คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางทูต พ.ศ.2527 ม. 3

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 540/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสิทธิและความคุ้มกันทางทูต: ศาลไม่รับฟ้องคดีที่จำเลยเป็นตัวแทนทางทูต
คำฟ้องของโจทก์บรรยายชัดแจ้งถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านประจำประเทศไทย และจำเลยที่ 2 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งก็เป็นบุคคลในคณะผู้แทนทางการทูตของจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างให้โจทก์ตกแต่งติดตั้งอาคารสถานทูตแห่งใหม่ของสถานทูต อิสลามมิครีปับลิคแห่งอิหร่านประจำประเทศไทย ทั้งสัญญาตามเอกสารท้ายฟ้องก็ลงนามโดยจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญา การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนทางทูต เป็นการปฎิบัติไปตามกรรมวิถีทางของหน้าที่ของตนในกิจกรรมคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐผู้ส่ง ไม่ได้กระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการในการทำสัญญาของคู่สัญญาให้มีการสละเอกสิทธิความคุ้มกันจากอำนาจศาลเป็นที่ชัดแจ้งโดยรัฐผู้ส่ง จำเลยทั้งสองย่อมได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันจากอำนาจศาลทางแพ่งของรัฐผู้รับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางทูต พ.ศ.2527 มาตรา 3 ประกอบอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ซึ่งทำเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2504 ข้อ 31 (1) ประกอบข้อ 1 (จ) ซึ่งข้อกฎหมายนี้แม้จะไม่มีผู้ใดยกขึ้นโต้แย้ง แต่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องและปรากฏชัดแจ้งในคำฟ้องของโจทก์แล้ว ศาลชั้นต้นผู้ตรวจรับคำฟ้องย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูต: จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเนื่องจากจำเลยมีสถานะเป็นเอกอัครราชทูต
จำเลยมีตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐไนจีเรียประจำประเทศไทยเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนอันเป็นตัวแทนทางทูตตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ.1961 ข้อ 1 และการทำงานของโจทก์ในสถานเอกอัครราชทูตไนจีเรียประจำประเทศไทยเป็นการทำงานในภารกิจของสถานเอกอัครราชทูตไนจีเรียประจำประเทศไทยมิได้เป็นลูกจ้างในกิจการทางวิชาชีพหรือการพาณิชย์อันเป็นการประกอบอาชีพส่วนตัวของจำเลย จึงไม่เข้าขอยกเว้นการได้รับความคุ้มกันทางทูตตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ.1961 ข้อ 31 เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการสละความคุ้มกันตาม ข้อ 32 และไม่ปรากฏว่า จำเลยถูกเพิกถอนหรือจำกัดความคุ้มกันทางการทูตดังกล่าว จำเลยจึงได้รับความคุ้มกันจากอำนาจศาลแรงงานกลางตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูต พ.ศ.2527 มาตรา 3 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความจึงชอบแล้ว