คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 26

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 286 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2829/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้แก้ไขบทมาตราที่ฟ้องผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ และลงโทษฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยพิจารณาโทษปรับให้เหมาะสม
วีดิทัศน์ของกลาง 782 แผ่น เป็นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้วินิจฉัยคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) โจทก์บรรยายฟ้องว่าแผ่นวีดิทัศน์ 782 แผ่น นี้ จำเลยใช้ในการประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ทั้งไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งสาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและไม่นำวีดิทัศน์ไปให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาอนุญาตก่อนนำออกจำหน่าย แผ่นวีดิทัศน์จึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด อันจะพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และมาตรา 33 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ในข้อหาความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดีทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับฐานจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตนั้น จำเลยกระทำความผิดดังกล่าวในวันเวลาเดียวกัน โดยแผ่นวีดิทัศน์ของกลางเป็นจำนวนเดียวกัน และเป็นการกระทำในคราวเดียวกันโดยจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือเพื่อนำแผ่นวีดิทัศน์ออกจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 91 เพียงบทเดียว การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวางโทษปรับจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต 100,000 บาท แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 นั้น เป็นการลงโทษปรับต่ำที่สุดและลดโทษให้จำเลยในอัตราสูงสุดตามกฎหมายแล้ว จึงไม่อาจลดโทษปรับในความผิดฐานนี้ได้อีก
จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายบันทึกไว้ในแผ่นดีวีดี วีซีดีภาพยนตร์ ดีวีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ วีซีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ และซีดีเอ็มพีสาม รวม 507 แผ่น เพื่อจำหน่าย ให้เช่า ให้เช่าซื้อแก่ลูกค้าและบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องโดยมีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 แต่มิได้อ้างมาตรา 69 กลับอ้างมาตรา 70 นั้น ก็เป็นการอ้างบทมาตราผิด ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานนี้อีกสถานหนึ่งโดยให้ปรับ 110,000 บาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งนั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีนี้จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายบันทึกไว้ในแผ่นดีวีดี วีซีดีภาพยนตร์ ดีวีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ วีซีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ และซีดีเอ็มพีสาม เป็นจำนวนถึง 507 แผ่น การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อแสวงหากำไรและเป็นการกระทำเพื่อการค้าด้วยซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ผู้เสียหาย และกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย โทษปรับที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดไว้จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1740/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อและภาพถ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเรียกค่าเสียหายได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโจทก์และนามแฝง "หนู มิเตอร์" ของโจทก์มาพิมพ์ลงในแผ่นวีซีดีคาราโอเกะและซีดีเพลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า การเอานามแฝงและภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะไม่ได้ทำความเสียหายแก่โจทก์ โดยไม่ได้ปฏิเสธว่า โจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเอานามแฝงและภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะ เท่ากับจำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเอานามแฝงและภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะแล้ว
แม้โจทก์จะเป็นนักร้องและนักดนตรีซึ่งร้องและเล่นดนตรีตามบทดนตรีกรรมอันถือเป็นนักแสดงตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตและจัดจำหน่ายแผ่นซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะโดยใช้นามแฝงของโจทก์และนำภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีและวีซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์มิใช่การกระทำต่อการแสดงสดของโจทก์โดยการแพร่เสียงแพร่ภาพหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการแสดงสดนั้น หรือบันทึกการแสดงของโจทก์และมิใช่การทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่มีผู้บันทึกไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ หรือทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น หรือทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิของนักแสดงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 53 อันเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ผู้เป็นนักแสดงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 44 จึงไม่ใช่การละเมิดสิทธิของโจทก์ผู้เป็นนักแสดงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 52 ประกอบมาตรา 44 แต่การที่จำเลยทั้งสองกระทำการดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยประชาชนทั่วไปและแฟนเพลงของโจทก์เกิดความเข้าใจผิดว่ามีการออกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะโดยใช้นามแฝงว่า "หนู มิเตอร์" และมีการถ่ายรูปในการออกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะดังกล่าวจริง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสองใช้นามแฝงของโจทก์โดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14093/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องอาญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและองค์ประกอบความผิด ศาลมีอำนาจยกฟ้องได้แม้จำเลยรับสารภาพ
โจทก์บรรยายฟ้องนำข้อความในบทบัญญัติในมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มากล่าวในฟ้องเท่านั้น ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยว่า จำเลยประกอบกิจการให้เช่า หรือแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์อย่างไร ภาพยนตร์ที่ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายนั้นมีลักษณะหรืออยู่ในรูปแบบใด สถานที่ประกอบกิจการอยู่บริเวณใด พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การที่โจทก์นำแต่เพียงข้อความอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์มาบรรยายในฟ้อง โดยไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ชอบ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาฯ โดยศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้พิพากษาลงโทษหรือยกฟ้องในข้อหานี้ แม้คำพิพากษาตอนท้ายจะระบุว่า "คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก" และจะแปลความได้ว่าพิพากษายกฟ้องในข้อหาดังกล่าวแต่ศาลต้องระบุเหตุผลในการตัดสินยกฟ้องด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) (8) การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ได้พิพากษาในข้อหานี้เป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาทางอาญา ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)
ความผิดฐานให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งภาพยนตร์ที่ยังไม่ผ่านการตรวจพิจารณาฯ ตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ย่อมหมายถึงการตรวจเนื้อหาของภาพยนตร์ที่บันทึกในวัสดุต่างๆ ก่อนจะอนุญาตให้นำออกฉาย ให้เช่าแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายในราชอาณาจักร เพื่อไม่ให้มีการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมออกสู่สาธารณะ โจทก์จึงต้องบรรยายข้อเท็จจริงในฟ้องให้ชัดเจนว่าจำเลยนำภาพยนตร์เรื่องใดบ้างที่ไม่ผ่านการตรวจออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่าย การที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุเพียงจำนวนแผ่นของภาพยนตร์ จึงเป็นฟ้องที่มิได้บรรยายถึงรายละเอียดที่เกี่ยวกับสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี ย่อมเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13849/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีโดยจำเลยไม่มาศาล และหน้าที่ของโจทก์ในการนำตัวจำเลยมาส่งศาลในคดีทรัพย์สินทางปัญญา
ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์ไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาล โดยข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2552 ว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.5425/2552 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี ซึ่งคดีดังกล่าวศาลได้มีคำสั่งให้ออกหมายจับและปรับนายประกันแล้ว แม้คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเดียวกัน แต่เมื่อเป็นการฟ้องต่างคดีและโจทก์มีหน้าที่ต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวจำเลยดังกล่าวมา ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 141 วรรคสี่ โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้โดยไม่มีตัวจำเลยมาศาลและอ้างว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้วด้วยหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13627/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญาฐานประกอบกิจการวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระบุหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 บัญญัติว่า นายทะเบียนหมายความว่านายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนประจำจังหวัดแล้วแต่กรณี การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานดังกล่าวย่อมหมายถึงการประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนประจำจังหวัด แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายดีวีดีคาราโอเกะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คำฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิดไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพและโจทก์มีคำขอให้ลงโทษตามมาตรา 54 มาด้วย ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11572/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการขนส่งสินค้าชำรุด และการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายโดยศาล
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น การที่จำเลยให้การในตอนต้นว่า จำเลยไม่เคยรับขนส่งสินค้าที่พิพาท และชื่อผู้ขนส่งตามที่ระบุไว้ในใบรับขนของทางอากาศก็ไม่ใช่ชื่อของจำเลย ส่วนตอนท้ายจำเลยให้การว่า หากศาลฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าแล้ว จำเลยสามารถจำกัดความรับผิดได้ไม่เกิน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม คำให้การดังกล่าวเมื่ออ่านโดยรวมแล้วสามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ และยังให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่จำต้องรับผิดตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมา คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงที่ให้การนั้นเป็นไปในทางหนึ่งทางใด อันจะถือเป็นคำให้การที่ขัดกันดังที่โจทก์อุทธรณ์ คำให้การของจำเลยชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสองแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11317/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การและการฟ้องแย้งในคดีทรัพย์สินทางปัญญา: การยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การและการรับฟ้องแย้ง
การขอแก้ไขคำให้การต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนวันนัดชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 180 เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนัดชี้สองสถานหรือนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 8 มีนาคม 2553 แต่เมื่อถึงวันนัด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งงดชี้สองสถานและให้เลื่อนคดีไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันอื่น วันที่ 8 มีนาคม 2553 ย่อมมิใช่วันชี้สองสถานหรือวันสืบพยาน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 จำเลยจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในวันดังกล่าวได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยและห้ามจำเลยใช้ ยื่นคำขอจดทะเบียน หรือเกี่ยวข้องในทางใดๆ กับเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยโดยอ้างว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตทำให้จำเลยสูญเสียรายได้ เนื่องจากต้องเก็บสินค้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาดระหว่างรอฟังผลของคดี เป็นฟ้องแย้งโดยอาศัยเหตุที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เป็นข้ออ้าง ฟ้องแย้งจึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10673/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และการละเมิดลิขสิทธิ์เกมคอมพิวเตอร์: องค์ประกอบความผิดและข้อกำหนดการคุ้มครองลิขสิทธิ์
พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติ "ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน" และมาตรา 4 บัญญัติให้นิยามคำว่า "วีดิทัศน์" ว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น... และนิยามคำว่า "ร้านวีดิทัศน์" ว่า สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ โจทก์บรรยายการกระทำของจำเลยว่า จำเลยประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ชื่อร้าน "ไอซ์เกมส" โดยทำเป็นธุรกิจและได้รับค่าตอบแทน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และจำเลยนำแผ่นดีวีดีเกมสไปเดอร์แมนและเกมสไปเดอร์แมน 3 เดอะเกมส์ ที่บันทึกเสียงและภาพ บรรจุลงในเครื่องเล่นเกมแล้วต่อสายไปเชื่อมกับเครื่องรับสัญญาณภาพ (โทรทัศน์) เพื่อให้ลูกค้าเช่าเล่นเกมและยึดได้เครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นทูโทรทัศน์สี จอยสติ๊ก สายเอวี สายไฟฟ้าของกลาง กับแผ่นดีวีดีเกมซึ่งจัดเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการเล่นเกมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงฟังได้ว่าจำเลยประกอบกิจการร้านไอซ์เกมส์ในลักษณะให้บริการลูกค้าเช่าผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ แผ่นดีวีดีเกมคอมพิวเตอร์ของกลางคดีนี้จึงเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพและเสียงในลักษณะที่ผู้เล่นสามารถนำมาเล่นโดยฉายภาพและเสียงผ่านเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นทูและโทรทัศน์ได้อย่างต่อเนื่อง อันจัดเป็นวีดีทัศน์ตามนิยามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด รวมทั้งรายละเอียดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ รวมทั้งสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
งานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หมายถึง งานสร้างสรรค์ของผู้อื่นที่กฎหมายให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการให้ความคุ้มครองที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดไว้
ผู้เสียหายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกมของตนเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2546 และปี 2549 โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีหรือไม่ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 อันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นสาระสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบความผิดตามข้อหาที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10221/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องไม่ชัดเจน ละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมเกม ศาลฎีกายกฟ้อง แม้จำเลยรับสารภาพ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายโดยนำวรรณกรรมโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์บรรจุลงในหน่วยประมวลผลกลาง (ซีพียู) ที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแล้วนำออกบริการให้เช่าแก่บุคคลทั่วไป ตามฟ้องดังกล่าวยังไม่แน่ชัดว่า โปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ที่มีการบรรจุลงในหน่วยประมวลผลกลางเป็นโปรแกรมเกมที่มีลิขสิทธิ์หรือเป็นโปรแกรมเกมที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย และจำเลยหรือผู้อื่นนั้นกระทำการอันละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานของผู้เสียหายในลักษณะอย่างไรแน่ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10209/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษาและการงดการบังคับคดี: เงื่อนไขและขั้นตอนตามกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 271 ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาทั้งหมดหรือบางส่วน เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษานั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้น มาตรา 275 บัญญัติว่า ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะขอให้บังคับคดีให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี และมาตรา 276 ก็บัญญัติไว้เพียงว่าถ้าศาลเห็นว่าคำบังคับที่ขอให้บังคับนั้นได้ส่งให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว ให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้ทันที ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวหาได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องส่งคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทุกคนก่อน ศาลจึงจะออกหมายบังคับคดีได้ และเมื่อพิจารณาคำขอออกหมายบังคับคดีของโจทก์ก็ปรากฏว่ามีข้อความกล่าวถึงคำพิพากษาที่จะขอให้มีการบังคับคดี รวมถึงวิธีการบังคับคดี และได้ระบุไว้แล้วว่า "จำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ชำระหนี้ให้โจทก์แต่ประการใด" อันแสดงว่าในขณะที่โจทก์ขอออกหมายบังคับคดียังมีหนี้ค้างชำระอยู่เต็มจำนวนตามคำพิพากษา ถือได้ว่าคำขอของโจทก์ได้ระบุจำนวนหนี้ที่ยังมิได้ชำระตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 (2) แล้ว คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ที่ให้ออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
การขอทุเลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 ต้องเป็นกรณีที่ยังไม่มีการบังคับคดีตามคำพิพากษา แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องขอให้งดการบังคับคดีและคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ว่า ขณะที่ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 แล้ว การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องดังกล่าวเข้ามา จึงถือได้ว่าเป็นการขอให้งดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่จะมีคำสั่งว่าสมควรให้งดการบังคับคดีหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศสั่งยกคำร้องฉบับนี้ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาสั่งจึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว
of 29