คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 58

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3999/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างขนส่งสินค้า: การผิดสัญญาจากเหตุระวางเรือไม่ตรงตามกำหนด และขอบเขตความรับผิด
ก่อนมีการตกลงว่าจ้างจำเลยขนส่งสินค้ากังหันไอน้ำความดันต่ำ โจทก์แจ้งกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าว่า ประมาณวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ให้จำเลยทราบแล้วในหนังสือขอให้จำเลยเสนอราคาค่าจ้างบริการขนส่งสินค้าทางเรือ ดังนั้น ก่อนเสนอราคาจำเลยย่อมต้องตรวจสอบตารางการเดินเรือว่าสามารถดำเนินการรับขนสินค้าจากท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ได้ทันวันดังกล่าวหรือไม่ แต่จำเลยกลับนำสืบว่าได้จองเรือที่เดินทางออกจากท่าเรือในวันที่ 23 มิถุนายน 2552 นอกจากนี้เมื่อโจทก์สนองรับราคาของจำเลย โจทก์ยังแนบสัญญาซื้อขายกังหันไอน้ำความดันต่ำซึ่งมีกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ไปพร้อมกับหนังสือจ้างขนส่งสินค้าทางเรือให้จำเลยทราบอีกด้วย จำเลยจึงย่อมต้องทราบดีว่าหากจำเลยไม่สามารถจัดหาเรือที่จะออกจากท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามาอย่างช้าที่สุดวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ได้ จำเลยยังมีทางเลือกที่จะจัดหาเรือซึ่งออกจากท่าเรือต้นทางอย่างช้าที่สุดวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ได้อีกด้วย แม้หนังสือจ้างจะไม่มีข้อตกลงให้จำเลยไปรับสินค้าในวันที่ 25 มิถุนายน 2552 โดยมีเพียงข้อกำหนดให้จำเลยส่งมอบงานภายใน 22 วัน นับจากวันที่จำเลยรับสินค้าจากผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นก็ตาม แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่าจำเลยทราบกำหนดวันที่ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ หนังสือจ้างขนส่งสินค้าทางเรือจึงเป็นสัญญาที่มีกำหนดเวลาที่จำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญาไว้แน่นอน การที่จำเลยจองระวางเรือซึ่งมีกำหนดการเดินทางออกจากท่าเรือเมืองโยโกฮามาวันที่ 23 มิถุนายน 2552 จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการจองระวางเรือที่เหมาะสมกับกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าจากผู้ขาย
แม้จำเลยนำสืบว่าเรือเดินทะเลอาจเทียบท่าก่อนตารางการเดินเรือได้เนื่องจากภัยธรรมชาติตามสัญญาเลย์แคน (Laycan) และเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยไม่อาจควบคุมได้ แต่เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบว่าเหตุที่เรือที่จำเลยว่าจ้างเข้าเทียบท่าเรือและออกจากท่าเรือก่อนกำหนดเกิดจากภัยธรรมชาติอย่างไร ทั้งกรณีจะเป็นเหตุสุดวิสัยจะต้องได้ความว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 เมื่อจำเลยประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับขนสินค้าทางทะเลย่อมต้องทราบดีว่าระยะเวลาการเดินเรือและเข้าเทียบท่าอาจคลาดเคลื่อนได้ หากจำเลยใช้ความระมัดระวังตามสมควรในฐานะผู้ประกอบการก็ไม่ควรจองระวางเรือที่จะออกจากท่าเรือต้นทางก่อนถึงกำหนดส่งมอบสินค้าตามที่โจทก์แจ้งไว้ล่วงหน้า จึงหาใช่เหตุสุดวิสัยดังข้อต่อสู้ของจำเลยไม่
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างไม่ไปรับสินค้าตามกำหนดที่ตกลงไว้กับโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย หาใช่เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในกรณีที่สินค้าสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบสินค้าชักช้า จึงไม่สามารถนำ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 และ 58 มาปรับใช้แก่คดีดังที่จำเลยต่อสู้ได้
เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบกำหนดรับมอบสินค้าว่าประมาณวันที่ 25 มิถุนายน 2552 แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจัดหาเรือไปรับสินค้าให้ทันวันดังกล่าว โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์จะใช้สินค้าเมื่อใด เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแก่พฤติการณ์พิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11774/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนรับขนของทางทะเล ความรับผิดของผู้ขนส่ง การจำกัดความรับผิด และการพิสูจน์ความประมาทเลินเล่อ
จำเลยที่ 1 เพียงแต่ทำหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับจำเลยที่ 3 ในเรื่องการจองระวางเรือ การรับสินค้า และการชำระค่าระวางและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของ ซ. แทนจำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญารับขนของทางทะเลพิพาทกับ ซ. แทนจำเลยที่ 3 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สินค้าสูญหายไปในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งการสูญหายไปเช่นนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะเสียสิทธิในการจำกัดความรับผิดก็ต่อเมื่อโจทก์พิสูจน์ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการโดยการละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในทางนำสืบของโจทก์ ทั้งไม่มีข้อเท็จจริงอื่นพอที่ศาลจะอนุมานเอาจากพฤติการณ์ทั้งปวงได้ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการการละเลยหรือไม่เอาใจใส่จนเป็นเหตุให้สินค้าพิพาทสูญหายไปตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 (1) จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เสียสิทธิที่จะจำกัดความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19481/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทนจัดหาเรือ - ความรับผิดชอบของผู้จัดหาและการรับประกันจากผู้ผลิต
ขณะทำสัญญา Construction, Sale and Purchase Agreement เรือใบคาตามารัน Silkline ยังไม่มีการสร้างขึ้น และจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกแนวคิดและมอบหมายให้ผู้อื่นออกแบบเบื้องต้นซึ่งจำเลยทั้งสองได้จัดซื้อแบบดังกล่าวและได้จัดหาลูกค้าที่ต้องการให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนในการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์และเข้าทำสัญญากับอู่ต่อเรือที่จะให้ได้มาซึ่งเรือคาตามารันที่มีลักษณะจำเพาะตามรูปแบบที่เรียกว่า Silkline ดังกล่าว เจือสมกับข้อความในสัญญาดังกล่าวซึ่งระบุว่า เรือใบคาตามารัน Silkline ที่มีการทำสัญญากันนั้นเป็นเรือใบคาตามารันที่มีลักษณะจำเพาะตามแบบเขียนแนบท้ายสัญญาซึ่งเป็นแนวคิดเท่านั้น ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่า ขณะทำสัญญา ยังไม่เคยมีการสร้างเรือใบคาตามารันในรูปแบบที่เรียกว่า Silkline ตามที่ระบุในสัญญาดังกล่าวมาก่อน
เมื่อพิจารณาข้อความในสัญญาที่ระบุว่า จำเลยทั้งสองซึ่งต่อไปในสัญญาเรียกว่าตัวแทนได้ตกลงในการจัดการหรือจัดเตรียมเรือใบคาตามารันตามแบบท้ายสัญญาซึ่งเป็นแบบเขียนตามแนวคิดโดยระบุว่าลิขสิทธิ์หรือการป้องกันในลักษณะเดียวกันในส่วนของแบบเขียน แนวคิด แบบการต่อเรือที่ถูกจัดเตรียมโดยตัวแทนยังคงเป็นของตัวแทนเพียงผู้เดียว และในสัญญายังระบุถึงความรับผิดชอบของตัวแทนว่าตัวแทนเป็นผู้ตระเตรียมในส่วนของอู่ต่อเรือในการต่อเรือใบคาตามารันให้เสร็จสมบูรณ์ตามแบบเขียนและกำหนดเวลาและตระเตรียมในส่วนของอู่ต่อเรือในการรับประกันฝีมืองานช่างที่ใช้ในการต่อเรือดังกล่าวโดยการรับประกันทั้งหมดที่ได้รับจากผู้ขายโดยอู่ต่อเรือ ตัวแทนจะต้องโอนให้แก่เจ้าของเรือโดยตรง และการรับประกันจะต้องมีผลบังคับในวันที่ทำการส่งมอบและมีการชำระเงินงวดสุดท้ายเต็มจำนวนโดยสมบูรณ์ และต้องมีระยะเวลาในการรับประกันโดยสมบูรณ์ตามที่ผู้ผลิตแจ้งไว้ ทั้งนี้ตามสัญญาข้อ 5 อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาระบุให้ตัวแทนเริ่มต้นทำการจัดซื้อวัสดุต่าง ๆ ให้แก่อู่ต่อเรือหลังจากที่ตัวแทนได้รับเงินตามข้อตกลงในสัญญาข้อ 21 สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาซื้อขาย แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ตามสัญญาต้องจัดหาอู่ต่อเรือ จัดซื้อวัสดุในการต่อเรือจากเงินที่ได้รับตามสัญญา ควบคุมดูแลให้การต่อเรือเป็นไปตามแบบแนบท้ายสัญญา และต้องดำเนินการให้ผู้ผลิตคืออู่ต่อเรือเป็นผู้รับผิดชอบในการรับประกันฝีมือแรงงานช่างที่ใช้ในการต่อเรือภายหลังมีการส่งมอบสมบูรณ์แล้ว ในสัญญาข้อ 3 ระบุถึงหลักเกณฑ์ในการส่งมอบว่า การส่งมอบเรือดังกล่าวขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเจ้าของเรือในความสมบูรณ์ตามเอกสารแนบท้ายสัญญา แบบเขียน และกำหนดการ และเมื่อมีการชำระเงินทั้งหมดโดยสมบูรณ์และเต็มจำนวนให้กับตัวแทนตามสัญญา โดยตามสัญญาข้อ 5 ระบุว่า สัญญาจะสิ้นสุดลงเมื่อมีการส่งมอบเรือใบคาตามารันให้แก่เจ้าของและมีการชำระเงินงวดสุดท้ายทั้งหมด
เมื่อทางนำสืบของคู่ความได้ความว่า การต่อเรือดังกล่าวไม่มีปัญหาเรื่องการผิดแบบแปลนและกำหนดเวลาแล้วเสร็จ ทั้งปรากฏตามสัญญาจ้างต่อเรือว่า มีการรับประกันสำหรับเรือ ฝีมือแรงงาน และการติดตั้งวัสดุจากอู่ต่อเรือเวฟมาสเตอร์ฯ ในสัญญาดังกล่าวด้วย อันแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว ทั้งการที่ ซ. ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้ไปรับมอบเรือแทนโจทก์ได้เดินทางไปรับมอบเรือดังกล่าวจากอู่เรือดังกล่าว ที่ประเทศมาเลเซีย แล้วนำล่องทะเลกลับมาที่จังหวัดภูเก็ต แสดงว่า ซ. พึงพอใจในเรือที่ต่อส่งผลให้โจทก์ชำระเงินตามสัญญางวดสุดท้ายให้แก่จำเลยทั้งสองในวันรุ่งขึ้น ถือว่าโจทก์ได้รับมอบเรือไว้ตามหลักเกณฑ์ในการส่งมอบที่ระบุในสัญญาแล้ว สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงสิ้นสุดและจำเลยทั้งสองพ้นจากความรับผิดชอบในเรือดังกล่าว โดยเป็นความรับผิดชอบต่อไปของอู่ต่อเรือตามการรับประกันดังที่ระบุไว้ในสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15502/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งสินค้าทางทะเล: ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางทะเล
ผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลเนื่องจากสินค้าที่ขนส่งสูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบชักช้านั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่สัญญากับผู้ขนส่งเสมอไป ผู้ทรงใบตราส่งโดยชอบจึงย่อมเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากผู้ขนส่งได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะได้ส่งมอบใบตราส่งซึ่งระบุชื่อผู้ซื้อเป็นผู้รับตราส่งให้แก่ผู้ซื้อแล้ว แต่ก็ปรากฏตามใบตราส่งว่ามีการลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัท ฮ. ผู้มีชื่อเป็นผู้รับตราส่งที่ด้านหลังใบตราส่งและไม่ได้เวนคืนใบตราส่งแก่จำเลย แต่ได้ส่งมอบใบตราส่งนั้นให้แก่โจทก์ ถือว่าผู้ซื้อได้มีการสลักหลังลอยลงในใบตราส่งโอนสิทธิตามใบตราส่งนั้นให้แก่โจทก์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้ทรงใบตราส่งโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากจำเลยผู้ขนส่งได้ไม่ว่าโจทก์จะเป็นคู่สัญญาในสัญญารับขนของทางทะเลหรือไม่ก็ตาม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 36 เป็นเรื่องที่ผู้ส่งของสั่งผู้ขนส่งให้งดการส่งของ ส่งกลับคืนมา ระงับการส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง หรือจัดการของนั้นเป็นประการอื่นใดก่อนจะขนส่งออกไปถึงท่าปลายทางหรือก่อนจะส่งมอบของแก่ผู้รับตราส่ง ซึ่งผู้ส่งของต้องเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดแก่ผู้ขนส่ง เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการขนส่งตามสัญญาที่ระบุในใบตราส่งอันถือเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล การใช้สิทธิของผู้ส่งของตามมาตรา 36 นี้ ผู้ส่งของต้องยังเป็นผู้ยึดถือครอบครองใบตราส่งอยู่ มิฉะนั้นก็ไม่อาจจะมีใบตราส่งเวนคืนแก่ผู้ขนส่งได้ มาตรา 36 ไม่ได้ใช้บังคับในกรณีที่โจทก์ในฐานะผู้ทรงใบตราส่งจะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเนื่องจากการที่ของหรือสินค้าที่ขนส่งสูญหายซึ่งปรากฏเมื่อเรือที่ขนส่งสินค้าถึงปลายทางแล้วอย่างในคดีนี้ การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 36 ที่ต้องเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดที่ออกให้แก่กันไว้แก่ผู้ขนส่ง
โจทก์ผู้ส่งของได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งแก่จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเรือที่ขนส่งสินค้าถึงปลายทางปรากฏว่าสินค้าสูญหายไปทั้งหมด ถือว่าเหตุแห่งการเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลย และไม่ปรากฏเหตุตามมาตรา 51 ถึงมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ที่เป็นเหตุยกเว้นความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ขนส่ง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ทรงใบตราส่ง ตามมาตรา 39 และ 43 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว
การรับขนส่งสินค้าของจำเลยเป็นแบบ "CFS/CFS" ที่จำเลยมีหน้าที่นำสินค้าเข้าบรรจุในตู้สินค้า และสินค้าตามคำฟ้องมีจำนวนน้อย มีโอกาสที่จะมีการบรรจุสินค้าของบุคคลอื่นอีกจำนวนมากที่นำเข้ารวมไว้ในตู้สินค้านี้ ความผิดพลาดในการบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าจึงอาจเกิดขึ้นได้ การไม่ได้นำสินค้าบรรจุเข้าตู้สินค้าจึงถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือตัวแทนซึ่งจำเลยในฐานะผู้ขนส่งต้องรับผิด แต่เมื่อตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดที่แสดงว่าจำเลยหรือตัวแทนมีพฤติการณ์อื่นใดที่ถึงขนาดเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันจะรับฟังได้ว่า เป็นการละเลยหรือไม่เอาใจใส่ในการดูแลรักษาสินค้าที่ขนส่ง จึงไม่อาจถือได้ว่าการสูญหายของสินค้าที่ขนส่งเป็นผลมาจากการละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของจำเลยหรือตัวแทนทั้งที่รู้ว่าการสูญหายของสินค้าอาจเกิดขึ้นได้ ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 (1) ความรับผิดของจำเลยจึงอยู่ในบังคับของมาตรา 58 จำเลยจึงรับผิดต่อโจทก์เพียงจำนวนเงินตามข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดคือนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดเวลาที่จำเลยควรส่งมอบสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสูญหายของสินค้าขณะขนส่งทางทะเล ความรับผิดของผู้ขนส่ง และข้อยกเว้นความรับผิดตามกฎหมาย
การที่สินค้าสูญหายไปจากตู้สินค้าโดยมีการนำถุงทรายมาแทนที่นั้นเป็นไปเพื่อเจตนาลวงว่าสินค้ายังอยู่ครบถ้วนในตู้สินค้าระหว่างขนส่งด้วยเหตุที่สินค้าที่สูญหายไปมีน้ำหนักถึง 3,243.20 กิโลกรัม และการที่ดวงตราผนึกของตู้สินค้าอยู่ในสภาพเรียบร้อยดีถึงท่าเรือปลายทางก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าตู้สินค้ามิได้ถูกเปิดออกก่อนหน้านั้น หมายความว่าตู้สินค้ามิได้ถูกเปิดเอาสินค้าออกไปและใส่ถุงทรายเข้ามาแทนที่ด้วยวิธีการตามปกติ สอดคล้องกับที่โจทก์นำสืบว่า บริษัทผู้สำรวจสินค้าได้ทดลองถอดนอตด้านข้างตู้สินค้าออกพบว่าสามารถเปิดประตูตู้สินค้าได้โดยที่ตราประทับไม่ถูกตัดออก การที่ท่อทองแดงมีน้ำหนักประมาณม้วนละ 350 ถึง 450 กิโลกรัม การขนถ่ายจึงต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เมื่อพิจารณาแผนผังการวางตู้สินค้าที่ถูกวางในชั้นที่สูงสุด ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าการลักลอบนำสินค้าออกจากตู้สินค้าไม่อาจทำได้ในระหว่างการขนส่งโดยเรือเดินสมุทร ทั้งถุงทรายที่ถูกแทนที่มีภาษาไทยอยู่บนถุง และหากสินค้าถูกลักลอบนำออกจากตู้สินค้าพิพาทที่ปลายทางก็ไม่จำเป็นต้องนำถุงทรายจำนวนมากเข้ามาแทนที่เพื่อลวงน้ำหนักตู้สินค้าระหว่างการขนส่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สินค้าสูญหายขณะอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบังซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 51 และ 52 จึงต้องรับผิด
จำเลยที่ 2 รับขนส่งสินค้าพิพาทในเงื่อนไข CY/CY ผู้ขายเป็นผู้บรรจุและตรวจนับสินค้าเข้าตู้สินค้าที่โรงงานของผู้ขาย ลานพักตู้สินค้ามีเนื้อที่มากกว่า 4 สนามฟุตบอล มีการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง มีแสงครอบคลุมบริเวณที่วางตู้สินค้าทุกบริเวณ สินค้าที่สูญหายมีน้ำหนักมาก การขนย้ายออกจากตู้สินค้าและนำถุงทรายเข้าแทนที่เป็นเรื่องที่ต้องใช้กำลังคน เครื่องมือ และเวลาในการดำเนินการ เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่มีบุคคลจงใจวางแผนลักลอบนำสินค้าพิพาทออกจากตู้สินค้าแล้วทดแทนน้ำหนักสินค้าด้วยถุงทรายโดยไม่กระทบถึงดวงตราผนึกตู้สินค้า ข้อเท็จจริงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 หรือตัวแทนละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายอาจเกิดขึ้นได้อันเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามความในมาตรา 60 (1) จึงสามารถจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58 วรรคหนึ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22318/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล: การยกเว้นข้อจำกัดความรับผิดต้องยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของสินค้าพิพาทที่โจทก์รับประกันภัยไว้ที่เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งทางทะเล โดยมิได้ระบุว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่จำเลยทั้งสาม ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยทั้งสามกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการเสียหาย หรือโดยละเลย หรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ และจำเลยที่ 3 ทราบราคาของที่ขนส่งตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.5 แล้ว เพื่อให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในความเสียหายแก่โจทก์โดยไม่ให้จำกัดความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 และมาตรา 60 (1) (4) การที่โจทก์อ้างถึงเหตุดังกล่าวในอุทธรณ์เพื่อให้เข้าข้อยกเว้นการจำกัดความรับผิดของจำเลยทั้งสามผู้ขนส่ง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่ได้นำพยานมาสืบโต้แย้ง แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวหามิได้ยกข้อยกเว้นที่จะทำให้ไม่ให้จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งขึ้นอ้างมาแต่ต้นแล้ว ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งย่อมเป็นไปตามผลของกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9541/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลและทางบก กรณีสินค้าสูญหายหรือเสียหาย และขอบเขตความรับผิดจำกัดตามกฎหมาย
ผู้ขายติดต่อจำเลยที่ 1 เพื่อการขนส่งสินค้า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ขนส่ง แต่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ขนส่งอีกต่อหนึ่ง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ต่างรับจ้างขนส่งสินค้าในฐานะเป็นผู้ขนส่ง ส่วนจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้เงินส่วนต่างค่าขนส่งเป็นของตนเอง จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างขนส่งเพื่อบำเหน็จทางการค้าปกติของตนอันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 608 และเมื่อจำเลยที่ 1 ว่าจ้างผู้ขนส่งคนอื่นคือ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ว่าจ้างจำเลยที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นอีกทอดหนึ่ง จึงเป็นกรณีที่ผู้ขนส่งมอบหมายสินค้าให้ผู้ขนส่งอื่นขนส่ง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงต้องรับผิดร่วมกันในความสูญหายของสินค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และมาตรา 618 ส่วนจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
ส่วนที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยไปร้อยละ 110 ของราคาสินค้านั้น เป็นความผูกพันตามสัญญาประกันภัยที่บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาและผู้รับประโยชน์เท่านั้น แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ที่ต้องรับผิดตามสัญญาขนส่งไม่ต้องผูกพันตามสัญญาประกันภัย ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่า การสูญหายของสินค้าทำให้ผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่งต้องเสียหายมากกว่าราคาสินค้าที่รวมค่าประกันภัยและค่าระวางการขนส่งแล้วแต่อย่างใด
จำเลยที่ 5 ออกใบตราส่งและประทับชื่อจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้ขนส่ง ทั้งได้ความว่าจำเลยที่ 7 ออกใบรับขนของ (WAYBILL) ระบุว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้ส่งของโดยให้ตัวแทนของจำเลยที่ 5 รับสินค้าเพื่อส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง อันเป็นการทำหน้าที่ผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลทุกประการ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ขนส่งโดยมีจำเลยที่ 7 เป็นผู้ขนส่งอื่น ดังนั้นเมื่อเหตุแห่งความสูญหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 7 ผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ 5 และที่ 7 ย่อมต้องร่วมกันรับผิดในความสูญหายของสินค้าดังกล่าวตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39, 43, 44 และ 45 สำหรับจำเลยที่ 6 แม้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 7 แต่จำเลยที่ 6 ไม่ได้ทำสัญญาขนส่งแทนจำเลยที่ 7 จึงไม่ต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
ความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 58 เว้นแต่จะเป็นกรณีตามมาตรา 60 (1) ถึง (4) คดีนี้เป็นกรณีตามมาตรา 60 (1) ซึ่งผู้ขนส่งไม่อาจจำกัดความรับผิดตามมาตรา 58 ได้ เมื่อการสูญหายเกิดขึ้นจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหาย หรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 เป็นผู้ลักเอาสินค้าที่สูญหายไป หรือจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 หรือตัวแทนหรือลูกจ้างกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดที่มีเจตนาจะให้เกิดการสูญหาย หรือมีพฤติการณ์อย่างใดที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 5 หรือที่ 7 ละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายจะเกิดขึ้นแต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่ามีกรณีตามมาตรา 60 (1) ที่ทำให้จำเลยที่ 5 และที่ 7 ต้องรับผิดโดยไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ 5 และที่ 7 ย่อมรับผิดเพียงจำนวนจำกัดตามมาตรา 58

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8194/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบข้อจำกัดความรับผิดนอกเหนือจากที่กล่าวอ้างในฟ้อง ถือเป็นการสืบนอกเหนือคำฟ้องและต้องห้ามอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องโดยอ้างสิทธิตามสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งโจทก์รับช่วงสิทธิมา โดยในใบตราส่งที่โจทก์แนบท้ายฟ้องไม่ได้แนบข้อตกลงด้านหลังใบตราส่งไว้ด้วย จึงไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงกันให้จำกัดความรับผิดดังอ้างไว้ในใบตราส่ง
การที่โจทก์นำสืบใบตราส่งที่มีเนื้อความด้านหลังเป็นพยาน พร้อมกับอ้างว่าจำเลยไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ได้เพราะด้านหลังใบตราส่งดังกล่าวระบุในเรื่องความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ในหัวข้อความรับผิดในกรณีสินค้าได้รับความเสียหายหรือสูญหายระหว่างการขนส่งไว้ว่าให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1992 และนำสืบด้วยว่ากฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1992 จำกัดความรับผิดไว้สูงกว่าตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 นั้น ถือเป็นการนำสืบในปัญหาข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างมาในฟ้องเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสยกข้อต่อสู้ปัญหาข้อนี้ว่ามีข้อเท็จจริงอื่นอีกหรือไม่ไว้ในคำให้การเพื่อให้เกิดเป็นปัญหาข้อพิพาทขึ้น ทางนำสืบดังกล่าวจึงเป็นการสืบนอกเหนือไปจากคำฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อดังกล่าวจึงถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7197/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งทางทะเล: ความรับผิดของผู้ขนส่งกรณีสินค้าเสียหายจากน้ำทะเล และข้อยกเว้นจำกัดความรับผิด
ด้านหลังใบตราส่งมีข้อความเป็นเงื่อนไขของการขนส่งในข้อ 15 (2) เป็นภาษาอังกฤษว่า สินค้าไม่ว่าจะบรรจุในตู้สินค้าหรือไม่ได้บรรจุในตู้สินค้า ผู้ขนส่งมีสิทธิที่จะนำสินค้าไปวางไว้บนปากระวางเรือได้ ถือได้ว่าการขนส่งสินค้าพิพาทครั้งนี้ได้มีการจดแจ้งข้อตกลงไว้ในใบตราส่งแล้วว่า ผู้ขนส่งและผู้ส่งตกลงกันให้บรรทุกหรืออาจบรรทุกสินค้าพิพาทบนปากระวางได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 11 วรรคสอง การนำสินค้าพิพาทบรรทุกบนปากระวางเรือ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดข้อตกลงโดยชัดแจ้งในการขนส่งในข้อที่ให้บรรทุกสินค้าในระวางเรือตาม พ.ร.บ.การรับขนส่งทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 11 วรรคห้า ซึ่งจะทำให้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามมาตรา 60 (1) อันจะทำให้ไม่อาจจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 หากมีกรณีที่ต้องรับผิดแต่อย่างใด
แม้จำเลยที่ 1 มีข้อตกลงระบุไว้ในใบตราส่งว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะบรรทุกสินค้าไว้บนปากระวางเรือได้ แต่เนื่องจากตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าเครื่องจักรประเภท VACUUM DRYER พร้อมอุปกรณ์เป็นแบบ FLAT RACK มีลักษณะเปิด ตัวตู้สินค้ามีเพียงฐานวางสินค้า สินค้ามีขนาดความสูงและความกว้างเกินกว่าปกติ ทั้งสินค้ามีแผ่นพลาสติกและลังไม้ห่อหุ้มไว้เท่านั้น ตามวิสัยของผู้ประกอบการวิชาชีพที่ย่อมต้องทราบถึงระดับของความเสี่ยงต่อความเสียหายของสินค้าที่มีมากขึ้น ผู้ขนส่งจึงควรให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงและสอบถามผู้ส่งให้ชัดแจ้งว่า ยังให้วางตู้สินค้าพิพาทบนปากระวางที่ต้องถูกน้ำทะเลซัดเป็นเวลานาน หรือจะให้วางใต้ระวางเรือตำแหน่งใดซึ่งจะต้องเสียค่าระวางเพิ่ม เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้มีการให้ข้อมูลและสอบถามผู้ส่งก่อนจัดวางตู้สินค้าพิพาทและได้จัดวางตู้สินค้าพิพาทบนปากระวางเรือในลักษณะที่มีความเสี่ยงกว่าปกติ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการทั้งปวงเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรจะต้องกระทำสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพรับขนของทางทะเลในการจัดระวางบรรทุกให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพของสินค้าพิพาทที่ตนรับขนส่ง เมื่อสินค้าพิพาทเกิดความเสียหายเนื่องจากถูกน้ำทะเลกัดเซาะและเป็นสนิม จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดเพื่อการเสียหายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ขนส่งมิได้ให้ข้อมูลและสอบถามผู้ส่งก่อนแล้วสินค้าพิพาทปนเปื้อนน้ำทะเลได้รับความเสียหาย ก็ยังไม่พอฟังได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายอาจเกิดขึ้นได้เพราะยังมีความเป็นไปได้มากเช่นกันว่า สินค้าอาจไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงยกข้อจำกัดความรับผิดขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1273/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลกรณีสินค้าเสียหายจากตู้สินค้าชำรุด ผู้ขนส่งไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดได้
การขนส่งสินค้าแบบ ซีเอฟเอส/ซีเอฟเอส ซึ่งผู้ขนส่งเป็นผู้รับสินค้าจากผู้ส่งทำการตรวจนับและบรรจุสินค้าเข้าตู้ที่ท่าเรือต้นทาง ผู้ขนส่งต้องตรวจสอบตู้สินค้าว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับสินค้าที่ใช้บรรจุแล้ว และเมื่อขนส่งสินค้าไปถึงท่าเรือปลายทางผู้ขนส่งจะเป็นผู้เปิดตู้เพื่อขนถ่ายสินค้าออกจากตู้เพื่อเตรียมส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง เมื่อความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นจากการที่หลังคาตู้ที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทมีรูรั่ว ซึ่งเป็นความบกพร่องของผู้ขนส่งที่ละเลยไม่จัดเตรียมตู้สินค้าให้ดีเหมาะสมกับสภาพสินค้าที่ตนรับขน แต่กลับนำตู้สินค้าที่ชำรุดมีรูรั่วมาใช้บรรจุสินค้าพิพาท ทั้งที่รู้ว่าอาจเกิดความเสียหายกับสินค้าที่บรรจุภายในตู้นั้นได้ จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขนส่งจึงไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 (1) ประกอบ มาตรา 58 มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้
of 5