คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 26

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 286 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4431/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเครื่องหมายการค้า: การซื้อขายสินค้าไม่ทำให้เกิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้า, การรื้อฟ้องคดีซ้ำต้องห้าม
เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งซึ่งกฎหมายรับรอง และคุ้มครองไว้โดยเฉพาะ ไม่มีรูปร่าง ทั้งไม่อาจยึดถือครอบครองได้อย่างทรัพย์สินทั่วไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้อง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของเครื่องหมายการค้า เมื่อจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องไปแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในสินค้าที่ได้จำหน่ายไปได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องหมายการค้านั้นจากราคาสินค้าที่จำหน่ายไปเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อสินค้าซึ่งประกอบการค้าปกตินำสินค้านั้นออกจำหน่ายอีกต่อไปเท่านั้น การซื้อสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องไปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่จำเลยที่ 1 ในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูปเพชรในกรอบสี่เหลี่ยมฟ้องจำเลยทั้งสามให้ระงับหรือเลิกใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย จึงไม่ใช่การก่อการรบกวนสิทธิของจำเลยทั้งสามผู้ซื้อในอันจะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะโจทก์มีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขาย อันผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 ที่จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ขายสามารถสอดเข้ามาในคดีเพื่อปฏิเสธการเรียกร้องของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 478 ได้
ส่วนปัญหาว่าใครจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปเพชรดีกว่ากัน เป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ซึ่งมี พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 บัญญัติคุ้มครองเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว และปรากฏตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ว่า ผู้ร้องได้ฟ้องโจทก์โดยอ้างว่ามีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปเพชรดีกว่าโจทก์ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีของผู้ร้องขาดอายุความแล้วพิพากษายืนให้ยกฟ้องของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความเดียวกับโจทก์จะรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ได้ ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 148 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องมานั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3748/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหลังสัญญาเลิกแล้ว: ค่าเสียหายใหม่ไม่อาจเพิ่มได้
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากสัญญาเช่าเครื่องบินระงับ มิใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์เสนอข้อหาของตนไว้ในคำฟ้องเดิม จึงมิใช่การเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ ไม่อาจแก้ไขได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 (1) และ (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3469/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์สถานะจำเลยเป็นลูกจ้างหรือไม่เป็นผู้ประกอบการ เพื่อความผิด พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ศาลต้องสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
แม้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 13 ศาลมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ต้องเป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลย มิใช่รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อนำมาวินิจฉัยความผิดของจำเลยตามฟ้อง ศาลจึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติดังกล่าวมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ไม่ได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษเฉพาะผู้ประกอบกิจการไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนก่อน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงลูกจ้าง ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบกิจการที่ต้องไปขออนุญาตจากนายทะเบียนดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันเป็นกรณีไม่แน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ จึงชอบที่ศาลจะแจ้งรายงานดังกล่าวให้โจทก์และจำเลยทราบแล้วสอบข้อเท็จจริงจากจำเลย รวมทั้งอธิบายฟ้องและสอบคำให้การจำเลยในข้อหานี้ใหม่ หากจำเลยยืนยันว่าเป็นลูกจ้างโจทก์ก็มีสิทธิขอนำพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมหรือศาลจะสั่งให้โจทก์นำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยในข้อหานี้เพื่อให้ได้ความว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนก่อนหรือไม่ก็ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 176 และมาตรา 228 แต่หากจำเลยขอถอนการให้ถ้อยคำในส่วนของการเป็นลูกจ้างและยืนยันให้การรับสารภาพ ศาลจึงรับฟังข้อเท็จจริงยุติตามฟ้องโจทก์ได้ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้สอบโจทก์และจำเลยถึงข้อเท็จจริงตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติดังกล่าว กรณีจึงยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์จะนำสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมในความผิดข้อหานี้หรือไม่ จึงยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในความผิดนี้ ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสอบข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นลูกจ้างหรือผู้ประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สอบคำให้การจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าว และสอบโจทก์เกี่ยวกับการสืบพยานโจทก์ในข้อหาความผิดนี้แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3424/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาลงโทษเกินกว่าที่โจทก์ขอให้ลงโทษในความผิดฐานประกอบกิจการวีดิทัศน์และภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต
โจทย์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตข้อหาหนึ่ง และประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอีกข้อหาหนึ่ง แต่มีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 82 ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเพียงข้อหาเดียว แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันเป็นความผิดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 ด้วย การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 82 และให้ลงโทษตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักกว่านั้น จึงเป็นการพิพากษาลงโทษในข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลย อันต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง โดยปรับบทลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 82 และเมื่อโทษปรับที่กำหนดลงโทษแก่จำเลยนั้นเป็นอัตราโทษปรับขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่อาจลดโทษปรับได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3195/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพจำเลยมีผลผูกพัน ศาลมิอาจลบล้างด้วยรายงานสืบเสาะพินิจได้
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายแผ่นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่บันทึกภาพและเสียงซึ่งนำมาฉายให้เห็นภาพเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่นอันเป็นวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจและได้ประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามฟ้อง และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ให้ระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 176 แม้ว่า พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 จะบัญญัติให้ศาลมีอำนาจที่จะรับฟังรายงานและความเห็นของพนักงานคุมประพฤติโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ก็เพียงการนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลย และความเห็นของพนักงานคุมประพฤติมารับฟังเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเท่านั้นมิใช่เป็นการนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วย การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจที่ว่าจำเลยเป็นผู้รับจ้างขายวีดิทัศน์ของกลางมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2551 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 เพราะศาลจะนำข้อเท็จจริงในรายงานการสืบเสาะและพินิจมาลบล้างคำรับสารภาพของจำเลยไม่ได้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพการกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง และมีบทลงโทษตามมาตรา 82

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2329/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าระวางทางทะเล, การแก้ไขฟ้องหลังชี้สองสถาน, และผลกระทบต่ออายุความ
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยเพิ่มจำนวนเงินค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางที่เรียกร้องให้จำเลยชำระ จากฟ้องเดิมตามใบเรียกเก็บเงิน 178 ฉบับ จำนวน 87,038.03 ดอลลาร์สหรัฐ ขอเพิ่มเติมอีก 102 ฉบับนั้น โจทก์ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่ามีหนี้จำนวนนั้นที่จำเลยค้างชำระอยู่ตั้งแต่ก่อนโจทก์ฟ้องคดี ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถาน
โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวาง ซึ่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 ให้คำนิยามของอุปกรณ์แห่งค่าระวางโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าระวาง ดังนั้น ค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางจึงมีอายุความเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มิได้กำหนดอายุความของสิทธิเรียกร้องค่าระวางไว้ จึงต้องใช้อายุความตามที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (3) กำหนดไว้ว่าสิทธิเรียกร้องค่าระวางมีกำหนด 2 ปี โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2545 และหนี้ตามใบแจ้งหนี้จำนวน 178 ฉบับ ล้วนเป็นใบแจ้งหนี้ที่ครบกำหนดชำระหลังวันที่ 25 ตุลาคม 2543 เมื่อนับถึงวันฟ้อง จึงยังไม่เกิน 2 ปี ฟ้องโจทก์สำหรับหนี้ตามใบแจ้งหนี้ในส่วนนี้ จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079-2084/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตร: การพิจารณาการละเมิดสิทธิบัตรต้องพิสูจน์กรรมวิธีผลิตที่ตรงกัน มิใช่เพียงใช้กรรมวิธีคล้ายคลึงกัน
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 บัญญัติว่า กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.นี้ และข้อกำหนดตามมาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. หรือ ป.วิ.อ. หรือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลมและกรณีไต่สวนมูลฟ้องนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.และข้อกำหนดดังกล่าวจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ภาค 3 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น ลักษณะ 1 ฟ้องคดีอาญาและไต่สวนมูลฟ้อง มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น กรอบการพิจารณาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะต้องพิจารณาและวินิจฉัยจึงมีว่าคดีมีมูลหรือไม่ ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้พิจารณาและวินิจฉัยว่า ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ทั้งสองย่อมมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงให้พอมีมูลให้รับฟังได้ว่ามีการกระทำละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 23 เป็นผู้กระทำความผิดตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวหาในฟ้องโดยวินิจฉัยปัญหาว่ามีการกระทำละเมิดอนุสิทธิบัตรตามฟ้องหรือไม่ และในเบื้องต้นมีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลโดยใช้กรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรดังกล่าวหรือไม่อันเป็นการพิจารณาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยว่าคดีมีมูลหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 167 นั้นเอง มิใช่เป็นการตั้งประเด็นเพื่อวินิจฉัยว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่
อนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ของโจทก์ทั้งสอง ระบุข้อถือสิทธิว่า "กรรมวิธีในการเตรียมส่วนผสมที่ใช้ได้อย่างน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ประกอบด้วยการทำให้ส่วนผสมต่อไปนี้ผสมเข้าด้วยกันโดยการใช้เครื่องสูบผสมเวียนน้ำมันพืชเหลือใช้ที่ผ่านการทำให้สะอาด น้ำมันดีเซลและน้ำมันละหุ่ง (หรือแอลกอฮอล์) ในอัตราส่วน 10:10:1 โดยมีปริมาตรตามลำดับ ก่อนปรับความหนืดเป็น 6 ถึง 8 เซนติสโตกส์ ด้วยน้ำมันดีเซล" ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงเพียงมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าว ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำมาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวเท่านั้นบุคคลอื่นย่อมมีสิทธิที่จะผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำมาใน ราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีอื่นๆ นอกจากกรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง เมื่อโจทก์ที่ 1 เบิกความเพียงว่า จำเลยทั้งหมดผลิตน้ำมันไบโอดีเซลโดยใช้น้ำมันพืชใช้แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลหรือไม่ แม้โจทก์ที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยทั้งหมดใช้กระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่น (Transesterification) หรือกระบวนการกำจัดไขมันและสิ่งสกปรกที่เจือปนในน้ำมันในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลอันเป็นกรรมวิธีเดียวกันกับกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านว่า กระบวนการดังกล่าวคล้ายคลึงกับกรรมวิธีในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง แต่มีจุดแตกต่างกันคือวิธีการดังกล่าวใช้เมทานอล ส่วนของโจทก์ทั้งสองใช้น้ำมันดีเซลโดยอาจมีส่วนผสมที่ใช้แอลกอฮอล์หรือไม่ใช้เลยก็ได้ ประกอบกับทางไต่สวนไม่ได้ความว่ากระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่นที่จำเลยทั้งหมดใช้ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลใช้กรรมวิธีมีลักษณะตรงกับกรรมวิธีในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองในสาระสำคัญหรือไม่อย่างไร คดีของโจทก์ทั้งสองไม่มีมูล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำในความผิดเดียวกันสิทธิระงับ, ริบของกลางตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
ตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2495/2551 หมายเลขแดงที่ อ.3571/2551 เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางวัน จำเลยเสนอ จำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าเสื้อยี่ห้อลาคอสท์ที่เป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งทั้งสองคดีตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำในเรื่องเดียวกัน เกิดขึ้นในเวลา สถานที่ และกระทำต่อผู้เสียหายรายเดียวกัน จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2495/2551 หมายเลขแดงที่ อ.3571/2551 ก่อนคดีนี้แล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไป ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
โจทก์ฟ้องขอให้ริบของกลางแต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้เองตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง เมื่อสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น จึงให้ริบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 115

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9069/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความในคดีทรัพย์สินทางปัญญา: การเปลี่ยนแปลงกฎหมายและผลกระทบต่อการฟ้องคดี
แม้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จะยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 แต่ก็มิได้ยกเลิกความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าแผ่นดีวีดีและวีซีดีภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ในขณะที่ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ใช้บังคับ แต่ขณะที่จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีนี้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ได้ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ไปแล้ว การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79 ซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) เมื่ออายุความตามกฎหมายใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องนำอายุความตามกฎหมายใหม่มาใช้บังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2551 เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิด คดีสำหรับความผิดฐานนี้จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป
โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางที่เป็นแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ปัญหานี้ แต่ข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8335/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ: ฟ้องไม่ชอบหากไม่แสดงหลักฐานการเป็นภาคีอนุสัญญาลิขสิทธิ์
งานมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนั้น จะต้องปรากฏว่าการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด คดีเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า งานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสี่เป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์ตามฟ้องได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับคดีนี้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามฟ้องได้ ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
of 29