คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 572

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 626 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3902/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาเช่าซื้อและการผ่อนผันเวลาชำระหนี้ การยึดรถและการกลับสู่สภาพเดิม
การที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เกินกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อตลอดมาทุกงวด โจทก์ก็ยินยอมรับไว้โดยมิได้ทักท้วง ตามพฤติการณ์แสดงว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดในการชำระค่าเช่าซื้อแล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญอีกต่อไป จึงนำเอาข้อกำหนดในสัญญาเช่าซื้อมาใช้บังคับโดยถือว่าโจทก์ยอมผ่อนผันเวลาที่สัญญาจะเลิกกันออกไปอีก และถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีในวันที่ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าเช่าซื้อหาได้ไม่ ในกรณีดังกล่าวหากโจทก์ต้องการจะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ก่อน โจทก์เพียงแต่มีหนังสือถึงจำเลยทั้งสาม ให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาล่าช้าเท่านั้น หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายโดยอ้างว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันก่อนแล้ว ถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่าซื้อ แต่การที่โจทก์ได้ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งการยึดแต่อย่างใดเลยเป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างประสงค์หรือสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันแล้วนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ถึงแม้ว่าโจทก์จะได้ติดตามยึดรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 มาครั้งหนึ่งแล้วก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ยังชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์อยู่แสดงว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังคงผูกพันกันตามสัญญาเช่าซื้ออยู่ สัญญายังมิได้เลิกกันในช่วงนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ
เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิม จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อจะต้องคืนรถยนต์เพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อกลับคืนสู่ฐานะเดิม และจะต้องใช้เงินเป็นค่าเสียหายแก่โจทก์ในการใช้รถยนต์ของโจทก์ในระหว่างที่ตนยังไม่ส่งมอบรถยนต์คืนตามควรค่าแห่งการนั้น ๆด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2903/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของทรัพย์สินไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดของผู้นำไปใช้ จึงมีสิทธิขอคืนทรัพย์
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 จะมีข้อความระบุถึงความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่เช่าซื้อโดยผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียวก็ตาม ข้อสัญญาดังกล่าวก็เป็นแต่เพียงข้อสัญญาที่กำหนดขึ้นเพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้ากับทรัพย์สินที่เช่าซื้อ ยังไม่พอที่จะถือว่าผู้ร้องต้องการแต่ราคาค่าเช่าซื้อเป็นสำคัญและใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องเพิ่งทราบจากเจ้าพนักงานตำรวจว่ารถจักรยานยนต์ของกลางถูกยึดหลังจากผู้เช่าซื้อขาดผ่อนชำระเพียงงวดเดียวก็รีบมาร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางทันที เชื่อได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเช่าซื้อช่วงรถยนต์และการชดใช้ราคาจากผู้ให้เช่าซื้อเดิมเมื่อสัญญาเช่าซื้อเดิมสิ้นสุด
โจทก์เช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทราบว่า รถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2มาจำหน่าย และจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์เช่าซื้อช่วงรถยนต์คันดังกล่าว โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อที่ทำไว้กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนไปจากโจทก์ได้แต่การที่โจทก์เช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ซึ่งถือเป็นพ่อค้าตามความหมายดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1332 โดยสุจริต โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับชดใช้ราคารยนต์ที่ซื้อมาจากจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2084/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับในสัญญาเช่าซื้อสูงเกินควร ศาลลดอัตราดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
สัญญาเช่าซื้อกำหนดว่า เมื่อผู้ให้เช่าซื้อยึดทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืน แล้วนำออกขายได้เงินเท่าใดให้นำไปชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เหลือเท่าใดจำเลยยอมรับผิดในส่วนที่ขาด เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหากสูงเกินควรศาลอาจลดลงได้ ดอกเบี้ยของค่าเสียหายที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อข้อ 7อัตราร้อยละ 18 ต่อปี เป็นเบี้ยปรับและสูงเกินส่วน เห็นสมควรกำหนดให้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1925/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละประโยชน์จากเงื่อนเวลาในสัญญาเช่าซื้อและการผิดสัญญาของจำเลย
สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์จำเลยกำหนดชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือน แต่มิได้หมายความว่าโจทก์จะชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในงวดต่อไปให้จำเลยไม่ได้ การที่โจทก์ขอชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดเป็นกรณีที่โจทก์ยอมสละประโยชน์จากเงื่อนเวลา ซึ่งไม่กระทบกระทั่งถึงประโยชน์ของจำเลย เพราะจำเลยได้รับค่าเช่าซื้อที่บวกดอกเบี้ยเข้าไปด้วยเต็มจำนวนก่อนกำหนดอันเป็นผลดีแก่จำเลย เมื่อจำเลยได้รับหนังสือขอชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดจากโจทก์แล้วจำเลยมิได้แจ้งสงวนสิทธิแต่กลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์โดยโจทก์มิได้ผิดข้อตกลงในสัญญาถือได้ว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาแล้ว และการที่จำเลยไม่รับค่าเช่าซื้อทั้งหมดจากโจทก์และไม่โอนที่ดินให้โจทก์ทั้งที่สามารถโอนได้จำเลยจะอ้างว่าไม่ครบกำหนดเวลาผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ได้ พฤติการณ์จำเลยดังกล่าวเป็นการผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1909/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดนัดชำระหนี้สัญญาเช่าซื้อ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายและราคารถยนต์เมื่อรถยนต์สูญหาย
จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันรถยนต์ที่เช่าซื้อเอาประกันภัยไว้กับบริษัท ท.โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระเบี้ยประกัน โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา และรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป ข้อสัญญาเช่าซื้อระบุว่า หากผิดนัดสองคราวติดต่อกันถือว่าสัญญาเลิกกันทันที ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะการไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จนเป็นเหตุให้มีการเลิกสัญญาอันได้แก่ค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคสาม เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1ยังคงครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่จนกระทั่งรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไป อันเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาให้ชดใช้ราคารถยนต์โดยตรงอยู่แล้วส่วนข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่ว่า หากเกิดการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ โจทก์จะนำเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยมาใช้ในการซื้อรถยนต์ใหม่ แต่ถ้าค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับไม่พอที่จะซื้อรถยนต์ใหม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องออกเงินใช้จนครบนั้น เป็นข้อตกลงเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก คือโจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการสูญหายของรถยนต์ได้จากบริษัท ท. อีกทางหนึ่งด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ซึ่งสิทธิของโจทก์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้แสดงเจตนาแก่บริษัท ท. ว่าจะถือประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1ดำเนินการขอชดเชยค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ท. แต่จำเลยที่ 1ไม่ดำเนินการ อาจเป็นเหตุให้บริษัท ท. ยกข้อต่อสู้อันเกิดแก่สัญญาประกันภัยที่มีอยู่ต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาต่อสู้โจทก์ผู้รับประโยชน์ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 376 การที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัท ท.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงมีขั้นตอนและเสี่ยงต่อการที่โจทก์จะไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนยิ่งกว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อการสูญหายของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปโดยตรง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1823/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินช่วงล้มละลาย: สัญญาเช่าซื้อ vs. ซื้อขายผ่อนส่ง และการหลีกเลี่ยงภาษี
ผู้คัดค้านทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรขาย มีผู้จองซื้อที่ดินจากผู้คัดค้านจำนวน 96 ราย รวมทั้งลูกหนี้ด้วยผู้คัดค้านให้ผู้จองซื้อที่ดินทำสัญญาเช่าซื้อไว้ และก่อนทำการแบ่งแยกเป็นโฉนดแปลงย่อย ผู้คัดค้านใส่ชื่อผู้จองซื้อที่ดินทั้งหมดลงในโฉนดที่ดินเป็นการซื้อร่วมกับผู้คัดค้าน และเมื่อเจ้าพนักงานออกโฉนดที่ดินแปลงย่อยแล้วมีชื่อผู้จองซื้อที่ดินเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่ละแปลงซึ่งเป็นการให้ผู้จองซื้อที่ดินถือกรรมสิทธิ์แทนผู้คัดค้านเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีอีกชั้นหนึ่ง ทั้งเป็นการอำพรางว่าผู้คัดค้านมิได้จัดสรรที่ดิน ผู้คัดค้านให้ผู้จองซื้อที่ดินลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจไว้ใช้ดำเนินการโอนที่ดินเป็นของผู้คัดค้านในกรณีที่ผู้จองซื้อที่ดินผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ และผู้คัดค้านเป็นผู้ถือโฉนดที่ดินไว้แสดงว่าผู้คัดค้านและผู้จองซื้อที่ดินมีเจตนาให้ผูกพันต่อกันอย่างสัญญาเช่าซื้อไม่ใช่สัญญาซื้อขายโดยวิธีผ่อนส่งราคา เมื่อลูกหนี้ค้างชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวดติดต่อกันผู้คัดค้านทวงถามแล้วลูกหนี้ไม่ชำระ ผู้คัดค้านกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจที่ลูกหนี้ลงชื่อไว้ล่วงหน้าไปดำเนินการโอนที่ดินใส่ชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิที่ดิน กรณีจึงไม่ใช่เป็นการที่ลูกหนี้โอนชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้าน หากแต่เป็นการโอนให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงจึงไม่ใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของลูกหนี้ให้ผู้คัดค้านโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นอันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องขอเพิกถอนการโอนตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การผิดสัญญา, การบอกเลิกสัญญา, ค่าซ่อมแซมรถ และสิทธิในการได้รับเงินคืน
โจทก์เช่าซื้อรถพิพาทจากจำเลยในราคา 500,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 100,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงแบ่งชำระเป็นรายเดือนโจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหลายงวดรวมเป็นเงิน 50,000 บาทได้มีการทำบันทึกข้อตกลงไว้ที่สถานีตำรวจว่า โจทก์จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างให้จำเลย ฝ่ายจำเลยจะไปต่อทะเบียนเสียภาษีรถพิพาทให้โจทก์ โดยนัดกันในวันที่ 15 มีนาคม 2530 ข้อความดังกล่าวแสดงว่าโจทก์จำเลยมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นข้อสาระสำคัญ ดังนั้น จะถือว่าโจทก์ผิดนัดผิดสัญญาไม่ได้ จำเลยจะบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุนี้ยังไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำขึ้นใหม่ ครั้งถึงวันนัดโจทก์เตรียมตั๋วแลกเงินจำนวน 50,000 บาทไป แต่ฝ่ายจำเลยไม่ได้นำทะเบียนรถมาอ้างว่าจำเลยไปติดต่อเจ้าหน้าที่แล้วแต่ยังไม่ได้ทะเบียนมาจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงและผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและผลแห่งการบอกเลิกสัญญาย่อมทำให้คู่ความแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับสู่ฐานะเดิม กล่าวคือ โจทก์ต้องคืนรถพิพาทให้จำเลยและต้องใช้เงินตามค่าแห่งการใช้สอยรถพิพาทให้จำเลยส่วนจำเลยก็ต้องคืนค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ โจทก์เช่าซื้อรถพิพาทจากจำเลยแล้วได้ทำการซ่อมแซมรถพิพาทโดยเปลี่ยนเฟืองท้ายโช้กอับ เพลากลาง และเปลี่ยนเบาะใหม่การซ่อมแซมดังกล่าวมิใช่ค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติและเพื่อซ่อมแซมเล็กน้อย แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรเพื่อรักษารถพิพาทให้อยู่ในสภาพใช้งานและรับส่งคนโดยสารได้ จำเลยต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 547

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3783/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รถยนต์โอนเมื่อตกลงซื้อขาย แม้ยังมิได้ส่งมอบหรือจดทะเบียน ผู้ให้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดกับความผิดของผู้เช่าซื้อ
ป. ขายรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 แต่ยังมิได้โอนกรรมสิทธิ์การที่ ป. กับจำเลยที่ 1 ไปทำคำเสนอใช้บริการของผู้ร้องโดยให้ผู้ร้องตกลงชำระราคารถยนต์ของกลางให้แก่ ป. และให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของกลางจากผู้ร้อง เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่า ป. ตกลงขายรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องโดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 แม้ผู้ร้องจะมิได้ครอบครองรถยนต์ของกลางเลยก็ถือได้ว่าเป็นการส่งมอบกันโดยปริยาย กรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางตกเป็นของผู้ร้องในทันทีที่ตกลงซื้อขายกัน แม้จะจดทะเบียนโอนกันในภายหลังการซื้อขายก็สมบูรณ์เพราะใบคู่มือการจดทะเบียนมิใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ผู้ร้องเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจเงินทุนลงทุนในกิจการต่าง ๆ รวมทั้งการให้เช่าซื้อ มิได้มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการค้าไม้ อันเป็นเหตุให้มีการจับกุมจำเลยที่ 1 มาดำเนินคดีแต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่ามีพนักงานของผู้ร่วมร้องในการกระทำความผิดด้วย จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ต้องคืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2872/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อขายที่ดิน: ข้อแตกต่างจากสัญญาเช่าซื้อ และการโอนกรรมสิทธิ์
สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์จำเลย ใช้ชื่อสัญญาว่าจะซื้อขายที่ดิน มีข้อสัญญาว่า จำเลยผู้ขายตกลงแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่...ขายให้แก่โจทก์ผู้ซื้อเนื้อที่ 1 งาน ผู้ซื้อตกลงซื้อที่ดินจากผู้ขายโดยผ่อนชำระเงินให้เสร็จสิ้นภายใน 60 เดือน เดือนละ 500 บาทนับแต่เดือน...รวมเป็นเงิน 30,000 บาท ผู้ซื้อมีสิทธิทำประโยชน์ทันทีที่ชำระเงินงวดแรก ผู้ขายจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ผู้ซื้อทันทีที่ชำระเงินงวดสุดท้ายเสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า สาระสำคัญของสัญญาดังกล่าวได้ระบุราคาที่ดินที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ผู้ซื้อจะชำระราคาเป็นงวดรายเดือน และระบุว่าเมื่อโจทก์ชำระราคางวดสุดท้ายเสร็จจำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้โจทก์ทันทีจึงเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่มีเงื่อนไขหรือข้อสัญญาที่โจทก์จะต้องปฏิบัติต่อไปจนกว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไข ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 เสียก่อน จำเลยจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ สัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าจำเลยเอาที่ดินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายที่ดินนั้นหรือจะให้ที่ดินนั้นตกเป็นสิทธิแก่โจทก์ โดยเงื่อนไขที่โจทก์ได้ใช้เป็นเงินจำนวนเท่านั้นคราวเท่านี้คราว ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา572 และไม่มีข้อตกลงที่แสดงว่าโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ด้วยการไม่ชำระราคาต่อไปโดยส่งมอบที่ดินคืนแก่จำเลย และถ้าหากโจทก์ผิดนัดไม่ชำระราคา 2 งวด ติดต่อกันจำเลยบอกเลิกสัญญาได้และริบเงินที่ได้ใช้มาแล้วได้ด้วย อันเป็นวิธีการของสัญญาเช่าซื้อตามมาตรา 573,574 ดังนั้น ข้อความในสัญญาจึงไม่อาจแปลได้ว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อที่ดิน แม้จำเลยจะออกใบเสร็จรับเงินราคาที่ดินที่โจทก์ผ่อนชำระรายเดือนว่าค่าเช่าซื้อที่ดินให้โจทก์ก็เป็นการกระทำของจำเลยฝ่ายเดียว ไม่อาจทำให้เป็นสัญญาเช่าซื้อที่ดินไปได้.
of 63