คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิทยา วีระประจักษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 27 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22631/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลักฐานการชำระหนี้เงินกู้รายวัน: สมุดบันทึกการเก็บเงินที่มีลายมือชื่อเจ้าหนี้เพียงพอต่อการรับฟังได้
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญากู้ยืม จำเลยทั้งสองยอมรับว่าทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ตามฟ้อง แต่ชำระหนี้เป็นรายวันครบถ้วนแล้ว หน้าที่นำสืบจึงตกแก่จำเลยทั้งสอง
การนำสืบถึงการชำระหนี้กู้ยืมด้วยเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดให้ผู้นำสืบต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีสมุดบันทึกการเก็บเงินเป็นรายวัน ซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์มาแสดง แม้สมุดบันทึกดังกล่าวที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไม่ได้ระบุว่ารับเงินค่าอะไร แต่ก็มีข้อความระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งบ่งชี้ว่าในเดือนนั้นจำเลยทั้งสองชำระในส่วนที่เป็นต้นเงิน โดยยังค้างดอกเบี้ยไว้ ดังนี้ หลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่าใช้หนี้กู้ยืมเงิน เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้มาเก็บเงินเป็นรายวัน มีจำนวนเงินที่เรียกเก็บ และเมื่อลูกหนี้ค้างชำระในส่วนดอกเบี้ย ก็มีรายละเอียดว่าค้างดอกเบี้ยเดือนใดบ้าง โดยมีลายมือชื่อเจ้าหนี้ลงในช่องทุกวัน ที่มาเรียกเก็บเงิน ถือว่าสมุดบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการชำระหนี้เงินกู้ตามมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบการใช้เงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17173/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำเข้ายาเสพติดทางโทรศัพท์และการกระทำความผิดร่วมกันของจำเลยที่ 1-3
แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรด้วยตนเอง แต่การที่จำเลยที่ 1 โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นการสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัตินิยามคำว่า "นำเข้า" หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15693/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฝากเงินกลุ่มออมทรัพย์ไม่เป็นโมฆะ แม้จะมีการประกอบธุรกิจคล้ายธนาคาร หากผู้ฝากไม่รู้เห็น
ในสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมทำโดยบุคคลสองฝ่าย ประโยชน์อันเป็นผลสุดท้ายที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมรู้กัน จึงจะเป็นวัตถุที่ประสงค์ของนิติกรรมสัญญานั้น ถ้าคู่สัญญาแต่ฝ่ายเดียวรู้ถึงการกระทำของตนว่าเป็นการฝ่าฝืนต้องห้ามโดยกฎหมาย โดยอีกฝ่ายมิได้ร่วมรู้ด้วยนั้น จะว่านิติกรรมสัญญานั้น มีวัตถุประสงค์เป็นการฝ่าฝืนต้องห้ามโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ได้ การที่โจทก์ที่ 1 กับพวกนำเงินมาฝากกับจำเลยทั้งสามก็เป็นเพราะต้องการได้ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลตอบแทนและเมื่อเรียกเงินคืนก็จะได้เงินคืนครบจำนวนตามมาตรา 672 เพียงเท่านั้น ส่วนที่จำเลยทั้งสามจะร่วมกันนำเงินที่รับฝากไปหาประโยชน์ในลักษณะการประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือใช้ประโยชน์เงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง โดยทำเป็นปกติธุระหรือไม่ อย่างไร จะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือไม่ ล้วนเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสามดำเนินการไปเอง โจทก์ที่ 1 กับพวกมิได้ร่วมรู้เห็นและเป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของโจทก์ที่ 1 กับพวก จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจยกข้อต่อสู้ว่าวัตถุประสงค์ในประกอบกิจการหาประโยชน์จากเงินที่รับฝากของกลุ่มออมทรัพย์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายขึ้นอ้างยันโจทก์ที่ 1 กับพวกได้ นิติกรรมรับฝากเงินระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสาม จึงไม่เป็นโมฆะ โจทก์ที่ 1 กับพวกมีสิทธิเรียกเงินฝากคืนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15067/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูหลังหย่าต้องมีเหตุจากความผิดของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอาจถูกบอกล้างได้
โจทก์ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูหลังหย่าซึ่งที่ถูกคือค่าเลี้ยงชีพนั้นจะต้องเป็นกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล และคดีต้องฟังได้ว่า เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจึงจะกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 แต่คดีนี้โจทก์และจำเลยตกลงหย่ากันในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากัน จึงไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าว
ข้อตกลงตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานนอกจากเรื่องหย่าแล้วยังมีเรื่องทรัพย์สินรวมทั้งเงินที่จำเลยตกลงแบ่งให้แก่โจทก์ โดยในขณะที่ตกลงกันนั้นโจทก์และจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน จำเลยย่อมบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 อันเป็นผลให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยสิ้นความผูกพัน โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยแบ่งทรัพย์สินรวมทั้งเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13928/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้จากการเช่าทรัพย์สินและหักกลบลบหนี้จากค่าเสียหาย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คจำนวน 6 ฉบับ ที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย หาได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินไม่ การวินิจฉัยความผิดของจำเลยจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องตั๋วเงิน โจทก์จึงหาจำต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินมาแสดงตามที่จำเลยฎีกาไม่
จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คทั้ง 6 ฉบับ ตามฟ้อง จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่ามูลหนี้ตามเช็คระงับแล้ว ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยและจำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้ทำให้ทรัพย์สินที่เช่าเสียหาย คิดเป็นเงิน 260,000 บาท จึงขอหักกลบลบหนี้กับเช็คตามฟ้องโดยจำเลยเบิกความว่า ก่อนที่โจทก์จะออกไปจากห้องเช่า ทำให้ห้องเช่าเสียหาย เนื่องจากต่อเติมห้องเช่าโดยเทพื้นคอนกรีตลงบนสนามหญ้า มูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 260,000 บาท นั้น ค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์มิได้ยอมรับ จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่ ไม่อาจจะนำมาหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13547/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายแจ้งคำพิพากษาอุทธรณ์ผิดที่อยู่ การพิจารณาคดีโดยไม่ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลย พนักงานเดินหมายได้นำสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้จำเลยตรงตามภูมิลำเนาของจำเลยในฟ้องคือ บ้านเลขที่ 161 หมู่ 1 ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ตามบันทึกการส่งหมายระบุว่า "ไม่พบจำเลย ได้สอบถามผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตำบลนางรองแล้ว ได้ความว่า ไม่มีชื่อจำเลยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวจึงนำหมายกลับคืน" ศาลชั้นต้นสั่งว่า กรณีถือได้ว่าส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 201 จึงให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อพิจารณาพิพากษา ต่อมาศาลชั้นต้นได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในหมายนัดระบุที่อยู่ของจำเลยคือ บ้านเลขที่ 141 ถนนประดิษฐปานะ ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยให้ส่งหมายทางไปรษณีย์ตอบรับ ปรากฏว่าในใบตอบรับมีผู้อื่นรับหมายไว้แทน นอกจากนี้เมื่อตรวจสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยตามที่ ส. ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยปรากฏว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 161/1-2 ถนนภักดีบริรักษ์ ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ สอดคล้องกับบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยซึ่งอยู่ท้ายบันทึกการจับกุม ทั้งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาระบุว่า จำเลยมีบ้านพักอยู่ถนนภักดีบริรักษ์ทั้งสิ้น การส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยไม่ได้ด้วยเหตุผลว่าไม่มีชื่อจำเลยอยู่ในหมู่ที่ 1 ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบหรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 201 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาคดีโดยมิได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยเพื่อแก้ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12557/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยักยอกทรัพย์โดยผู้จัดการทรัพย์สิน และการปรับบทมาตรา 354 ที่ไม่เข้าข่ายฐานะผู้มีอาชีพ
การกระทำความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 354 จะต้องได้ความว่า ผู้กระทำผิดได้กระทำในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนมาด้วย เป็นเพียงประโยคประกอบซึ่งโจทก์ขยายความออกไปตามความเข้าใจของโจทก์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดว่า จำเลยกระทำในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนอย่างไร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11462/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตกลงเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ย่อมมีผลผูกพันคู่สัญญา หากทำโดยสมัครใจ
เดิมโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว กับให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นรายปี ปีละ 70,000 บาท และรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท จนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะมีอายุครบ 25 ปี บริบูรณ์ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้วจำเลยส่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์จำนวนหนึ่งแล้วไม่ส่งอีก โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยเดือนละ 6,500 บาท เมื่อเงินเดือนจำเลยเพิ่มขึ้นโจทก์ขอให้อายัดเพิ่มเป็นเดือนละ 8,000 บาท ต่อมาจำเลยจึงยื่นคำแถลงต่อศาลว่าจำเลยป่วยเป็นโรคต่อมน้ำเหลือง ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองบรรลุนิติภาวะและมีงานทำแล้ว ขอให้งดการบังคับคดี โจทก์จำเลยจึงตกลงกันไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เพียงเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าจะครบตามสัญญาเดิม และเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยตามข้อตกลงใหม่จนกระทั่งบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอายุครบ 25 ปีแล้ว โจทก์จะอ้างว่าข้อตกลงใหม่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิม ขอให้บังคับคดีตามข้อตกลงเดิมในสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่ เพราะโจทก์สมัครใจยินยอมตกลงกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูกับจำเลยในอัตราใหม่ซึ่งอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้จึงไม่ถือว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ไม่ใช่กรณีที่ศาลมีคำสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 ซึ่งเป็นอำนาจของศาลที่จะสั่งเปลี่ยนแปลงค่าอุปการะเลี้ยงดูไปตามพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ให้และผู้รับก็มีผลเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11454/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ การเพิกถอนคำชี้ขาด และการใช้ดุลพินิจปรับบทกฎหมาย
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งวินิจฉัยให้ผู้ร้องชำระค่าจ้างงวดที่ 18 แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด รวมถึงการหักจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากค่าจ้างที่ชำระ เป็นการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดที่เป็นการขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ และโต้แย้งการให้เหตุผลในการวินิจฉัยตีความข้อสัญญาของคณะอนุญาโตตุลาการและศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ร้องต้องห้ามเพราะมิใช่กรณียกเว้นให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) (2)
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง กำหนดให้คู่พิพาทยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด หรือถ้าเป็นกรณีมีการขอให้คณะอนุญาโตตุลาการแก้ไขคำชี้ขาด ก็นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดแล้ว โดยไม่ได้บัญญัติว่า จะต้องเป็นการแก้ไขคำชี้ขาดในส่วนสาระสำคัญเท่านั้น แม้จะเป็นการแก้ไขคำชี้ขาดในส่วนสาระสำคัญ หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย คู่พิพาทก็อาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดแล้ว คดีนี้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในวันที่ 8 มีนาคม 2548 แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ตีความหรืออธิบายข้อความในคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการมีการแก้ไขคำชี้ขาดในข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2548 ซึ่งเมื่อนับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดข้างต้นยังไม่เกินเก้าสิบวัน ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องดังกล่าวได้
ข้อพิพาทในส่วนเงินค่าจ้างงานเพิ่มเติมนอกสัญญาและค่าวัสดุก่อสร้างงานที่เพิ่มขึ้นเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องจากสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้าง คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้จึงหาได้เกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการอันจะเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดแต่อย่างใดไม่
การระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการเกิดจากข้อตกลงตามสัญญาระหว่างคู่พิพาท โดยการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ นอกจากจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ยังให้สิทธิแก่คู่พิพาทที่จะตกลงวิธีพิจารณากันได้ และในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกัน หรือ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น มาตรา 25 วรรคสอง และวรรคสาม ยังให้อำนาจคณะอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร รวมทั้งอาจนำ ป.วิ.พ. ว่าด้วยพยานหลักฐานมาใช้โดยอนุโลม คดีนี้ชั้นพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมีการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเบี้ยปรับว่า ผู้ร้องคดีนี้มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือไม่ เพียงใด การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งมอบงานแก่ผู้ร้องล่าช้า อันเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องชำระเบี้ยปรับแก่ผู้ร้องตามสัญญา แต่เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้สงวนสิทธิที่เรียกเอาเบี้ยปรับในเวลารับชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคสาม จึงหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากผู้คัดค้านที่ 1 นั้น เป็นการที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจในการปรับบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ทั้งเป็นไปตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะไม่ได้ยกข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ร้องไม่ได้บอกกล่าวสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำคัดค้านแก้ข้อเรียกร้องแย้ง ก็หาทำให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น หรือเป็นคำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาท อันจะเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11144/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: ข้อผิดพลาดเล็กน้อยและสาระสำคัญของสัญญา
สัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา จะแก้ไขข้อผิดพลาดได้ต่อเมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 12,938,769.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม หากไม่ชำระให้บังคับทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดแทน แล้วต่างตกลงกันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีข้อความว่า "ข้อ 1. จำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นหนี้ตามโจทก์ฟ้องจริง และจะชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 12,938,769.40 บาท พร้อมดอกเบี้ย...นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน ข้อ 2. โจทก์ตกลงว่าหากจำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน 8,570,000 บาท และค่าฤชาธรรมเนียม...ภายใน 60 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความถือเป็นการชำระเสร็จสิ้น... ข้อ 3. หากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งหรือข้อใดข้อหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดชำระทั้งหมด ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวใน ข้อ 2. และยินยอมให้โจทก์บังคับคดี..." ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าเนื้อความในสัญญา ข้อ 3. ทั้งหมดเป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้ตามสัญญา ข้อ 1. และหรือ ข้อ 2. โดยจำเลยทั้งสองตกลงยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอบังคับในฟ้อง ข้อความในวรรคที่ว่า "ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้อง" เป็นสาระสำคัญ ส่วนข้อความต่อเนื่องที่ว่า "ดังกล่าวใน ข้อ 2." เป็นเพียงพลความ หากถือว่ามิใช่พลความ ข้อความในวรรคนี้ทั้งหมดจะขัดแย้งจนหาสาระไม่ได้ เพราะจำนวนหนี้ตามสัญญา ข้อ 2. มิใช่จำนวนหนี้ทั้งหมดในฟ้องนั่นเอง แสดงว่า ที่ถูกต้องข้อความในวรรคนี้พึงเป็นข้อความว่า "ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวใน ข้อ 1." ดังนั้น ที่โจทก์ขอให้แก้ไขคำพิพากษาเฉพาะส่วนในข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 3. ในวรรคดังกล่าวตรงท้ายวรรคจาก 2 เป็น 1 ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ศาลพึงมีคำสั่งแก้ไขให้ถูกต้องได้
of 3