คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/32

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 263/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แผนฟื้นฟูกิจการที่ไม่สุจริตและการไม่ครบถ้วนของรายการในแผน ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการ
การกำหนดสิทธิในการออกเสียงของเจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/30 บัญญัติว่า "คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด ถ้าเจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนไม่โต้แย้ง ให้เจ้าหนี้รายนั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้..." เมื่อปรากฏว่าในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ ทั้งลูกหนี้หรือผู้ทำแผนหรือเจ้าหนี้รายอื่นต่างมิได้โต้แย้งสิทธิในการลงคะแนนเสียงของเจ้าหนี้รายนี้แต่อย่างใด เจ้าหนี้รายนี้จึงมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้ ส่วนปัญหาว่าเจ้าหนี้รายนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นเงินจำนวนเท่าใดเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาสั่งในกระบวนการในการขอรับชำระหนี้ซึ่งกำหนดวิธีการขั้นตอนต่าง ๆ ไว้ในมาตรา 90/29 และมาตรา 90/32 เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้รายนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้จำนวน 445,000,000 บาท เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนมิได้โต้แย้งคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายนี้ได้รับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแล้วตามมาตรา 90/32 วรรคหนึ่ง หากเจ้าหนี้ประสงค์จะโต้แย้งคัดค้านต้องดำเนินการตามมาตรา 90/32 วรรคสาม จะยกปัญหาว่าเจ้าหนี้รายนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้น้อยกว่าจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งมาโต้แย้งคัดค้านในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนหาได้ไม่
การที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนไว้ว่า เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 แล้ว ให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามาใช้ดุลพินิจอันเป็นบทบาทในทางเศรษฐกิจเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยและให้แผนฟื้นฟูกิจการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตลอดจนประเทศชาติโดยรวม ศาลจึงมีอำนาจในการที่จะตรวจสอบเนื้อหาของแผนตลอดจนความสุจริตในการจัดทำแผนด้วย และที่มาตรา 90/42 บัญญัติว่า "ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย..." ไม่ได้หมายความเพียงว่าให้ศาลพิจารณาดูรูปแบบว่ามีรายการแต่ละรายการหรือไม่ แต่ย่อมรวมถึงการพิจารณาว่ามีรายละเอียดของรายการดังกล่าวพอสมควรและถูกต้องหรือไม่ด้วย และตามมาตรา 90/42 (2) ที่กำหนดว่าแผนจะต้องมีรายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ในส่วนของสินทรัพย์นั้นย่อมรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่ลูกหนี้มีอยู่ด้วย เมื่อในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ลูกหนี้ได้กล่าวถึงสิทธิเรียกร้องในการที่จะได้รับเงินค่าเสียหายในคดีของศาลแพ่ง หมายเลขดำที่ 2946/2550 ไว้จากบุคคลภายนอก จำนวนเงินที่ลูกหนี้จะได้รับในการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีของศาลแพ่งดังกล่าวจึงเป็นสาระสำคัญในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ประการหนึ่ง แม้เป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังมีเงื่อนไขและไม่แน่นอน แต่ก็ต้องนำมากำหนดไว้ในแผนเพื่อหากว่าลูกหนี้เป็นฝ่ายชนะคดีได้รับการชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแล้วจะได้นำเงินค่าเสียหายมาจัดสรรเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตามแผนได้ ดังนี้ การที่ผู้ทำแผนมิได้นำสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินดังกล่าวมากำหนดไว้ในแผนและดำเนินการจัดสรรเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย จึงถือว่าแผนมีรายการไม่ครบถ้วน
แม้ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 ทวิ (3) จะบัญญัติว่า เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม โดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ และการดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันซึ่งอยู่ต่างกลุ่มนั้น สามารถที่จะชำระหนี้แตกต่างกันได้โดยจะต้องมีเหตุจำเป็นอันสมควรเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ เมื่อตามแผนกำหนดชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ไม่มีประกันโดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 ซึ่งมีเจ้าหนี้รายที่ 14 เพียงรายเดียวและเจ้าหนี้ดังกล่าวเคยเป็นกรรมการของลูกหนี้ โดยจะชำระหนี้ค่าจ้างในการบริหารกิจการเพื่อดำเนินการติดตามสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในอัตราร้อยละ 80 ของต้นเงินตามคำขอรับชำระหนี้ ขณะที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่นได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 4.8 เท่านั้น จึงเป็นกรณีแตกต่างกันเป็นอันมาก ทั้งมีพฤติการณ์ที่ส่อแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของลูกหนี้แสวงหาประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟื้นฟูกิจการในขณะที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อื่น การดำเนินการของลูกหนี้ตามแผนย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายเป็นอันมาก นอกจากนี้ในชั้นร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยระบุว่า ลูกหนี้มีสินทรัพย์รวม 4,879,222,575 บาท โดยมีหนี้สินรวม 5,831,673,100 บาท แต่เมื่อลูกหนี้ดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนลูกหนี้กลับแสดงว่าสินทรัพย์มีอยู่เพียง 2,352,382,015 บาท และมีหนี้สิน 6,137,606,819 บาท เช่นนี้ ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับสินทรัพย์และหนี้สินจึงแตกต่างกันในสาระสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งที่จัดทำงบการเงินห่างกันเพียง 9 เดือนเศษ ทั้งปรากฏตามแผนฟื้นฟูกิจการว่าลูกหนี้จะทำการลดทุนโดยไม่เรียกร้องเงินค่าหุ้นส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมยังค้างชำระอยู่จำนวน 170,000,000 บาท อันเป็นรายได้จำนวนมาก โดยลูกหนี้อ้างว่าเพื่อลดภาระการขาดทุนสะสมมิให้นักลงทุนต้องร่วมกับผู้ถือหุ้นเดิมในการรับภาระการขาดทุนสะสม แต่การที่ลูกหนี้ใช้วิธีลดทุนของกิจการในส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมยังมิได้ชำระค่าหุ้นไปก่อนการลดมูลค่าหุ้นทั้งหมดนั้น หาได้ทำให้ผลการขาดทุนสะสมลดลงตามหลักการที่ลูกหนี้กล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อลูกหนี้มิได้บันทึกค่าหุ้นส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมค้างชำระไว้ในส่วนทุนตั้งแต่ต้น การไม่เรียกเก็บเงินค่าหุ้นค้างชำระจึงไม่ทำให้รายการทางบัญชีใดเปลี่ยนแปลงไป และการที่ลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นเดิมชำระค่าหุ้นส่วนที่ยังค้างชำระตามกฎหมาย กลับทำให้สินทรัพย์ของลูกหนี้ลดน้อยลงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายซึ่งไม่ได้รับการบรรเทาเยียวยาความเสียหายจากการได้รับชำระหนี้ในเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นจำนวนมากดังกล่าว ดังนั้น พฤติการณ์ในการทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นอกจากแผนจะมีรายการไม่ครบถ้วนแล้ว แผนยังมีลักษณะเป็นการให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้สินเป็นจำนวนมากโดยซ่อนเงื่อนที่เอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ที่มีความใกล้ชิดกับลูกหนี้และส่อไปในทางที่มีพฤติการณ์ไม่สุจริต แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2459/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แผนฟื้นฟูกิจการไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้ทำแผนจัดทำโดยไม่สุจริต เอื้อประโยชน์เจ้าหนี้กลุ่มหนึ่ง
การที่กฎหมายล้มละลายในส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแล้วต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกชั้นหนึ่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ส่วนที่ 8 ว่าด้วยการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมาตรา 90/58 บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ข้อเสนอในการชำระหนี้ไม่ขัดต่อมาตรา 90/42 ตรี และในกรณีที่มติยอมรับแผนเป็นมติตามมาตรา 90/46 (2) ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอม และเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย อันเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบด้วยแผน ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจโดยใช้อำนาจตุลาการเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงการให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้เสียงข้างน้อยด้วย และเพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการเกิดประโยชน์สูงสุดแก่บรรดาเจ้าหนี้ทุกรายอย่างเป็นธรรม ศาลจึงมีอำนาจในการตรวจสอบถึงเนื้อหาของแผน ตลอดจนความสุจริตในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการด้วย
เมื่อลูกหนี้ผู้ทำแผนทราบอยู่ก่อนจัดทำแผนแล้วว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งถึงที่สุดให้ยกคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายที่ 6 ถึงที่ 12 ลูกหนี้จึงไม่มีภาระผูกพันใดๆ ในอันที่จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้เจ้าหนี้รายที่ 6 ถึงที่ 12 แต่ลูกหนี้กลับจัดทำแผนโดยกำหนดให้เจ้าหนี้ทั้งเจ็ดรายดังกล่าวเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 มีสิทธิได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนในอัตราร้อยละ 100 อันเป็นการขัดแย้งกับคำสั่งซึ่งถึงที่สุดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ส่งผลให้ลูกหนี้มีภาระผูกพันตามแผนที่จะต้องชำระหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเงิน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 6 ถึงรายที่ 12 ซึ่งเป็นกรรมการของลูกหนี้และบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมการของลูกหนี้ที่มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับลูกหนี้อย่างใกล้ชิด เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/32 โดยชัดแจ้ง ทั้งมิใช่การจัดทำแผนที่รับรองสิทธิของเจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/61 (1) พฤติการณ์ในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ส่อไปในทางไม่สุจริต เมื่อลูกหนี้จัดทำและเสนอแผนโดยไม่สุจริต แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4948/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลหลังยกเลิกฟื้นฟูกิจการ: การพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ยังคงมีผลผูกพัน
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 และมาตรา 90/75 แม้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการทำให้ผู้บริหารของลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว แต่ลูกหนี้ก็ยังคงต้องผูกพันรับผิดชำระหนี้ตามคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการและตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการดังนั้น อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการสอบสวน และมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงยังมิได้สิ้นสุดลงไป ทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งเป็นประการใดแล้วเจ้าหนี้ผู้มีส่วนได้เสียก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ตามมาตรา 90/32 วรรคสาม เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้วศาลล้มละลายกลางก็ยังต้องพิจารณาคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้เกี่ยวกับสำนวนคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดหลังศาลรับคำร้องฟื้นฟูกิจการ และการลดเบี้ยปรับสูงเกินส่วน
ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ข้อ 24.9 กำหนดให้ลูกหนี้ที่ถูกศาลสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการตกเป็นผู้ผิดนัดเกิดผลตามข้อ 25.1 ให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสินเชื่อคงค้างทั้งหมดคืนได้ทันที และให้เจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ถูกศาลสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการลูกหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัด เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสินเชื่อคงค้างทั้งหมดคืนได้ทันที แต่เจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามอัตราที่กำหนดไว้ตามสัญญาสินเชื่อเดิมได้ตั้งแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดเป็นต้นไปเท่านั้น ทั้งดอกเบี้ยผิดนัดดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4956/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระของเจ้าหนี้หลังการประมูลหุ้นกู้และฟื้นฟูกิจการลูกหนี้
เจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นกู้ของลูกหนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าลูกหนี้จะชำระดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และวันที่ 2 สิงหาคม ลูกหนี้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2541 ต่อมาเจ้าหนี้ถูกระงับการดำเนินกิจการและไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้และองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ได้นำหุ้นกู้ของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ถือไว้ออกประมูลขาย ในการขายหุ้นกู้ดังกล่าว ปรส. ได้ออกข้อสนเทศการจำหน่ายสินทรัพย์การประมูลหุ้นกู้และหุ้นกู้แปลงสภาพภาคเอกชน ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2541 กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องกรอกราคาประมูลต่อหน่วยของหุ้นกู้ที่ต้องการจะประมูล โดยต้องแสดงด้วยราคาที่รวมดอกเบี้ยค้างรับต่อหน่วยตามสูตรที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้อธิบายถึงคำว่าดอกเบี้ยค้างรับในกรณีที่การซื้อขายหุ้นกู้ไม่ได้อยู่ในช่วงปิดพักทะเบียนว่าหมายถึงจำนวนดอกเบี้ยที่ผู้ซื้อหลักทรัพย์ต้องชดเชยแก่ผู้ขายตามสัดส่วน โดยคิดตามจำนวนวันนับจากวันกำหนดจ่ายดอกเบี้ยงวดล่าสุดก่อนส่งมอบจนถึงวันที่ส่งมอบในการประมูลขายหุ้นกู้ดังกล่าวจึงเป็นการประมูลไปซึ่งมูลค่าของหุ้นกู้รวมถึงสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยเพียงนับจากวันกำหนดจ่ายดอกเบี้ยงวดล่าสุดก่อนส่งมอบหุ้นกู้จนถึงกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้อันผู้ประมูลมีสิทธิได้รับ แต่มิได้ประมูลขายดอกเบี้ยค้างชำระที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้รวมไปด้วย ทั้งตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตรา 54 ห้ามมิให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนใด ๆ แก่บุคคลที่มิได้มีชื่อในทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ ประกอบกับในหนังสือชี้ชวนให้ซื้อหุ้นกู้ของลูกหนี้ยังกำหนดให้นายทะเบียนหุ้นกู้จ่ายดอกเบี้ยแต่ละงวดให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นเช็คขีดคร่อมห้ามเปลี่ยนมือสั่งจ่ายในนามผู้ถือหุ้นที่ปรากฏอยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ เช่นนี้ ย่อมหมายความว่าในวันกำหนดจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละงวด นายทะเบียนจะต้องจ่ายให้แก่บุคคลที่มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ เมื่อขณะที่ถึงกำหนดจ่ายดอกเบี้ยเจ้าหนี้ยังมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นกู้อยู่ยังมิได้โอนไปยังผู้ประมูลซื้อได้ สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่ค้างชำระดังกล่าวจึงเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7152/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมาย
การยื่นขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ กฎหมายกำหนดขั้นตอนไว้ชัดแจ้งว่าเจ่าหนี้ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตามต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง หลังจากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเป็นผู้พิจารณาคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้แล้วมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/32 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หากเจ้าหนี้ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งต่อศาลได้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/32 วรรคสาม ดังนั้น เจ้าหนี้จะยื่นคำร้องต่อศาลเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ต้องเป็นกรณีคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่มีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้แล้วเจ้าหนี้ไม่เห็นด้วย เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ไต่สวนคำร้องของเจ้าหนี้หรือมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามที่ยื่นคำร้อง โดยเจ้าหนี้ยังไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้มีคำสั่งใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของเจ้าหนี้อันเจ้าหนี้จะใช้สิทธิคัดค้านต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/32 วรรคสามแม้เจ้าหนี้จะอ้างว่าลูกหนี้ปิดบังมิได้แจ้งให้เจ้าหนี้ทราบว่าลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการเจ้าหนี้ก็ยังคงต้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หากเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ก็ชอบที่จะใช้สิทธิตามมาตรา 146 ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3456/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในชั้นฟื้นฟูกิจการ การพิจารณาหลักฐานเพิ่มเติม และอำนาจศาลในการวินิจฉัย
ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อเจ้าหนี้มีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินและข้อความระบุถึงหลักฐานประกอบหนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยชอบแล้วศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยโดยรับฟังพยานหลักฐานทุกอย่างทั้งที่ยื่นในชั้นขอรับชำระหนี้และยื่นเพิ่มเติมในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ ไม่เป็นกรณีวินิจฉัยและรับฟังพยานหลักฐานเกินกว่าคำขอรับชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5971/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีฟื้นฟูกิจการ และการสืบพยานเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัย
ในการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นั้น เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนหรือบางส่วน หรือให้ยกคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/32 วรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/32 วรรคสาม กำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต่อศาลได้ภายในกำหนด 14 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เมื่อคดีมาสู่ศาลตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว กฎหมายให้อำนาจศาลในการพิจารณาคำร้องคัดค้านโดยในการพิจารณานั้น ศาลต้องพิจารณาตามประเด็นที่ปรากฏในคำร้อง คำคัดค้านเพื่อจะทราบว่ามีประเด็นพิพาทใดที่คู่ความโต้เถียงกันอยู่ หากมีข้อเท็จจริงใดเป็นที่โต้เถียงกันอยู่และกรณีจำต้องรับฟังพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ศาลต้องให้คู่ความที่เกี่ยวข้องแสดงหรือนำสืบพยานหลักฐานนั้น เมื่อคดีนี้ผู้ทำแผนและเจ้าหนี้ได้โต้เถียงกันอยู่และผู้ทำแผนมีความประสงค์จะสืบพยานเพิ่มเติมและได้ความว่าลูกหนี้ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาเจ้าหนี้กับพวกเป็นคดีอาญาในข้อหายักยอกและได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้กับพวกต่อศาลแรงงานกลางเรียกเงินที่ทุจริตคืนแก่ลูกหนี้เป็นจำนวนมาก คดียังไม่ถึงที่สุด ทั้งศาลฎีกาพิจารณาพยานหลักฐานจากสำนวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวแล้ว ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นที่โต้เถียงกันอยู่ยังไม่พอแก่การวินิจฉัย กรณีสมควรให้ผู้ทำแผนนำสืบพยานเพิ่มเติมในชั้นพิจารณาได้จนสิ้นกระแสความ จึงต้องย้อนสำนวนคืนไปยังศาลล้มละลายกลางเพื่อพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 28

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นขอรับชำระหนี้จากการฟื้นฟูกิจการได้ แม้คดีตามคำพิพากษาจะยังไม่ถึงที่สุด
บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/26 แสดงโดยแจ้งชัดแล้วว่า หากเจ้าหนี้ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามวิธีการที่กฎหมายระบุไว้ โดยบทบัญญัติวรรคหนึ่งของมาตรานี้ส่วนท้ายแยกเป็น 2 กรณี กรณีแรกเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา กรณีที่สองเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งหมายถึงศาลยังไม่มีคำพิพากษา คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในกรณีแรก คือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้โดยไม่จำต้องรอให้คำพิพากษานั้นถึงที่สุดเพราะมูลหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทุกรายเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนอาจขอตรวจและโต้แย้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตามมาตรา 90/29 หากมีผู้โต้แย้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ต้องสอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 90/32 โดยเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ดังนั้น หากรอให้ศาลพิพากษาในชั้นที่สุดเสียก่อน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ ทำให้เจ้าหนี้หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 90/61 การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการหรือไม่จึงมิใช่เพราะหนี้นั้นเป็นมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบด้วยการพิสูจน์หนี้ของเจ้าหนี้ การสอบสวนและคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รวมทั้งคำสั่งของศาลในกรณีมีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านเป็นสำคัญ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ คำพิพากษานั้นย่อมมีผลผูกพันลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145ไปจนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียโดยศาลที่มีศักดิ์สูงกว่าเจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมารับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้
คดีที่ลูกหนี้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลล้มละลายกลางเรื่องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงฉบับละ 25 บาท เท่านั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 179(2) ประกอบด้วยมาตรา 90/2 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7960/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกาชี้ขาดการพิจารณาคดีล้มละลายต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทตามคำร้องและหลักฐานอย่างครบถ้วน
เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/32 และผู้คัดค้านแถลงคัดค้านคำร้องดังกล่าวศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการไต่สวนหาความจริงในข้อเท็จจริงที่คู่ความยังโต้เถียงกันอยู่แล้ววินิจฉัยคดีตามประเด็นซึ่งเกิดจากคำร้องและคำคัดค้านนั้น ในคำสั่งศาลเรื่องดังกล่าวจะต้องแสดงถึงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงและคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดี ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย ตลอดจนค่าฤชาธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯมาตรา 14 และข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 24 การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และมีคำสั่งเพียงว่า เมื่อลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประกาศและข้อปฏิบัติทางราชการ ผู้ร้องไม่อาจอ้างปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างทางปฏิบัติของลูกหนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการกล่าวแบบรวม ๆ มิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีและแสดงเหตุผลประกอบการวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯมาตรา 14 และข้อกำหนดคดีล้มละลายฯ ข้อ 24
of 2