คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ม. 9 วรรคหนึ่ง (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4190/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานจัดให้เล่นการพนันและฝ่าฝืนข้อกำหนดชุมนุม การลงโทษกรรมเดียวและบทแก้ไข
ความผิดต่อ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 8 เป็นการกระทำที่มีเจตนาต่างกัน กล่าวคือ การจัดให้มีการเล่นก็โดยเจตนาเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตน ซึ่งเมื่อจำเลยที่ 8 จัดให้มีการเล่น จำเลยที่ 8 ก็ได้ผลประโยชน์แห่งตนแล้ว เป็นความผิดสำเร็จไปกรรมหนึ่ง และเมื่อจำเลยที่ 8 เข้าร่วมเล่นการพนันอยู่ด้วย เป็นการที่จำเลยที่ 8 มีเจตนาเข้าพนันเอาเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นกับผู้ร่วมเล่นคนอื่น จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง ดังนี้ จำเลยที่ 8 จึงมีความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 แต่ไม่อาจเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 8 ได้ทุกกระทงความผิด เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 8 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 จำเลยที่ 8 จึงมีความผิดฐานจัดให้มีการเล่นการพนันชนไก่และฐานร่วมกันเล่นการพนันชนไก่ เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ให้ลงโทษจำเลยที่ 8 ฐานจัดให้มีการเล่นการพนันชนไก่เพียงกรรมเดียว แต่สำหรับความผิดต่อ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกันนั้น แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกความผิดของจำเลยที่ 8 ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน กับความผิดฐานจัดให้มีการเล่นการพนันชนไก่มาคนละข้อต่างหากจากกันและความผิดทั้งสองฐานจะเป็นความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ประกอบกับจำเลยที่ 8 ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 8 ร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมและมั่วสุมกันในที่เกิดเหตุ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัดก็โดยมีเจตนาเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันชนไก่และเข้าร่วมเล่นการพนันอยู่ด้วย ดังนั้น ความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมในสถานที่แออัดกับความผิดฐานจัดให้มีการเล่นการพนันชนไก่ และร่วมกันเล่นการพนันชนไก่ ก็ยังคงเป็นการกระทำความผิดโดยเกิดจากเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 8 ในส่วนนี้จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3950/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: การเล่นการพนันและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลฎีกาวินิจฉัยลงโทษตามบทหนัก
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเล่นการพนันไฮโลว์ อันเป็นการพนันตามที่ระบุไว้ในบัญชี ก. อันดับที่ 23 โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันเล่นการพนัน กับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันมั่วสุมตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นข้อ ๆ ต่างหากจากกัน ทั้งความผิดทั้งสองฐานจะเป็นความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายหลายบทต่างกันและจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรมและมั่วสุมกัน ณ บ้านที่เกิดเหตุอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัดก็โดยมีเจตนาเพื่อร่วมกันเล่นการพนัน จึงเป็นการกระทำความผิดโดยเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3948/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลงโทษฐานการพนัน: ศาลฎีกาแก้ไขโทษตามบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด และแก้ไขการลงโทษกรรมเดียว
ประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง เพียงมีผลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 และประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรดังกล่าว ตลอดจนบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง อันเนื่องมาจากได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ไม่มีผลเป็นการยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 18 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง จึงมิใช่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคท้าย และไม่ใช่กรณีที่กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายในภายหลังการกระทำความผิด อันจักต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3
พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 12 (1) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 3 ปี ปรับตั้งแต่ 500 บาท ถึง 5,000 บาท ส่วน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 18 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 จึงเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ต้องลงโทษจำเลยทั้งยี่สิบเก้าตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จึงไม่ชอบ กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และกรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 911/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดหลายกรรม การลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด และการรอการลงโทษ
จำเลยที่ 1 ฎีกาทำนองว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง อันเป็นการขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าบ้านจัดให้มีการเล่นพนันสนุกเกอร์ โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดร่วมกันเล่นพนันสนุกเกอร์ ซึ่งสภาพแห่งการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่มีเจตนาแยกต่างหากจากกันได้ และเป็นความผิดอยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน เมื่อจำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่น จึงเป็นความผิดสำเร็จไปแล้วกรรมหนึ่ง และเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าร่วมเล่นการพนันสนุกเกอร์ด้วย อันมีเจตนาเข้าพนันเอาเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นกับผู้ร่วมเล่นคนอื่น จึงเป็นความผิดสำเร็จอีกกรรมหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดหลายกรรมต่างกัน
ความผิดตาม พ.ร.บ.การพนันและความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดมีเจตนาเพื่อร่วมกันเล่นการพนันซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่นพนันและร่วมเล่นการพนันก็เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในแต่ละฐานความผิดด้วย แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทในแต่ละฐานความผิดดังกล่าว กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 21 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 เมื่อลงโทษบทหนักตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่อาจจ่ายสินบนนำจับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 340/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดหลายกรรมต่างกันในคดีเล่นการพนันและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลฎีกาปรับบทลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 1 เดือน 15 วัน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 คนละ 1 เดือน 15 วัน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ให้จำเลยที่ 5 จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้นำจับ เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้โทษจำเลยที่ 5 ต่างไปจากศาลชั้นต้นเท่านั้น มิใช่เป็นการพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งในกรณีนี้ ป.วิ.อ. มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้ การอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ตามเมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์แยกฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันเล่นการพนันไพ่ผสมสิบและจำเลยทั้งห้าร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมและมั่วสุมกันเล่นการพนันภายในสวนไม่มีเลขที่ ซึ่งเป็นสถานที่แออัดในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยกัน ทั้งตามคำบรรยายฟ้องระบุการกระทำผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นกรณีที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมและมั่วสุมล้อมวงเล่นการพนันไพ่ผสมสิบในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้องจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน จึงต้องลงโทษจำเลยทั้งห้าฐานร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรม หรือมั่วสุม ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2), 18 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เนื่องจากปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดีเกี่ยวกับการปรับบทลงโทษ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาให้วินิจฉัยก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 5 ด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 และ 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคสอง, 12 (2) เป็นเงิน 750 บาท และให้จำเลยที่ 5 จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้นำจับตามกฎหมายนั้น ปรากฏว่าตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นั้น ไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 และสั่งให้จ่ายสินบนนำจับจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4398/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท การพนัน-ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เสี่ยงแพร่เชื้อ ศาลฎีกาแก้ไขโทษจำเลย
ความผิดฐานร่วมกันเล่นการพนัน ฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และฐานร่วมกันกระทำการอันเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ จำเลยทั้งยี่สิบสามมีเจตนาเล่นการพนันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และกระทำการอันเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งยี่สิบสามจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทมิใช่หลายกรรมต่างกัน กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 23 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4396/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท - การกระทำผิดฐานพนัน, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, และการปรับบทกฎหมายที่ถูกต้อง
ความผิดฐานร่วมกันเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 มีเจตนาเล่นการพนันและฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 15 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นการไม่ชอบ และการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน ย่อมเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอีกบทหนึ่งด้วย โดยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ปรับบทกฎหมายลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ด้วยทั้งที่โจทก์บรรยายฟ้องและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จึงเป็นการไม่ชอบ ส่วนจำเลยที่ 2 ความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ ฐานร่วมกันเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยที่ 2 มีเจตนาเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ เล่นการพนัน และฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหลายบท มิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นการไม่ชอบเช่นเดียวกัน กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3