คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชัชวาล บุนนาค

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22722/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญาคดีภาษียาสูบ: การบรรยายฟ้องต้องระบุองค์ประกอบความผิดชัดเจน การไม่มีหลักฐานสันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อขาย ไม่อาจลงโทษได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมียาสูบซึ่งผลิตในต่างประเทศโดยมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบหลายยี่ห้อ รวม 861 ซอง โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบดังกล่าว แม้ในฟ้องจะระบุฐานความผิดว่า ขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวก็ตาม ซึ่งก็มิใช่การบรรยายฟ้องในส่วนที่เป็นองค์ประกอบความผิดเพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) อีกทั้งการที่จำเลยมียาสูบของกลางจำนวนมากไว้ในครอบครอง ก็ไม่มีกฎหมายสันนิษฐานว่ามีไว้ขายหรือเพื่อขาย แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานขายหรือมีไว้เพื่อขายตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้
เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 จึงไม่อาจริบบุหรี่ของกลางเป็นของกรมสรรพสามิตตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 มาตรา 44 ทั้งไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบของกลางดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 32 และมาตรา 33 อีกทั้งคดีนี้ศาลไม่ได้ลงโทษจำเลย จึงไม่อาจพิพากษาให้จ่ายสินบนและรางวัลตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7, 8 ตามที่โจทก์ขอ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22121/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนของกลาง (สร้อยคอทองคำ) แม้ศาลมิได้สั่งริบ ศาลฎีกามีอำนาจสั่งคืนได้ตามกฎหมาย
คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ยึดสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท เป็นของกลาง แม้จะปรากฏตามบัญชีของกลางคดีอาญาว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท มาด้วยก็ตาม เมื่อศาลมิได้สั่งริบ ศาลฎีกามีอำนาจสั่งคืนของกลางแก่เจ้าของได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 และมาตรา 186 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16070-16072/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โกงเจ้าหนี้: การโอนทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงชำระหนี้ แม้คดีความยังไม่สิ้นสุด ถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350
ตาม ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แล้วย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขณะที่คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา แม้คดีแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้ง และผลคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงโดยศาลฎีกาอาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นที่สุดหรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว ไม่จำต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8172/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขาย: สิทธิเรียกร้องให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อจำเลยผิดสัญญา ไม่ก่อสร้างอาคารพาณิชย์
ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ ระบุเนื้อที่ดินตามโฉนดแต่ละแปลง 16 ตารางวา และระบุราคาที่ดินตารางวาละ 150,000 บาท ทั้งยังระบุด้วยว่าหากว่ามีเนื้อที่ดินเพิ่มขึ้นหรือลดลง คู่สัญญาจะคิดราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงในราคาต่อหน่วยตามราคาที่ดิน จึงเป็นเรื่องที่จำเลยสามารถชำระหนี้ตามสัญญาในส่วนที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ เมื่อครบกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพาณิชย์ตามสัญญาแล้ว จำเลยไม่ได้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์และโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาคือ ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนที่ดินซึ่งจำเลยสามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ทั้งไม่เป็นการบังคับให้จำเลยรับชำระหนี้บางส่วนแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7685/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์ที่ไม่ใช่ของเจ้าหนี้: ฎีกานอกประเด็นและไม่เป็นสาระต่อคดี
ผู้ร้องร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดโดยอ้างว่าเป็นของผู้ร้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของต้นยางพาราที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ การที่ผู้ร้องฎีกาว่า ต้นยางพาราพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงต้องถูกห้ามยึดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 ประกอบ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 25 จึงเป็นฎีกานอกคำร้องและนอกประเด็น ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7212/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์ของคู่ความย่อมเป็นสิทธิส่วนตัว การถอนอุทธรณ์ต้องเป็นโดยคู่ความเอง มิใช่นิติบุคคลที่มาแทน
โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยเห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ถือเป็นการใช้สิทธิส่วนตัวของโจทก์ในฐานะเป็นผู้เสียหาย มิใช่เป็นการฟ้องคดีแทนหรือทำการแทน อบต.ทุ่งคลอง ซึ่งเป็นนิติบุคคลโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่นายก อบต.ทุ่งคลอง แต่อย่างใด เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ในฐานะคู่ความในคดีย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบต.ทุ่งคลอง แทนโจทก์ซึ่งหมดวาระไปแล้วมายื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์แทน อบต.ทุ่งคลอง ซึ่งมิใช่คู่ความในคดี ย่อมไม่มีผลเป็นการถอนอุทธรณ์ของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7092/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายจนสลบและการปล้นทรัพย์ ศาลฎีกาพิพากษาว่าการกระทำความผิดแตกต่างรายละเอียดเล็กน้อยไม่ถือต่างจากฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จนสลบ แต่การพิจารณาได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 3 เพียงผู้เดียวที่สลบ แม้ข้อเท็จจริงการพิจารณาจะต่างกับคำฟ้อง แต่กรณีเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อย ไม่ถือว่าเป็นเรื่องการพิจารณาต่างจากฟ้องในข้อสาระสำคัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5670/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดหางาน-สินเชื่อ: จำเลยไม่ได้จัดหางานโดยตรง แต่เป็นตัวกลางอำนวยความสะดวก
พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ประกอบกับมาตรา 4 นิยามคำว่า "จัดหางาน" หมายความว่า ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง โดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม และให้หมายรวมถึงการเรียกเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อจัดหางานให้คนหางาน ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสามเพียงแต่เป็นผู้ติดต่อบริษัท ว. ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อให้ส่งผู้เสียหายที่ 1 ไปทำงานที่ดินแดนไต้หวันตามความประสงค์ ผู้จัดหางานให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ที่แท้จริงคือ บริษัท ว. การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 เพื่อที่บริษัท ร. จะได้ค่าตอบแทนเมื่อธนาคารอนุมัติสินเชื่อ ผลประโยชน์ที่จำเลยทั้งสามจะได้รับมีเพียงค่าตอบแทนในการจัดหาผู้กู้จากบริษัท ร. รวมถึงค่าพาหนะและค่าป่วยการในการดำเนินการดังกล่าวจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมิใช่เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่จำเลยทั้งสามเรียกเพื่อจัดหางานให้ผู้เสียหายที่ 1 โดยตรง ไม่ต้องด้วยนิยามคำว่า "จัดหางาน" ตามมาตรา 4 ข้างต้น การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5410/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำทางอาญา: การรับของโจรกรรมเดียว ศาลยกฟ้องเมื่อมีคำพิพากษาเด็ดขาดแล้ว
รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายในคดีนี้ และรถจักรยานยนต์ในคดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรี ไม่ปรากฏโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 3 ได้รับมาคนละคราว จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 3 ได้รับรถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าวไว้ในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันรับของโจรเพียงกรรมเดียว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรีแล้ว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับคดีดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ ไม่ถือเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้เป็นการกระทำเพื่อปกป้องเกียรติยศ
จ. เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะกระทำการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของตนโดยมิให้ชายอื่นมามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับภรรยาของตนได้ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยพบเห็น จ. นอนหนุนตักผู้ตายและกอดจูบกันเท่านั้นโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน และการที่ผู้ตายกระทำต่อ จ. ดังกล่าวก็เป็นไปโดย จ. สมัครใจยินยอม พฤติการณ์เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งจำเลยจำต้องกระทำการป้องสิทธิแต่อย่างใด แต่การที่ผู้ตายกับ จ. กอดจูบกันเช่นนี้ นับเป็นการกระทำที่ข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ย่อมเหลือวิสัยของจำเลยที่จะอดกลั้นโทสะไว้ได้ จึงเข้าไปชกต่อยผู้ตายแล้วใช้มีดปอกผลไม้ที่วางอยู่ใกล้ตัวแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 ไม่ใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
of 2