คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ม. 3

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 60 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7243/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สนับสนุนการกระทำผิดคดียาเสพติด: ความผิดฐานสนับสนุนและบทลงโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 และข้อ 1.2 แยกต่างหากจากกัน โดยฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 เพียงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกที่หลบหนีไปยังไม่ได้ตัวมาฟ้องสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมิได้บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 1 ด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งกรณีไม่อาจนำเอาการบรรยายฟ้องข้อ 1.2 มาประกอบฟ้องข้อ 1.1 ได้ เพราะเป็นการฟ้องคนละฐานความผิดกัน ฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 นั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาในคำฟ้องด้วยก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์ข้อดังกล่าวได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าวโดยการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 กับพวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ได้ให้คำนิยาม ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ว่าหมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือหรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย จึงพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจำหน่ายให้แก่สายลับในที่เกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 2 ขับรถกระบะของกลางพาจำเลยที่ 1 กับ จ. ไปดูเงินที่จะใช้ล่อซื้อและมารับจำเลยที่ 1 ในที่เกิดเหตุ จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะจำเลยที่ 1 กระทำความผิดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6733/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนข้ามเขต, การริบของกลาง, พยานหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือ, และการพิสูจน์การใช้โทรศัพท์
ร้อยตำรวจเอก ท. และดาบตำรวจ บ. กับพวกตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางได้จากจำเลยที่อำเภอปากพนัง ซึ่งอยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรปากพนัง การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ คดีนี้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่ได้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน กรณีจึงมิใช่ความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่งอันทำให้พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช มีอำนาจสอบสวนได้
แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องก็ชอบที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางที่โจทก์มีคำขอให้ริบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จึงให้ริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบโดยอ้างว่าจำเลยใช้ในการติดต่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อคำเบิกความของพยานโจทก์มีข้อพิรุธน่าสงสัยว่าจะมีการวางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยหรือไม่ ทั้งโจทก์มิได้นำสืบถึงรายการการใช้โทรศัพท์ระหว่างโทรศัพท์ของสายลับกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สิน ที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด อันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6673/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลักฐานการตรวจค้นยาเสพติด: การรับฟังพยานหลักฐาน, คำรับสารภาพ, และการแก้ไขบทกฎหมายโทษ
ตามบันทึกการจับกุม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจาก ห. ชาวเขาเผ่าลีซอ โดยไปซื้อที่บริเวณหมู่บ้านทับเดื่อก่อนที่จะเข้ามาพักที่โรงแรมในราคาถุงละ 8,700 บาท ในการไปซื้อและรับเมทแอมเฟตามีนครั้งนี้มีจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นเจ้าของเงินทุนที่ใช้ซื้อเมทแอมเฟตามีน และจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ขับรถยนต์ แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 บัญญัติมิให้นำคำรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐานก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความอื่นซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งกฎหมายมิได้ห้ามนำมารับฟังเสียทีเดียว ที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า เหตุที่ลงชื่อในบันทึกการจับกุม เนื่องจากเจ้าพนักงานบอกให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ โดยไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 อ่าน และจำเลยที่ 2 เบิกความว่าเจ้าพนักงานตำรวจนำเอกสารมาให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกาย จึงเกิดความกลัว และลงชื่อในเอกสารดังกล่าว โดยเจ้าพนักงานตำรวจมิได้ให้จำเลยที่ 2 อ่าน มิฉะนั้นแล้วคงไม่ต้องทำบันทึกการจับกุมก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ง่ายต่อการกล่าวอ้าง ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยโดยมิได้ถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองผู้ร่วมจับกุมในข้อหานี้ไว้ด้วย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มานำสืบในภายหลังเช่นนี้ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ เชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การชั้นจับกุมเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยความสมัครใจ จึงนำไปรับฟังประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองได้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6424/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ฯ นำเข้าจากต่างประเทศ ศาลฎีกาพิพากษาตามกฎหมายใหม่ที่แก้ไขโทษจำคุก
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 6 ยกเลิกความใน มาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่ง มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาทเป็นคุณมากกว่า มาตรา 65 วรรคหนึ่ง เดิม ที่ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขใหม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6207/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานร่วมกันนำยาเสพติดเข้าประเทศ จำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็น การกระทำเป็นตัวการร่วม
คดีนี้ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 6 ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ความใหม่แทน คดีนี้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งระวางโทษประหารชีวิตและความผิดของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 65 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต กรณีโทษจำคุกในความผิดฐานนี้ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสองในความผิดดังกล่าวไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยก ขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5616/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากจำเลยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการยื่นฎีกาในคดียาเสพติดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
แม้คดีนี้เป็นคดีที่จำเลยร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่คำร้องของจำเลยเป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนั้น เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4524/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลยาเสพติดที่ไม่ชัดเจนและการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลต่อการลดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ผู้ที่ให้ข้อมูลในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษจะต้องเป็นผู้กระทำความผิดและให้ข้อมูลต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่จับกุมผู้กระทำความผิด หรือพนักงานสอบสวนในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกดำเนินคดี และข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
การที่จำเลยบอกข้อมูลว่าเคยซื้อยาเสพติดให้โทษมาจาก ต. อายุประมาณ 45 ปี รูปร่างอ้วน ให้แก่ ว. ภริยาจำเลย พร้อมทั้งให้หมายเลขโทรศัพท์ของ ต. โดยแจ้งให้ ว. นำข้อมูลไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจ แต่กลับได้ความจาก ว. ว่ารับข้อมูลจากจำเลยว่าเคยซื้อยาเสพติดให้โทษจากผู้หญิงชื่อ ต. มีภูมิลำเนาอยู่แถวพระราม 2 จะส่งยาเสพติดให้โทษที่ตลาดรังสิต จึงนำข้อมูลไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจคนละชุดกับเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลย พันตำรวจตรี ป. ได้รับข้อมูลเบื้องต้นของ ต. แล้วจึงสืบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนวางแผนจับกุม ต. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 1,600 เม็ด จำเลยให้ข้อมูลของ ต. โดยไม่มีรายละเอียดหรือลักษณะรูปพรรณของ ต.ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจำเลยอ้างว่าบอกข้อมูลให้ ว. ขณะจำเลยต้องขังในเรือนจำ แต่กลับปรากฏในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอปล่อยชั่วคราวของจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธและไม่ได้อ้างเหตุดังกล่าว เมื่อการจับกุม ต. ได้โดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงจากข้อมูลของจำเลยซึ่งให้ข้อมูลที่อ้างอย่างคร่าว ๆ จึงไม่เชื่อว่าจำเลยให้ข้อมูลแก่ ว. ไปแจ้งต่อพันตำรวจตรี ป. ให้ไปจับกุม ต. จริง ทั้งพันตำรวจตรี ป. มิได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้แต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์ตาม มาตรา 100/2 การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยแจ้งข้อมูลผ่าน ว. ให้ไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับข้อมูลของ ต. ผู้เคยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยจนจับกุม ต. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 1,600 เม็ด จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4487/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเสพยาและครอบครองยาเสพติด: ความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณา
จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลแขวง เป็นความผิดคนละกรรมกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ตาม แต่ความผิดทั้งสองฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำผิดคนเดียวกันและเกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายพร้อมกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตต่อศาลจังหวัดได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 กรณีไม่ต้องด้วย มาตรา 3 และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายพร้อมกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยไม่ต้องขอผัดฟ้อง ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยถูกฟ้องในคดีของศาลชั้นต้นและถูกคุมขังอยู่ ต้องถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้ขออำนาจศาลฝากขังจำเลยในคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 87 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวนเนื่องจากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องทำการสอบสวนหรือเพื่อการฟ้องคดีก็ตาม ก็หาเป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4338/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร่วมกันครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: พฤติการณ์ร่วมเดินทางและรับรู้การกระทำผิด
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ร่วมเดินทางกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และพาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปพักค้างคืนอยู่ที่อำเภอฝางและอำเภอเชียงดาวรวมเป็นเวลาถึง 4 วัน และจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ไปรับยาเสพติดของกลางจากผู้ส่งยาเสพติดทางภาคเหนือดังกล่าว แสดงถึงข้อพิรุธที่จำเลยที่ 3 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดเวลา ทั้งยาเสพติดของกลางที่ตรวจพบในรถตู้ดังกล่าวนั้น มีจำนวนมาก จำเลยที่ 3 ย่อมสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายเมื่อจำเลยที่ 1 ไปรับยาเสพติดของกลางมาจากผู้ส่งยาเสพติด การที่ยาเสพติดดังกล่าวซุกซ่อนอยู่บริเวณหลังเบาะของคนขับซึ่งขณะจับกุมนั้นมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จึงมีเหตุผลเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ร่วมรู้เห็นและมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเดินทางไปรับยาเสพติดของกลางจากอำเภอฝางและอำเภอแม่อาย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 มียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 แต่เห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4316/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตรวจค้นและจับกุมคดียาเสพติด: อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจในกรณีฉุกเฉินและการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย
เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม อ. ค. และ ธ. ในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน อ. ค. และ ธ. ให้การว่า รับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเช่าห้องพักอยู่ในรีสอร์ต ห้องเลขที่ 12 เจ้าพนักงานตำรวจประสานกับผู้ดูแลรีสอร์ต จนเป็นที่แน่ใจว่าข้อมูลที่ได้จาก อ. ค. และ ธ. ถูกต้องแล้ว จึงเข้าตรวจค้นห้องพักของจำเลยที่ 1 ทันที เพราะน่าเชื่อว่าจะพบเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ทั้งที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ตซึ่งจำเลยทั้งสองพักชั่วคราว หากเนิ่นช้าไปกว่าจะได้หมายค้น จำเลยทั้งสองอาจนำเมทแอมเฟตามีนออกไปจากรีสอร์ตเมื่อใดก็ได้ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจเข้าไปค้นในห้องพักโดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 96 (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ด ที่จำเลยที่ 2 และค้นพบเมทแอมเฟตามีน 554 เม็ด ภายในห้องซึ่งจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นของตนอันเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80 ประกอบ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
of 6