คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ม. 26

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2501/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยอายุความ และขอบเขตการอุทธรณ์คำชี้ขาด
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายใช้บังคับขณะพิพาทให้อำนาจอนุญาโตตุลาการที่จะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ดังนั้น อนุญาโตตุลาการย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้ว่าหนี้หรือสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 22 บัญญัติว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดให้เป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณี ดังนี้ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมเป็นที่สุด ส่วนการที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้หรือไม่ เป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 ที่อนุญาตให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้ หากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ปัญหาเรื่องอายุความเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความแล้วไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1985/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการ: สิทธิอุทธรณ์จำกัดตาม พรบ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 การวินิจฉัยข้อพิพาทภายในสัญญา
ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ทำสัญญาตกลงกันไว้ว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมาให้คู่สัญญาเสนอข้อพิพาทนั้นให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงใช้วิธีระงับข้อพิพาทกับอนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้น ซึ่งการระงับข้อพิพาทดังกล่าวมีพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530มาตรา 22 ได้บัญญัติบังคับไว้แล้วว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดให้เป็นที่สุด และผูกพันคู่กรณีเมื่อผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้น กรณีของผู้คัดค้านจะอุทธรณ์ได้หรือไม่ จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 26 เท่านั้น เหตุผลที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น สรุปได้ว่า อนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยชี้ขาดไปตาม ข้อเท็จจริงและสัญญา ไม่หยิบยกพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้าน เห็นว่าสำคัญขึ้นวินิจฉัย ไม่รับฟังความเห็นของร. ซึ่งเป็นวิศวกรผู้เชี่ยวชาญกลางที่อนุญาโตตุลาการแต่งตั้งขึ้น จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเกี่ยวกับเนื้อหาแห่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้นการที่อนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ย่อมเป็นสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบ ส่วนการที่ผู้คัดค้านอ้างว่าอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยนอกเหนือความรับผิดของสัญญาและกำหนดความรับผิดในดอกเบี้ยผิดกฎหมายอันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยนั้น ตามสัญญาก่อสร้างคลองฝั่งซ้ายระบุให้เสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวต่ออนุญาโตตุลาการ การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านรับผิดตามข้อเรียกร้องที่ 13 ค่างานเพิ่มเติมและข้อ 18 ค่าเร่งรัดงาน จึงเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาแล้ว หาใช่การวินิจฉัยนอกเหนือสัญญาไม่ส่วนข้อที่อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยให้ผู้คัดค้านรับผิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2535 แต่ผู้คัดค้านอ้างว่ายังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านผิดนัดและวันที่ดังกล่าวมิใช่วันอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นก็เป็นการโต้เถียงในข้อเท็จจริงว่าจะฟังว่าจำเลยผิดนัดแล้วหรือไม่เท่านั้น จึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไม่ต้องตามหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นของบทบัญญัติมาตรา 26 ดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงไม่มี สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5081/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดเกินขอบเขตสัญญา/ไม่สุจริต อุทธรณ์ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ
เหตุผลที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นสรุปได้ว่า อนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยชี้ขาดไปตามข้อเท็จจริงและสัญญา ไม่หยิบยกพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านเห็นว่าสำคัญขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเกี่ยวกับเนื้อหาแห่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้น การที่อนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ย่อมเป็นสิทธิที่จะกระทำได้ ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าอนุญาโตตุลาการกระทำการโดยไม่สุจริต ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใด ๆว่าอนุญาโตตุลาการกระทำการโดยไม่สุจริตอย่างไร อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 26 แม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไว้พิจารณาแล้วก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนความแล้วเห็นว่า คดีของผู้คัดค้านต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกอุทธรณ์นั้นโดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 242(1) ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน โดยให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5081/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการและการยกอุทธรณ์ตามกฎหมายอนุญาโตตุลาการ
เหตุผลที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นสรุปได้ว่า อนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยชี้ขาดไปตามข้อเท็จจริงและสัญญา ไม่หยิบยกพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านเห็นว่าสำคัญขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเกี่ยวกับเนื้อหาแห่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้นการที่อนุญาโตตุลาการจะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ย่อมเป็นสิทธิที่จะกระทำได้ ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าอนุญาโตตุลาการกระทำการโดยไม่สุจริต ก็ไม่ปรากฎพยานหลักฐานใด ๆ ว่า อนุญาโตตุลาการกระทำการโดยไม่สุจริตอย่างไร อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26
แม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านไว้พิจารณาแล้วก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนความแล้วเห็นว่า คดีของผู้คัดค้านต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกอุทธรณ์นั้นโดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 242 (1)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน โดยให้ค่าฤชา-ธรรมเนียมเป็นพับ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 151 ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้อง