คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 26

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 286 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10878/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: การใช้ดุลพินิจของศาลเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการครั้งแรกต่อศาลแพ่งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง และเป็นการยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แล้ว ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดี ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดอีกครั้งต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งยังไม่ล่วงเลยระยะเวลา 3 ปี ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แต่ล่วงเลยระยะเวลา 90 วัน ตามมาตรา 40 วรรคสอง ดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขออีกครั้งเพราะเหตุที่การยื่นครั้งแรกมีข้อบกพร่องในเรื่องอำนาจศาลถือว่าข้อบกพร่องในการยื่นคำร้องขอแต่แรกต่อศาลหนึ่งแต่ในที่สุดศาลนั้นไม่รับคำร้องขอ เพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลนั้นจนต้องยื่นคำร้องขออีกครั้งหนึ่งต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ไม่เป็นเหตุให้ผู้ร้องขอต้องเสื่อมเสียสิทธิ นอกจากนี้กำหนดระยะเวลาเช่นนี้ก็เป็นกำหนดระยะเวลาที่ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ขยายได้ตามหลักเกณฑ์ ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ด้วย เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ภายหลังศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฉบับแรกเพียง 60 วัน แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องยังประสงค์จะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาตามคำร้องขอของผู้ร้องอยู่ และจำเป็นต้องทำคำร้องขอยื่นใหม่ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาภายในเวลาพอสมควร อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามความจำเป็นโดยสุจริต จึงมีเหตุสมควรอย่างยิ่งที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จะใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.พ. มาตรา 23 สั่งให้ขยายกำหนดระยะเวลาการยื่นคำร้องขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10591/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีซ้ำหลังศาลวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงไม่มีมูลความผิด สิทธิฟ้องระงับตามกฎหมาย
คดีเดิมที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นความผิดอย่างเดียวกันและเป็นการกระทำความผิดอันเดียวกันกับคดีนี้ ซึ่งศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องและวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ไม่มีมูลเป็นความผิดตามบทมาตราที่ระบุมาในคำขอท้ายฟ้อง แม้หากจะถือว่าโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด และศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามความผิดหรือบทมาตราที่ถูกต้องได้ ก็เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจประทับรับฟ้องได้ เป็นกรณีที่ศาลในคดีเดิมได้พิจารณาวินิจฉัยแล้วว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ชอบที่โจทก์ต้องอุทธรณ์คำพิพากษาคดีดังกล่าว ไม่อาจนำมาฟ้องใหม่ได้ เมื่อความผิดซึ่งได้ฟ้องในคดีนี้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9602/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์เพลง การชดใช้ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายในการบังคับสิทธิ
การฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทจำเลยที่ 2 หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1272 ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งนายทะเบียนได้จดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2549 จึงไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ให้ความหมายของคำว่า ดนตรีกรรม ว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือทำนองอย่างเดียว และให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานไว้แล้ว ดังนั้น งานดนตรีกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงต้องมีทำนองเพลงเป็นสำคัญ จะมีคำร้องหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ ลำพังเพียงทำนองเพลงอย่างเดียวก็ถือว่าเป็นงานดนตรีกรรมแล้ว โดยไม่นำคุณค่าของงานดนตรีกรรมมาเป็นเงื่อนไขแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพราะหากผู้แต่งเพลงได้ริเริ่มสร้างสรรค์งานเพลงนั้นขึ้นเองด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ไม่ว่างานเพลงที่แต่งขึ้นนั้นจะเป็นที่นิยมของผู้ฟังเพียงใดหรือไม่ หรือผู้แต่งเพลงนั้นอาจขายลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นให้แก่ผู้ใดได้เพียงใดหรือไม่ก็ตาม งานเพลงนั้นก็ได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์งานเพลงนั้นเสร็จ เมื่อโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงโดยเป็นผู้แต่งทั้งคำร้องและทำนองเพลงหนุ่มดอย งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ย่อมเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 การใช้สิทธิป้องกันลิขสิทธิ์และเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์เพลงหนุ่มดอยของโจทก์เป็นการใช้สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมโดยเป็นผู้สร้างสรรค์ทั้งคำร้องและทำนองเพลงชื่อเพลง "หนุ่มดอย" ซึ่งเพลงหนุ่มดอยของโจทก์มีคำร้องและทำนองในท่อนสร้อยว่า "ผม ผม ผม ผม ผม ผมเอาแครอตมาฝาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยากให้เธอได้กิน กิน กิน กิน แครอต ร่างกาย ๆ แข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" ซึ่งการเปิดครั้งหนึ่งจะต้องเล่นท่อนสร้อยดังกล่าวซ้ำจำนวน 4 ครั้ง ตอนท้ายของเพลงจะเล่นซ้ำท่อนสร้อยเฉพาะข้อความว่า "แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" เพิ่มอีกหนึ่งครั้ง และในตอนท้ายของท่อนสร้อยจะมีคำร้องและทำนองคำว่า "ลา ลันลา" ต่อท้ายทุกครั้ง ส่วนเพลง "เด็กดอยใจดี" ของจำเลยทั้งสามที่จำเลยที่ 3 ประพันธ์ขึ้นใหม่ มีคำร้องและทำนองในท่อนสร้อยว่า ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอได้กิน ผักมีวิตามิน ไม่ต้องกินของแพง ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอแข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต ลา... ลันลา ลันลา ลัน ลัน ลันลา ลันลา ลันลา" และในการเปิดเพลงเด็กดอยใจดี 1 ครั้ง จะต้องเล่นท่อนสร้อยดังกล่าวซ้ำจำนวน 3 ครั้ง และในตอนท้ายของท่อนสร้อยจะมีคำร้องและทำนองคำว่า "ลา ลันลา" ต่อท้ายทุกครั้ง ซึ่งการมีทำนองและคำร้องท่อนสร้อยจำนวน 3 ถึง 4 ครั้ง ย่อมทำให้ผู้ฟังจดจำเพลงดังกล่าวได้ง่ายจากท่อนสร้อย คำร้องและทำนองในท่อนสร้อยหรือท่อนฮุกของเพลงหนุ่มดอยและเพลงเด็กดอยใจดีจึงเป็นสาระสำคัญของเพลง เมื่อเพลงเด็กดอยใจดีมีเนื้อร้องคำว่า "แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" ในท่อนสร้อยและคำว่า "ลา ลันลา" ในตอนท้ายเช่นเดียวกับเพลงหนุ่มดอยของโจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้ให้การปฏิเสธว่าการแต่งทำนองเพลงท่อนสร้อยของเพลงเด็กดอยใจดีมิได้เลียนแบบและมิได้ทำซ้ำโดยปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าการประพันธ์เพลงเด็กดอยใจดีของจำเลยที่ 3 เป็นการทำซ้ำและดัดแปลงด้วยการเลียนแบบและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1)
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์และผู้จัดจำหน่ายอัลบัมเพลงที่ประกอบด้วยเพลงเด็กดอยใจดีโดยว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนอง จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการผลิตสิ่งบันทึกเสียงและแถบบันทึกภาพ จัดจำหน่าย ให้เช่า แลกเปลี่ยนซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ รวมทั้งงานอื่นใดอันมีลิขสิทธิ์ ส่วนจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการจัดสร้างและจำหน่ายภาพยนตร์ ละคร เนื้อร้องทำนองแพร่ภาพแพร่เสียงแทนผู้ผลิตในสื่อต่าง ๆ แก่บุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไป และเป็นบริษัทในเครือของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมรู้จักเพลงหนุ่มดอยของโจทก์และทราบว่าจำเลยที่ 3 ร่วมแต่งคำร้องในเพลงหนุ่มดอยกับโจทก์ และทราบเป็นอย่างดีว่าเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ไม่ประสบผลสำเร็จด้านการตลาด จึงต้องการให้จำเลยที่ 3 ช่วยแก้ไขปรับปรุงเพลงหนุ่มดอยให้เป็นเพลงเด็กดอยใจดีและให้เด็กหญิง ช. ขับร้อง แล้วจัดทำเป็นซีดีออกจำหน่ายจนประสบผลสำเร็จในด้านการตลาด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีลักษณะเป็นการร่วมกันก่อให้จำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำซ้ำและดัดแปลงเพลงหนุ่มดอยซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันผลิตออกจำหน่ายซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะดังกล่าวจึงเป็นการทำซ้ำและนำสิ่งบันทึกเสียงและภาพยนตร์ที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกขายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) และ 31 (1) ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในฐานละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับความเสียหายด้านชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังด้วยข้อความต่าง ๆ เนื่องจากประชาชนสับสนหลงผิดว่าเป็นเพลงของผู้ใดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นความเสียหายในเชิงการประกอบธุรกิจจากการขาดประโยชน์อันควรได้จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และต้องเสียค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ ซึ่งความเสียหายด้านชื่อเสียงตามฟ้องดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ความเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เพราะค่าเสียหายต่อชื่อเสียงในกรณีนี้มีได้เฉพาะกรณีที่ผู้กระทำละเมิดได้บิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงหรือกระทำอื่นใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 เท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธินั้น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามจำนวนที่เห็นสมควร รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์โดยมีเจตนารมณ์จะเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ให้ได้กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมก่อนมีการละเมิดลิขสิทธิ์ มิได้ให้สิทธิแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงเท่านั้น ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย ค่าจ้างทนายความและว่าความแทนโจทก์ในการฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีนี้ จึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ในความหมายของมาตรานี้
เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนและอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 ย่อมทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทนในงานดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง การที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำและดัดแปลงงานดนตรีกรรมของโจทก์เพื่อแสวงหากำไรจากการขายซีดีและวีซีดีซึ่งมีเพลงที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และได้กำไรจากการอนุญาตให้ผู้อื่นนำเพลงไปให้บริการริงก์โทนแก่บุคคลทั่วไปเป็นผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยจำเลยทั้งสามไม่ต้องจ่ายเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์ในการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และไม่ต้องแบ่งผลกำไรที่ได้รับให้แก่โจทก์ ถือเป็นการแสวงหากำไรจากการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยไม่สุจริต มีผลเสียหายต่อการตลาดของโจทก์ ย่อมมีเหตุผลสมควรที่จะถือว่าผลประโยชน์ที่เป็นกำไรซึ่งจำเลยทั้งสามได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นจำนวนค่าเสียหายที่เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงหนุ่มดอยของโจทก์
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจโจทก์ที่จะขอคุ้มครองสิทธิของโจทก์ในลักษณะที่ให้จำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งหมด ในทำนองซึ่งจะมีผลหรือสภาพบังคับเช่นเดียวกับให้สิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 75 อันเป็นบทบัญญัติในหมวด 8 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ ซึ่งใช้เฉพาะคดีอาญา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีแพ่งโจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลสั่งจำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9600/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำละเมิดลิขสิทธิ์โดยผู้รับมอบอำนาจช่วง: ผู้เสียหายต้องมีอำนาจร้องทุกข์เอง พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบใช้ไม่ได้
ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะอันเป็นการก่อให้จำเลยทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้กระทำความผิดโดยทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ก่อนแล้วและนำแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นออกขายแก่ ร. ผู้ล่อซื้ออันจะถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) เมื่อ ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) เพื่อให้เจ้าพนักงานจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้ แผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ ที่ ร. ว่าจ้างจำเลยให้ทำขึ้นและวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์การบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลยที่ ร. แอบถ่ายไว้เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบและเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9345/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขาดนัดพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการไม่อนุญาตเลื่อนคดี ศาลชอบด้วยกฎหมาย
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2552 เวลา 9 นาฬิกา ถึงเวลา 16.30 นาฬิกา มีความหมายว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะออกนั่งพิจารณาคดีนี้ตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา และพิจารณาคดีต่อเนื่องกันไปจนเสร็จการพิจารณา เมื่อคดีเสร็จการพิจารณาแล้วก็จะมีคำพิพากษาโดยเร็วต่อเนื่องกันไปเช่นกัน เมื่อจำเลยไม่มาศาลก่อนศาลเริ่มต้นสืบพยานโจทก์โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีจึงถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนเสร็จการพิจารณาและโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกหน้าสำนวนแสดงว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์ฟังแล้ว ต่อมาเวลา 14 นาฬิกา ของวันเดียวกันทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีจึงเป็นการยื่นคำร้องหลังจากศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ประกอบ มาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.วิ.พ. จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เสนอคำขอเลื่อนคดีต่อศาลก่อนหรือในวันนัดพิจารณา ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องเพราะล่วงเลยเวลานั้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8149/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาเดิม โดยเน้นประเด็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทต้องเป็นไปตามที่คู่ความยกขึ้น และอายุความในการเรียกค่าเช่า
แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีสถานีบริการอื่นมาเปิดใกล้เคียงกับสถานีบริการน้ำมันบางจากของจำเลยที่ 1 ก็เป็นวิสัยของการประกอบการที่จะต้องมีการแข่งขัน ไม่ทำให้การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กลายเป็นพ้นวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์
การกำหนดประเด็นข้อพิพาทต้องกำหนดตามที่คู่ความยกขึ้นกล่าวอ้างในคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น คดีนี้ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี ในการเรียกค่าเช่าที่ได้ชำระล่วงหน้าจากจำเลยที่ 2 หรือไม่ แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ตามที่คู่ความแถลงรวมทั้งวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ไว้ด้วย ก็เป็นประเด็นข้อพิพาทและข้อวินิจฉัยที่นอกเหนือไปจากคำฟ้องและคำให้การ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 183 อุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6435/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องซ้ำในความผิดอาญาต่างกรรมต่างวาระ แม้มีข้อเท็จจริงร่วมกัน สิทธิฟ้องไม่ระงับ
ความผิดข้อหามีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบบุหรี่ซิกาแรต ซึ่งเป็นยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ตามกฎหมายกับข้อหามียาสูบที่ไม่ได้ปิดแสตมป์ไว้ในครอบครองเกินห้าร้อยกรัมตามฟ้องเป็นคดีก่อน และความผิดข้อหาเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งบุหรี่ซิกาแรตที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมซึ่งโจทก์แยกฟ้องมาเป็นคดีนี้ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาคนละฉบับกัน มีองค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน กล่าวคือข้อหามีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ตามกฎหมายและข้อหามีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ไว้ในครอบครอง เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 ส่วนความผิดข้อหาเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมในคดีนี้ เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งสามารถแยกเจตนาในการกระทำความผิดออกจากกันได้ ดังนั้นการกระทำความผิดของจำเลยในคดีก่อนจึงไม่ใช่การกระทำความผิดกรรมเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้ แม้คดีก่อนศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว ก็ไม่อาจถือได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมไม่ระงับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6271/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวแทนขนส่งสินค้า กรณีสินค้าเสียหายจากน้ำท่วมขณะอยู่ในความดูแลรักษา
การที่กรรมการผู้มีอำนาจร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทโจทก์ในใบแต่งทนายความแต่งตั้ง ว. เป็นทนายโจทก์และ ว. ลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ ถือเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ด้วยตนเองโดยแต่งตั้ง ว. เป็นทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้แทนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่กรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้ ว. เป็นผู้แทนโจทก์ตามมาตรา 60 วรรคสอง ซึ่งต้องมีหนังสือมอบอำนาจ
ปัญหาว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะวินิจฉัยชี้ขาดกฎหมายเบื้องต้นให้ยกฟ้องโจทก์ได้ การสั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องมาใหม่โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30 ประกอบข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 และวินิจฉัยว่าคำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า กระบวนพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ซึ่งมาตรา 26 ได้บัญญัติรับรองในส่วนการดำเนินคดีแพ่งไว้ว่า กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. นี้ และข้อกำหนดตามมาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ซึ่งออกตามความในมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ข้อ 6 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของคำฟ้องใน คดีแพ่งไว้ว่า คำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ให้ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ที่เสนอต่อศาลแต่แรกแล้ว เป็นคำฟ้องที่พอเข้าใจได้แล้วว่า ความเสียหายของสินค้านั้นเป็นเงิน 846,110 บาท ส่วนจะคำนวณอย่างไร มีหลักฐานอ้างอิงหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย กรณีไม่อาจนำหลักเกณฑ์ของคำฟ้องในคดีแพ่งทั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องให้ชัดเจนขึ้นเป็นการใช้อำนาจตามข้อกำหนด ข้อ 6 วรรคสอง เพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 3 เอง อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่า สินค้าพิพาทได้รับความเสียหายขณะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า การขนส่งคดีนี้เป็นการขนส่งในเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งมีหน้าที่รับตู้สินค้าจากจำเลยที่ 3 ไปเปิดยังโรงงานหรือโกดังของผู้รับตราส่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ส่งมอบตู้สินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งในสภาพเรียบร้อย การเปิดตู้ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรมิใช่การตรวจเพื่อส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้รับตราส่ง กรณีนี้เป็นการขนส่งสินค้าในระบบตู้สินค้าเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL การที่ผู้รับตราส่ง รับตู้สินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยไม่มีข้อทักท้วงเรื่องความเสียหายของสินค้า จึงไม่อาจถือได้ว่าสินค้าพิพาทมิได้เสียหายในขณะนั้นและผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยมิได้อิดเอื้อน ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่างๆ ของกิจการท่าเรือ ข้อ 53 ที่ว่าบุคคลใดรับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยไม่อิดเอื้อน และข้อ 57 วรรคสอง (ข) ที่ว่าถ้าผู้รับสินค้าไม่เรียกร้องค่าเสียหายเป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันรับมอบสินค้า จำเลยที่ 3 จะไม่รับผิดชอบ ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่การรับมอบตู้สินค้าจากจำเลยที่ 3 เพื่อนำไปเปิดที่โรงงานของผู้รับตราส่งอย่างเช่นกรณีนี้ได้ เพราะตู้สินค้าไม่ใช่สินค้าตามความหมายของข้อบังคับดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นขณะที่ตู้สินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่รับดูแลรักษาสินค้า เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่สามารถป้องกันมิให้น้ำท่วมขังและซึมเข้าไปในภายตู้สินค้า ทำให้สินค้าพิพาทเปียกชื้นได้รับความเสียหายจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาท
คำให้การของจำเลยที่ 3 บรรยายข้อต่อสู้เรื่องอายุความไว้เพียงว่า โจทก์ได้ฟ้องร้องเกินกว่ากำหนดอายุความฝากทรัพย์และอายุความละเมิดแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง ทั้งเป็นคำให้การที่มิได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะอะไร ทำไมถึงขาดอายุความ ถือเป็นคำให้การที่ไม่ ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่คู่ความต้อง นำสืบ และหากเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลไม่อาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5445/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีทรัพย์สินทางปัญญา: กฎหมายใหม่เป็นคุณแก่จำเลย แม้ฟ้องหลังยกเลิกกฎหมายเก่า ศาลต้องใช้กฎหมายใหม่บังคับ
จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ มีดีวีดีและวีซีดีภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่ภาพและเสียงของเรื่องไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานไว้ในสถานประกอบกิจการ และฐานผู้ได้รับอนุญาตมีภาพยนตร์ที่ไม่ได้แสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทภาพยนตร์และหมายเลขรหัสไว้ในสถานประกอบการเพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 35 (1) และมาตรา 36 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 อันเป็นเวลาขณะที่ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ยังใช้บังคับ ซึ่งความผิดตามมาตรา 35 (1) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามมาตรา 36 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (4) จำเลยถูกฟ้องเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ใช้บังคับแล้วโดยมีผลยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 78 และมาตรา 43 ประกอบมาตรา 80 ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่มีระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาทและระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท โดยไม่มีโทษจำคุก จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) ดังนั้น กฎหมายใหม่จึงเป็นคุณแก่จำเลยต้องใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาบังคับใช้แก่การกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 จึงต้องนำอายุความตามกฎหมายใหม่มาใช้บังคับแก่จำเลย เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5081/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งห้ามชั่วคราวสิ้นผลเมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องบังคับคดีส่งมอบรถยนต์
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทที่ทำไว้แก่โจทก์เพื่อขอรับเอกสารไปรับสินค้ารถยนต์ที่สั่งซื้อไว้ โดยระหว่างพิจารณาโจทก์มีคำขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ห้ามจำเลยทั้งสองโอน ขาย ยักย้ายหรือจำหน่ายรถยนต์พิพาท และให้นายทะเบียนกรมการขนส่งทางบกระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนรถยนต์คันพิพาทไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ต่อมาศาลทรัพย์สินฯ มีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และคดีถึงที่สุดโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ในชั้นบังคับคดี ปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่าเป็นผู้ซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยถูกต้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งห้ามชั่วคราวดังกล่าว กรณีเช่นนี้ แม้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) บัญญัติให้คำสั่งของศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวยังมีผลใช้บังคับต่อไปก็ตาม แต่ก็ให้ใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเท่านั้น เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ ทั้งโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าว เมื่อศาลทรัพย์สินฯ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ ย่อมไม่มีเหตุจำเป็นต้องปฏิบัติตามวิธีการชั่วคราวที่ห้ามจำเลยทั้งสองโอนขาย ยักย้าย หรือจำหน่ายรถยนต์ดังกล่าว เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษานี้อีกแต่อย่างใด คำสั่งในวิธีการชั่วคราวดังกล่าวเป็นอันยกเลิกไปในตัวไม่มีผลใช้บังคับอีกต่อไป จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวภายหลังศาลมีคำพิพากษาได้
of 29