คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 65 ตรี (5)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 16 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3781/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อที่ดินไม่ใช่รายจ่ายลดหย่อนภาษี ต้องแยกจากดอกเบี้ยก่อสร้างอาคาร
++ เรื่อง ภาษีอากร ++
ที่ดินที่โจทก์ซื้อมาด้วยเงินกู้เป็นทรัพย์สินที่เป็นทุนรอนของโจทก์ เงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าซื้อที่ดินย่อมเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตาม ป. รัษฎากรมาตรา 65 ตรี (5) เพราะเป็นรายจ่ายที่ทำให้โจทก์ได้ที่ดินมาโดยตรง และดอกเบี้ยของเงินกู้ดังกล่าวแม้จะไม่เป็นรายจ่ายที่ทำให้โจทก์ได้ที่ดินมาโดยตรง แต่ก็เป็นรายจ่ายที่เกิดจากการกู้ยืมเงินมาซื้อที่ดิน ถือว่าเป็นรายจ่ายต่อเนื่องที่เป็นผลให้โจทก์ได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงินมาซื้อที่ดิน ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของค่าซื้อที่ดินซึ่งเป็นต้นทุน หาใช่ค่าใช้จ่ายธรรมดาในการดำเนินธุรกิจการค้าหากำไรของโจทก์ไม่ ดอกเบี้ยอันเกิดจากการที่โจทก์กู้ยืมเงินมาซื้อที่ดินเพื่อนำไปให้ผู้อื่นเช่าหรือปลูกอาคารให้ผู้อื่นเช่า จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนเช่นเดียวกับค่าซื้อที่ดิน โจทก์ไม่อาจนำดอกเบี้ยดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามมาตรา 65 ตรี (5) ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าที่ดินที่โจทก์ซื้อมานั้นจะอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานได้แล้วหรือไม่โจทก์ไม่อาจอ้างมาตรฐานการบัญชีหรือความเห็นของนักวิชาการบัญชีมาลบล้างถ้อยคำในบทบัญญัติ มาตรา 65 ตรี (5) ดังกล่าวซึ่งมีความหมายชัดเจนในตัวอยู่แล้วได้
แม้ที่ดินกับอาคารจะเป็นอสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน แต่สภาพและหลักเกณฑ์ในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินสองประเภทนี้หาเหมือนกันไม่กล่าวคือ สภาพของอาคารย่อมสึกหรอและเสื่อมราคาไปตามกาลเวลา ส่วนสภาพของที่ดินนั้นไม่อาจสึกหรอหรือเสื่อมราคาได้ และ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527มาตรา 4 ยอมให้นำมูลค่าต้นทุนของอาคารหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของอาคารได้เป็นปี ๆ ไปตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ไม่ยอมให้นำมูลค่าต้นทุนของที่ดินมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา จึงนำดอกเบี้ยของเงินกู้เพื่อซื้อที่ดินมาเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยของเงินกู้เพื่อก่อสร้างอาคารไม่ได้
แม้ในหนังสือแจ้งภาษีเงินได้จะระบุแต่เพียงว่า โจทก์คำนวณค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินสูงไป 55,593.91 บาท โดยไม่มีรายละเอียดก็ตาม แต่หากโจทก์สงสัย โจทก์ก็สามารถสอบถามเจ้าพนักงานประเมินได้ อีกทั้งจำเลยก็ได้กล่าวถึงที่มาหรือเหตุผลของการประเมินดังกล่าวในคำให้การจนศาลภาษีอากรกลางได้ตั้งเป็นประเด็นว่าโจทก์ได้นำเอาดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้เพื่อซื้อที่ดินมารวมเข้ากับดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้เพื่อก่อสร้างอาคารและถือเป็นต้นทุนของราคาอาคารเป็นเหตุให้การคำนวณค่าเสื่อมราคาอาคารสูงเกินจริงหรือไม่ แต่โจทก์ก็คงนำสืบแต่เพียงว่าโจทก์คำนวณค่าเสื่อมราคาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดย พ.ร.ฎ. ออกตามความในป.รัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145)พ.ศ. 2527 ถูกต้องแล้ว มิได้นำสืบว่า โจทก์มิได้นำเอาดอกเบี้ยจำนวนของเงินกู้เพื่อซื้อที่ดินมารวมเข้ากับดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้เพื่อก่อสร้างอาคารหรือนำสืบว่าต้นทุนของราคาอาคารที่โจทก์นำมาเป็นฐานคำนวณค่าเสื่อมราคานั้นถูกต้องแล้วอย่างใดแต่จำเลยนำสืบฟังได้ว่า โจทก์นำดอกเบี้ยของเงินกู้เพื่อซื้อที่ดินของปี 2531 จำนวน159,420.24 บาท และปี 2532 จำนวน 33,768.70 บาท ไปลงบัญชีเป็นงานระหว่างก่อสร้างหรืองานระหว่างทำซึ่งเป็นบัญชีต้นทุนอาคารทำให้ราคาต้นทุนอาคารของโจทก์สูงเกินจริง เป็นเหตุให้ค่าเสื่อมราคาที่โจทก์คำนวณจากราคาต้นทุนดังกล่าวสูงเกินไปเป็นจำนวน 55,593.91 บาท การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2167/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายจ่ายลงทุนซื้อที่ดินและดอกเบี้ยกู้ยืม: การหักลดหย่อนภาษีและการงดลดเบี้ยปรับ
ตาม ป.รัษฎากร 65 ตรี (5) ไม่ยอมให้นำรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ การที่โจทก์กู้ยืมเงินมาเพื่อซื้อที่ดินนั้น ที่ดินที่โจทก์ซื้อมาย่อมตกเป็นทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งเป็นทุนรอนของโจทก์เพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการของโจทก์ต่อไป เงินกู้ยืมที่โจทก์จ่ายเป็นค่าซื้อที่ดิน จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนต้องตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 65 ตรี(5) เพราะเป็นรายจ่ายที่ทำให้โจทก์ได้ที่ดินมาโดยตรง ส่วนดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกู้ยืมดังกล่าว แม้จะไม่ใช่รายจ่ายที่ทำให้โจทก์ได้ที่ดินมาโดยตรง แต่ดอกเบี้ยนั้นก็เกิดจากการกู้ยืมเงินมาซื้อที่ดิน ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยตั้งแต่แรกที่กู้ยืมเงินมาจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จ ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงที่ต่อเนื่องจากการกู้ยืมเงินของโจทก์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าซื้อที่ดินอันเป็นต้นทุน ดังนั้นดอกเบี้ยซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินของโจทก์มาซื้อที่ดินเพื่อนำไปให้ผู้อื่นเช่าจึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนเช่นเดียวกับเงินกู้ยืมที่โจทก์นำไปซื้อที่ดิน
แม้ตาม ป.รัษฎากรจะให้อำนาจแก่อธิบดีกรมสรรพากรวางระเบียบในการงดหรือลดเบี้ยปรับได้ ระเบียบดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อกำหนดที่ให้เจ้าพนักงานประเมินยึดถือปฏิบัติตามเท่านั้น หาได้มีบทกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามไม่ ดังนั้นหากศาลเห็นว่าผู้ถูกประเมินให้เสียภาษีมีเหตุสมควรตามกฎหมายที่จะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเสียเบี้ยปรับน้อยลง ศาลย่อมมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับนั้นได้ คดีนี้ โจทก์ได้ให้ความร่วมมืออย่างดีในการตรวจสอบภาษี ประกอบกับกรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่มีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ อีกทั้งการที่โจทก์ตีความข้อกฎหมายดังกล่าวก็เป็นไปตามหลักการบัญชีซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไปและมาตรฐานการบัญชีของสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย จะถือว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงเสียภาษีนั้น ยังฟังได้ไม่ถนัดที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาลดเบี้ยปรับให้โจทก์ร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายย่อมเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้วไม่มีเหตุที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขอีก ส่วนเงินเพิ่มนั้นเกิดขึ้นจากโจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ซึ่งได้กำหนดอัตราไว้แน่นอนแล้วไม่อาจที่จะงดหรือลดลงได้ ศาลจึงไม่งดหรือลดเงินเพิ่มส่วนนี้ให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ภาษี, ค่าเสื่อมราคา, และการนำสืบพยานเอกสาร/บุคคลในคดีภาษีอากร
พยานเอกสารซึ่งโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียก เป็นเพียงใบสำคัญคู่จ่ายและใบเสร็จรับเงินซึ่งนำส่งในชั้นตรวจสอบไต่สวนอันเป็นเอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชีของโจทก์เท่านั้น และเหตุที่จำเลยไม่อาจส่งเอกสารดังกล่าวก็เนื่องจากเอกสารสูญหายในช่วงที่จำเลยมีการแบ่งส่วนราชการภายในใหม่ จึงมิใช่กรณีที่จำเลยมีความมุ่งหมายที่จะกีดกันมิให้โจทก์ใช้เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานทั้งเมื่อจำเลยไม่สามารถส่งเอกสารตามที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกเนื่องจากสูญหาย โจทก์ก็อาจขออนุญาตศาลนำพยานบุคคลมาสืบเกี่ยวกับข้ออ้างได้ ตามป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) จะถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ลงรายการต่าง ๆ ครบถ้วนถูกต้องหาได้ไม่
ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 กำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการในการอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินและการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลไว้แล้ว เมื่อมีการอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินรายการใด ย่อมแสดงว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเฉพาะรายการนั้น ส่วนรายการใดที่มิได้มีการอุทธรณ์ย่อมแสดงว่าผู้ยื่นเสียภาษีพอใจแล้วเมื่อโจทก์ไม่ยื่นอุทธรณ์รายการใด โจทก์ย่อมหมดสิทธิโต้แย้งในรายการนั้น โจทก์หามีสิทธิรื้อฟื้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินนำมาอุทธรณ์ต่อศาลอีกหาได้ไม่
เหล็กแผ่นที่ใช้ทำแบบในการก่อสร้าง โดยสภาพเป็นวัตถุที่คงทนถาวรไม่เสื่อมสภาพโดยง่าย ย่อมสามารถใช้ได้หลายครั้ง ทั้งตามรายงานการตรวจสอบปรากฏว่าเหล็กแผ่นดังกล่าวมีอายุการใช้งานได้มากกว่า 1 ปี รายจ่ายค่าแผ่นเหล็กดังกล่าวจึงต้องถือว่าเป็นรายจ่ายที่บังเกิดเป็นทุนรอนหรือทรัพย์สินของโจทก์ การที่เจ้าพนักงานประเมินถือว่าเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนและไม่ยอมให้ถือเป็นรายจ่ายทั้งหมดในแต่ละปี โดยเพียงแต่คำนวณหักเป็นค่าเสื่อมราคาให้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีจึงเป็นการชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 784/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การตีความตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและค่าเสื่อมราคาที่นำมาหักลดหย่อนเพื่อคำนวณภาษี
รายการจ่ายในการซื้อบัตรงานกุศลต่างๆ เช่น งานกาชาดงานบอลล์ ซื้อของขวัญปีใหม่และงานสมรส มีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หาและเป็นการส่วนตัวของผู้มีอำนาจจ่ายเงินนั้นๆเพื่อประโยชน์ในการทำงานหรือในทางสังคมของตนเองเป็นส่วนตัว ยิ่งกว่าเพื่อประโยชน์ของบริษัทโจทก์ มิใช่รายจ่ายเพื่อหารายได้ในการดำเนินธุรกิจการค้าของโจทก์โดยตรง ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3)
รายการจ่ายเงินกองทุนหรือเงินบำเหน็จพนักงาน เมื่อปรากฏว่าโจทก์เพียงแต่ตั้งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไว้ในบัญชีของโจทก์เพื่อจ่ายให้พนักงานไปโดยเด็ดขาดคือ เมื่อพนักงานออกจากงานหรือถึงแก่กรรม ยังไม่ได้มีการจ่ายให้แก่พนักงานไปโดยเด็ดขาดในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2511 โจทก์เพิ่งจ่ายเงินนั้นให้แก่พนักงานไปในปี 2514โจทก์จึงไม่มีสิทธินำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2511
รายการจ่ายค่าแสตมป์สุราซึ่งโจทก์จะต้องซื้อจากกรมสรรพสามิตมาเพื่อใช้ปิดขวดสุราให้ครบถ้วนตามจำนวนสุราที่จะต้องผลิตตามสัญญาหรืออีกนัยหนึ่งก็คือโจทก์ต้องเสียภาษีสุราให้แก่กรมสรรพสามิตให้ครบถ้วนตามโควต้าสุราที่กำหนดให้โจทก์ผลิตตามสัญญานั้น แม้ว่าโจทก์จะผลิตสุราได้ไม่ครบตามโควต้าสุราที่โจทก์จะต้องผลิตตามสัญญารายจ่ายค่าแสตมป์สุราก็เป็นภาษีสุราตามโควต้าสุราในแต่ละปีที่โจทก์ต้องเสียให้กรมสรรพสามิตอย่างแน่นอนและได้เสียไปจริงในแต่ละปี การที่โจทก์ใช้แสตมป์สุราที่ซื้อมาในแต่ละปีไม่หมด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะโจทก์ผลิตสุราในปีนั้นได้ต่ำกว่าโควต้า แล้วได้รับการผ่อนผันให้นำแสตมป์สุราที่เหลือนั้น ไปใช้ปิดขวดสุราในปีต่อไปได้ก็เป็นคนละเรื่องกันกับค่าแสตมป์สุราหรือภาษีสุราที่โจทก์ได้เสียไปแล้วในปีที่ซื้อแสตมป์สุรานั้นมา ฉะนั้นเมื่อแสตมป์สุรารายพิพาทนี้โจทก์จ่ายเงินซื้อมาในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2511 จึงเป็นรายจ่ายที่โจทก์มีสิทธินำมาหักในการคำนวณกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีพ.ศ.2511 ได้ไม่ต้องห้ามตาม มาตรา 65 ตรี (9)
เจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มเติม โดยว่ารายจ่ายซึ่งเป็นค่าก่อสร้างและซื้อทรัพย์สิน จำนวน3,743,169.72 บาท เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนทั้งหมดต้องห้ามมิให้นำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ(ตามมาตรา 65 ตรี (5)) โจทก์อุทธรณ์คัดค้าน (ว่าหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้) คณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยว่ารายจ่ายดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลงทุนเพียง12,774.30 บาท นอกนั้นมิใช่เป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนยอมให้โจทก์หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามที่โจทก์อุทธรณ์ แต่ย้อนไปวินิจฉัยปรับปรุงคำนวณค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินของโจทก์ที่จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของปี พ.ศ.2511 ให้โจทก์ใหม่จากที่เจ้าพนักงานประเมินคิดไว้เดิมเป็นเงินรวม 4,213,852.11 บาทมาเป็นหักให้เพียง 66,846.22 บาท คือตัดออกเสีย4,147,005.89 บาท และคิดคำนวณภาษีใหม่เป็นว่าโจทก์จะต้องชำระภาษีและเงินเพิ่มเพิ่มจากที่เจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มนั้นอีกเป็นเงิน 3,111.08 บาทเงินเพิ่ม 622.21 บาท รวมเป็นเงิน 3,733.29 บาท ดังนี้ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนที่ปรับปรุงคำนวณค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินของโจทก์เสียใหม่เป็นการพิจารณาและวินิจฉัยไปโดยไม่เปิดโอกาสให้โจทก์ได้ชี้แจงแสดงหลักฐาน และมิได้เป็นประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใดคำวินิจฉัยที่ให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้นจากที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินไปยังโจทก์จึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กองภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ออกหมายเรียกโจทก์มาทำการไต่สวนตรวจสอบภาษีอากร เพราะมีกรณีสงสัยว่าโจทก์เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง ซึ่งผลการตรวจสอบก็ปรากฏว่าโจทก์ได้เสียภาษีไว้ยังไม่ถูกต้องครบถ้วนจริง โจทก์จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 22. ที่โจทก์อ้างว่า ได้ทำบัญชีรับจ่ายโดยสุจริต มิได้ปิดบังรายรับรายจ่าย ที่เกิดกรณีพิพาทขึ้นเนื่องจากการตีความตัวบทประมวลรัษฎากรผิดพลาด ยังไม่เป็นเหตุผลอันสมควรเพียงพอที่จะผ่อนผันให้ยกเลิกหรือยกเว้นเงินเพิ่มให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 168/2521

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายจ่ายลงทุนติดตั้งสถานีวิทยุและเครื่องจักร รวมถึงส่วนลดที่ไม่จ่ายให้ผู้ซื้อ ถือเป็นรายจ่ายที่ไม่สามารถหักลดหย่อนได้ตามกฎหมายภาษี
รายจ่ายค่าติดตั้งสถานีวิทยุซึ่งตั้งขึ้นแล้วเป็นทรัพย์สินของบริษัทโจทก์ และรายจ่ายให้ผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งเครื่องจักรและเตาเผาของบริษัทโจทก์ เป็นรายจ่ายที่บริษัทโจทก์จ่ายไปแล้วได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายเกิดเป็นทุนรอนหรือทรัพย์สินของบริษัทโจทก์ถือว่าเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากร มาตรา65 ตรี (5)
โจทก์มีหลักเกณฑ์จ่ายเงินส่วนลดให้แก่ผู้ซื้อปูนซิเมนต์ของโจทก์ทุกรายการตามอัตราที่กำหนดเป็นรายตัน กรมชลประทานซื้อปูนซิเมนต์จากโจทก์จำนวนหนึ่ง โจทก์จึงจ่ายเงินส่วนลดตามอัตราที่กรมชลประทานจะได้รับให้แก่สวัสดิการของกรมชลประทานซึ่งคณะข้าราชการในกรมชลประทานจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือข้าราชการในกรมนั้นมิได้จ่ายให้แก่กรมชลประทานผู้ซื้อเพราะถ้าจ่ายแก่กรมชลประทาน เงินนั้นจะต้องตกเป็นของแผ่นดิน ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้จ่ายให้แก่กรมชลประทานจึงมิใช่เป็นการจ่ายให้แก่ผู้ซื้อตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์วางไว้รายจ่ายนี้จึงเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13) จึงไม่อาจถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 949/2509 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายจ่ายลงทุนต้องเกิดเป็นทุนรอน ส่วนบำเหน็จกรรมการและเงินรางวัลเจ้าหน้าที่ถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (19)
รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (5) มิใช่หมายถึงรายจ่ายที่บริษัทได้รับประโยชน์จากรายจ่ายเท่านั้น แต่ต้องเป็นรายจ่ายที่ยังเกิดเป็นทุนรอนของบริษัทขึ้นมา ลักษณะที่จะเป็นทุนรอนของบริษัทขึ้นมาก็คือ เป็นทรัพย์สินของบริษัท รายจ่ายที่โจทก์จ่ายไปในการสร้างท่าเรือ สร้างทางแยกและสร้างถนนที่ไม่บังเกิดเป็นทุนรอนหรือทรัพย์สินของบริษัท จึงไม่ใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5)
การจ่ายบำเหน็จกรรมการของบริษัทที่กำหนดให้จ่ายได้ไม่เกิน 1 ใน 10 ของเงินปันผล หรือไม่เกินร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิแล้วแต่อย่างไหนจะน้อยกว่า และเงินรางวัลเจ้าหน้าที่ซึ่งบริษัทจะจ่ายให้เป็นรายตัวตั้งแต่ร้อยละ 0.10 ถึง 2.00 ของกำไรสุทธินั้น เป็นเงินที่กำหนดให้จ่ายโดยคำนวณจากกำไรสุทธิ แม้ไม่ได้ระบุว่าให้จ่ายจากกำไรสุทธิ ก็มีผลในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติเหมือนกับกรณีที่ระบุให้จ่ายจากเงินกำไรสุทธินั่นเอง จึงเป็นเงินรายจ่ายตามความในมาตรา 65 ตรี (19).
(ปัญหาหลังนี้ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 14/2509)
of 2