คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 58

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4064/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดผู้ขนส่งทางทะเล: การคำนวณค่าเสียหายตามน้ำหนักและอัตราจำกัด, การจำกัดความรับผิดตาม พ.ร.บ.รับขนของทางทะเล
ข้อตกลงระหว่างบริษัท ท. ผู้ส่ง กับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งผ่านทางจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับเงื่อนไขในการขนส่งกำหนดว่า ผู้ส่งมีหน้าที่เพียงหีบห่อและผูกมัดสินค้าม้วนเหล็กไว้บนฐานรองไม้ให้เรียบร้อยแล้วส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งที่ท่าเรือ โดยต้องชำระเงินทั้งค่าระวางและค่ารัดตรึงสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งไปในคราวเดียวกัน จากนั้นทางฝ่ายผู้ขนส่งตามสัญญารับขนระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จะเป็นผู้ดำเนินการต่อไปทั้งในเรื่องการบรรจุ การรัดตรึงสินค้าและการขนส่ง และตามใบตราส่งซึ่งจำเลยที่ 2 ออกให้ไว้แก่บริษัท ท. อันถือเป็นหลักฐานแห่งการรับสินค้า ระบุไว้ว่าผู้ขนส่งสินค้ารับสินค้าไว้ในสภาพเรียบร้อยดีและไม่มีการบันทึกข้อสงวนเกี่ยวกับสภาพสินค้าและการหีบห่อเมื่อสินค้าเกิดความเสียหายขึ้นในระหว่างการขนส่ง จึงถือไม่ได้ว่าความเสียหายเกิดจากความผิดของบริษัท ท. ผู้ส่ง หากแต่เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาที่ทำกับบริษัท ท. ที่ไม่ได้บรรจุและรัดตรึงสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ และไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลสินค้าขณะอยู่ในความดูแลของตนเองให้ดีพอ เมื่อความเสียหายไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ส่ง ผู้ขนส่งจึงไม่อายปฏิเสธความรับผิดชอบ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 52 (9) ได้ เมื่อผู้ขนส่งต้องรับผิดแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ตกลงทำสัญญารับขนสินค้าพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จึงต้องรับผิดตามสัญญาด้วย เมื่อ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดระบุข้อยกเว้นให้ตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศไม่ต้องรับผิดโดยลำพังตนเอง ความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 824 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งบังคับใช้กับสัญญาโดยทั่วไป
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายของสินค้าม้วนเหล็กระบุจำนวนสินค้าม้วนเหล็กและเลขที่ของสินค้าม้วนเหล็กรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 31,676.40 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินบาทจำนวน 1,369,154.01 บาท และปรากฏตามเอกสารซึ่งโจทก์นำสืบว่าเป็นรายงานการสำรวจความเสียหายพร้อมคำแปลระบุรายละเอียดค่าเสียหายเป็นดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทจำนวนตรงกัน โดยมีรายละเอียดของสินค้าม้วนเหล็กและเลขที่ของสินค้าม้วนเหล็กนอกเหนือจากที่ระบุในฟ้องแต่ตรงกับที่โจทก์ระบุขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง แสดงให้เห็นว่าโจทก์ระบุในคำฟ้องผิดพลาดไป การขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์เพื่อขอเพิ่มเติมจำนวนสินค้าม้วนเหล็กที่ได้รับความเสียหายเป็นการแก้ไขรายละเอียดให้ตรงตามยอดค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ระบุไว้ตั้งแต่แรก จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหลังจากที่โจทก์ได้สืบพยานไปแล้ว 1 ปาก ก็ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58 วรรคแรก ได้บัญญัติไว้ว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 60 ในกรณีที่ของซึ่งผู้ขนส่งได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้นแล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า" ส่วนมาตรา 60 บัญญัติว่า การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มิให้ใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าวไปนี้... (4) ผู้ส่งของได้แจ้งราคาของที่ขนส่งให้ผู้ขนส่งทราบและผู้ขนส่งยอมรับโดยแสดงราคาของนั้นไว้ในใบตราส่ง เมื่อพิจารณาใบตราส่งไม่ปรากฏว่าใบตราส่งได้ระบุราคาของหรือสินค้าเหล็กม้วนพิพาทไว้ กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่มิให้ใช้มาตรา 58 บังคับตามความในมาตรา 60 ดังกล่าว จึงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งได้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้นแล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า แต่ในกรณีที่คำนวณราคาของหรือสินค้าที่สูญหายหรือเสียหายได้มาตรา 61 แล้ว ปรากฏว่าของนั้นราคาต่ำกว่าที่จำกัดความรับผิดไว้ดังกล่าวข้างต้นให้ถือเอาตามราคาที่คำนวณได้นั้น การคำนวณราคาของที่สูญหายหรือเสียหายมีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 61 ในกรณีของสูญหายหรือเสียหายทั้งหมด ให้คำนวณเท่ากับราคาที่ของนั้นจะพึงมีในเวลาที่พึงส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ถ้าของนั้นสูญหายหรือเสียหายบางส่วนให้คำนวณตามส่วนโดยเทียบกับราคาของอย่างเดียวกันและคุณภาพเท่าเทียมกันที่ยังเหลืออยู่ในเวลาส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า สินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นเหล็กสแตนเลสมีลักษณะม้วนเป็นวงกลมทบกันหลายชั้น แต่ละม้วนมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการระบุจำนวนสินค้าเป็นม้วนที่บรรจุในตู้สินค้าแต่ละตู้ ดังนั้น แผ่นเหล็กสแตนเลส 1 ม้วน ย่อมถือเป็น 1 หน่วยการขนส่ง และเนื่องจากแผ่นเหล็กสแตนเลสดังกล่าวแต่ละม้วนมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลกรัม การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจึงต้องคำนวณเป็นจำนวนเงินตามน้ำหนักสุทธิของแต่ละม้วนที่เสียหายในอัตรากิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งมีจำนวนเงินมากกว่าการคำนวณจากหน่วยการขนส่งในอัตราม้วนละ 10,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเล กรณีสินค้าเสียหายจากการบรรจุและขนส่ง
ผู้ซื้อและผู้ขายตามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศตกลงซื้อขายกันตามเงื่อนไข INCOTERMS แบบ EX WORKS ผู้ขายจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบสินค้าที่หน้าโรงงานของผู้ขาย ส่วนผู้ซื้อมีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งไปรับสินค้าจากที่หน้าโรงงานของผู้ขาย
เมื่อการซื้อขายครั้งนี้ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันให้ผู้ขายมีหน้าที่เพียงส่งมอบสินค้าที่หน้าโรงงานของผู้ขาย และโจทก์มีพนักงานของบริษัทผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ส่งมาเบิกความยืนยันว่าได้มีการตกลงกันตามสัญญารับขนให้จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ จึงเชื่อได้ว่าหน้าที่ความรับผิดชอบในการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ตามสัญญารับขนซึ่งเป็นสัญญาที่เป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้นั้นเป็นของผู้ขนส่ง ดังนั้น ไม่ว่าการบรรจุสินค้าเข้าตู้ที่แท้จริงผู้ส่งจะช่วยบรรจุด้วยหรือไม่ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าความเสียหายของสินค้าเกิดจากความผิดของผู้ส่งในการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์
จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง และจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งอื่นซึ่งตกลงรับผิดชอบดูแลสินค้าตลอดช่วงการขนส่งจากเมืองท่าลา สเปเซียถึงกรุงเทพมหานคร ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายของสินค้า ไม่ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นในระหว่างช่วงการรับขนของช่วงใดก็ตาม ส่วนจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นซึ่งตกลงรับผิดชอบดูแลสินค้าในช่วงการขนส่งจากประเทศสิงคโปร์มายังกรุงเทพมหานคร แม้ต้องรับผิดเฉพาะในช่วงการรับขนของตน แต่เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่าความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นนอกช่วงการขนส่งดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุตัดสิทธิของผู้ขนส่งตามมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 จำเลยทั้งสามจึงได้รับประโยชน์จากข้อจำกัดความรับผิดคือต้องรับผิดเพียงไม่เกิน 30 บาท ต่อหนึ่งกิโลกรัม ตามมาตรา 58

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8563/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายต่างประเทศ การคิดคำนวณทุนทรัพย์ และอายุความของหนี้
ตามคำร้องของจำเลยขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้อำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่รับโอนคดีนี้จากศาลแพ่ง โดยกล่าวอ้างว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบในการรับโอนคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษา มิใช่กรณีคู่ความเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบที่มีข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 3 กำหนดไว้ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 27 มาใช้บังคับ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 โดยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติถึงกรณีที่มีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบว่า เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน เมื่อศาลเห็นสมควร หมายถึง กรณีที่ศาลเห็นถึงกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเองก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะที่จะหยิบยกขึ้นพิจารณาได้โดยไม่ต้องมีคำร้องจากคู่ความแต่อย่างใด กรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เป็นกรณีที่เกิดจากความประสงค์ของคู่ความนั้นที่ต้องการขอให้ศาลสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณา โดยกรณีนี้คู่ความผู้ยื่นคำร้องจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 วรรคสอง กล่าวคือต้องยื่นไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่คู่ความนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตามคำร้องของจำเลยขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ได้รับโอนคดีนี้ไว้พิจารณา โดยจำเลยอ้างว่าเป็นการโอนและรับโอนคดีที่ไม่ชอบ เป็นกรณีที่จำเลยประสงค์จะให้มีการเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นเอง จึงยื่นคำร้องฉบับนี้ต่อศาล อันเป็นกรณีที่คู่ความร้องขอตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ที่อยู่ในบังคับต้องยื่นคำร้องภายในกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 วรรคสอง แล้ว และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันนัดพร้อม ซึ่งทนายจำเลยเข้าร่วมดำเนินกระบวนพิจารณาด้วยว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้รับโอนคดีนี้จากศาลแพ่งและดำเนินการนัดสืบพยานจำเลยต่อไป ทนายจำเลยแถลงขอสืบพยานบุคคลที่เหลืออีก 3 ปาก แสดงว่า จำเลยได้ทราบว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีนี้ไว้ในวันนัดพร้อมแล้ว จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านในวันนั้น ทั้งยังกลับขอดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อไปอีกด้วย ต่อมาจำเลยเพิ่งยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่รับโอนคดีไว้ อันเป็นการยื่นคำร้องเกินกว่า 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยทราบถึงกระบวนพิจารณาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับโอนคดีนี้ไว้แล้ว จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง
สัญญารับขนของทางทะเลระหว่างบริษัท จ. ผู้ส่งสินค้ากับจำเลยในคดีนี้ เป็นการขนส่งสินค้าโดยมีการออกใบตราส่ง จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาต้องส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งซึ่งมีชื่อโจทก์ระบุในใบตราส่ง แม้ในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยผู้ขนส่ง ผู้ส่งสินค้าอาจสั่งให้ผู้ขนส่งจัดการแก่สินค้าเป็นประการอื่น นอกจากการส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่งได้ แต่ต้องเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดให้ไว้แก่ผู้ขนส่ง หากผู้ขนส่งจัดการไปตามคำสั่งของผู้ส่งสินค้าโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดแล้ว ผู้ขนส่งก็ยังต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งซึ่งมีใบตราส่งฉบับที่ไม่ได้เวนคืนตามมาตรา 36 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 แต่ตามหนังสือแจ้งของผู้ส่งสินค้ามีใจความเพียงว่า ผู้ส่งสินค้าตกลงให้จำเลยผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่ง (Consignee) โดยไม่ต้องเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งเท่านั้น ซึ่งผู้รับตราส่งก็หมายถึงโจทก์ ไม่ใช่บริษัท ย. และไม่ปรากฏว่าได้มีการเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดให้แก่จำเลยผู้ขนส่ง การที่จำเลยส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่บริษัท ย. โดยไม่มีการเวนคืนใบตราส่ง จึงไม่ใช่การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ส่งสินค้าและไม่ใช่กรณีที่ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 36 แต่เป็นกรณีที่จำเลยผู้ขนส่งปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับตราส่งในความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทำของจำเลย
มาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2539 ผู้ขนส่งต้องรับผิดในจำนวนเงินจำกัดตามข้อจำกัดไว้เฉพาะกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดเนื่องจากการที่สินค้าที่ขนส่งสูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบสินค้าชักช้า โดยเหตุแห่งความเสียหายนั้นเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ข้อเท็จจริงคดีนี้ความว่า จำเลยผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งให้แก่บริษัท ย. ซึ่งไม่ใช่ผู้รับตราส่งไปโดยไม่ได้มีการเวนคืนใบตราส่ง ทำให้โจทก์ซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับตราส่งในใบตราส่งได้รับความเสียหาย จึงเป็นการที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาโดยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขนส่งที่ต้องส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งตามสัญญารับขนของทางทะเล ไม่ใช่กรณีที่สินค้าสูญหาย เสียหายหรือมีการส่งมอบสินค้าชักช้า จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้รับตราส่งเต็มตามจำนวนความเสียหาย โดยไม่ได้รับประโยชน์จากข้อจำกัดความรับผิดตามบทบัญญัติมาตรา 58
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้ขายสินค้าในประเทศมาเลเซียได้ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งสินค้าไม้จากประเทศมาเลเซียโดยทางเรือมายังประเทศไทย โดยจำเลยได้ระบุในใบตราส่งว่า โจทก์เป็นผู้รับตราส่ง แต่เมื่อสินค้ามาถึงปลายทางในประเทศไทยแล้วจำเลยได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ย. ไปโดยมิได้มีการเวนคืนใบตราส่ง ตามคำฟ้องแสดงให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งและมีหน้าที่ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ผู้รับตราส่งโดยมีการเวนคืนใบตราส่งตามสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามสัญญา โดยส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้รับตราส่ง จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา แม้โจทก์จะระบุในคำฟ้องไว้ด้วยว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ได้บรรยายในคำฟ้องให้เห็นถึงการกระทำของจำเลยโดยละเอียด อันมีลักษณะทั้งเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาและละเมิดด้วย ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าจะนำบทกฎหมายเรื่องใดมาบังคับใช้กับข้อเท็จจริงตามที่พิจารณาได้ความ ข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยก็ต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งผู้มีสิทธิในสินค้าที่ขนส่งในความเสียหายที่เกิดขึ้น อันเป็นความรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเล แต่ความเสียหายไม่ได้เกิดจากการที่สินค้าสูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบสินค้าชักช้า อันจำเลยผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 ซึ่งจะมีอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวและความรับผิดของจำเลยที่ปฏิบัติผิดสัญญารับขนของทางทะเลในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5402/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องของคู่สัญญารับขนของทางทะเล แม้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าไปแล้ว และข้อยกเว้นการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง
ใบตราส่งเป็นเอกสารที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ผู้ส่งของเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลแสดงว่าผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแลแล้ว โจทก์จึงเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลกับจำเลย เมื่อปรากฏว่าของที่ระบุไว้ในใบตราส่งซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยได้รับความเสียหาย แม้โจทก์จะได้ส่งสินค้าคืนให้แก่ผู้ขายไปโดยโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นต่อไปแล้วก็ไม่มีผลทำให้ความผูกพันตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นผลบังคับ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อปรากฏว่ายังไม่มีการชำระค่าเสียหายแก่ผู้รับตราส่งและโจทก์ซึ่งเป็นผู้ส่งได้รับความเสียหายไม่ได้รับชำระราคาสินค้าคืน โจทก์ในฐานะเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลจึงชอบที่จะฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามสัญญารับขนของทางทะเลได้ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่
ตามมาตรา 60 (1) แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มิให้ใช้บังคับแก่การสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดการกระทำโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าหรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่าสินค้าได้รับความเสียหายจากลังสินค้าตกจากรถยกในระหว่างการขนย้ายสินค้าเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ หาใช่เกิดจากการที่โจทก์บรรจุหีบห่อสินค้าไม่แข็งแรงดังที่จำเลยให้การและนำสืบต่อสู้คดีไม่ และฟังได้ว่าสาเหตุแห่งความเสียหายของสินค้าเกิดจากการใช้รถยกขนย้ายสินค้าเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์โดยปราศจากความระมัดระวังอย่างมากและโดยไม่นำพาต่อความเสียหายใด ๆ ที่ย่อมเกิดขึ้นแก่สินค้าจากการขนย้ายเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าจึงเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่งคือจำเลยหรือตัวแทนเป็นผู้กระทำโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยจะนำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มาใช้บังคับหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2546 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล ไม่ครอบคลุมกรณีผิดสัญญา แต่ครอบคลุมเฉพาะกรณีของสูญหายหรือเสียหาย
ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจำนวน 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ของซึ่งผู้ขนส่งได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายเท่านั้น กรณีที่ผู้ขนส่งผิดสัญญาไม่ส่งของไปยังเมืองท่าปลายทางตามสัญญาหาใช่เป็นกรณีของสูญหายหรือเสียหายไม่ จึงไม่อาจนำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งดังกล่าวมาใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนรับขนส่งทางทะเลต้องรับผิดตามสัญญา แม้ไม่ใช่ผู้ขนส่งโดยตรง
จำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งและได้ทำสัญญารับขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์แทนผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ มิใช่เป็นเพียงนายหน้าในการรับจองระวางเรือจำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 แม้จำเลยจะไม่ใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นเมื่อผู้ขนส่งผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้ถึงเมืองปลายทางแต่ปล่อยให้สินค้าไปตกค้างระหว่างทางเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการที่สินค้าตกค้างที่เมืองท่าดูไบและค่าระวางการขนส่งจากเมืองท่าดูไบไปยังเมืองท่าปลายทางตูนิส จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2535 มาตรา 58 ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ของซึ่งผู้ขนส่งได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายเท่านั้น แต่กรณีที่ผู้ขนส่งผิดสัญญาไม่ส่งของไปยังเมืองท่าปลายทางตามสัญญามิใช่เป็นกรณีของสูญหายหรือเสียหาย จึงไม่อาจนำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งมาใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนรับขนส่งสินค้าทางทะเล: ความรับผิดตามสัญญา แม้ไม่ใช่ผู้ขนส่งโดยตรง
โจทก์ว่าจ้างผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศโดยติดต่อผ่านจำเลย เมื่อจำเลยได้รับสินค้าไปจากโจทก์แล้ว จำเลยได้มอบใบตราส่งซึ่งระบุชัดว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งให้แก่โจทก์ ทั้งเมื่อโจทก์ชำระค่าระวางการขนส่งให้แก่จำเลย จำเลยก็ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่โจทก์โดยระบุในใบเสร็จรับเงินว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่ง พฤติการณ์ดังกล่าวแม้จำเลยจะไม่ได้ลงลายมือชื่อหรือประทับตราของจำเลยในใบตราส่งก็รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งและได้ทำสัญญารับขนส่งสินค้าให้แก่โจทก์แทนผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศมิใช่เป็นเพียงนายหน้าในการรับของระวางเรือ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาแต่ลำพังตนเอง เมื่อผู้ขนส่งผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้ถึงเมืองปลายทาง จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายจากการขนส่งไปยังเมืองท่าปลายทาง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ข้อจำกัดความรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียง 10,000 บาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งนั้นใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ของที่ได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายเท่านั้น แต่กรณีผู้ขนส่งผิดสัญญาไม่ส่งของไปยังเมืองท่าปลายทาง หาใช่เป็นกรณีของสูญหายหรือเสียหายไม่ จึงไม่อาจนำข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวมาใช้บังคับได้
ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงกันว่าเมื่อจำเลยสามารถจัดส่งสินค้าที่ตกค้างไปยังเมืองท่าปลายทางได้เสร็จเรียบร้อยจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นจำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การ เพิ่งยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์จึงมิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ซึ่งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9578/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดค่าเสียหายขนส่งสินค้าและความถูกต้องของการกำหนดค่าทนายความ
จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้าประเภทน้ำยางดิบจำนวน4 ตู้คอนเทนเนอร์ จากท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ไปส่งให้แก่ผู้ซื้อที่เมืองเซนต์ ชองประเทศแคนาดา โดยโจทก์รับทำการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ส่วนจำเลยผู้ส่งมีหน้าที่รับตู้คอนเทนเนอร์ไปบรรจุสินค้าน้ำยางดิบเข้าตู้เอง ขณะจำเลยส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ให้แก่โจทก์ ตู้อยู่ในสภาพเรียบร้อยดี โจทก์จึงได้ออกใบตราส่งแบบปราศจากข้อสงวนให้แก่จำเลย เมื่อสินค้าไปถึงประเทศแคนาดา ระหว่างที่นำสินค้าทั้ง 4 ตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นบรรทุกบนโครงรถไฟเพื่อนำไปส่งให้แก่ผู้ซื้อ ปรากฏว่ามีน้ำยางดิบไหลหยดออกมาจากใต้ตู้ เมื่อเปิดตู้ตรวจดูแล้วพบว่าถุงที่บรรจุน้ำยางฉีกขาดบริเวณปากถุง แต่ความเสียหายมิได้เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดของจำเลยผู้ส่งในการบรรจุน้ำยางดิบเข้าถุงและบรรจุถุงเข้าตู้คอนเทนเนอร์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยเป็นเงินเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรกำหนดใหม่ให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 246 และ 142(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9335/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิในใบตราส่งและการรับผิดของผู้ขนส่งกรณีไม่ส่งมอบสินค้าให้ผู้รับตราส่ง
ใบตราส่งแสดงชื่อผู้รับตราส่งว่า ให้เป็นไปตามคำสั่งของธนาคาร ด. ธนาคาร ด. ได้สลักหลังใบตราส่งให้แก่ธนาคาร ซ. ซึ่งสลักหลังสิทธิตามใบตราส่งให้โจทก์ ซึ่งด้านหลังของใบตราส่งปรากฏว่ามีรายการสลักหลังโดยระบุชื่อธนาคารทั้งสองและลายมือชื่อของผู้มีอำนาจของธนาคารทั้งสอง อีกทั้งมีการระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับสลักหลังด้วย และเมื่อโจทก์เป็นผู้รับสลักหลังคนสุดท้ายจึงต้องถือว่าเป็นผู้รับตราส่ง แม้มิได้มีการแสดงชื่อในใบตราส่งว่าเป็นผู้รับตราส่งก็ตาม และเนื่องจากสิทธิที่ระบุไว้ในใบตราส่งตกแก่ผู้รับตราส่งมิใช่ตกแก่ผู้ส่ง ผู้ส่งไม่สามารถสลักหลังโอนสิทธิที่ระบุไว้ในใบตราส่งให้แก่ผู้อื่น ดังนั้น การที่ไม่มีรายชื่อของผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท พ. ผู้ส่งสินค้าจึงไม่ทำให้การสลักหลังขาดสาย
พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58 เป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดในกรณีที่ของที่ผู้ขนส่งได้รับมอบหมายเกิดสูญหายหรือเสียหาย ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งความรับผิดดังกล่าวหมายถึงกรณีเกิดการสูญหายหรือเสียหายแก่ของที่ผู้ขนส่งรับมอบหมาย ส่วนกรณีที่จำเลยในฐานะผู้ขนส่งไม่ยอมส่งมอบของให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง แต่ได้ส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อซึ่งมิใช่เป็นบุคคลที่มีชื่อแสดงในใบตราส่งว่าเป็นผู้รับตราส่ง ไม่เข้ากรณีของสูญหายหรือเสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากการสูญหายนี้หมายถึงของไม่อยู่ในวิสัยที่ผู้ขนส่งจะเอามาส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งได้ตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9335/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลกรณีส่งมอบของผิดบุคคล แม้ของไม่สูญหาย
ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดในกรณีที่ของที่ผู้ขนส่งได้รับมอบหมายเกิดสูญหายหรือเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งความรับผิดดังกล่าวหมายถึง กรณีเกิดการสูญหายหรือเสียหายแก่ของที่ผู้ขนส่งรับมอบหมาย การสูญหายนี้หมายถึงของไม่อยู่ในวิสัยที่ผู้ขนส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งได้ตามสัญญา ดังนั้นกรณีที่ผู้ขนส่งไม่ยอมส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่ง แต่ได้ส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อซึ่งมิใช่เป็นบุคคลที่มีชื่อแสดงในใบตราส่งว่าเป็นผู้รับตราส่ง จึงไม่เข้ากรณีของสูญหายหรือเสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดไม่จำกัดจำนวน
การพิพากษาให้ชำระหนี้เป็นเงินต่างประเทศ ท่านให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในเวลาที่ใช้เงินตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 196
of 5