พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8120/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องกรณีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์: หลังปลดจากล้มละลาย โจทก์ต้องฟ้องลูกหนี้โดยตรง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ว. เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2535 ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.376/2535 และ ว. ได้รับการปลดจากล้มละลายแล้วตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2547 ก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ คือวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ ว. จึงไม่มีอำนาจต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของ ว. ลูกหนี้อีกต่อไป โจทก์ชอบที่จะฟ้อง ว. เป็นจำเลยโดยตรง การที่โจทก์มาฟ้อง ว. โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ ว. เป็นจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำเลยแทนลูกหนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7740/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การซื้อขายสิทธิครอบครองที่ดิน - เลิกสัญญา - คืนเงินมัดจำ - สิทธิครอบครอง
ที่ดินพิพาทมีเพียงสิทธิครอบครอง โจทก์ผู้จะขายทำสัญญากับจำเลยทั้งสองผู้จะซื้อว่า ที่ดินพิพาทราคา 1,500,000 บาท จะทำการโอนที่ดินใบ ภ.บ.ท.5 ให้แก่จำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองได้วางมัดจำให้โจทก์ไว้เป็นเงิน 730,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเป็นแบบพิมพ์สำเร็จรูปซึ่งมีการกรอกข้อความไปตามรายการในแบบพิมพ์เพื่อให้เป็นหลักฐานเท่านั้น แต่โดยเจตนาของโจทก์และจำเลยทั้งสองแท้จริงแล้ว เป็นการทำสัญญาซื้อขายสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทกัน เพราะที่ดินพิพาทไม่มีเอกสารแสดงสิทธิใดๆ คงมีเพียงสิทธิครอบครองโดยการยึดถือเท่านั้น จึงสามารถโอนการครอบครองแก่กันได้ด้วยวิธีส่งมอบที่ดินที่ครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 เมื่อโจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาครบถ้วน จำเลยทั้งสองย่อมมีหน้าที่ชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ แทนที่โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญา แต่โจทก์กลับมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ และจำเลยที่ 2 ก็ฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินที่รับไว้จำนวน 730,000 บาท กรณีจึงถือได้ว่าคู่สัญญาต่างสมัครใจเลิกสัญญาซื้อขายสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทต่อกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความเพียงพอของฟ้องอาญา: การระบุรายละเอียดการเบียดบังเงิน
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเบียดบังเงินค่าประกันสังคมจากลูกจ้างชั่วคราวเพื่อนำส่งประกันสังคม 1,558 บาท เงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพื่อนำส่งสรรพากร 6,733.33 บาท เงินภาษีบำรุงท้องที่ที่ต้องนำฝาก 7,871 บาท เงินสดที่ต้องมีไว้ให้ตรวจนับ 13,321.30 บาท รวมเป็นเงิน 29,483.63 บาท ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยก่อนนำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเป็นของจำเลยหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ฟ้องโจทก์ได้กล่าวข้อเท็จจริงถึงประเภทเงินกับจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไว้และยักยอกเอาไปพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ไม่จำต้องกล่าวถึงรายละเอียดว่าจำเลยเบียดบังเงินค่าประกันสังคมลูกจ้างชั่วคราวคนใดเมื่อใด เงินภาษีบำรุงท้องที่เป็นเงินที่จำเลยได้รับมาจากบุคคลใด เมื่อใด และเงินสดที่ต้องมีไว้ให้ตรวจนับเป็นของผู้เสียหายหรือไม่ อย่างไร เพราะโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)