คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 572

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 626 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7406/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิก ผลคือจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการขายรถยนต์ของโจทก์
โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อแต่จำเลยก็รับไว้ แสดงว่าจำเลยมิได้ยึดถือเอาข้อสัญญาเช่าซื้อที่ว่า หากโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวเป็นสาระสำคัญ โดยจำเลยยังถือว่าสัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับต่อไปจึงรับค่าเช่าซื้อไว้ ดังนั้น หากจำเลยมีความประสงค์จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์โดยให้ระยะเวลาแก่โจทก์พอสมควร เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ เพราะหวังเพียงได้รับค่าดอกเบี้ยที่ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าและเบี้ยปรับ และการที่พนักงานของจำเลยไปยึดรถยนต์บรรทุกพิพาทคืน โจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านมิได้ยินยอมด้วยโดยไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันและมีผลบังคับกันต่อไป โจทก์ผู้เช่าซื้อชอบที่จะครอบครองรถยนต์บรรทุกพิพาทต่อไป และจำเลยต้องส่งมอบรถยนต์บรรทุกดังกล่าวคืนโจทก์ แต่จำเลยได้ขายรถยนต์บรรทุกดังกล่าวให้แก่ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว จึงเป็นการพ้นวิสัยที่จะนำรถยนต์บรรทุกพิพาทกลับมาคืนโจทก์ เพราะพฤติการณ์ที่จำเลยต้องรับผิดชอบ จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 218 วรรคแรก และการครอบครองรถยนต์บรรทุกพิพาทของโจทก์เป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ยังมิได้เลิกกัน การใช้รถยนต์บรรทุกพิพาทของโจทก์จึงไม่อาจคิดเป็นค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยและนำไปหักกลบลบหนี้กับค่าเช่าซื้อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7404/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจทำสัญญาเช่าซื้อ: เจ้าของทรัพย์สินคือผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยมีเงื่อนไข และมีเจตนาครอบครองใช้สอย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 เช่าซื้อ คือ สัญญาซึ่ง "เจ้าของ" เอาทรัพยืสินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิผู้เช่า โดยเงื่อไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ผู้มีอำนาจทำสัญญาจึงต้องเป็น "เจ้าของ" แต่โดยสภาพของสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อในอนาคตหาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทันทีขณะทำสัญญาไม่ "เจ้าของ" จึงหมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขณะทำสัญญาเช่าซื้อ และหมายความรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมิสทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกพิพาทจากบริษัท ต. แม้จะเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขที่จะได้กรรมสิทธิ์ต่อเมื่อได้ชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์บรรทุกพิพากโดยเจตนาครอบครองใช้สอยอย่างเจ้าของ จะได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกพิพาทเมื่อชำระราคาเป็นเงินสดครบถ้วนตามสัญญา โดยมีเงื่อนไขนั้นแล้ว โจทก์จึงจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อได้ กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็น "เจ้าของ" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อย่อมสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4145/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อไม่เป็นเอกสารปลอม แม้ไม่ได้ระบุเงินดาวน์ เพราะเงินดาวน์ไม่ใช่สาระสำคัญของสัญญา
สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ระบุค่าเช่าซื้อจำนวน 2,878,504.80 บาท นั้น จำเลยทั้งสองยอมรับว่าจำนวนเงินดังกล่าวถูกต้องตรงกับความเป็นจริงหลังจากหักเงินดาวน์ออกแล้ว การระบุค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือหลังจากหักเงินดาวน์ออกแล้วก็เพื่อการคำนวณจำนวนเงินที่จะต้องชำระในแต่ละงวดเท่านั้น ส่วนเงินดาวน์แม้จะมิได้ระบุในสัญญาก็หาใช่สาระสำคัญไม่ เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องระบุจำนวนเงินดาวน์ไว้ จึงเป็นเพียงข้อเท็จจริง ที่คู่ความอาจนำสืบได้ เอกสารสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่เอกสารปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3492/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกาตัดสินพิพากษาเกินคำขอและอุทธรณ์นอกประเด็นเดิม โดยยกประเด็นค่าเสื่อมราคาและราคารถยนต์ที่ขายทอดตลาด
โจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอให้จำเลยทั้งสองใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อเนื่องจากนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขาย ทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าราคาที่เช่าซื้อหรือราคาท้องตลาด หรือให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสื่อมราคาเนื่องจาก รถยนต์ที่เช่าซื้อเสื่อมสภาพ จึงไม่มีประเด็นว่าราคารถยนต์ที่เช่าซื้อขาดจำนวนจากการขายทอดตลาดหรือเสื่อมราคาหรือไม่ เพียงใด แม้โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อจำนวน 380,000 บาท ตามฟ้อง โดยอ้าง ข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพทรุดโทรม โจทก์ต้องนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปซ่อม เป็นเงิน 149,410 บาท และขายทอดตลาดได้เงินเพียง 60,747.66 บาท ก็เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้น ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลอุทธรณ์ จะไม่รับวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยและพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระราคาที่ขาดจำนวนจากการขาย ทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ราคาต่ำเป็นเงิน 109,953 บาท จึงไม่ชอบ ทั้งเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่ไม่ได้ กล่าวมาในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ฎีกาหรือกล่าวไว้ในคำแก้ฎีกา ให้เป็นประเด็นไว้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกา จึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3491/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องโดยอ้างสิทธิรับช่วงสิทธิ vs. การโอนสิทธิเรียกร้อง: ข้อจำกัดในการยกข้อต่อสู้ในชั้นฎีกา
โจทก์บรรยายฟ้องระบุข้อเท็จจริงว่า โจทก์ชำระเงินให้แก่บริษัท ง. ตามบันทึกข้อตกลงซึ่งโจทก์รับเป็นนายหน้าชี้ช่องให้บุคคลภายนอกเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทดังกล่าว โดยโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าและมีหน้าที่ต้องชำระเงินต้นคงเหลือตามสัญญาเช่าซื้อหากผู้เช่าซื้อผิดนัด โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิจากบริษัท ง. ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ จึงเป็นการฟ้องโดยอ้างสิทธิว่าเป็นการรับช่วงสิทธิตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 2 ส่วนที่ 2 ซึ่งการรับช่วงสิทธิจะพึงมีได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมายเท่านั้นตามมาตรา 229 ส่วนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาซึ่งเป็นเรื่องของการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่บัญญัติในบรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 4 โดยมีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 306 ฎีกาของโจทก์จึงนอกฟ้องและมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3272/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลงหนี้จากความรับผิดของลูกจ้างที่ประมาทเลินเล่อเป็นสัญญาเช่าซื้อ ถือว่าเป็นการยอมรับหนี้เดิม
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายมีหน้าที่บริหารงานขาย จำเลยที่ 1 มอบรถยนต์ของโจทก์ให้ลูกค้า แล้วลูกค้าได้นำรถยนต์พิพาทหลบหนีไป โจทก์ให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยทำสัญญาเช่าซื้อเพื่อเป็นประกันการทำงานที่ผิดพลาดของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้างโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดโดยทำเป็นสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงเป็นการทำสัญญาเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ ดังนั้น หนี้อันเกิดจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ และการที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทก็เพื่อยอมรับผิดชำระหนี้ค่ารถยนต์พิพาทแก่โจทก์ ถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2677/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การบอกเลิกสัญญาต้องเป็นไปตามกฎหมายและเจตนาของคู่สัญญา การชำระหนี้ล่าช้าไม่ถือเป็นการผิดนัดหากคู่สัญญามิได้ถือเป็นสาระสำคัญ
การบอกเลิกสัญญาจำเลยจะต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 คือ จำเลยจะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในกำหนดเวลานั้น ถ้าโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ จึงจะถือว่าโจทก์ผิดนัดและจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กำหนดเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาแม้สัญญาเช่าซื้อจะมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่โจทก์ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่โจทก์ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที โดยไม่คำนึงว่าจำเลยเคยผ่อนผันการผิดสัญญาเช่นนั้นมาก่อนก็ตาม แต่การผ่อนผันการผิดสัญญาตามข้อสัญญาดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่จำเลยได้แสดงเจตนาผ่อนผันการผิดสัญญาครั้งก่อนๆ โดยมิได้ยินยอมให้มีการผิดสัญญาในครั้งต่อๆ ไปได้ด้วย แต่การที่โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันตลอดมาโดยไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อที่กำหนดไว้ตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จึงหาใช่กรณีที่จำเลยยอมผ่อนผันการผิดสัญญาให้แก่โจทก์ไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิที่จะยึดรถที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์ การที่จำเลยไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์โดยไม่มีสิทธิ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
โจทก์ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่กำหนด แต่จำเลยก็ยินยอมรับค่าเช่าซื้อตลอดมา โดยมิได้เรียกร้องค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการชำระล่าช้า จนถือได้ว่าคู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ การที่โจทก์ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาดังกล่าว จึงไม่ถือว่าโจทก์ทำผิดนัดชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิจะคิดค่าปรับในกรณีชำระหนี้ล่าช้าจากโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10700/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้ค้ำประกันหลังชำระหนี้: ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อ แม้ได้รับช่วงสิทธิจากเจ้าหนี้
โจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิเพียงไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นลูกหนี้เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆเพราะการค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แม้ในวรรคสองบัญญัติว่า ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย และสัญญาค้ำประกันระบุให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิได้รับช่วงสิทธิที่เจ้าของมีอยู่ไม่ว่าตามกฎหมายหรือตามสัญญาเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อ ก็คงมีความหมายเพียงว่าผู้ค้ำประกันชอบที่จะใช้สิทธิบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเองตามมาตรา 226 เท่านั้น การที่โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของจำเลยที่ 1หาทำให้โจทก์มีสิทธิในรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไปจากจำเลยที่ 1 ไม่ เนื่องจากรถจักรยานยนต์ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ที่โจทก์ได้ชำระค่าเช่าซื้อแทนจำเลยที่ 2 ไปครบถ้วนแล้วโดยผลของมาตรา 572 โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 2 ทั้งไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์และให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถจักรยานยนต์แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4962/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยนอกประเด็นของศาลอุทธรณ์ในคดีเช่าซื้อ การยึดรถถือเป็นการบอกเลิกสัญญา
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญาโจทก์จึงยึดรถคืนและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายตามฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า ความรับผิดของจำเลยทั้งสองมีไม่ถึงจำนวนที่โจทก์เรียกร้องเท่านั้น คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเพียงใด ส่วนในเรื่องจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การถึง จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อโจทก์ยึดรถที่เช่าซื้อคืน เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ติดต่อกันเกินกว่า 2 งวด ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความรับกันแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ข้อเท็จจริงใหม่ว่าโจทก์จำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญา จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และปัญหานี้มิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
การที่โจทก์ยึดรถที่ให้เช่าซื้อคืนถือเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้ออย่างหนึ่ง โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญา เป็นหนังสือแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3433/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของรถเช่าซื้อไม่ต้องรับผิดประกันภัยผู้ประสบภัย หากไม่ได้ใช้รถเอง
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ มาตรา 4 ให้คำจำกัดความคำว่า "เจ้าของรถ" หมายถึง ผู้ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในรถหรือผู้มีสิทธิครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อ และหมายความรวมถึงผู้นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวด้วย ดังนั้น ผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อต่างก็เป็น "เจ้าของรถ" ตามคำจำกัดความดังกล่าว เพราะผู้ให้เช่าซื้อคือเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้เช่าซื้อคือผู้ครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อ แต่ตามมาตรา 7 นั้น ระบุว่า ผู้ที่จะต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยนั้น ต้องเป็นเจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้เท่านั้น หากเป็นเจ้าของรถแต่ไม่ได้ใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรานี้ เพราะมาตรานี้มุ่งหมายถึงเฉพาะเจ้าของรถที่มีการใช้รถเท่านั้น ดังนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อแม้จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถก็ตาม แต่ไม่ได้เป็นผู้ใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้คงมีรถไว้เพื่อให้เช่าซื้อเท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่จำต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยตามมาตรา 7
of 63