คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 296 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2746/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีเสร็จสิ้นหลังจ่ายเงินให้เจ้าหนี้แล้ว แม้จะยื่นคำร้องแก้ไขบัญชีภายหลัง
คดีปรากฏว่า ภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดได้เงินแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย ครั้งที่ 2 เสร็จ ผู้แทนโจทก์ได้ตรวจบัญชีดังกล่าวแล้วรับเงินไปตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2550 จึงถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว การบังคับคดีในส่วนนี้จึงเสร็จลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสี่ (2) การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขบัญชีแสดงรายการรับ - จ่าย ครั้งที่ 2 ในวันที่ 2 มกราคม 2557 จึงเป็นการยื่นภายหลังจากการบังคับคดีได้เสร็จลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14890/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีไม่ชอบจากข้อมูลทรัพย์ไม่ตรงจริง ผู้ซื้อมีสิทธิขอเพิกถอนได้ภายใน 15 วัน
เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 245 มีชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ เนื้อที่ 54.6 ตารางวา มีสิ่งปลูกสร้างที่จะทำการขายด้วย คือ บ้านเดี่ยวตึกชั้นเดียว ขนาด 6x12 เมตร จำนวน 1 หลัง ไม่ปรากฏเลขทะเบียน ผู้ร้องซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ หลังจากนั้นผู้ร้องให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัด ปรากฏว่าบ้านหลังดังกล่าวมีส่วนที่ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 245 เพียง 6x2 เมตร เท่านั้น จึงถือว่าบ้านเดี่ยวตึกชั้นเดียวขนาด 6x12 เมตร ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดไม่มีอยู่จริง ดังนั้น การยึดบ้านทั้งหลังออกขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการบังคับคดีไม่ชอบและฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ศาลมีอำนาจเพิกถอนการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมบ้านหลังดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง
เมื่อปรากฏว่าผู้ซื้อทรัพย์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดและทราบว่ามีส่วนของบ้านอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 245 เพียงบางส่วนเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 จึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้าง โดยมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่ ทั้งมิได้ให้สัตยาบันหลังจากได้ทราบเรื่องการบังคับคดีไม่ชอบ ผู้ร้อง (ผู้ซื้อทรัพย์) จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14009/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการยื่นคำร้องคัดค้านหลังพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย และความถูกต้องของอ้างอิงบทกฎหมาย
ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะ หรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร" มาตรา 296 วรรคสาม บัญญัติว่า "การยื่นคำร้องตามมาตรานี้อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง..." คดีนี้การบังคับคดีเสร็จสิ้นลงไปแล้ว โดยผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 ในราคา 1,120,000 บาท และเจ้าพนักงานเสนอบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงินต่อศาลว่าได้จ่ายเงินให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในคดีไปครบถ้วนแล้วตั้งแต่วันดังกล่าว แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องในคดีนี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นเวลาล่วงเลยกว่า 2 ปี หลังจากการบังคับคดีเสร็จสิ้นลงไปแล้ว คำร้องขอให้กันส่วนที่ดินของผู้ร้องและยกเลิกการขายทอดตลาดของผู้ร้องจึงเป็นการล่วงเลยกำหนดระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม จึงเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
ศาลชั้นต้นระบุมาตรา 1332 นั้น เนื่องจากมีข้อความว่าเป็นเรื่องผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวบทกฎหมายแล้วก็จะเห็นว่า มาตรา 1332 นั้นเป็นเรื่องของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิใช่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องศาลชั้นต้นคลาดเคลื่อนในเรื่องชื่อของกฎหมายเท่านั้น มิใช่เป็นการอ้างกฎหมายผิด หรือไม่มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด ดังนั้นการอ้างชื่อบทกฎหมายผิดทั้ง ๆ ที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้วจึงไม่ก่อให้เกิดผลของการเปลี่ยนแปลงทางคดีแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดี: การแจ้งวันขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การขายทอดตลาดเป็นโมฆะ
การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพิ่งขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 และยังมิได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้การบังคับคดีจึงยังไม่เสร็จลงตามมาตรา 296 วรรคสี่ ส่วนที่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนให้ได้ความก่อนว่ามีข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นหรือไม่และจำเลยที่ 1 ทราบแล้วหรือไม่ เมื่อใด เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยไม่ไต่สวนจึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ฉบับแรก ขอให้รับคำร้องขอเพิกถอนการพิจารณาของจำเลยที่ 1 ไว้ไต่สวนต่อไป ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
จำเลยที่ 1 เพิ่งทราบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมอบให้ ว. ไปขอคัดถ่ายเอกสารการขายทอดตลาดที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรสาคร และเพิ่งได้รับเอกสารมาเมื่อวันที่ 7 เดือนเดียวกัน ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตั้งแต่วันที่ 7 เดือนดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบแล้วก็มอบให้ทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ทนายความของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 จึงเป็นการยื่นคำร้องไม่ช้ากว่า 15 วัน นับแต่วันที่ทราบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6956/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีเสร็จสมบูรณ์เมื่อเจ้าหนี้ได้รับเงิน การยื่นคำร้องเพิกถอนหลังจากการบังคับคดีเสร็จสิ้นจึงไม่มีสิทธิ
จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับเงินค่าขายทรัพย์พิพาทไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2548 ต้องถือว่าการบังคับคดีสำหรับทรัพย์สินพิพาทได้เสร็จลงแล้วตั้งแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองและวรรคสาม การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในวันที่ 14 มีนาคม 2548 เป็นการยื่นภายหลังจากการบังคับคดีได้เสร็จลง โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการขายทอดตลาดหลังพ้นกำหนดเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม และการพิจารณาเรื่องราคาขายที่ต่ำกว่าราคาจริง
คำร้องของจำเลยที่ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้ส่งประกาศขายทอดตลาดไปยังภูมิลำเนาของจำเลยทำให้จำเลยไม่ทราบวันขายทอดตลาดนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยโดยมิได้แจ้งกำหนดวันขายทอดตลาดให้จำเลยทราบ ซึ่งฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 306 วรรคหนึ่ง คำร้องของจำเลยดังกล่าวจึงอยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่นำมาตรา 27 มาใช้บังคับแก่กรณีตามคำร้องของจำเลยดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยยื่นคำร้องหลังจากการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวเสร็จลงจึงล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จำเลยจะร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9049/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกหนี้ตามคำพิพากษาในการขอเพิกถอนหมายบังคับคดีที่ไม่ถูกต้อง และอำนาจศาลในการพิจารณา
เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเห็นว่าศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีไม่ถูกต้อง จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งยกเลิกหมายบังคับคดีได้ และเมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการออกหมายบังคับคดีโดยผิดหลงก็มีคำสั่งให้ยกเลิกหมายบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3343/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการประเมินราคาทรัพย์สินที่ต่ำกว่าราคาตลาด ศาลต้องไต่สวนเพื่อพิจารณาเพิกถอนการขายทอดตลาด
หากข้อเท็จจริงได้ความว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ของจำเลย ต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดซึ่งมีราคา 8,123,000 บาท หลายเท่าตัว โดยไม่ตรวจสอบราคาอันถูกต้องแท้จริงเสียก่อน และขายทอดตลาดแก่ บ. ไปในราคา2,335,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่ประเมินไว้ ย่อมส่อพฤติการณ์ว่าไม่สุจริตอยู่ในตัว และหาก บ. ผู้ประมูลได้เคยตกลงจะเข้าประมูลในราคาถึง 5,000,000 บาท แต่กลับประมูลในราคาต่ำเช่นนี้ ย่อมเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตทำให้จำเลยหลงเชื่อไม่เตรียมหาผู้อื่นมาประมูลสู้ราคา เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ การที่ศาลชั้นต้นด่วนสั่งยกคำร้องของจำเลย โดยไม่ไต่สวนพยานจำเลยเสียก่อน และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนโดยอ้างเหตุเดียวกันว่าผู้ซื้อประมูลได้ต่ำกว่าราคาประเมินขณะยึดไม่มากแต่ไม่ต่ำกว่าราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน ทั้งในการขายทอดตลาดครั้งแรกจำเลยเคยแถลงคัดค้านราคาไว้แต่ไม่ได้หาคนมาสู้ราคาในครั้งที่สอง และไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินไปโดยไม่สุจริตนั้น เป็นการไม่ชอบ เพราะราคาที่ขายไปทำให้จำเลยเสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องคำนวณจากราคาแท้จริงในท้องตลาด หาใช่คำนวณจากราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ขณะยึดทรัพย์ไม่และที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1อ้างว่าจำเลยมิได้หาคนมาสู้ราคาในครั้งที่สองนั้น เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นเอง โดยคู่ความยังมิได้นำสืบพยานว่า บ.เป็นบุคคลที่จำเลยหามาสู้ราคาหรือไม่ ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยนอกสำนวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะต้องไต่สวนคำร้องของจำเลยเสียก่อนที่จะมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296วรรคสาม