คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 26

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 286 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7119/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรต้องมีความใหม่และไม่เคยมีมาก่อน การคุ้มครองเฉพาะวัสดุใหม่ไม่เพียงพอ ต้องมีกรรมวิธีใหม่ด้วย
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต นำเอาสิ่งประดิษฐ์หรือกรรมวิธีที่ปรากฏอยู่แล้วไปขอรับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนายทะเบียนสิทธิบัตรได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรให้แก่จำเลย โดยมีข้อถือสิทธิว่า "1. การใช้เสื่อปูรองหรือหีบห่อสินค้าที่ลงระวางในเรือบรรทุกสินค้า เพื่อกั้นและดูดซับความชื้นโดยที่เสื่อนี้ทอขึ้นจาก (ก) ต้นธูปฤๅษี กกรังกา และ/หรือกกกลม ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือมากกว่าโดยปราศจากการลอกโครงสร้างภายนอก (ข) เส้นเอ็นสังเคราะห์หรือเส้นด้าย" ข้อถือสิทธิดังกล่าวเป็นข้อถือสิทธิในการใช้เสื่อ ไม่ได้ให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์เสื่อ และกรรมวิธีดังกล่าวไม่มีความใหม่โดยสิ้นเชิง ทั้งไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น จึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ แต่จำเลยกลับอาศัยสิทธิที่ได้มาโดยไม่สุจริตดังกล่าวไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์และพวก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ความจริงแล้วโจทก์ใช้เสื่อกกกับคานไม้ไผ่รวกเพื่อระบายอากาศภายในระวางเรือ มิได้ใช้เสื่อกกปูรองหรือหีบห่อสินค้าที่ลงระวางในเรือบรรทุกสินค้า เพื่อกั้นหรือดูดซับความชื้น โจทก์ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำของจำเลย นับเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลย โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้พิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยออกจากสารบบทะเบียนสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา คำฟ้องของโจทก์จึงพอเข้าใจได้แล้วว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าสิทธิบัตรของจำเลยได้รับการจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะข้อถือสิทธิดังกล่าวเป็นข้อถือสิทธิในการใช้เสื่อทั้งไม่มีความใหม่และไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น กับขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลย ถือว่าคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับแล้ว ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 และมาตรา 30 ประกอบข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้ให้นิยามคำว่า "สิทธิบัตร" และ "การประดิษฐ์" ทั้งได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรไว้ในมาตรา 36 แต่ไม่ได้บัญญัติถึงการให้สิทธิบัตรในส่วนของการใช้ใหม่ของการประดิษฐ์ที่รู้จักอยู่แล้วไว้เป็นพิเศษต่างหากโดยชัดแจ้ง และไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรการใช้ในลักษณะตามฟ้อง กรณีไม่อาจแปลความพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ไปได้เช่นนั้น ดังนั้น สิทธิบัตรของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการออกให้แก่การใช้ใหม่ (New use patent) เพราะไม่มีบทกฎหมายรับรอง
ต้นกกช้างหรือต้นธูปฤๅษี หรือกกชนิดอื่น ๆ เป็นวัชพืชที่ใช้ทดแทนกับวัสดุอื่นเพื่อใช้ในการทอเสื่อได้อยู่แล้ว เสื่อที่ทอขึ้นจากวัสดุดังกล่าวมีหรือใช้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทยก่อนวันที่จำเลยขอรับสิทธิบัตร เพราะฉะนั้นการที่จำเลยใช้ต้นกกช้าง หรือต้นธูปฤๅษีหรือกกชนิดอื่น ๆ ตามที่ปรากฏในข้อถือสิทธิมาทอเสื่อจึงไม่ทำให้เสื่อดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จำเลยย่อมไม่อาจได้รับสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์เสื่อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5509/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: เจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมมีสิทธิจากการใช้ก่อน แม้จดทะเบียนทีหลัง
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 กำหนดว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. นี้ และข้อกำหนด ฯ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งในเรื่องของการรับฟังพยานหลักฐานนี้ ไม่ปรากฏว่ากฎหมายดังกล่าวได้มีข้อห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไว้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานเข้าสืบในชั้นพิจารณาของศาลภายใต้บทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวได้ และศาลย่อมจะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ได้ และเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนการจะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวเช่นใดนั้น ย่อมเป็นดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลดังกล่าว
หลักเกณฑ์สำคัญของกฎหมายเครื่องหมายการค้าคือ การให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงซึ่งอาจได้สิทธิจากการใช้มาก่อน ดังจะเห็นได้จาก พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 61 (2) ที่ให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพื่อให้สั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ขณะจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 ซึ่งรวมถึงเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม หรือมาตรา 67 วรรคหนึ่งที่ให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ หากแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น ดังนั้น การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ นอกจากจะพิจารณาตามถ้อยคำในมาตรา 61 (3) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ ที่ว่า ขณะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 11 ซึ่งจดทะเบียนไว้แล้ว คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าควรพิจารณาด้วยว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า "GOTCHA" ที่แท้จริงซึ่งอาจได้สิทธิจากการใช้มาก่อนหรือไม่ เพราะหากโจทก์เป็นเจ้าของที่แท้จริงซึ่งอาจได้สิทธิจากการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนแล้ว จำเลยที่ 11 ย่อมไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าโจทก์
อนึ่ง แม้คดีนี้จะล่วงเลยเวลาที่จะให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 27 โดยตรงอีกเนื่องจากเป็นกรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 11 ไปแล้ว แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ ต่อไปนั้น ย่อมมีความมุ่งหมายที่จะให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 61, 64 และ 65 แล้วใช้ดุลพินิจในการพิจารณาว่าสมควรจะเพิกถอนเครื่องหมายการค้า "GOTCHA" ของโจทก์หรือไม่ หากยังมีเหตุอันไม่สมควรที่เพิกถอนแล้ว ก็ให้นำมาตรา 27 วรรคหนึ่งมาพิจารณาแล้วมีคำสั่งต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5222/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาฟ้องคดีอาญาในศาลแขวง และการนับเวลาเดินทางของผู้ต้องหา
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ แต่มิได้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาจากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนและหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วยตามบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจา ระบุวัน เดือน ปี และเวลาจับเป็นวันที่ 26 พฤษภาคม 2551 เวลา 13 นาฬิกา วัน เดือน ปี และเวลาควบคุมเป็นวันเดียวกัน เวลา 14.40 นาฬิกา จึงต้องถือว่าวันที่ 26 พฤษภาคม 2551 เวลา 14.40 นาฬิกา เป็นเวลาที่นำตัวจำเลยจากที่จับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน ซึ่งยังมิได้นับเวลาที่นำตัวจำเลยจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนและหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้ารวมในกำหนดเวลาด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 เวลา 13.55 นาฬิกา จึงเห็นได้ชัดว่าขณะโจทก์ยื่นฟ้องยังอยู่ภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาจับกุมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5222/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาฟ้องคดีอาญาและการบังคับใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในศาลทรัพย์สินทางปัญญา
ความผิดอาญาที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงต้องนำวิธีพิจารณาความอาญา ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาใช้บังคับแก่คดี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มาตรา 26
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ให้โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาจากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน จากที่ทำการของพนักงานสอบสวนและหรือจากที่ทำการของพนักงานอัยการมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4602/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องคดีทรัพย์สินทางปัญญา: ศาลใช้ดุลพินิจชอบธรรม แม้จำเลยคัดค้าน โดยคำนึงถึงสิทธิโจทก์อื่น
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง นั้น หลังจากฝ่ายจำเลยยื่นคำให้การแล้วโจทก์อาจยื่นคำร้องขอถอนฟ้องได้ ซึ่งศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต หรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ห้ามมิให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังฝ่ายจำเลยก่อน คดีนี้ปรากฏว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 ศาลได้บันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่เดียวกันว่า ศาลสอบแล้วทนายจำเลยทั้งห้าแถลงคัดค้านว่าประสงค์จะให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ต่อมาศาลได้บันทึกรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ว่า ศาลสอบแล้ว ทนายโจทก์ยืนยันจะถอนคำฟ้อง ทนายจำเลยทั้งห้าแถลงคัดค้านเนื่องจากหากศาลอนุญาตให้ถอนคำฟ้อง ว. ซึ่งเป็นผู้มีชื่อในทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะมาฟ้องจำเลยทั้งห้าในข้อหาเดียวกันนี้อีก จึงเป็นการเอาเปรียบจำเลยทั้งห้าจากข้อเท็จจริงดังกล่าวถือว่า ศาลได้สอบถามจำเลยทั้งห้าแล้ว ซึ่งแม้จำเลยทั้งห้าจะคัดค้าน ศาลก็ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ การที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4593/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้จริงและชื่อเสียงของสินค้า
เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "LASERJET" ของโจทก์แม้จะเป็นคำที่ไม่มีความหมายในพจนานุกรม แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นการนำคำว่า "LASER" และ "JET" ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเป็นที่รู้จักกันทั่วไปมาผสมกัน โดยสามารถเห็นรากศัพท์เดิมจากรูปลักษณะของคำ ทั้งเมื่อออกเสียงเรียกขานคำดังกล่าวก็จะทราบคำศัพท์ดังกล่าวอย่างชัดเจนทันที คำว่า "LASERJET" จึงไม่ใช่คำประดิษฐ์ และเมื่อจะพิจารณาต่อไปว่าคำดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ กล่าวคือ เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาประกอบกับสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนซึ่งจะเห็นได้จากพยานหลักฐานของโจทก์อย่างชัดเจนว่า โจทก์มุ่งเน้นที่จะใช้เครื่องหมายการค้านี้กับเครื่องพิมพ์เป็นหลัก สินค้าเครื่องพิมพ์นี้ จากพยานหลักฐานของโจทก์ คือ เอกสารแนะนำสินค้า ระบุถึงการทำงานของเครื่องพิมพ์สีเลเซอร์เจ็ททำนองว่าเป็นการใช้แสงเลเซอร์ในการทำงาน ดังนั้น คำว่า "LASERJET" นับเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าของโจทก์โดยตรง
เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นเรื่องลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ไว้แล้ว โจทก์ย่อมอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ ซึ่งการนำพยานหลักฐานมาสืบแสดงต่อศาล เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 85 เรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการยื่นพยานหลักฐานเมื่อโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานตามกฎหมายแล้ว ถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลสามารถหยิบยกขึ้นพิจารณาพิพากษาได้ เพราะไม่มีบทกฎหมายใดห้ามรับฟังพยานหลักฐานที่นำสืบในชั้นศาลโดยไม่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แม้การพิจารณาของศาลในเรื่องนี้จะมีลักษณะเป็นการทบทวนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าถูกต้องหรือไม่ก็ตามแต่ประเด็นสำคัญที่ศาลต้องพิจารณาก็คือ เครื่องหมายการค้าคำว่า "LASERJET" ของโจทก์ควรได้รับการจดทะเบียนหรือไม่นั้นเอง ซึ่งปัญหานี้รับฟังได้จากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "LASERJET" มีการจำหน่ายเผยแพร่และโฆษณาในประเทศไทยเป็นเวลาต่อเนื่องกันไม่น้อยว่า 10 ปี นับเป็นเวลานานพอสมควร จนทำให้สาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของบุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 7 วรรคสาม และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ จำเลยจึงต้องดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "LASERJET" ของโจทก์ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4586/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมขนส่งสินค้าและการรับฟังพยานหลักฐานจากสำเนาเอกสารที่ไม่มีการโต้แย้ง
ในขณะที่โจทก์นำสืบอ้างสำเนากรมธรรม์ประกันภัยและสำเนาหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงของบริษัท พ. เป็นพยาน จำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการโต้แย้งหรือคัดค้านการนำสืบสำเนาเอกสารว่าไม่มีต้นฉบับ หรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือแต่บางส่วนหรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับ ศาลไม่ควรรับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 125 จำเลยที่ 1 เพียงแต่ถามค้าน ป. พยานโจทก์เกี่ยวกับสำเนากรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวว่า ข้อความเกี่ยวกับรถยนต์คันดังกล่าวปรากฏตามเอกสารดังกล่าว ซึ่งเป็นเพียงสำเนาไม่ใช่ต้นฉบับเท่านั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าสำเนาเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวนั้น ถูกต้องตรงกับต้นฉบับแล้ว ศาลจึงรับฟังเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นพยานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4580/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดผู้รับขนส่งทางทะเล, สินค้าเสียหาย, การขายทอดตลาด, การพิสูจน์ความเสียหาย, ข้อจำกัดความรับผิด
โจทก์ฟ้องโดยอาศัยมูลตามสัญญารับขนของทางทะเลที่โจทก์ในฐานะผู้ส่งทำสัญญาว่าจ้างผู้ขนส่งให้ขนส่งสินค้าไปถึงปลายทางตามกำหนดเวลา แต่ผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นขนส่งสินค้าด้วยความล่าช้าทำให้สินค้าเสื่อมคุณภาพ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้สลักหลังและส่งมอบใบตราส่งให้แก่บริษัทผู้ซื้อสินค้าพิพาทไป แต่กลับรับมอบสินค้าพิพาทจากจำเลยที่ 1 แล้วนำสินค้าพิพาทออกขายทอดตลาด จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ได้เวนคืนใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงยอมส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ดังนั้น เมื่อสินค้าพิพาทที่ขนส่งเสียหายเพราะความล่าช้าและไม่ปรากฏว่ามีการชำระค่าเสียหายแก่ผู้รับตราส่ง โจทก์ในฐานะคู่สัญญาและใช้สิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงยังอยู่ในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิตามมูลสัญญารับขนของทางทะเลที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นในความเสียหายของสินค้าพิพาทระหว่างการขนส่งได้ ส่วนสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ ระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องว่ากล่าวต่อกันตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งความตกลงตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอาจไม่จำกัดอยู่เฉพาะตามใบกำกับสินค้า หรืออาจตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงกันภายหลังจากที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าก็เป็นสิทธิของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายนั้นๆ ไม่มีผลต่อสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคู่สัญญาตามสัญญารับขนของทางทะเล และเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์ผู้ส่งว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง โดยจำเลยที่ 2 ติดต่อทำสัญญารับขนแทนจำเลยที่ 1 ตั้งแต่แรก จนกระทั่งเป็นผู้ออกใบตราส่ง ซึ่งเป็นใบตราส่งที่ใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 จึงถือเป็นตัวแทนผู้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะเดียวกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ส่วนจำเลยที่ 4 ตามคำฟ้องเป็นสำนักงานที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 ในประเทศไทย ซึ่งไม่ชัดเจนว่าหมายถึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 3 หรือไม่ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 4 ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 3 ตามคำฟ้องโจทก์จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดตามฟ้องได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะตัวแทนของตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นการพิพากษาให้รับผิดนอกเหนือจากคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142
โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะชี้ให้เห็นถึงขนาดที่ว่าการที่เครื่องยนต์เรือขัดข้องเกิดจากการที่จำเลยที่ 3 ละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าอาจเกิดเครื่องยนต์ขัดข้องในครั้งพิพาท ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดในการที่สินค้าพิพาทเสื่อมคุณภาพเพราะเหตุแห่งการล่าช้าในระหว่างการขนส่ง แต่ก็ยังมีสิทธิอ้างข้อจำกัดความรับผิดตามมาตรา 60 (1) แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ได้หากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น เกินกว่าข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมายเมื่อสินค้าพิพาทตามใบตราส่งคือาหารกุ้งจำนวน 4,480 ถุง ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 3 หน่วยการขนส่งในการขนสั่งครั้งนี้จึงได้แก่ 4,480 หน่วย ซึ่งผู้ขนส่งสามารถจำกัดความรับผิดได้ 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58 เงินที่ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดได้คือ 44,800,000 บาท ค่าเสียหายที่กำหนดจำนวน 850,000 ยาท จึงอยู่ในวงเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินค่าเสียหายที่กำหนดดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3367/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมในร้านอาหาร: การฟ้องเป็นองค์ประกอบความผิดครบถ้วน และการพิจารณาโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจัดให้นักดนตรีและนักร้องประจำร้านคัดลอกเนื้อร้องและทำนองเพลง ค. อันเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แล้วนำเนื้อร้องและทำนองเพลงดังกล่าวมาบรรเลงและขับร้องให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นสาธารณชนผู้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้าน ย. ได้ฟังเพลงดังกล่าว อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาผลกำไรในทางการค้าและเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชน และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 31, 69 และ 70 ซึ่งตามคำบรรยายฟ้องและคำขอท้ายฟ้องดังกล่าวเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด 2 ข้อหา ข้อหาที่ 1 คือ การละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมของผู้เสียหายโดยการทำซ้ำและดัดแปลง ด้วยการให้นักร้องนักดนตรีประจำร้านของจำเลยคัดลอกเนื้อร้องและทำนองเพลงของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคหนึ่ง ข้อหาที่ 2 คือ การละเมิดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมของผู้เสียหายโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อหากำไรในทางการค้า ด้วยการให้นักร้องนักดนตรีประจำร้านขับร้องและบรรเลงเพลงที่ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดนั้นให้แก่ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยฟัง ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง ข้อเท็จจริงและรายละเอียดในคำฟ้องดังกล่าวพอให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของผู้เสียหายโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อหากำไรในทางการค้า จึงเป็นฟ้องครบองค์ประกอบความผิด ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่ามีการเรียกเก็บค่าตอบแทนเพิ่มเติมจากค่าอาหารและเครื่องดื่ม ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์กลายเป็นฟ้องเคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1786/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า "TIMEWALKER" ไม่สามารถจดทะเบียนได้ เพราะสื่อถึงลักษณะสินค้าโดยตรง
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร แม้ว่าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๘ วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นที่สุด ก็มีความหมายเพียงว่า ผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อเจ้าพนักงานอื่นของฝ่ายบริหารต่อไปอีกไม่ได้เท่านั้น หากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการบรรยายฟ้องว่ามีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๕๕ แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
แม้คำว่า "TIMEWALKER" จะเป็นคำที่ไม่มีความหมายในพจนานุกรม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและนำสืบว่า คำว่า "TIMEWALKER" เป็นการนำเอาคำว่า "TIME" และคำว่า "WALKER" มาเรียงต่อกันเกิดเป็นคำใหม่ โจทก์แปลคำดังกล่าวว่า "ผู้เดินเวลาที่มีชีวิต" ซึ่งเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าคำนั้นสามารถแปลความหรือสื่อความหมายได้ หาใช่เป็นคำประดิษฐ์หรือคำใหม่ที่ไม่มีความหมาย และการแปลความของโจทก์ก็เป็นการแปลจากคำว่า "TIME" และคำว่า "WALKER" นั่นเอง เมื่อพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "TIME" ว่าหมายถึง เวลา และคำว่า "WALKER" หมายถึง การเดิน ผู้เดิน หรือผู้ชอบเดิน คำว่า "TIMEWALKER" จึงอาจสื่อถึงความหมายได้หลายประการ การที่โจทก์แปลความว่า "ผู้เดินเวลาที่มีชีวิต" ก็อาจเป็นไปได้ตามความมุ่งหมายของโจทก์ และขณะเดียวกันคำว่า "TIMEWALKER" ก็สื่อถึงความหมายว่า ผู้เดินเวลา หรือเครื่องมือที่เดินตามเวลา ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงนาฬิกาซึ่งเป็นเครื่องบอกเวลาได้เช่นกัน เมื่อโจทก์นำมาใช้กับสินค้าจำพวกที่ ๑๔ รายการสินค้า นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาพก และนาฬิกาแขวน จึงถือได้ว่าคำว่า "TIMEWALKER" เป็นคำที่บรรยายลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวกนาฬิกาของโจทก์อันเป็นการเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ วรรคสอง (๒) คำดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ อันจะพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา ๖
of 29