คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 26

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 15 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10667/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบฟ้องคดีพนันและการพิพากษาโดยผู้พิพากษาคนเดียวชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การพนันฯ โดยบรรยายฟ้องในตอนต้นว่าจำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันเล่นการพนันสลากกินรวบ พนันเอาทรัพยสินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต และโจทก์บรรยายฐานะของจำเลยผู้เล่นในตอนท้ายว่า โดยจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ และขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การพนันฯ มาตรา 12 ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดตามมาตราที่ขอให้ลงโทษจำเลยแล้ว ส่วนผู้เล่นที่หลบหนีจะเป็นคนเดินโพยหรือผู้เล่น รวมทั้งชื่อผู้เล่นที่หลบหนีว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน เป็นคนไทยหรือต่างด้าว มิใช่องค์ประกอบความผิดที่โจทก์จะต้องกล่าวมาในฟ้อง เมื่อจำเลยให้การับสารภาพตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาตามฟ้องได้ดีจึงมิใช่ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด
ข้อหาความผิดที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานเล่นการพนันสลากกินรวบ โดยจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ตาม พ.ร.บ.การพนันฯ มาตรา 12 (1) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไปจนถึง 5,000 บาท เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) แม้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดจะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็อยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 25 ด้วย ดังนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิจารณาพิพากษาโดยลงชื่อผู้พิพากษาคนเดียว ลงโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน ซึ่งไม่เกิน 6 เดือน จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ประกอบมาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5278/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาครบถ้วน แม้ลายมือชื่อในเอกสารบางส่วนไม่ครบถ้วน การพิจารณาคดีไม่เป็นโมฆะ
แม้จะมีลายมือชื่อผู้พิพากษาคนเดียวในคำเบิกความพยานลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2544 วันที่ 30 ตุลาคม 2544 และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 แต่ปรากฏจากรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2544 และวันที่ 30 ตุลาคม 2544 ด้านหน้ามีข้อความระบุว่าผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีนี้เวลา 10 นาฬิกา และ 11.20 นาฬิกา ตามลำดับ และมีลายมือชื่อผู้พิพากษาสองคนลงลายมือชื่อไว้ด้วย จึงต้องฟังตามรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวว่า ในวันเวลาดังกล่าวมีผู้พิพากษาสองคนนั่งพิจารณาคดีอันถือได้ว่าเป็นการนั่งพิจารณาครบองค์คณะตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แล้ว ส่วนรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 ที่มีผู้พิพากษาเพียงคนเดียวลงลายมือชื่อไว้นั้น อาจเกิดจากความหลงลืมของผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งที่มิได้ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาก็เป็นได้ ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้คัดค้านว่าการพิจารณาคดีในวันดังกล่าวผู้พิพากษานั่งพิจารณาคดีไม่ครบองค์คณะจนกระทั่งคดีเสร็จการพิจารณา กรณีจึงเชื่อได้ว่าในวันเวลาดังกล่าวมีผู้พิพากษาสองคนนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แล้วเช่นกัน หาได้เป็นการขัดต่อมาตรา 236 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2540 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8492/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาคดี: ศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาสองคนขึ้นไปในการพิจารณาคำร้องขอคืนของกลาง
คดีนี้ศาลชั้นต้นเป็นศาลจังหวัด การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้และมีคำสั่งยกคำร้องขอคืนของกลางของผู้ร้องโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 26 เนื่องจากการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวมีลักษณะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะออกคำสั่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8492/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาในการพิจารณาคำร้องขอคืนของกลาง การปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดมีคำสั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลาง เมื่อผู้ร้องยื่นคำขอคืนของกลางโดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์และผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะในการสั่งคำร้องดังกล่าวตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 24 (2) และมาตรา 26 เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะออกคำสั่งได้ตาม มาตรา 25

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6234/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาคดีอาญา – ศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน
คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงมีผู้พิพากษานายเดียวลงนามให้จำคุกจำเลย 1 ปี ในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ซึ่งจะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน
of 2