ่ง จึงเป็นการกระทำตามวัตถุประสงค์ของจำเลย
การออกตั๋วสัญญาใช้เงินและผู้ออกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968 (1) ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน จึงมิใช่การให้กู้ยืมเงินตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 การที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ก็มิใช่กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงไม่เป็นโมฆะ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ลูกหนี้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดจึงไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่
บริษัท ป. ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ เมื่อถึงกำหนดใช้เงินปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้รับชำระเงิน ต่อมาบริษัท ป. ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ การที่โจทก์นำตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 บัญญัติไว้ โจกท์มิได้มอบหรือโอนสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องให้แก่ผู้ใด โจทก์จึงยังคงเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินได้
ในคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ลูกหนี้โจทก์ระบุอัตราดอกเบี้ยที่ขอรับชำระหนี้ไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยในบัญชีแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้ระบุในช่องหมายเหตุว่า ลูกหนี้มิได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ให้เมื่อครบกำหนด แต่ได้มีการตกลงทางวาจาว่า อัตราดอกเบี้ยใหม่จะเป็นร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้นจำเลยผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งจะต้องร่วมรับผิดกับบริษัท ป. ผู้ออกตั๋วแก่โจทก์ จึงต้องรับผิดในต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงรับผิดชอบความเสียหายจากบัตรภาษี การทวงหนี้ และดอกเบี้ยผิดนัด
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าบัตรภาษีตามฟ้องถูกต้องตามกฎหมาย ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรจริงเพราะเหตุใด ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าพิพาทจริงจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนบัตรภาษีมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีจำเลยที่ 2 สัญญาว่า หากปรากฏว่าการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของผู้โอนสิทธิเกิดจากการทุจริตและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนยินยอมรับผิดต่อโจทก์โดยไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้และมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 2 เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 2 เป็นความรับผิดในหนี้เงินอันเกิดแต่สัญญาและไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 คืนเงินชดเชย 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 ขอให้คืนเงินชดเชย 1,779,673.94 บาท ครั้งที่สองวันที่ 14 สิงหาคม 2547 ขอให้คืนเงินชดเชยเพิ่มเติม 307,017.61 บาท ซึ่งเป็นการทวงถามถึงเงินชดเชยคนละจำนวนกันและตามหนังสือทวงถามดังกล่าวไม่อาจทราบได้ว่าฉบับใดเป็นการทวงถามถึงเงินชดเชยตามมูลค่าบัตรภาษีในคดีนี้ ตามหนังสือทวงถามทั้งสองฉบับระบุให้คืนบัตรภาษีหรือชดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ในหนังสือ แต่ตามใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 18 และ 19 จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 และวันที่ 19 สิงหาคม 2547 ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาจะให้ระยะเวลาชำระหนี้เพียงใด นับได้ว่าทั้งสองกรณีมีข้อสงสัยจึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องถือว่าโจทก์มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ทราบถึงการทวงถามครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547 ครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันถัดไปคือวันที่ 4 กันยายน 2547 และเมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมูลหนี้อันเกิดแต่สัญญาตามฟ้องแล้ว ดังนี้ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเป็นเรื่องลาภมิควรได้หรือเรื่องละเมิดหรือไม่ก็ไม่เป็นเหตุที่จะยกประเด็นดังกล่าวตามที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขึ้นวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำต้องมีคู่ความเดียวกัน สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ขัดกฎหมาย
กรณีจะเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น คู่ความทั้งสองคดีต้องเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อคดีก่อน ก. เป็น โจทก์โดยมีโจทก์คดีนี้เป็นผู้ฟ้องแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของ ก. ผู้เยาว์ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นส่วนตัวในฐานะเป็นคู่สัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่คู่ความเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
บันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยกระทำละเมิดต่ออำนาจปกครองของโจทก์โดยพรากผู้เยาว์ไปจากโจทก์ ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าคู่กรณีประสงค์จะระงับคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน สัญญาประนีประนอมยอมความตามบันทึกดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำต้องพิจารณาคู่ความเดียวกัน และสัญญาชดใช้ค่าเสียหายที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
กรณีจะเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น คู่ความทั้งสองคดีต้องเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อคดีก่อน ก. เป็นโจทก์มีโจทก์คดีนี้เป็นผู้ฟ้องแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของ ก. ผู้เยาว์ แต่คดีโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นส่วนตัวในฐานะเป็นคู่สัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่คู่ความเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
บันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยกระทำละเมิดต่ออำนาจปกครองของโจทก์โดยพรากผู้เยาว์ไปจากโจทก์ ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าคู่กรณีประสงค์จะระงับคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน สัญญาประนีประนอมยอมความตามบันทึกดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายวงแชร์เป็นนิติบุคคล: นิติกรรมโมฆะ สิทธิเรียกร้องสมาชิกวงแชร์
พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 5 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์" มาตรา 6 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้..." และมาตรา 7 บัญญัติว่า "บทบัญญัติในมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์" จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่ากฎหมายได้แยกการกระทำของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ต่างหากจากกัน ทั้งได้บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ในการเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะกรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่กรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็นนิติบุคคล กฎหมายหาได้ให้สิทธิเช่นว่านั้นไม่ ฉะนั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าแชร์รายพิพาทมีห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เป็นนายวงแชร์ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง การเล่นแชร์รายนี้ย่อมเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เช็คพิพาทที่สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวจึงปราศจากมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย แม้โจทก์และจำเลยต่างเป็นสมาชิกวงแชร์ด้วยกัน โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ได้ ข้อเท็จจริงที่ว่าการเล่นแชร์รายนี้มีห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เป็นนายวงแชร์หรือไม่ จึงเป็นสาระสำคัญที่ต้องวินิจฉัย แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังมาจึงไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ยังมิได้วินิจฉัยดังกล่าวอาจเป็นผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามลำดับชั้นศาลเสียก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (3), 243 (3) (ข) ประกอบมาตรา 247
of 80