คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2522 ม. 8

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีภาษีอากรต้องยื่นคำร้องขอพิจารณาการประเมินใหม่โดยผู้มีอำนาจ หรือมีเอกมอบอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย มิฉะนั้นขาดอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 26 กำหนดให้คำร้องขอพิจารณาการประเมินใหม่ต้องเขียนลงในแบบพิมพ์และผู้รับประเมินต้องลงนาม หากผู้รับประเมินต้องการให้ตัวแทนลงนามแทนต้องมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 37 เมื่อผู้ลงนามเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในนามโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าเป็นผู้แทนซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และไม่ปรากฏว่าผู้ลงนามได้รับมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ลงนามเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่แทนโจทก์ ทั้งเป็นกรณีที่โจทก์ไม่อาจให้สัตยาบันภายหลังได้ กรณีถือว่าโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 7 (1) และมาตรา 8

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1766/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีขายที่ดินพร้อมอาคารที่ปลูกสร้างเองภายใน 5 ปี
พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 224) ฯ มาตรา 3 (6) วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ที่ดินและอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างได้มาไม่พร้อมกัน กำหนดเวลา 5 ปี ให้ถือตามระยะเวลาการได้มาซึ่งที่ดิน หรืออาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้มาภายหลัง" ความหมายของการได้มาซึ่งอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างตามบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมต้องหมายความรวมถึงการได้มาโดยเจ้าของที่ดินก่อสร้างเองหรือซื้อมาหรือรับโอนมาด้วยประการใด ๆ ดังนั้น การที่โจทก์ลงทุนปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินของโจทก์เอง ก็ต้องถือว่าโจทก์ได้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างมาภายหลังจากที่ได้ที่ดินมาแล้ว เมื่อโจทก์ขายที่ดินและอาคารดังกล่าวไปภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่ได้อาคารมา โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับที่ดินและอาคารนั้น
ประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ขายที่ดินและอาคารพิพาทไปโดยไม่มีเจตนามุ่งค้าหรือหากำไรเพราะโจทก์โอนขายให้แก่บริษัทที่โจทก์ก่อตั้งขึ้นเอง ผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลในครอบครัวของโจทก์เองทั้งสิ้น ปรากฏว่าโจทก์มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกขึ้นต่อสู้อันเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3108/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเรียกคืนภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากยังไม่ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์จากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
ภาษีที่โจทก์เรียกคืนจากจำเลยที่ 1 เกิดจากการที่โจทก์ตรวจสอบการขอคืนภาษีของจำเลยที่ 1 พบว่าจำเลยที่ 1 แสดงรายได้จากการขายสินค้าต่ำไป โดยแสดงราคาขายและราคาซื้อไม่เป็นไปตามรายการซื้อขายจริงจึงปรับปรุงเพิ่มต้นทุนและนำมูลค่าสินค้าในแต่ละเดือนภาษีมาคำนวณภาษีขายให้ถูกต้องแล้วหักด้วยภาษีซื้อ พบว่าจำเลยที่ 1 ยังมีภาษีมูลค่าเพิ่มต้องชำระเพิ่มอีกในบางเดือน และบางเดือนมีสิทธิขอคืนได้บางส่วนเท่านั้น เงินภาษีที่จำเลยที่ 1 ขอคืนไปจึงไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ซึ่งเห็นได้ว่าจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจากจำเลยที่ 1 เกิดจากการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินอาจถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงต้องรอฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน เมื่อข้อเท็จจริงที่รับกันฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่มีคำวินิจฉัย ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องแม้ต่อมาภายหลังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินชอบและเป็นธรรมแล้ว ก็ไม่ทำให้ฟ้องที่ไม่ชอบมาตั้งแต่ต้นกลับเป็นฟ้องที่ชอบได้