คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 60

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9335/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลกรณีส่งมอบของผิดบุคคล แม้ของไม่สูญหาย
ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดในกรณีที่ของที่ผู้ขนส่งได้รับมอบหมายเกิดสูญหายหรือเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งความรับผิดดังกล่าวหมายถึง กรณีเกิดการสูญหายหรือเสียหายแก่ของที่ผู้ขนส่งรับมอบหมาย การสูญหายนี้หมายถึงของไม่อยู่ในวิสัยที่ผู้ขนส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งได้ตามสัญญา ดังนั้นกรณีที่ผู้ขนส่งไม่ยอมส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่ง แต่ได้ส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อซึ่งมิใช่เป็นบุคคลที่มีชื่อแสดงในใบตราส่งว่าเป็นผู้รับตราส่ง จึงไม่เข้ากรณีของสูญหายหรือเสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดไม่จำกัดจำนวน
การพิพากษาให้ชำระหนี้เป็นเงินต่างประเทศ ท่านให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในเวลาที่ใช้เงินตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 196

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2141/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล และการยกเว้นความรับผิดจากภยันตรายทางทะเล จำเป็นต้องมีการต่อสู้คดีตั้งแต่แรก
จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุยกเว้นความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 (2) ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าความเสียหายและสูญหายของสินค้าเกิดจากภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือ จึงเป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาท คู่ความย่อมไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองได้นำสืบต่อสู้กันอย่างเต็มที่แล้ว ไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบได้เปรียบกัน ก็ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาทมาวินิจฉัยได้
เมื่อข้อเท็จฟังได้ว่าสินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นเหล็กรีดเย็นมีลักษณะเป็นม้วนวงกลมทบกันหลายชั้น และในใบตราส่งก็มีการระบุจำนวนสินค้าเป็นม้วนที่บรรจุในตู้สินค้าแต่ละตู้ไว้ชัดเจน ดังนั้น แผ่นเหล็กรีดเย็น 1 ม้วน ย่อมถือเป็น 1 หน่วยการขนส่ง เมื่อความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นมิใช่กรณี ตามมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 และสินค้าดังกล่าวแต่ละม้วนมีน้ำหนักมาก ไม่ต่ำกว่า 2,000 กิโลกรัม การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจึงต้องคำนวณเป็นจำนวนเงินตามน้ำหนักสุทธิในอัตรากิโลกรัมละ 30 บาท แต่หากปรากฏว่าราคาของนั้นต่ำกว่าที่จำกัดความรับผิดไว้ ให้ถือเอาตามราคาที่คำนวณได้ โดยคำนวณตามหลักเกณฑ์ มาตรา 61 กล่าวคือ ในกรณีของสูญหายหรือเสียหายทั้งหมด ให้คำนวณเท่ากับราคาที่ของนั้นจะพึงมีในเวลาที่พึงส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ถ้าของสูญหายหรือเสียหายบางส่วนให้คำนวณตามส่วนโดยเทียบกับราคาของอย่างเดียวกันและคุณภาพเท่าเทียมกันที่ยังเหลืออยู่ในเวลาส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2141/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดผู้ขนส่งสินค้าทางทะเล: การคำนวณค่าเสียหายและดอกเบี้ยตามอัตราแลกเปลี่ยน
จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในความสูญหายและเสียหายของสินค้าตามฟ้องเพราะความสูญหายและเสียหายเกิดจากภยันตรายหรืออุบัติเหตุ แห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าความเสียหายและสูญหายของสินค้าเกิดจากภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือจึงเป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาท คู่ความย่อมไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 185 วรรคสองประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 แม้ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งโจทก์และจำเลยได้นำสืบต่อสู้กันอย่างเต็มที่แล้ว ไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบได้เปรียบแก่กัน ก็ไม่มีบทบัญญัติใดหรือข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศข้อใดให้อำนาจศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาทและนำมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้
สินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นเหล็กรีดเย็นมีลักษณะม้วนเป็นวงกลมทบกันหลายชั้น แต่ละม้วนมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 2,000 กิโลกรัม และมีสิ่งห่อหุ้มมิดชิดป้องกันไม่ให้ถูกน้ำเพื่อให้เหมาะสมแก่การขนส่ง และในใบตราส่งก็มีการระบุจำนวนสินค้าเป็นม้วนที่บรรจุในตู้สินค้าแต่ละตู้ไว้ชัดเจน ดังนั้น แผ่นเหล็กรีดเย็น 1 ม้วนย่อมถือเป็น 1 หน่วยการขนส่ง เมื่อสินค้าแผ่นเหล็กรีดเย็นที่เสียหายและสูญหายดังกล่าวแต่ละม้วนมีน้ำหนักมากไม่ต่ำกว่า 2,000 กิโลกรัม การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจึงต้องคำนวณเป็นจำนวนเงินตามน้ำหนักสุทธิของม้วนแผ่นเหล็กรีดเย็นที่เสียหายและสูญหายในอัตรากิโลกรัมละ 30 บาท เพราะจะมีจำนวนเงินมากกว่า การคำนวณจากหน่วยการขนส่งในอัตราม้วนละ 10,000 บาท ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58 และมาตรา 61
จำนวนเงินค่าเสียหายของสินค้าต้องคิดราคาในเวลาส่งมอบสินค้า ณ ท่าปลายทางคือวันที่ 24 สิงหาคม จึงใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทในวันดังกล่าวเป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคิดค่าเสียหายของสินค้าเป็นเงินบาทแต่เมื่อคู่ความไม่ได้นำสืบถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในวันดังกล่าวจึงเห็นสมควรกำหนดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทในอัตราขายถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่าง ๆ ณ สิ้นวันทำการประจำวันที่ 24 สิงหาคม ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ให้ถือเอาอัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศดังกล่าวที่มีในวันสุดท้ายก่อนวันที่ 24 สิงหาคม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9319/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลกรณีสินค้าเสียหายจากการยกขนไม่ระมัดระวัง ไม่อาจอ้างจำกัดความรับผิด
โจทก์รับประกันภัยสินค้านำเข้าทุกชนิดของบริษัท อ. โดยออกกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลแบบเปิดให้ผู้เอาประกันภัยไว้เป็นหลักฐาน และมีหลักปฏิบัติว่าเมื่อมีสินค้าเข้าผู้เอาประกันภัยจะแจ้งให้โจทก์ทราบหรืออาจแจ้งภายหลังสินค้าถูกขนส่งมาแล้วก็ได้ โจทก์จะออกใบรับรองการประกันภัยสำหรับสินค้างวดนั้นให้แก่ผู้เอาประกันภัยโจทก์ได้ออกใบรับรองการประกันภัยสินค้าของบริษัท อ. ซึ่งขนส่งโดยเรือเดินทะเลของจำเลยที่ 3 จากต่างประเทศมายังประเทศไทยโดยที่จำเลยที่ 3 ได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง และได้มีการโอนใบตราส่งให้แก่บริษัท อ. แล้ว เมื่อเรือเดินทะเลของจำเลยที่ 3 มาถึงประเทศไทยได้มีการส่งมอบสินค้าแก่บริษัท อ.ผู้เอาประกันภัยในสภาพที่เสียหายบริษัทอ. จึงเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ตามสัญญาประกันภัยโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไป ดังนี้เมื่อบริษัท อ. ได้รับโอนใบตราส่งมาจากผู้ขายสินค้าบริษัท อ.จึงเป็นผู้ทรงใบตราส่งซึ่งมีสิทธิรับสินค้านั้นและเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดที่โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยในขณะที่เกิดวินาศภัยนั้น แม้การซื้อขายสินค้าที่ขนส่งเป็นการซื้อขายระบบ CIF ซึ่งผู้ขายเป็นผู้เอาประกันภัยก็เป็นการเอาประกันภัยของผู้ขายกับผู้รับประกันภัยอื่น โจทก์จึงรับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัยมาฟ้องจำเลยได้
กรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลแบบเปิดที่ทำกันระหว่างโจทก์กับบริษัท ไอ.ได้มีการระบุรายละเอียดเงื่อนไขทั่วไปว่าผู้ถือกรมธรรม์คือบริษัทไอ.และผู้เอาประกันภัยคือบริษัททุกบริษัทที่ผู้ถือกรมธรรม์ถือหุ้นอยู่กว่าร้อยละ 50หรือบริษัทที่ผู้ถือกรมธรรม์มีความรับผิดชอบทางด้านจัดการ ดังนี้ นอกจากบริษัท ไอ.จะเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะเป็นผู้ถือกรมธรรม์แล้ว ยังมีบริษัทอื่นที่บริษัท ไอ.เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในอัตราเกินกว่าร้อยละ50หรือบริษัทอื่นที่บริษัทไอ. เป็นผู้รับผิดชอบทางด้านจัดการเป็นคู่สัญญาประกันภัยกับโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้เอาประกันภัยอีกด้วย เมื่อบริษัท ไอ.ถือหุ้นอยู่ในบริษัทอ. ร้อยละ 50 จึงถือว่าบริษัท อ.เป็นผู้เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลเปิด โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว และหาได้มีกฎหมายบังคับว่าสัญญาประกันภัยทางทะเลต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาจึงจะผูกพันโจทก์ผู้รับประกันภัยไม่ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สินค้าที่เอาประกันภัยโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท อ. ผู้เอาประกันภัย เมื่อโจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท อ.แล้วย่อมมีสิทธิที่จะรับช่วงสิทธิของบริษัทอ.มาฟ้องได้
แม้เรือที่ใช้ในการขนส่งเป็นของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกใบตราส่งแต่บริษัท อ.มิได้ว่าจ้างให้จำเลยที่3ขนสินค้าดังกล่าวบริษัทอ. มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมดเพื่อส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท อ. โดยสัญญาขนส่งระบุว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะเลือกจ้างผู้รับขนส่งช่วงชั้นดีในการขนส่งได้แต่จำเลยที่ 1 ยังคงต้องรับผิดเต็มที่ต่อบริษัท อ. ในการปฏิบัติตามสัญญา และผู้ขนส่งช่วงอื่นที่จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างให้ถือว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องรับผิดโดยตรงต่อบริษัท อ.ดังนี้บริษัทอ. จึงเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าและจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างขนสินค้าโดยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดในการนำสินค้ามายังประเทศไทยตามสัญญาขนส่งการที่จำเลยที่ 3 ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้า จำเลยที่ 1ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขนส่งของจำเลยที่ 3 ด้วย
ความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งเป็นผลมาจากการที่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งยกหีบไม้โดยไม่เอาใจใส่และไม่ระมัดระวังในระหว่างการขนส่ง ถือว่าเป็นกระทำการโดยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าเต็มจำนวนไม่อาจอ้างเอาข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติ การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้
of 2