คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 14

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 324 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2358/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีล้มละลาย: ยุติเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าลูกหนี้มิใช่บุคคลล้มละลาย แม้มีข้อโต้แย้งเรื่องหนี้สิน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิใช่บุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยมิใช่บุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จะพิจารณาปัญหาตามฎีกาของจำเลยก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ส่วนปัญหาว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์หรือไม่ จะต้องไปว่ากันในคดีแพ่งต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1866/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกหนี้ร่วมมีหนี้สินล้นพ้นตัว แม้มีทรัพย์สินจำนอง แต่ไม่ปรากฏว่ามีมูลค่าเพียงพอชำระหนี้ทั้งหมด
การพิจารณาว่าลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมแต่ละคน เมื่อจำเลยทั้งสามเป็นลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ตามคำพิพากษาจำนวน 5,495,094.53 บาท และไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากที่ดิน 3 แปลงที่จำนองเป็นประกันไว้แก่เจ้าหนี้รายอื่น โดยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินที่จำนองเป็นประกันมีราคามากกว่าหนี้ที่จำนองเป็นประกันหรือไม่ จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม แต่มิได้ขวนขวายที่จะนำเงินมาชำระหนี้ จนโจทก์นำยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยทั้งสามจึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3619/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเลิกการล้มละลายมีผลให้คดีพิทักษ์ทรัพย์สิ้นสุด ศาลควรแจ้งศาลอุทธรณ์เพื่อจำหน่ายคดี
คำสั่งศาลชั้นต้นซึ่งให้ยกเลิกการล้มละลายมีผลทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายและเท่ากับศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของจำเลยไปด้วยในตัว ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทราบเพื่อมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยอีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทราบ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้วมีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย: สิทธิคงอยู่แม้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถูกเพิกถอนและมีคำสั่งใหม่
เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลางและให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยทั้งสองต่อไป คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมถูกเพิกถอนไป และต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่เฉพาะในส่วนที่ผิดพลาดและถูกเพิกถอนเท่านั้น กระบวนพิจารณาในส่วนนี้ย่อมนำ ป.วิ.พ. มาใช้ได้แต่ในคดีล้มละลายยังมีกระบวนพิจารณาโดยเฉพาะซึ่งมีความแตกต่างไปจากคดีแพ่งทั่วไปตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 6 บัญญัติไว้ ซึ่งอาจกระทำโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเริ่มต้นที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วเมื่อคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องไม่มีส่วนใดที่ผิดกฎหมาย จึงไม่ถูกเพิกถอนและยังคงมีผลใช้ได้ แม้ศาลอุทธรณ์จะยกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลางแล้วต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งใหม่โดยมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเช่นเดิม คำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องที่ยื่นไว้เดิมจึงยังคงมีผลใช้ได้โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ใหม่
ในคดีล้มละลายเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางอีกครั้งหนึ่งนั้น การโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในครั้งที่สองนี้มีความประสงค์เพียงเพื่อให้เจ้าหนี้ที่จำเลยทั้งสองไปก่อหนี้สินขึ้นภายหลังวันที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลาง จนถึงวันก่อนวันอ่านคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดครั้งที่สองของศาลล้มละลายกลางมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้เท่านั้นเมื่อผู้ร้องซึ่งได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้วในคราวโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งแรกจึงถือได้ว่ายื่นคำขอใว้แล้วก่อนระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดครั้งที่สองสิ้นสุดลง ผลของการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องจึงยังคงมีอยู่โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5189/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีล้มละลาย: สิทธิฟ้องแย้งจำกัดเฉพาะประเด็นการมีหนี้สินล้นพ้นตัว ห้ามฟ้องแย้งประเด็นอื่น
คดีล้มละลายเป็นคดีที่ฟ้องให้จัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายของบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้น การพิจารณาคดีล้มละลายไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อจะชี้ขาดหรือพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์โดยเฉพาะจึงย่อมผิดแผกแตกต่างกับการพิจารณาคดีแพ่งสามัญเพราะประเด็นสำคัญในคดี
ล้มละลายมีอยู่ว่าจำเลยซึ่งถูกฟ้องขอให้ล้มละลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้โจทก์จำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท สำหรับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หรือไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท สำหรับจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล หรือไม่ หากศาลพิจารณาได้ความจริงเช่นนั้นก็ต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด หากพิจารณาไม่ได้ความจริงหรือแม้ได้ความจริงแต่จำเลยนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้อง ดังนั้นการพิจารณาคดีล้มละลายศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาได้เพียง 2 ประการ คือ มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษายกฟ้องตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 เท่านั้น โดยไม่เปิดช่องให้ศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นอื่นใดนอกเหนือไปจากที่กล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องแย้งให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์กระทำหรือไม่กระทำการใดได้อีกเพราะเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธหนี้สินที่โจทก์อ้างให้รับผิดตามสัญญารับผิดชดใช้หนี้เพราะสัญญาดังกล่าวปลอม จึงมีประเด็นที่โจทก์ต้องนำสืบถึงหนี้สินตามสัญญารับผิดชดใช้หนี้ ซึ่งหากศาลพิจารณาแล้วเชื่อว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอมดังที่จำเลยให้การต่อสู้ ศาลก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ เมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5189/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการพิจารณาคดีล้มละลาย: ศาลมีอำนาจสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือยกฟ้องเท่านั้น การฟ้องแย้งจึงไม่ชอบ
การพิจารณาคดีล้มละลายศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาได้เพียง 2 ประการเท่านั้น ประการที่หนึ่ง มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ประการที่สอง พิพากษายกฟ้อง บทบัญญัติมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่เปิดช่องให้ศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นอื่นใดนอกเหนือจากที่กล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องแย้งให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์กระทำหรือไม่กระทำการใดได้เพราะเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม
ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 และที่ 4 กล่าวว่าขอปฏิเสธหนี้สินที่โจทก์ทั้งสามอ้างตามสัญญารับผิดชดใช้หนี้เพราะเป็นสัญญาปลอม ซึ่งมีประเด็นที่โจทก์ทั้งสามจะต้องนำสืบถึงหนี้สินตามที่อ้างในคำฟ้อง และหากศาลพิจารณาแล้วเชื่อว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอมดังที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การต่อสู้ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องสถานเดียว จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญารับผิดชดใช้หนี้เป็นสัญญาปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แผนฟื้นฟูกิจการขัดกฎหมายล้มละลาย: ผู้ค้ำประกันยังต้องรับผิดแม้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่เต็มจำนวน
การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวโดยมิได้คำนึงว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และกำหนดให้เจ้าหนี้บางกลุ่มได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วน ข้อกำหนดดังกล่าวจึงขัดต่อ พระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 90/60 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนข้อกำหนดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
การจะพิจารณาว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 14 หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาเหตุเฉพาะตัวของจำเลยในคดีล้มละลายคนนั้น ๆ การที่จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 เป็นมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ไว้วางใจให้จำเลยที่ 2 บริหารแผนซึ่งเป็นเรื่องของการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และเป็นเรื่องในอนาคตซึ่งไม่มีความแน่นอนดังนั้น ลำพังเพียงการที่จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะถือว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการไม่กระทบความรับผิดของผู้ค้ำประกัน หากเจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนตามแผน
การฟื้นฟูกิจการมีผลให้มีการปรับลดปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ แต่คำสั่งของศาลที่เห็นชอบด้วยแผนก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง หนี้ส่วนที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดย่อมระงับไปเฉพาะส่วนที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในส่วนที่ขาดผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง
การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปเสียทีเดียวโดยมิได้คำนึงว่าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และกำหนดให้เจ้าหนี้บางกลุ่มได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วนย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
การพิจารณาว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 14 หรือไม่ จะต้องพิจารณาเหตุเฉพาะตัวของจำเลยคนนั้น ๆ การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 เป็นมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ไว้วางใจให้จำเลยที่ 2 บริหารแผนซึ่งเป็นเรื่องของการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และเป็นเรื่องในอนาคตซึ่งไม่มีความแน่นอน ลำพังการได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารแผนยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะถือว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5756/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะทางการเงินของจำเลยเพียงพอต่อการชำระหนี้ ไม่สมควรให้ล้มละลาย
จำเลยประกอบกิจการรับจ้างทำสื่อโฆษณามาตั้งแต่ปี 2535 และในปัจจุบันยังประกอบการเป็นปกติ แม้ในช่วงระหว่างปี 2540 ถึง 2542 ผลประกอบการยังขาดทุนแต่ก็สามารถลดยอดขาดทุนลงได้มากในปี 2542 ส่วนผลประกอบการในปี 2543 ดีขึ้นมาก โดยจำเลยยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 เพื่อชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งของรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2543 มียอดรายรับหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนปีปัจจุบันที่ยื่นแสดงรายการไว้สูงถึง50,779,121.63 บาท และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด. 1 ก.) กับได้ชำระภาษีสำหรับเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2543 เป็นเงินประมาณ 700,000 บาท แม้เอกสารหนังสือเสนอขอชำระหนี้แก่โจทก์จะมิใช่เอกสารทางบัญชีที่แสดงรายได้และผลกำไรในปี 2543 แต่สามารถนำมาพิจารณาประกอบเพื่อแสดงถึงสถานภาพของจำเลยว่าการประกอบกิจการของจำเลยยังสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยดี ประกอบกับโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้หลังจากศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เพียง 1 ปีเศษและจำเลยเคยยื่นข้อเสนอในการชำระหนี้แก่โจทก์ก่อนหน้าถูกฟ้องคดีนี้ ซึ่งโจทก์ก็มิได้โต้แย้งว่าจำเลยมิได้ยื่นข้อเสนอเช่นนั้น แสดงว่าจำเลยมิได้ละเลยในการชำระหนี้แก่โจทก์ ดังนั้นเมื่อไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นยื่นฟ้องจำเลยและไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น แสดงว่าจำเลยยังมีความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการและฐานะทางการเงินมิใช่เป็นเพียงการคาดคะเน ฉะนั้น เมื่อจำเลยยังประกอบกิจการอยู่เป็นปกติ ยังมีรายได้และผลกำไร จึงอยู่ในวิสัยและมีลู่ทางที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ กรณียังมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1863/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้ แม้เป็นข้าราชการ ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ได้
จำเลยมีเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงรวมเดือนละประมาณ 26,000 บาท จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 104,025.39 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและเบิกเงินสดโดยจำเลยไม่เคยชำระหนี้แก่โจทก์เลยเป็นเวลานานเกือบ 4 ปี ทำให้จำนวนหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อนับถึงวันฟ้องมีจำนวน 204,600 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้ต่อเดือนของจำเลยแล้วจำนวนหนี้มีมากกว่ารายได้ แม้จำเลยเป็นข้าราชการมีเงินเดือน แต่เงินเดือนตลอดทั้งบำเหน็จบำนาญไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) จำเลยรับราชการมานานแต่ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีก แสดงว่าเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงของจำเลยมีจำนวนเพียงแค่การดำรงชีพของจำเลยในแต่ละเดือนเท่านั้น ไม่เหลือพอที่จะแบ่งไปผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ได้ เงินสะสมของข้าราชการมีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนข้าราชการ แม้จำเลยจะมีเงินสะสมในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการก็ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเช่นกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดทั้งพฤติการณ์ของจำเลยมิได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในทางที่จะขวนขวายเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ด้วยความสุจริตใจ คดีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
of 33