คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 890 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3099/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เกษียณอายุและการคำนวณค่าชดเชย: ค่าครองชีพเป็นค่าจ้าง, ค่ายังชีพภาคใต้ไม่รวม
การที่จำเลยมีระเบียบการให้พนักงานออกจากงานเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์เป็นเพียงการกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ตกลงจ้างพนักงานโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ (ฉบับที่ 5)ข้อ 2 จะมีข้อความว่าการเลิกจ้างให้หมายความรวมทั้งกรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุตามกฎหมายด้วย แต่ต่อมาประกาศดังกล่าว (ฉบับที่ 6) ข้อ 2 ไม่มีข้อความนี้ก็ตาม ก็หาใช่เป็นเรื่องประกาศ (ฉบับที่ 6) มิได้ประสงค์ให้ถือว่าการที่ลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่
เมื่อจำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่พนักงานทุกคนเป็นประจำเพราะเห็นว่าค่าจ้างไม่สมดุลย์กับภาวะการครองชีพ อันเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานของพนักงานให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจึงถือได้ว่าค่าครองชีพเป็นค่าจ้าง
จำเลยจ่ายค่ายังชีพภาคใต้ให้เฉพาะพนักงานใน 14 จังหวัดภาคใต้เท่านั้นเป็นการจ่ายโดยถือลักษณะของท้องที่ที่พนักงานเหล่านั้นประจำทำงานเป็นเกณฑ์ เมื่อพนักงานย้ายออกนอกเขต 14 จังหวัดดังกล่าวก็จะไม่ได้รับค่ายังชีพต่อไป จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างอันจะนำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยด้วย
โจทก์มิได้เรียกร้องดอกเบี้ยในค่าชดเชยคงเรียกดอกเบี้ยจากค่าเสียหายเท่านั้น ที่ศาลแรงงานฯ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3004/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยอื่นใดจากการรับเงินค่าชดเชยและโบนัส: ศาลฎีกาตัดสินว่าเป็นการสละสิทธิสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
แบบฟอร์มของเอกสารซึ่งลูกจ้างได้รับเงินค่าชดเชยและโบนัสมีรายการเกี่ยวกับเงินประเภทต่างๆ ที่ลูกจ้างได้รับ 10ข้อ ข้อ 1 ถึงข้อ 7 ระบุประเภทของเงินต่างๆ ข้อ8 ถึงข้อ 10 ว่างเว้นไว้ไม่ได้ระบุว่าเป็นเงินประเภทใด แสดงว่านอกจากเงิน 7 ประเภทแล้วยังมีเงินประเภทอื่นที่ลูกจ้างอาจจะได้รับตามสิทธิและตามกฎหมายซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในแบบฟอร์มนั้น เมื่อเอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดว่า ลูกจ้างไม่ติดใจที่จะเรียกร้องเงินอื่นใดจากนายจ้างทั้งสิ้นนอกจากค่าชดเชยและเงินโบนัสที่ได้รับไปแล้ว ย่อมหมายถึงว่าลูกจ้างได้สละสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อเลิกจ้างด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3003/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง นายจ้างไม่อาจออกระเบียบตัดสิทธิลูกจ้างได้
ค่าชดเชยเป็นเงินที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้าง หากนายจ้างไม่ปฏิบัติย่อมมีความผิดตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ข้อ 8 นายจ้างจึงจะออกระเบียบข้อบังคับใดๆ ในทางตัดสิทธิในการที่จะได้รับค่าชดเชยหาได้ไม่ แม้จำเลยจะมีอำนาจออกระเบียบข้อบังคับใช้กับพนักงานของจำเลยก็ตาม แต่การที่จำเลยกำหนดในระเบียบว่า การเลิกจ้างพนักงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยหรือบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยหรือสิทธิตามกฎหมายแรงงานอย่างใดอย่างหนึ่งและปรากฏว่าจำเลยเพียงจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ เท่ากับตัดสิทธิโจทก์ที่จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ระเบียบดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2924/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรับเงินสมทบและค่าจ้างค้างชำระของลูกจ้าง แม้มีการทุจริต แต่จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงเงินดังกล่าว
กฎและข้อบังคับของจำเลยข้อ 9 ที่กำหนดว่าคณะผู้บริหารมีอำนาจที่จะตัดสินเกี่ยวกับข้อพิพาทหรือปัญหาซึ่งอาจเกิดจากโครงสร้างหรือผลของข้อบังคับนี้หรือในข้อที่เกี่ยวกับการบริหารบัญชีนี้หมายความว่า อำนาจตัดสินของคณะผู้บริหารตามกฎและข้อบังคับดังกล่าวต้องเป็นเรื่องอันเกิดจากโครงสร้าง ผลของข้อบังคับและการบริหารบัญชีเท่านั้น หามีอำนาจที่จะตัดสินให้งดจ่ายเงินสมทบแก่สมาชิกในกรณีสมาชิกทุจริตต่อหน้าที่เบียดบังยักยอกเงินของจำเลยไม่
บทบัญญัติเรื่องบุริมสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หาได้ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ชำระหนี้ไม่
สิทธิของจำเลยที่จะเรียกเงินที่โจทก์เบียดบังยักยอกไปคืนมิได้เกี่ยวกับเงินค่าจ้างค้างชำระ เงินสะสมและเงินสมทบที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์แต่อย่างใดจำเลยจึงหามีสิทธิยึดหน่วงไม่
การที่กฎและข้อบังคับของจำเลย ข้อ 27 กำหนดว่าบริษัทย่อมทรงไว้ซึ่งบุริมสิทธิลำดับแรกและทั้งสิ้นในเงินจำนวนที่เป็นเครดิตของสมาชิกแต่ละคนในบัญชีนี้เพื่อนำมาชดใช้แก่บรรดาการสูญเสีย ราคา ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่บริษัทอาจได้รับไม่ว่าในเวลาใดเนื่องจากความผิดของสมาชิกนั้นหรือสำหรับหนี้สินใดๆ ที่สมาชิกนั้นต้องชำระให้แก่บริษัทนั้น หมายความว่าจำเลยมีสิทธิที่จะหักเงินสะสมและเงินสมทบในบัญชีของโจทก์ไว้ชำระหนี้แก่จำเลยได้หากหนี้นั้นมีจำนวนแน่นอนและไม่เกินกว่าจำนวนหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลย
การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำนวนเงินที่โจทก์ยักยอกไปมีจำนวนแน่นอนนั้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2909/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องคดีแรงงาน, การเลิกจ้างลูกจ้างที่มีประวัติเคยถูกจำคุก, และข้อยกเว้นค่าชดเชย
เมื่อคดีไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้ทำการชี้สองสถานหรือทำการสืบพยานโจทก์ย่อมยื่นคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ก่อนศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษา
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์มิได้จงใจทำความเสียหายให้จำเลยจำเลยจะอุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์ย่อมเล็งเห็นผลทำให้จำเลยเสียหายอันเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยในข้อเท็จจริงมิได้อุทธรณ์จำเลยต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54วรรคแรก
ข้อยกเว้นซึ่งนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหมายถึงได้รับโทษตามคำพิพากษาของศาลให้จำคุกคดีถึงที่สุดขณะที่เป็นลูกจ้างหาใช่ได้รับโทษและพ้นโทษมาแล้วจึงมาเป็นลูกจ้างไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2895/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ต้องนำไปคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกเลิกจ้าง
แม้การจ่ายค่าครองชีพมีมูลเหตุมาจากอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น ภาวะค่าครองชีพก็เป็นแต่เพียงมูลเหตุที่ต้องเพิ่มเงินให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างในการทำงานให้จำเลย เห็นได้ว่าเป็นการจ่ายให้เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างถือได้ว่าเป็นเงินที่จ่ายตอบแทนการทำงาน ค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้าง
เงินประเภทใดจะเป็นค่าจ้างหรือไม่ ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ผู้ใดจะวางระเบียบให้ผิดไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อค่าครองชีพเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ระเบียบของจำเลยซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้ถือว่าค่าครองชีพมิใช่ค่าจ้าง จึงไม่มีผลบังคับ
เมื่อค่าครองชีพเป็นค่าจ้าง ก็ต้องนำไปเป็นเกณฑ์คำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2831/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้กฎหมายแรงงานย้อนหลังไม่ได้ แม้มีการร้องเรียนหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2522เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ถูกปลดออกจากงานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2521 อันเป็นเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ใช้บังคับ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 มาใช้บังคับแก่กรณีการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมของโจทก์ได้ แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าการเลิกจ้างโจทก์ควรจะต้องนับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2522 อันเป็นวันที่ประธานกรรมการบริษัทไอบีเอ็ม ในสหรัฐอเมริกาแจ้งผลการพิจารณาขอความเป็นธรรมให้โจทก์ทราบก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าโจทก์ได้อาศัยระเบียบข้อบังคับในการทำงานข้อใดที่ให้สิทธิแก่โจทก์ทำการร้องเรียนขอความเป็นธรรมตามธรรมดาอันจะทำให้เห็นว่า คำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานของจำเลยยังไม่มีผลในวันที่ 7 ธันวาคม 2521 ซึ่งเป็นข้อสำคัญที่โจทก์จะต้องบรรยายในคำฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้กล่าวไว้ก็ไม่มีเหตุที่จะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิที่จะขอให้ศาลแรงงานกลางนำมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ภายหลังคำสั่งปลดออกจากงานมาปรับกับกรณีของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2811-2812/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุ: ความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ปัญหาที่ว่า การที่ลูกจ้างต้องออกจากงานเพราะเหตุมีอายุครบเกษียณอายุตามกฎหมาย จะเป็นการเลิกจ้างที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหรือไม่ นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2808/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและการจ่ายค่าชดเชยกรณีลูกจ้างกระทำผิดวินัย แต่ไม่ร้ายแรงถึงขั้นไล่ออก
ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยพนักงานกำหนดว่า พนักงานต้องสุภาพ เรียบร้อย เชื่อฟัง และไม่แสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาฯ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายระเบียบและแบบธรรมเนียมของจำเลย ห้ามมิให้ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง ในการปฏิบัติงาน ห้ามมิให้กระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตนเว้นแต่ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปเป็นผู้สั่งให้กระทำและให้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนทราบในโอกาสแรก การที่โจทก์พูดกับเพื่อนร่วมงานว่า ถ้าโจทก์เป็นประธานสหภาพแรงงาน งานชิ้นแรกที่จะทำคือขับไล่ผู้อำนวยการออก ถ้าโจทก์ออกจะต้องมีคนตายนั้น เป็นการพูดไม่สุภาพ และเป็นการแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา เป็นการผิดวินัยตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว แต่ไม่ถึงกับเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันจำเลยจะไล่ออก ปลดออกตามข้อบังคับของจำเลยได้ เมื่อจำเลยปลดโจทก์ออกจากงานย่อมเป็นการเลิกจ้าง กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 46,47
จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากงานเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม2521 โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์รับสินจ้างเป็นรายเดือน การเลิกสัญญามีผลสมบูรณ์เมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปคือเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2521 จำเลยต้องรับผิดจ่ายสินจ้างให้โจทก์ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2521แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าเสียหาย ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุด คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชย เงินบำเหน็จและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานมาตรา 31 เพราะมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2806-2807/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะองค์การฟอกหนังกับการคุ้มครองแรงงาน: การเลิกจ้างและการจ้างใหม่
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การรัฐบาล มาตรา 3การจัดตั้งองค์การให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และมาตรา 4 ให้องค์การที่จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายองค์การฟอกหนัง จำเลยจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง มิได้มีบทบัญญัติให้จำเลยเป็นหน่วยงานหรือกรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรมสังกัดอยู่ในกระทรวงกลาโหม ทั้งตามมาตรา 6 และ 7 แห่ง พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จำเลยมีวัตถุประสงค์ในทางการค้ามิใช่หน่วยงานบริหารราชการแผ่นดิน จำเลยจึงมิใช่ราชการส่วนกลางตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 1(1)
ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนังได้กำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การฟอกหนังจำเลยไว้ตามมาตรา 6(3) และ (4) ที่จะผลิตและประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมฟอกหนังและสินค้าสำเร็จรูปจากหนังฟอกหรือจากวัตถุอย่างอื่นแทนหนังฟอกได้มาตรา 7(3)(4)(7)(9) ให้จำเลยมีอำนาจทำการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ขององค์การทุกชนิดร่วมการงาน หรือสมทบกับบุคคลอื่นรวมทั้งการเข้าหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วน หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด รับเป็นสาขาตัวแทน ตัวแทนค้าต่างอันเกี่ยวกับกิจการตามวัตถุประสงค์และกระทำกิจการอื่นใดเกี่ยวกับการผลิตการค้าซึ่งเครื่องอุตสาหกรรมหนังหรือที่ต่อเนื่อง ดังนี้องค์การจำเลยได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2
เมื่อจำเลยเป็นองค์การของรัฐที่มิได้รับการยกเว้น การใช้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ทั้งได้ความว่าจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานโดยมีค่าจ้างเป็นประโยชน์ตอบแทนตรงตามความหมายของคำว่านายจ้างลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน การที่จำเลยวางระเบียบข้อบังคับการทำงานและอื่น ๆ เหมือนหรืออ้างอิงระเบียบของทางราชการ หาทำให้จำเลยไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงานไม่
การที่จำเลยออกคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับนั้น เป็นการเลิกจ้างโจทก์ฐานเป็นลูกจ้างขาดตอนไป ที่จำเลยมีคำสั่งใหม่แม้จะเป็นวันเดียวกันให้จ้างโจทก์ต่อไป ก็เป็นการจ้างโจทก์ใหม่
of 89