คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 574

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 237 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3365/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ, การผิดนัดชำระหนี้, และการคิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์ให้บริการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่สมาชิก ซึ่งตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 46 บัญญัติว่า เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการดังต่อไปนี้... (6) .. ให้เช่า ให้เช่าซื้อ (7) จัดให้ได้มา ซื้อ... เช่าซื้อ... (9) ดำเนินกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับ หรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ การที่โจทก์นำที่ดินโฉนดเลขที่ 38760 เนื้อที่ 36 ไร่ 54 ตารางวา มาดำเนินการแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์รวมทั้งจำเลยในรูปแบบการทำสัญญาเช่าซื้อโดยโจทก์ได้รับค่าเช่าซื้อเป็นประโยชน์ตอบแทน จึงต้องด้วยนิยามศัพท์ จัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดิน หมายถึง การจำหน่ายที่ดินที่ได้แบ่งเป็นแปลงย่อยรวมกันตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งจากที่ดินแปลงเดียวหรือแบ่งแยกจากที่ดินหลายแปลงที่มีพื้นที่ติดต่อกัน โดยได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์เป็นค่าตอบแทน และต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 21 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำการจัดสรรที่ดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ... เพราะโจทก์มิได้อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 5 (2) ที่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่น เนื่องจากกรณีของโจทก์ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดรองรับ ควบคุมดูแลการดำเนินการให้ได้มาตรฐานที่ดีเป็นการเฉพาะ แต่อย่างไรก็ดี แม้โจทก์จะไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อต่างก็ไม่ทราบว่ากรณีของโจทก์ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 3 งวดติดต่อกัน และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ชอบที่จะริบบรรดาค่าเช่าซื้อที่จำเลยได้ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3364/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อผิดนัด โจทก์มีสิทธิริบของและฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์ให้บริการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่สมาชิก ซึ่งตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 46 บัญญัติว่า เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการดังต่อไปนี้...(6) ให้เช่า ให้เช่าซื้อ (7) จัดให้ได้มา ซื้อ เช่าซื้อ (9) ดำเนินกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับ หรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ การที่โจทก์นำที่ดินโฉนดเลขที่ 38760 เนื้อที่ 36 ไร่ 54 ตารางวา มาดำเนินการแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยจำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์รวมทั้งจำเลยในรูปแบบการทำสัญญาเช่าซื้อโดยโจทก์ได้รับค่าเช่าซื้อเป็นประโยชน์ตอบแทน จึงต้องด้วยนิยามศัพท์ จัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดิน หมายถึง การจำหน่ายที่ดินที่ได้แบ่งเป็นแปลงย่อยรวมกันตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งจากที่ดินแปลงเดียวหรือแบ่งจากที่ดินหลายแปลงที่มีพื้นที่ติดต่อกัน โดยได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์เป็นค่าตอบแทน และต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 21 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำการจัดสรรที่ดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ เพราะโจทก์มิได้อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 5 (2) ที่บัญญัติว่า การจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่น เนื่องจากกรณีของโจทก์ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดรับรอง ควบคุมดูแลการดำเนินการให้ได้มาตรฐานที่ดีเป็นการเฉพาะ แต่อย่างไรก็ดี แม้โจทก์จะไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อและจำเลยผู้เช่าซื้อต่างก็ไม่ทราบว่ากรณีของโจทก์ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน วัตถุประสงค์แห่งสัญญาจึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 3 งวดติดต่อกัน และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ชอบที่จะริบบรรดาค่าเช่าซื้อที่จำเลยได้ชำระมาแล้ว และกลับเข้าครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2764/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบ การยึดรถคืน และการหักเงินค่าเสียหาย
หนังสือบอกกล่าวที่จำเลยมีถึงโจทก์และผู้ค้ำประกัน นอกจากแจ้งเตือนให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระติดต่อกัน 3 งวดแล้ว ยังได้ระบุถึงหนี้รายการอื่น ๆ คือค่าทนายความและค่าดอกเบี้ยล่าช้า ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าของโจทก์ทำให้มีค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 และ ข้อ 9 ส่วนค่ามิเตอร์ ค่าปรับ และค่าวิทยุอันเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถรับจ้างสาธารณะหรือรถแท็กซี่ โดยปกติโจทก์ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์รถยนต์ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยในฐานะผู้ให้เช่าซื้อชำระค่าใช้จ่ายแทนไปก็ชอบที่จะทวงถามจากโจทก์ได้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 จำเลยจึงบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตามที่พึงมีสิทธิ เมื่อมีการส่งหนังสือบอกกล่าวโดยมีผู้รับแทนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553 โจทก์จะต้องชำระหนี้ตามที่ทวงถามภายใน 30 วัน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 แต่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 15 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 และชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 พร้อมดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ส่วนค่าเช่าซื้องวดที่ 17 โจทก์ชำระเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 เมื่อโจทก์มิได้นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดไปชำระให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าว สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับถัดจากวันครบกำหนดดังกล่าว ส่วนข้อความที่ว่า หากชำระล่าช้ากว่าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 จะต้องชำระเพิ่มอีก 1 งวด เป็นแต่เพียงระบุค่างวดเช่าซื้อที่ค้างให้สอดคล้องกับระยะเวลาการชำระหนี้ โดยโจทก์ต้องชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว แต่หากโจทก์ชำระหนี้หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 โจทก์ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 18 เพิ่มอีก 1 งวด หรือชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างรวม 4 งวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์ให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่คงค้างให้ครบทันงวด มิใช่ยอมให้มีการชำระค่าเช่าซื้อล่าช้า ประกอบกับตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เคยคิดดอกเบี้ยล่าช้าจากโจทก์ ก็เป็นข้อสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งว่าจำเลยยึดถือกำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ อีกทั้งการที่จำเลยให้พนักงานไปติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อจนสามารถยึดรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ชี้ชัดอยู่ว่าจำเลยเคร่งครัดตามหนังสือบอกกล่าวโดยไม่ประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับต่อไป ส่วนที่โจทก์ชำระเงินโดยนำฝากเข้าบัญชีของจำเลยภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยคงรับไว้เป็นค่าเสียหายตามที่ระบุในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 15.3 ซึ่งจำเลยมีหนังสือชี้แจงไปยังโจทก์แล้วว่าการที่โจทก์ไม่ส่งมอบรถยนต์คืนหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ทำให้จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการติดตามสืบหารถยนต์ จำเลยสืบทราบว่าโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปขายโดยวิธีให้เช่าซื้อแก่ ป. การที่จำเลยจะนำเงินที่ได้รับชำระจากโจทก์มาหักเป็นค่าเสียหายในการติดตามรถยนต์คืนนับว่ามีเหตุผลอันสมควรและเป็นไปตามข้อสัญญา ทั้งเป็นการหักกับค่าเสียหายในค่าขาดประโยชน์ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับรถคืนอีกด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันจากเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15107/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อเลิกสัญญา สิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อค้างชำระ vs ค่าขาดประโยชน์ และการแก้ไขคำพิพากษา
เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระมาแล้วและกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ คงเรียกได้เพียง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนเท่านั้น แม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 14.2 กำหนดว่า "ก่อนวันที่สัญญาเลิกกัน หากผู้เช่าติดค้างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระ ผู้เช่าซื้อสัญญาว่าจะต้องชำระแก่เจ้าของจนครบถ้วน และการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นการลบล้างสิทธิของเจ้าของบรรดาที่มีอยู่ก่อนวันเลิกสัญญา" ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตั้งแต่งวดที่ 10 ถึงงวดที่ 18 เป็นเงิน 133,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10417/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อระงับเมื่อรถหาย ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดตามเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ในสัญญา
สัญญาเช่าซื้อว่าเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 เมษยน 2540 เช่นนี้ เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 จึงเป็นงวดประจำวันที่ 25 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดที่ 9 นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2541 แสดงว่าโจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดที่ระบุในสัญญา เช่นนี้ถือว่าโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาอันควรก่อน การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2541 จึงไม่ชอบ
รถยนต์ที่เช่าซื้อได้สูญหายไปจริงก่อนโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์รวมกับคำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินที่ให้เช่า สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 ดังนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันนับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการสูญหายเป็นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่นับแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไม่ได้ แต่ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4. กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการใช้การเก็บรักษาทรัพย์ที่เช่าซื้อแม้เป็นเหตุสุดวิสัย และตามข้อ 7. ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหายใด ๆ ในกรณีสัญญาเช่าซื้อได้ยกเลิกเพิกถอนไม่ว่าเหตุใดให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน ย่อมหมายความรวมถึงผู้เช่าซื้อต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อเกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระในกรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะเหตุรถยนต์เช่าซื้อสูญหายด้วย ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับย่อมใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
แม้หนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เป็นเพียงคู่ฉบับ และสัญญาค้ำประกันจะมิได้ติดอากรแสตมป์ แต่ตามคำให้การจำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาเช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองให้การยอมรับแล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องกับโจทก์จริง โดยไม่จำต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานในคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2763/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าลีสซิ่งไม่ใช่เช่าซื้อ, การพิพากษาล้มละลาย, หนี้สินล้นพ้นตัว
สัญญาเช่าทรัพย์แบบลีสซิ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่งที่โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์ที่เช่าให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าเมื่อครบกำหนดการเช่าแล้ว และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ายังไม่ตกเป็นของผู้เช่าจนกว่าจะแสดงเจตนารับคำมั่นของผู้ให้เช่าจนเกิดเป็นสัญญาซื้อขาย เงินค่าเช่าก็ไม่อาจถือว่ารวมค่าแห่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าไว้ด้วย และผู้เช่าไม่อาจบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการเช่าได้ เมื่อสัญญาเช่าทรัพย์แบบลีสซิ่งดังกล่าวมิใช่สัญญาเช่าซื้อ การที่ศาลล้มละลายกลางนำบทบัญญัติมาตรา 574 แห่ง ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 5 เช่าซื้อ มาปรับใช้แก่มูลหนี้ตามฟ้องแล้ววินิจฉัยว่ามูลหนี้ตามฟ้องยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน และพิพากษายกฟ้องนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าเช่าตั้งแต่งวดที่ 3 ถึง 19 และยังคงค้างชำระค่าเช่ารวม 6,881,401.90 บาท ดังนี้ แม้มูลหนี้ดังกล่าวจะยังมิได้คำนวณเบี้ยปรับตามสัญญา จำเลยที่ 1 ก็เป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและไม่จำกัดจำนวนต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเช่าที่ค้างชำระดังกล่าวต่อโจทก์ หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ตามสัญญาที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8812/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดสัญญาเช่าซื้อ ยึดรถยนต์ก่อนบอกเลิกสัญญา จำเลยต้องคืนเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อ
จำเลยยึดรถยนต์พิพาทจากบ้านของโจทก์ไปไว้ที่บริษัทจำเลย ไม่ได้ความว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อก่อน กลับได้ความว่าในวันดังกล่าวฝ่ายโจทก์นำค่าเช่าซื้อไปชำระให้แก่จำเลยจำนวนหนึ่ง จำเลยก็รับไว้ การที่จำเลยยึดรถยนต์พิพาทจากโจทก์ในระหว่างการเช่าซื้อถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อจำเลยย่อมไม่มีสิทธิริบเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่โจทก์ได้ชำระไปตามสัญญาเช่าซื้อ
หลังจากที่จำเลยยึดรถยนต์พิพาทคืนไปจากโจทก์แล้ว โจทก์มีหนังสือให้จำเลยคืนเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อทั้งหมดให้แก่โจทก์ จึงถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาต่อจำเลย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน ผลแห่งการเลิกสัญญาดังกล่าวคู่สัญญาจะต้องกลับสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินที่ได้รับตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์ และโจทก์ต้องรับผิดในค่าขาดประโยชน์ของจำเลยในระหว่างที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์พิพาทของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830-3831/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การยอมรับชำระหนี้โดยจำเลยหลังผิดนัด ทำให้สัญญาไม่เลิก และการยินยอมให้ยึดรถถือเป็นการเลิกสัญญาสมัครใจ
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ผู้เช่าซื้อยอมให้เจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระทั้งหมดเป็นของเจ้าของ และยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลัน แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อไว้ไม่ทักท้วง แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ต่อมาโจทก์ที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 35 เป็นเวลา 9 งวด จำเลยมีหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองแจ้งให้มาติดต่อชำระหนี้ภายใน 15 วัน หากพ้นกำหนดขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยภายในกำหนดระยะเวลาตามหนังสือดังกล่าว และชำระหนี้ให้แก่จำเลยเป็นเช็ค 5 ฉบับ แล้วจำเลยยอมรับเช็คดังกล่าวไว้นำไปเรียกเก็บเงินได้ 3 ฉบับ แสดงว่าจำเลยยอมรับชำระหนี้จากโจทก์ที่ 1 ตามเงื่อนไขในหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาและยินยอมให้โจทก์ที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์ได้ ถือว่าจำเลยประสงค์จะให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับกันต่อไป ครั้นเมื่อเช็คฉบับที่สี่และที่ห้าเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ที่ 1 จึงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดดังกล่าวอีก หากจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ที่ 1 จะต้องบอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในเวลาอันสมควรเสียก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อจำเลยยังไม่บอกเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์ที่ 1 จึงยังไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา
หลังจากโจทก์ที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามเช็คฉบับที่สี่และที่ห้าแล้วจำเลยได้ยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสองทราบว่า จำเลยมายึดรถยนต์คืน โจทก์ทั้งสองก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยอย่างใด โจทก์ที่ 1 เพิ่งจะมอบให้ทนายความมีหนังสือขอให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนหลังเวลาล่วงเลยมาถึง 5 เดือน ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ยินยอมให้จำเลยยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยไม่คัดค้าน ถือว่าโจทก์ที่ 1 กับจำเลยสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาเลิกกันด้วยเหตุอื่นมิใช่การเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป การที่จำเลยยึดรถยนต์คืนจึงไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกรถยนต์คืนหรือให้ใช้ราคาแทนและเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้ ส่วนจำเลยก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าติดตามรถ ค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อที่ระงับไปแล้วได้ แต่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนับแต่วันที่จำเลยได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จะต้องใช้เงินเป็นค่าเสียหายแก่จำเลยในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนตามค่าแห่งการนั้น ๆ ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับโจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดค่าเสียหายดังกล่าวร่วมกับโจทก์ที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3213/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: สิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อค้างชำระ, ค่าขาดประโยชน์, และราคาซื้อขายรถยนต์เมื่อผิดนัด
ป.พ.พ. มาตรา 574 บัญญัติไว้เพียงว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้และกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น ถ้าโจทก์ยังมีสิทธิเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระด้วยก็ไม่มีเหตุที่กฎหมายจะบัญญัติไว้เพียงให้ริบเงินที่ส่งใช้ก่อนเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนเลิกสัญญาได้คงเรียกได้แต่เฉพาะค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3807/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าขาดประโยชน์เช่าซื้อรถ และสิทธิริบเงินดาวน์เมื่อผิดสัญญา
โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติอายุความในกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันวันที่ 30 พฤษภาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 10 กันยายน 2544 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
อายุความ 6 เดือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 นั้น เป็นเรื่องเช่าทรัพย์ จะเอามาใช้กับสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อไม่ได้
ผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ผู้ให้เช่าซื้อจึงมีสิทธิริบเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์ไว้แล้วรวมทั้งเงินดาวน์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง
of 24