คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ม. 4

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10660/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลยุติธรรมในการวินิจฉัยการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และการยกคำร้องเนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 6 บัญญัติว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้" และมาตรา 211 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" ดังนี้แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 211 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไว้พิจารณาจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่าคำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมหาใช่ว่าเมื่อคู่ความมีคำโต้แย้งอย่างไรแล้ว ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยทุกกรณีไม่ คดีนี้จำเลยฎีกาว่า ป.วิ.พ. มาตรา 293 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2549 มาตรา 3 บังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264, 272 ประกอบมาตรา 2, 4, 29, 30, 233 ใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 6 ซึ่งข้อฎีกาของจำเลยล้วนแต่อ้างว่าการตีความของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้งดการบังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้นเนื่องจากยังไม่มีการบังคับคดีและจำเลยมิได้ยื่นฟ้องโจทก์ เป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกัน ไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 293 ไม่เป็นธรรมแก่คู่ความ เป็นการตีความที่คับแคบขัดต่อพระราชดำริการตีความและการใช้กฎหมายที่ประสงค์จะให้ตีความอย่างอะลุ่มอล่วย ให้เกิดความสุขในบ้านเมือง ทั้งการอ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 2, 4, 29, 30, 233 ก็ไม่ชัดแจ้งว่าขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตราต่างๆ ดังกล่าวอย่างไร บทบัญญัติดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่กระทำให้บุคคลไม่มีความเสมอกันในกฎหมายหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เท่าเทียมกัน ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไร ป.วิ.พ. มาตรา 293 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการงดการบังคับคดีเพิ่มเติมจากหลักทั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 โดยมาตรา 293 เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะของดการบังคับคดีโดยมีสิทธิหักกลบลบหนี้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และแม้จะได้ความตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 293 วรรคหนึ่ง กฎหมายก็ให้อำนาจศาลที่จะให้งดการบังคับคดีหรือไม่ เมื่อกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ในมาตรา 293 ดังกล่าว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงได้ยกคำร้องของจำเลย คำโต้แย้งของจำเลยไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 แม้ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยคดีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จะได้ยกเลิกและไม่มีศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยก็ตาม ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3335/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่อุทธรณ์เหตุแก้ข้อกฎหมายใหม่ การบังคับคดีล้มละลายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ที่ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการบังคับคดี การรวบรวม หรือการจำหน่ายทรัพย์สินตามคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสิบเด็ดขาดไว้ชั่งคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติ มาตรา 8 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 63/2548 แล้วว่า บทบัญญัติมาตรา 8 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 แล้ว การที่จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาโดยอ้างเหตุผลในข้อกฎหมายขึ้นมาใหม่ว่า ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยทั้งสิบกระทำความผิดต่อ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ขอให้มีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการบังคับคดี การรวบรวม หรือการจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยทั้งสิบไว้จนกว่าคดีหลักจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น ข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 28

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7645/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด ผู้มิอาจฟ้องให้คำวินิจฉัยเป็นโมฆะได้ แม้อ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ข้อเท็จจริงที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ล้วนแต่มีความหมายแสดงให้เห็นได้โดยแจ้งชัดว่าเป็นกรณีการใช้ดุลยพินิจในการทำคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามตามอำนาจหน้าที่ในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพียงแต่คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามไม่เป็นไปตามทิศทางที่โจทก์ประสงค์เท่านั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายหรือจำเลยทั้งสามได้ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันจะถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 , 421
การฟ้องขอให้คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ จะกระทำได้ต่อเมื่อมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้กระทำได้เท่านั้น เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มิได้บัญญัติให้อำนาจบุคคลใดฟ้องเช่นนั้นได้ โจทก์จะอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 4 อันเป็นบททั่วไปมาเป็นมูลฐานฟ้องขอให้คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามเป็นโมฆะหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8187/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มเติมฟ้องแก้ฐานความผิดของจำเลยที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ และการใช้พยานหลักฐานจากการล่อซื้อยาเสพติด
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น" และมาตรา 164 บัญญัติว่า"คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ห้ามมิให้ศาลอนุญาต แต่การแก้ฐานความผิด การเพิ่มเติมฐานความผิด ไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะใดระหว่างการพิจารณาในศาลชั้นต้นมิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ เว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น" เมื่อโจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องว่าจำเลยเป็นพนักงานองค์การรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นการแก้ฐานความผิด ทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับฐานะและอาชีพของจำเลยซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบและหลงต่อสู้ ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรและโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง และมาตรา 164
การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว เป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยที่ได้กระทำอยู่แล้ว มิได้ล่อหรือชักจูงใจให้จำเลยกระทำความผิดอาญาที่จำเลยไม่ได้กระทำความผิดมาก่อน การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และไม่เข้าข้อต้องห้ามอ้างเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226
ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดขณะเป็นพนักงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐจึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 10 แต่กลับไม่ได้ปรับบทลงโทษตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้