คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 150

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 796 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5172/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ที่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย และสิทธิในการครอบครองที่ดิน
การซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม...ฯลฯ" ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 นั้น จะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การที่โจทก์ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 ให้แก่จำเลย ถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินจึงไม่มีผลบังคับ ส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า หลังจากจำเลยซื้อที่ดินพิพาทโจทก์ จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว จึงได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครองนั้น ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเกษตรกรรม ฯลฯ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้ต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน และตามมาตรา 37 ก็ห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 โดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าว เห็นว่า ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองผู้ที่ได้รับจัดสรรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 ได้ เพราะเมื่อผู้ได้รับจัดสรรที่ดินละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองที่ดินก็กลับตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใหม่ ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดให้เกษตรกรที่เหมาะสมได้รับต่อไป และไม่ปรากฏว่าได้มีการพิจารณาและอนุมัติให้จำเลยได้รับสิทธิในที่ดินพิพาทแต่ประการใด จึงไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปขึ้นมาได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์แบ่งขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและได้ส่งมอบการครอบครองให้จำเลยแล้ว ทั้งจำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามตนเอง การที่โจทก์กลับมาอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01) และมาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท แม้จำเลยไม่มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็เป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3149/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบริการทางการแพทย์ไม่ใช่จ้างทำของ แต่เป็นสัญญาที่คู่กรณีทำขึ้นด้วยความสมัครใจ ค่ารักษาพยาบาลต้องพิจารณาความเหมาะสม
สัญญาการบริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์และจำเลย แม้จะมีลักษณะเป็นการจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ที่มีการตกลงรับทำการงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนสำเร็จ เพื่อจะให้ได้สินจ้างจากงานที่ทำนั้นก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่าการรักษาพยาบาลร่างกายนั้น แม้ทั้งฝ่ายโรงพยาบาลหรือแพทย์ผู้ให้การรักษาและผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะมีเจตนาเดียวกันโดยมุ่งผลสำเร็จของงานคือการหายจากอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ก็ตาม แต่เมื่อร่างกายไม่ใช่ทรัพย์สินหรือสิ่งของที่จะสามารถกำหนดได้ว่าการรับทำงานต้องสัมฤทธิ์ผลในการรักษาได้อย่างแน่นอน เพราะการรักษาต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าบาดแผลที่ได้รับ สภาพและอายุของผู้ป่วย ลักษณะของโรค ความยากง่ายในการรักษา เป็นต้น ดังนั้นการจะนำเอาผลสำเร็จของงานในการรับจ้างทำทรัพย์สินหรือสิ่งของมาใช้เป็นมาตรฐานเดียวกับการรักษาว่าจะต้องหายจากอาการเจ็บป่วยย่อมเปรียบเทียบกันไม่ได้ โดยจะต้องขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ ภาวะและวิสัย ทั้งของผู้ป่วย แพทย์ และลักษณะของโรคขณะที่ทำการรักษาเป็นกรณีไป ดังนั้น สัญญาบริการทางการแพทย์จึงไม่ใช่การจ้างทำของโดยแท้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่สัญญาทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้จัดการมรดกในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและมติที่ประชุมชอบด้วยกฎหมาย
ป. เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ตามคำสั่งศาลจึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท ย่อมมีสิทธินำหุ้นอันเป็นทรัพย์มรดกของ อ. เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยอันเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ทั่วไปของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1723 โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาท เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ได้มีลักษณะเป็นตัวแทนของทายาท เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดก ให้นำบทบัญญัติ บรรพ 3 ลักษณะตัวแทนมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น และการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่การทำนิติกรรมอันจะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 จึงไม่ตกเป็นโมฆะ
การที่โจทก์ที่ 1 ถูกถอดถอนอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลย แล้วให้ ป. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยเกิดจากการลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้น แม้ ป. ในฐานะส่วนตัวจะออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบตามมติดังกล่าว แต่ได้งดออกเสียงลงคะแนนในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. การกระทำของ ป. จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นตามมาตรา 5 และมาตรา 421 เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดครบองค์ประชุมตามข้อบังคับ การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบริการประกันชีวิตผิดกฎหมาย: การจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้าทำให้สัญญานั้นเป็นโมฆะ
โจทก์ทำสัญญาบริการกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงรับจ้างให้บริการสรรหาและฝึกอบรมบุคลากรเพื่อเป็นตัวแทน 25 คน และผู้บริหารงานขาย 5 คน ในการเป็นตัวแทนของโจทก์ทำหน้าที่หาลูกค้าเข้าทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ให้ได้ผลงานเป็นเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 5,000,000 บาท ภายในรอบระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2554 ซึ่งโจทก์ได้ค่าตอบแทน 1,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ไปรับแล้วเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 หากบุคลากรทำผลงานให้โจทก์ไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินตามวิธีคิดคำนวณที่กำหนดไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1 กระทำไม่ได้เบี้ยประกันภัยได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ แต่การที่โจทก์จ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2553 แสดงว่าโจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนที่จะครบรอบการผลิตผลงานให้แก่โจทก์ในวันที่ 31 มกราคม 2554 เป็นการจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้แก่โจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 (7) ซึ่งห้ามมิให้บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัท และบริษัทที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 (7) ดังกล่าวต้องรับโทษทางอาญาตามมาตรา 93 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการควบคุมบริษัทประกันชีวิตให้จ่ายเงินหรือค่าตอบแทนภายในขอบเขตตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ การทำสัญญาบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 ถือเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย มีผลทำให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจนำสัญญาบริการมาฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยทั้งสามได้ การที่โจทก์จ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้โจทก์แก่จำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกคืนเงินค่าตอบแทนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกที่ดินให้โดยไม่มีข้อตกลงคืน สัญญายังมีผลบังคับใช้ ที่ดินไม่ถือเป็นทรัพย์มรดก
ตามหนังสือสัญญายกให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามที่ปรากฏเป็นหลักฐานในการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน มีข้อความปรากฏเฉพาะการที่ พ. มารดาของจำเลยยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงหรือเงื่อนไขให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่ พ. ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง สัญญาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว โจทก์ทั้งสองก็ยอมรับว่าถูกต้องสมบูรณ์และใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับการที่จำเลยนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไปจำนองเป็นหลักประกันการกู้เงินกับธนาคาร เช่นนี้ สัญญายกที่ดินพิพาทให้ตามฟ้องจึงไม่ใช่สัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยที่จะต้องตกเป็นโมฆะ สำหรับที่ดินพิพาทแปลงโฉนดเลขที่ 1876 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยรับกันว่า มีการชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ปี 2547 ก่อนที่ พ. จะถึงแก่ความตายประมาณเกือบ 10 ปี แต่ไม่ปรากฏว่า พ. จะได้ดำเนินการในลักษณะที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เช่น การมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามหรือดำเนินคดี อีกทั้งโจทก์ทั้งสองนำสืบว่า รู้เรื่องราวดังกล่าวเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ไม่ได้มีการจัดการหรือช่วยเหลือ พ. เพื่อให้จำเลยคืนที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ พ. จำเลยให้การและนำสืบยืนยันข้อเท็จจริงตลอดมาว่า จำเลยไม่ได้เคยตกลงกับ พ. ที่จะโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงคืนดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองยังไม่มีน้ำหนักมากถึงขนาดที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดก พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8921/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงถอนฟ้องคดีอาญาแผ่นดินเป็นโมฆะ แม้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรให้รอการลงโทษและปรับ
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่คดีความผิดอันยอมความได้ บันทึกข้อตกลงในส่วนที่จะถอนฟ้องจึงเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติครบถ้วนตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงด้วยการให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น จำเลยก็จะใช้สิทธิขอให้บังคับในคดีนี้ไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8304/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการจดจำนองในคดีล้มละลาย: การจำนองก่อนคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการจำนองหลังคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เป็นโมฆะ
แม้การปลดจากการล้มละลายมีผลทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากการล้มละลายและมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนได้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนที่ได้มานับตั้งแต่วันที่ได้รับการปลดจากการล้มละลายเท่านั้น ที่ดินตราจองตามคำร้อง จำเลยที่ 2 ได้มาตั้งแต่ปี 2526 ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด ซึ่งถือว่าเป็นเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายและขณะศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวอยู่ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 (1) ผู้ร้องจึงมีอำนาจจัดการที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ประกอบกับจำเลยที่ 2 ซึ่งถูกปลดจากการล้มละลายยังมีหน้าที่ช่วยในการจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินของตนซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องหลังจากจำเลยที่ 2 ได้รับการปลดจากการล้มละลายแล้วก็ตาม เมื่อทรัพย์สินดังกล่าวตกอยู่ในอำนาจของผู้ร้องในขณะเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายได้
สำหรับการจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 นั้น เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 จำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินตามคำร้องต่อธนาคาร ก. และในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 นำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านอันอยู่ในระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองกับผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ก็เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำนองต่อผู้คัดค้านมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ก. ซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวอยู่ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเงินจากผู้คัดค้านแล้ว จำเลยที่ 2 ก็นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ก. แล้วนำที่ดินที่ไถ่ถอนจำนองนั้นมาจดทะเบียนจำนองต่อผู้คัดค้านในทันที กรณีจึงเป็นเพียงการเปลี่ยนสถาบันการเงินผู้รับจำนอง เช่นนี้ การจดทะเบียนจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 จึงเป็นเพียงสัญญาจำนองที่สืบเนื่องมาจากสัญญาจำนองเดิมเท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115 จึงไม่อาจเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจำนองที่ดินตามคำร้องแก่ผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 วันที่ 16 พฤษภาคม 2551 วันที่ 2 มิถุนายน 2552 และวันที่ 16 ธันวาคม 2552 นั้น เป็นการกระทำภายหลังจากวันที่จำเลยที่ 2 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ซึ่งเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ห้ามมิให้จำเลยที่ 2 กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 ดังนั้น การจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจำนองที่ดินที่จำเลยที่ 2 กระทำขึ้นในวันดังกล่าวเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8265/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัย - ดอกเบี้ยผิดนัด - ความขัดต่อความสงบเรียบร้อย - สินค้าผิดกฎหมาย
การทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 นั้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องร่วมรู้หรือมีความมุ่งหมายในการนั้น การทำสัญญาประกันอัคคีภัย ผู้ร้องไม่ทราบว่าสินค้าที่เอาประกันภัยเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์หรือละเมิดเครื่องหมายการค้าซึ่งถือเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย ตัวแทนของผู้ร้องเพียงแต่ถ่ายภาพสินค้าในตู้โชว์สินค้าไว้เพียงภาพเดียว ผู้คัดค้านไม่เคยแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวให้ทราบว่าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่และผู้ร้องไม่เคยทราบหรือล่วงรู้ว่าสินค้าที่เอาประกันภัยไว้เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายเช่นนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องรู้รายละเอียดยี่ห้อนาฬิกาข้อมือ ระดับราคาหรือแหล่งที่มาของนาฬิกาที่ผู้คัดค้านนำมาขายย่อมเห็นได้ว่าผู้ร้องคงมีเจตนารับประกันภัยสินค้านาฬิกาข้อมือที่ผู้คัดค้านมีไว้เพื่อขายโดยทั่วไปเท่านั้น สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่านาฬิกาข้อมือดังกล่าวอาจจะมีลักษณะเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่นั้นผู้ร้องมิได้รู้เห็นด้วย สัญญาประกันอัคคีภัยในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือจึงทำขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านกรณีเกิดอัคคีภัยหรือภัยเพิ่มเติมที่ตกลงทำประกันภัย ซึ่งเมื่อผู้คัดค้านเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีไว้เพื่อขาย หากนาฬิกาข้อมือได้รับความเสียหายจากอัคคีภัยหรือภัยที่ระบุไว้ ย่อมทำให้ผู้คัดค้านสูญเสียตัวทรัพย์หรือผลประโยชน์ที่จะได้จากทรัพย์สินนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านหาได้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ผู้ร้องและผู้คัดค้านจึงมีความผูกพันกันตามเงื่อนไขข้อตกลงและความรับผิดในการรับประกันอัคคีภัยที่มีผลบังคับโดยสมบูรณ์
ผู้ร้องอ้างว่า นาฬิกาข้อมือที่ผู้คัดค้านเอาประกันอัคคีภัยสต็อกสินค้าไว้กับผู้ร้องเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่นนั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ผู้คัดค้านถูกดำเนินคดีอาญาฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น ซึ่งหากศาลในคดีอาญาลงโทษผู้คัดค้านโดยให้ริบสินค้านาฬิกาข้อมือปลอม ผู้คัดค้านก็จะไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินส่วนนั้นอีกต่อไป แต่ตราบใดที่ผู้คัดค้านยังคงยึดถือและครอบครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีไว้เพื่อขายในฐานะเจ้าของสินค้าเหล่านั้นโดยผู้คัดค้านไม่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับสินค้านาฬิกาข้อมือดังกล่าว ต้องถือว่าไม่มีบุคคลใดมีสิทธิในทรัพย์สินนั้นดีกว่าผู้คัดค้าน หากถือตามที่ผู้ร้องอ้างว่า สัญญาประกันอัคคีภัยกรณีนี้ไม่ให้ความคุ้มครองสินค้านาฬิกาข้อมือที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น และผู้ร้องไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือที่ผิดกฎหมาย ก็จะเป็นการระงับสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งที่ไม่มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้คัดค้านในความผิดตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง จึงเสมือนกับผู้ร้องสามารถอ้างเอาว่าการกระทำใดๆ ของผู้คัดค้านเป็นความผิดในทางอาญาก็ได้ ซึ่งไม่น่าจะชอบด้วยเหตุผล การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือให้แก่ผู้คัดค้าน ก็เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาประกันอัคคีภัยซึ่งมีผลผูกพันคู่สัญญาโดยชอบ คำชี้ขาดในส่วนนี้เป็นการบังคับตามสัญญาเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น มิได้มีผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวมแต่อย่างใด การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนสต็อกสินค้านาฬิกาข้อมือ 2,012,446.75 บาท จึงหาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
การชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย การกำหนดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น เมื่อตามสัญญาประกันอัคคีภัยมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องรับผิดในดอกเบี้ยในกรณีที่ผู้ร้องผิดนัดชำระค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อไปได้ ผู้คัดค้านก็ไม่มีเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ได้ทั้งการที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น เห็นว่า เป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการใช้อำนาจกำหนดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าที่ผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องหรือวันอื่นหลังจากนั้นโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (6) เมื่อข้อต่อสู้ที่ผู้ร้องยกขึ้นต่อสู้ว่าสินค้าที่นำมาเอาประกันภัยเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย สัญญาประกันภัยไม่คุ้มครอง ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นโดยตรงและเป็นสาระแก่คดี กรณีจึงไม่มีเหตุให้อนุญาโตตุลาการที่จะกำหนดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังนี้ การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในส่วนที่ให้ผู้ร้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ตามมาตรา 40 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7570/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกจ้างต่อความเสียหายจากการขายสินค้าโดยชอบตามสัญญาจ้างแรงงาน
คู่มือสำหรับพนักงานขาย ข้อ 14 ที่กำหนดให้พนักงานขายต้องรับผิดชอบบัญชีขายทุกรายการที่ตนเองขาย เช่น ร้านค้าเก็บเงินไม่ได้ เช็คคืน เป็นต้น เป็นการตกลงประกันการก่อให้เกิดความเสียหายไว้ล่วงหน้าว่าลูกจ้างที่มีส่วนได้รับค่าตอบแทนการขายจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายจากการตัดสินใจขายสินค้าให้แก่ลูกค้าของนายจ้าง อันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนสิทธิและผลประโยชน์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง จึงไม่มีผลเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกำหนดระเบียบให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานโดยชอบและสุจริตแล้วยังจะต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายที่ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วย ย่อมเป็นระเบียบที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควรและไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง คู่มือสำหรับพนักงานขายดังกล่าวคงมีผลบังคับใช้ให้โจทก์ที่ 1 รับผิดชำระค่าสินค้าแทนลูกค้าของจำเลยได้เฉพาะกรณีที่โจทก์ที่ 1 ตัดสินใจขายสินค้าและรับชำระค่าสินค้าด้วยเช็คจากลูกค้าโดยไม่ถูกต้องและไม่สุจริตอันเป็นผลให้ไม่สามารถเก็บเงินค่าสินค้าให้แก่จำเลยได้เท่านั้น แม้โจทก์ที่ 1 จะรับชำระค่าสินค้าจากลูกค้าเป็นเช็คและต่อมาเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ขายสินค้าและรับชำระค่าสินค้าถูกต้องตามคู่มือสำหรับพนักงานขายดังกล่าวแล้ว หาได้มุ่งหมายให้จำเลยไม่ได้รับชำระค่าสินค้าไม่ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานโดยชอบและสุจริต โจทก์ที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายในจำนวนเงินค่าสินค้าตามเช็คให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษา: สิทธิของบุคคลภายนอก และนิติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้" เมื่อสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่ตกลงโอนให้แก่กันดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ง.509/2545 ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งต้องร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 และพวกชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โจทก์เดิมและเจ้าหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จึงมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 และไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ซึ่งมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแทนโจทก์เดิมได้ ดังเช่นที่
พระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ให้สิทธิแก่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมได้ ดังนั้น โดยสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่เปิดช่องให้โอนแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก นอกจากนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 2 ในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวก็มีที่มาจากการที่ลูกหนี้ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิม โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม การที่ลูกหนี้ที่ 2 ชำระเงินให้แก่ธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ผู้เข้าสวมสิทธิแทนบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิมในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน 3,000,000 บาท แล้วธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 โดยให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่น และผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ย่อมมีผลทำให้สิทธิและความรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกันคือ ลูกหนี้ที่ 2 และทำให้หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเป็นอันระงับสิ้นไปสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง, 353 ซึ่งมีผลให้ลูกหนี้ที่ 2 ไล่เบี้ยเงินจำนวนเฉพาะที่ได้ชำระหนี้ไปตามคำพิพากษาดังกล่าวคืนจากลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 เท่านั้น การที่ลูกหนี้ที่ 2 และธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โดยตกลงให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่นและผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเต็มจำนวนเป็นเงินรวม 71,728,342.42 บาท แทนแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีลักษณะเป็นการซื้อขายความ มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาแล้ว เจ้าหนี้จึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ได้
of 80