พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การส่งหมายเรียกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผลกระทบต่อกระบวนการพิจารณาคดี
จำเลยที่ 2 มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขายสินค้าให้แก่กรมสรรพาวุธทหารบกซึ่งมีโจทก์เป็นนายหน้า จึงถือไม่ได้ว่าสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่หรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 2 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักร การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลยที่ 1 ณ สถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่หรือสำนักทำการงานที่จำเลยที่ 2 ใช้ประกอบกิจการจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 3 (2) (ข), 83 ทวิ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การส่งหมายเรียกคดีทรัพย์สินทางปัญญาที่ผิดสถานที่ และการพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางนิติสัมพันธ์ของตัวแทน
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขายสินค้าดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่หรือสำนักทำการและงานของจำเลยที่ 2 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลยที่ 1 ณ สถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่หรือสำนักทำการงานที่จำเลยที่ 2 ใช้ประกอบกิจการจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 3 (2) (ข), 83 ทวิ และมีผลให้กระบวนพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นไม่ชอบไปด้วย เรื่องดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12013/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแย้งโดยชอบด้วยกฎหมายและการนับระยะเวลาการยื่นคำให้การแก้ฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอส่งและปิดหมายเรียกและสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งให้ทนายโจทก์ ศาลจึงมีคำสั่งให้ส่งสำเนาและหมายเรียกโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง โดยส่งแก่ทนายโจทก์แทนตามที่ขอ ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่การส่งคำคู่ความตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 83 ทวิ และมาตรา 83 ฉ แต่เป็นกรณีของการส่งคำคู่ความให้แก่ทนายความที่คู่ความแต่งตั้งให้ว่าคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 75 ซึ่งถือว่าเป็นการส่งโดยชอบด้วยกฎหมาย และการส่งสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งให้แก่ทนายโจทก์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ มีผลเสมือนว่าเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ เมื่อ พ. ซึ่งอายุเกิน 20 ปี และอยู่บ้านหรือสำนักงานเดียวกันกับทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งดังกล่าวแทนทนายโจทก์เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 ย่อมถือได้ว่ามีการส่งสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้วตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง และโจทก์อาจยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันดังกล่าวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 178 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 30 กันยายน 2546 การที่โจทก์ยื่นคำให้การวันที่ 29 ตุลาคม 2546 จึงเกินกำหนด 15 วัน ตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2827/2539
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องคดีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือและการกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การตาม พ.ร.บ.การกักเรือ
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานปฏิบัติผิดสัญญารับขนซึ่งเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาการให้บริการบรรทุกจึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการกักเรือพ.ศ.2534มาตรา3เมื่อจำเลยผู้ถูกฟ้องมิได้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดให้แก่จำเลยจึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการกักเรือพ.ศ.2534มาตรา29วรรคหนึ่งกล่าวคือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นนั้นจะมีผลต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่วันที่ได้ส่งหรือปิดคำคู่ความหรือเอกสารนั้นคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแต่จำเลยแต่งตั้งให้บ.เป็นตัวแทนในการรับเอกสารต่างๆและเจ้าพนักงานปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องณที่ภูมิลำเนาของบ.ตัวแทนของจำเลยเมื่อวันที่7มกราคม2537จึงต้องเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่8มกราคม2537ครบกำหนด15วันซึ่งพระราชบัญญัติการกักเรือพ.ศ.2534มาตรา29วรรคสองบัญญัติให้ถือว่าจำเลยที่1ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในวันที่22มกราคม2537จึงต้องเริ่มนับกำหนดเวลายื่นคำให้การภายใน15วันตั้งแต่วันที่23มกราคม2537ครบกำหนดที่จำเลยจะยื่นคำให้การได้ภายในวันที่6กุมภาพันธ์2537เป็นอย่างช้าดังนั้นการที่จำเลยยื่นคำให้การในวันที่7มีนาคม2537จึงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา83ทวิและมาตรา83ฉนั้นเมื่อบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ใช้สำหรับกรณีการส่งหมายเรียกและคำฟ้องแก่จำเลยที่ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรในกรณีทั่วๆไปแต่คดีนี้เป็นการฟ้องคดีตามสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือซึ่งพระราชบัญญัติกักเรือพ.ศ.2534มาตรา29บัญญัติถึงวิธีการส่งคำคู่ความให้แก่จำเลยซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา83ทวิและมาตรา83ฉอันเป็นบททั่วไปมาใช้บังคับได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2827/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกักเรือและการส่งคำคู่ความแก่จำเลยต่างชาติ การใช้บทบัญญัติพิเศษของ พ.ร.บ. การกักเรือ
โจทก์ขอให้กักเรือของจำเลยที่1ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติการกักเรือพ.ศ.2534ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กักเรือของจำเลยที่1ไว้ตามขอต่อมาโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่1ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยที่1ปฎิบัติผิดสัญญารับขนเป็นคดีนี้ดังนี้การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดให้แก่จำเลยจึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการกักเรือฯมาตรา29วรรคหนึ่ง(1)ซึ่งบัญญัติว่าถ้ามีตัวแทนให้ส่งแก่ตัวแทนและวรรคสามซึ่งบัญญัติว่าให้ถือว่าจำเลยได้รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นเมื่อระยะเวลาสิบห้าวันได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่วันที่ได้ส่งหรือปิดคำคู่ความหรือเอกสารนั้น เมื่อพระราชบัญญัติการกักเรือฯบัญญัติถึงวิธีการส่งคำคู่ความให้แก่จำเลยซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา83ทวิและมาตรา83ฉอันเป็นบททั่วไปมาใช้บังคับ