คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 572

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 626 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2848/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากการทำรถยนต์เสียหาย และการชดใช้ค่าเสียหายในสัญญาเช่าซื้อ
ค่าเช่าซื้อนั้นมีราคารถยนต์รวมอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง มิใช่ค่าเช่าหรือค่าใช้รถยนต์เพียงอย่างเดียว เมื่อรถยนต์สูญหายนอกจากจะทำให้ผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้รับรถยนต์คืนหรือไม่ได้รับค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ยังทำให้โจทก์ผู้เช่าซื้อไม่อาจได้รับกรรมสิทธิ์รถยนต์หากชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนด้วย แม้จะฟังว่าจำเลยทั้งสองผู้ซ่อมแซมรถยนต์แล้วรถยนต์สูญหายไปได้ชดใช้เงินให้แก่บริษัทประกันภัยที่ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทผู้ให้เช่าซื้อไป กับให้โจทก์ผู้เช่าซื้อไปอีก 80,000 บาท ก็ตาม แต่เมื่อคำนึงถึงค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อไปงวดละ 13,905 บาท รวม 16 งวด แต่โจทก์ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเพียง 80,000 บาท ประกอบด้วยแล้ว เห็นได้ว่า โจทก์ยังคงได้รับความเสียหายอยู่อีก จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์อีกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้แก่โจทก์เพิ่มอีก 50,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2605/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รถยนต์หลังเข้าไฟแนนซ์ และการริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดียาเสพติด
เดิมผู้คัดค้านเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ต่อมาผู้คัดค้านนำรถยนต์คันดังกล่าวไปเข้าไฟแนนซ์ที่บริษัท ว. ด้วยการโอนรถยนต์ให้แก่บริษัท ว. แล้วทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัท ว. กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมตกเป็นของบริษัท ว. แม้ยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงในทางทะเบียน เพราะรถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ซึ่งสามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันได้ด้วยเพียงการส่งมอบ และผู้ที่จะนำทรัพย์สินออกให้เช่าซื้อได้ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 รถยนต์จึงมิใช่ทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมิใช่เป็นผู้ที่จะมีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (1) ได้
ศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคท้าย ว่า บรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้ถูกตรวจสอบมีอยู่หรือได้มาเกินฐานะ หรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่ผู้คัดค้านโอนรถยนต์ของกลางให้แก่บริษัท ว. ยังอยู่ในช่วงเวลา 10 ปี ก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัด จึงเป็นทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีอำนาจตรวจสอบและยึดได้ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มาตรา 22 วรรคห้า (3) เมื่อรถยนต์ของกลาง เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงต้องสั่งริบตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4912/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อโดยผู้ให้เช่าซื้อไม่ใช่เจ้าของทรัพย์: ความยินยอมของเจ้าของทรัพย์ทำให้สัญญามีผลผูกพัน
การที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันโดยมิได้ฝ่าฝืนอำนาจของเจ้าของทรัพย์ที่เช่าซื้อ แม้โจทก์ที่เป็นฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อจะไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เช่าซื้ออันเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติ มาตรา 572 ของป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 5 เช่าซื้อ ที่กำหนดให้เจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ให้เช่าซื้อได้ แต่กรณีนี้มีลักษณะพิเศษโดยเจ้าของทรัพย์สินให้ความยินยอมทำให้ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและมาตรา 572 ก็มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้สัญญาเช่าซื้อจะแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมาย มาตรา 572 แต่ก็เป็นสัญญาเช่าซื้อที่ผู้ให้เช่าซื้อที่มิใช่เจ้าของทรัพย์สินได้รับความยินยอมของเจ้าของทรัพย์สินให้นำทรัพย์สินออกให้เช่าซื้อได้จึงไม่เป็นโมฆะมีผลผูกพันคู่กรณี กรณีนี้เป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาไปก็ได้ ตามป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 มาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8672/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: จำเลยไม่อาจอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตแต่การที่โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน ทั้งศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา ถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคสอง แล้ว
จำเลยทั้งสองยกข้อต่อสู้ในคำให้การว่า มูลคดีไม่ได้เกิดในเขตอำนาจศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามูลคดีในการทำสัญญาเช่าซื้อเกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานครและสัญญาค้ำประกันระบุว่าจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดกระบี่ อีกทั้งในสัญญาไม่ได้ระบุว่าทำขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต คดีจึงอยู่นอกเขตอำนาจของศาลชั้นต้นและพิพากษายกฟ้อง คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นจึงสมประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2216/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานได้เมื่อทุกฝ่ายตกลง และไม่จำเป็นต้องปิดอากรแสตมป์
โจทก์นำส่งภาพถ่ายสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานเอกสารต่อศาล จำเลยที่ 2 ไม่ได้คัดค้านหรือนำสืบโต้แย้งว่าโจทท์มิได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจและนำสำเนาหนังสือมอบอำนาจมาสืบแต่อย่างใด จึงเท่ากับว่าคู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว จึงให้ศาลยอมรับฟังสำเนาเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (1) สำเนาหนังสือมอบอำนาจจึงรับฟังเป็นพยานเอกสารได้ เมื่อเป็นการรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับเอกสาร จึงหาใช่เป็นการรับฟังต้นฉบับเอกสารเป็นพยานหลักฐานอันจะต้องปิดอากรแสตมป์ไม่ และสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็มิใช่คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3849/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อเลิกสัญญาเนื่องจากผู้เช่าปฏิเสธการรับมอบทรัพย์ ผู้ขายต้องคืนเงินและชดใช้ค่าเสียหาย
การนำข้อเท็จจริงมาปรับเข้ากับบทบัญญัติของกฎหมายนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นปรับข้อเท็จจริงเข้ากับบทบัญญัติของกฎหมายไม่ถูกต้องศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยใหม่ให้ถูกต้อง เพราะการปรับข้อเท็จจริงเข้ากับตัวบทกฎหมายเป็นหน้าที่ของศาลอยู่แล้ว ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจยกขึ้นปรับให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นข้อนี้โดยนำเอาบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 466 มาปรับเข้ากับข้อเท็จจริงที่มีอยู่จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็นที่พิพาทกันแต่อย่างใด
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า การที่โจทก์อ้างว่าที่ดินที่เช่าซื้อมีขนาดถึง 69 ตารางวาเพิ่มมากขึ้น 42 ตารางวา หรือมากกว่า 1.5 เท่าของเนื้อที่ดินที่เช่าซื้อ โจทก์ในฐานะผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิบอกปัดไม่รับไว้ก็ได้ หากการล้ำจำนวนนั้นเกินกว่าร้อยละห้าแห่งเนื้อที่ทั้งหมดอันได้ระบุไว้ แต่โจทก์หาได้ทำเช่นนั้นไม่ กลับยื่นคำร้องขอชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือเป็นเงินสด แต่ตามพยานหลักฐานจำเลยเท่าที่นำสืบมาไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือเป็นเงินสดตามคำให้การจำเลยแต่อย่างใด นอกจากนี้ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้างมาในฎีกาว่าสัญญาเช่าซื้อไม่อาจกำหนดเนื้อที่ดินได้แน่นอนนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อกันไว้ว่า โจทก์ตกลงเช่าซื้อที่ดินจากจำเลยเนื้อที่ 27 ตารางวา ภายหลังที่รังวัดออกโฉนดแล้วหากปรากฏว่าที่ดินมีเนื้อที่มากหรือน้อยกว่าจำนวนที่ระบุไว้ คู่สัญญายอมให้คิดราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามส่วนในอัตราตารางวาละ 20,000 บาท โดยผู้เช่าซื้อยินยอมชำระราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามวิธีการที่กำหนดไว้ และเมื่อถึงเวลาส่งมอบที่ดินที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ จำเลยได้ส่งมอบที่ดินให้โจทก์เป็นจำนวนถึง 69 ตารางวา ซึ่งมากกว่าที่ได้ตกลงทำสัญญากันไว้ถึง 1.5 เท่าของเนื้อที่ตามสัญญา ซึ่งโจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่สามารถจะหาเงินมาชำระเพิ่มให้แก่จำเลยได้ กรณีจึงต้องปรับด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เกี่ยวกับการซื้อขายว่าด้วยการส่งมอบทรัพย์สิน มาตรา 466 ดังนั้น เมื่อเนื้อที่ดินล้ำจำนวนเกินกว่าร้อยละ 5 แห่งเนื้อที่ทั้งหมดที่ระบุไว้ในสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิบอกปัดเสียและเลิกสัญญากับจำเลยได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 5 มาตรา 572 ยังได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องเช่าซื้อไว้ สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าและสัญญาซื้อขาย จึงสามารถนำบทบัญญัติในลักษณะเช่าทรัพย์และลักษณะซื้อขายมาใช้บังคับได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์นำ ป.พ.พ. มาตรา 466 มาปรับใช้กับข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงชอบแล้ว
โจทก์มีสิทธิบอกปัดไม่รับที่ดินที่จำเลยส่งมอบให้เกินกว่าจำนวนสัญญาเช่าซื้อและโจทก์ได้ใช้สิทธินั้นแล้วโดยโจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ชำระค่าที่ดินส่วนเกิน จำเลยจึงบอกเลิกสัญญากับโจทก์จึงไม่มีผลแต่ประการใด เนื่องจากจำเลยยังมิได้ให้สิทธิโจทก์ที่จะปัดเสียหรือรับเอาไว้ซึ่งเนื้อที่ดินซึ่งล้ำจำนวน จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อน เมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยเลิกกันเนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายบอกปัดไม่รับที่ดิน และสัญญาเลิกกันโดยมิใช่ความผิดของฝ่ายโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระมาแล้ว จำเลยต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดให้แก่โจทก์ โจทก์ต้องส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืนแก่จำเลย ส่วนการที่โจทก์ได้ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เช่าซื้อนับแต่วันที่จำเลยส่งมอบให้โจทก์นั้น ถือเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์ตามมาตรา 391 วรรคสาม การที่โจทก์จะชดใช้คืนย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อระงับเมื่อรถหาย ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดตามเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญา
สัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษยน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบ
รถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้ แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อแม้เป็นเหตุสุดวิสัย และตามข้อ 7. ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใด ๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
แม้หนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เป็นเพียงคู่ฉบับ และสัญญาค้ำประกันจะมิได้ติดอากรแสตมป์ แต่ตามคำให้การจำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาเช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองให้การยอมรับแล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องกับโจทก์จริง โดยไม่จำต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานในคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8331/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจตัวแทน & เลิกสัญญาเช่าซื้อโดยปริยาย: การบังคับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน
เมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ ไม่ได้ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ด้วย การที่ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ทั้งขณะที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะไม่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยนั้น ผู้รับมอบอำนาจช่วงได้มอบหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฝ่ายจำเลยแล้วด้วย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะทำให้จำเลยควรเชื่อว่า ผู้รับมอบอำนาจช่วงกระทำการแทนโจทก์ภายในขอบเขตอำนาจของตัวแทนอันมีผลทำให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยเสมือนผู้รับมอบอำนาจช่วงเป็นตัวแทนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบ มาตรา 821
สัญญาเช่าซื้อมีข้อกำหนดว่า เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันที แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์บอกเลิกสัญญา ต้องถือว่าขณะที่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืน สัญญายังไม่เลิกกัน แต่เมื่อโจทก์ยึดรถคืนโดยจำเลยไม่โต้แย้งพฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายตั้งแต่วันยึดรถจำเลยจึงต้องรับผิดเฉพาะค่าขาดประโยชน์อันเกิดจากการใช้ทรัพย์เท่านั้น ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ เพราะกรณีนี้มิใช่การเลิกสัญญาเพราะเหตุจำเลยผิดสัญญา ส่วนที่โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ต้องนำสืบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกได้โดยอาศัยสิทธิใด มิฉะนั้นศาลกำหนดให้ในอัตราร้อยละ 7.5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6267/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ค่าเช่าซื้อและการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เมื่อจำเลยรับเงินชำระหนี้แล้ว
ศาลพิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน การบังคับตามคำพิพากษาต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุในคำพิพากษา โดยโจทก์ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจำเลยก่อน หากไม่สามารถคืนได้จึงค่อยใช้ราคาแทน ระหว่างการบังคับคดีโจทก์นำเงินไปวางศาลชำระราคารถแทนพร้อมค่าเสียหายตามคำพิพากษาทั้งหมด จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่รับเงินที่วางได้ แต่จำเลยกลับขอรับเงินดังกล่าวเท่ากับยอมรับถึงการบังคับคดีในขั้นตอนที่ต่างจากการส่งมอบรถยนต์คืน และถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว แม้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปแล้ว แต่การที่จำเลยยอมรับชำระราคารถยนต์ถือได้โดยปริยายว่าจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์โดยผลของการชำระหนี้ดังกล่าว แม้ว่ารถยนต์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ด้วยการส่งมอบ แต่รถยนต์เป็นพาหนะที่มีกฎหมายควบคุม การนำไปใช้ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีให้ถูกต้องก่อนตาม พ.ร.บ.รถยนต์ฯ มาตรา 6 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ได้
ปัญหาว่าการที่จำเลยรับเงินที่โจทก์วางศาลแล้วต้องมีหน้าที่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6267/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษา: การยอมรับชำระราคาถือเป็นการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์
การบังคับคดีต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุในคำพิพากษา เมื่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นระบุให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทคืนให้แก่จำเลย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน โจทก์ก็ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ไปตามลำดับที่ระบุไว้ เมื่อในระหว่างการบังคับคดีในคดีเดิมจำเลยได้ขอรับเงินที่โจทก์นำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยแล้ว เท่ากับยอมรับถึงการบังคับคดีในขั้นตอนที่ต่างจากการส่งมอบรถยนต์คืนและถือว่าโจทก์ชำระหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว และแม้สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันไปแล้ว แต่การที่จำเลยยอมรับชำระราคารถยนต์ก็ถือได้โดยปริยายว่าจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้แก่โจทก์โดยผลของการชำระหนี้ แม้ว่ารถยนต์สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ด้วยการส่งมอบ แต่รถยนต์เป็นพาหนะที่มีกฎหมายควบคุม การนำไปใช้ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีให้ถูกต้องก่อนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6 โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาทให้โจทก์ได้
of 63