คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 188

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 106 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5168/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลักทรัพย์ ปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม ศาลแก้ไขคำพิพากษาเรื่องการคิดมูลค่าความเสียหาย
แม้คำฟ้องของโจทก์พอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเป็นช่วงวันเวลาใด และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ตามแต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยลักโฉนดที่ดินของผู้เสียหายไปในวันใดแน่ จึงต้องฟังเป็นคุณว่าจำเลยลักโฉนดที่ดินของผู้เสียหายในในวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 แล้วปลอมหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยขายที่ดินดังกล่าว ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 จำเลยนำหนังสือมอบอำนาจปลอมที่ทำขึ้นไปใช้ในการทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ตนเอง การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อต้องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้เสียหายเป็นสำคัญ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ ส่วนหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารธรรมดาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้มอบอำนาจมอบให้บุคคลอีกคนหนึ่งมีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทนผู้มอบอำนาจเท่านั้น ไม่เป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิแต่อย่างใด จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิ การที่จำเลยปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น
เมื่อกรณีเป็นการลักทรัพย์โฉนดที่ดินของผู้เสียหายทรัพย์ที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเป็นเอกสารคืนโฉนดที่ดิน พนักงานอัยการคงมีสิทธิเรียกคืนได้แต่โฉนดที่ดินเท่านั้น จะขอให้จำเลยใช้เงิน 1,000,000 บาท เท่ากับราคาที่ดินตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 หาได้ไม่ เพราะไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้เสียหายได้สูญเสียทรัพย์สินที่มีราคาเท่ากับมูลค่าของที่ดินแม้โฉนดที่ดินสูญหายไปก็ยังฟ้องเรียกร้องที่ดินกันได้ มิใช่ว่าที่ดินจะสูญไปด้วย ที่ดินยังคงอยู่ผู้เสียหายชอบที่จะไปฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกทรัพย์คืนได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3063/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ทำลายเอกสาร ปลอมแปลงเอกสาร และใช้เอกสารปลอม กรณีมอบอำนาจโดยมีเจตนาทุจริต
ผู้บุพการีมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 5 (2) แต่คดีที่เป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและความผิดเกี่ยวกับเอกสารซึ่งผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยโรคประจำตัวของผู้เสียหายเอง ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความแต่มีลายมือชื่อของผู้เสียหายในช่องผู้มอบอำนาจและโฉนดที่ดินของผู้เสียหายไปโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188 และร่วมกับพวกกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยยื่นขอจดทะเบียนการให้โดยเสน่หาที่ดินของผู้เสียหายแก่จำเลย และใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้หลงเชื่อจนจดทะเบียนโอนที่ดินแก่จำเลย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 แต่การที่จำเลยกระทำความผิดก็เพื่อโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยซึ่งเป็นเจตนาเดียว ความผิดของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3063/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน, ปลอมเอกสาร, และการเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้เสียหาย; ศาลฎีกาแก้โทษและวินิจฉัยอำนาจฟ้อง
ในคดีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ซึ่งผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยโรคประจำตัว ผู้บุพการีไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือเข้าร่วมกับพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องแทนผู้เสียหาย เพราะไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 5 (2) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
จำเลยกับพวกร่วมกันนำเอาโฉนดที่ดินของผู้เสียหายและแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่มีเพียงลายมือชื่อของผู้เสียหายลงไว้ในช่องผู้มอบอำนาจไปโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วนำไปกรอกข้อความว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยยื่นขอจดทะเบียนโอนที่ดินของผู้เสียหายให้แก่จำเลยโดยเสน่หา เป็นการกระทำความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 188 และเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 แต่การกระทำความผิดดังกล่าวก็เพื่อโอนที่ดินเป็นของจำเลยซึ่งเป็นเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวความผิดหลายบท: ปลอมเอกสารเพื่อออกนอกประเทศ
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันไปเอาเสียซึ่งหนังสือเดินทางประเทศออสเตรเลียและปลอมหนังสือเดินทางเล่มดังกล่าว โดยนำรูปถ่ายของจำเลยมาติดแทนภาพของผู้มีชื่อในหนังสือเดินทาง จากนั้นจำเลยกับพวกได้ปลอมรอยตราประทับบันทึกการตรวจอนุญาตให้คนเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของเจ้าพนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงโดยมีเจตนาเดียวกันคือเพื่อให้จำเลยออกนอกราชอาณาจักร ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นและความผิดฐานปลอมเอกสารกับปลอมเอกสารราชการจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3903/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: ปลอมแปลงเช็คเพื่อเบิกเงิน – ศาลฎีกาวินิจฉัยเจตนาหลักคือการได้เงิน
จำเลยเอาไปเสียซึ่งเช็คของผู้เสียหายแล้วปลอมเช็คดังกล่าวโดยกรอกข้อความและจำนวนเงินในเช็คกับปลอมลายมือชื่อของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค แล้วนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็ค ได้รับเงินจำนวน 850,000 บาท ไป เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะได้เงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้เสียหายเป็นหลัก การกระทำต่าง ๆ เป็นเพียงวิธีการเพื่อจะให้ได้เงินไปเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรม ลักทรัพย์บัตรอิเล็กทรอนิกส์และใช้เบิกถอนเงิน ศาลฎีกาพิพากษาตามความผิดหลายกรรม
โจทก์ฟ้องจำเลยแยกเป็น 2 ข้อ คือ ข้อ 1.1 และข้อ 1.2 การกระทำตามที่บรรยายฟ้องมาแต่ละข้อเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร ก. ที่ออกให้แก่ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ความผิดดังกล่าวย่อมสำเร็จเมื่อจำเลยลักเอาบัตรดังกล่าวไป และโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อ 1.2 ว่าภายหลังการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 แล้ว จำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์เบิกถอนโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายโดยทุจริต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ธนาคาร ก. ผู้อื่นและประชาชน ดังนี้ การกระทำของจำเลยในข้อ 1.2 จึงเป็นคนละวาระกันกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ทั้งทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดก็แตกต่างกัน กล่าวคือ ทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 คือเงินจำนวน 92,640 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกัน การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดหลายกรรม หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1894/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: ฉ้อโกงประชาชนและทำให้สูญหายซึ่งเอกสาร ศาลฎีกาแก้โทษลงโทษฐานฉ้อโกงเท่านั้น
เหตุที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฟื้นฟูเกษตรกรไทย จังหวัดมหาสารคาม มีโครงการให้เกษตรกรกู้ยืมเงิน ก็เพื่อให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบโฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลยเพื่อใช้ประกอบการขอกู้ยืมเงิน แม้ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนกับความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะต่างวาระกัน แต่ก็เป็นเจตนาของจำเลยที่จะหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดเพื่อทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดนั่นเอง ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น จึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นกรรมเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8450/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานเอาเอกสารไปเสีย ต้องพิจารณาถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้อื่น มิใช่แค่กรรมสิทธิ์ในเอกสาร
ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 กฎหมายมุ่งคุ้มครองเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานในทำนองเดียวกันกับพินัยกรรมเป็นสำคัญ มิได้มุ่งถึงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในการเป็นเจ้าของกระดาษหรือวัตถุที่ทำให้ปรากฏความหมายเป็นเอกสารซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์ไว้เป็นการทั่วไปอยู่แล้ว คำว่า "เอาไปเสีย" ตามมาตรา 188 จึงมิได้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกับคำว่า "เอาไปเสีย" ที่ใช้ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 แต่หมายถึงเอาไปจากที่เอกสารนั้นอยู่ในประการที่น่าจะเกิดจากความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนที่อาจขาดเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐาน
ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีเป็นเอกสารที่โจทก์ร่วมจัดทำขึ้นมอบให้แก่จำเลยที่ 1 นำไปใช้เก็บค่าสินค้าซึ่งหากลูกค้าชำระค่าสินค้าจำเลยที่ 1 จะต้องมอบใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีให้ลูกค้าไป ส่วนสมุดบัญชีเงินฝากโจทก์ร่วมเปิดบัญชีเพื่อประโยชน์ในการหักทอนบัญชีหนี้สินระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่เกิดจากกิจการที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม โดย ว. หรือจำเลยที่ 1 คนใดคนหนึ่งลงชื่อประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมมีสิทธิเบิกถอนเงินได้ และเมื่อหักทอนบัญชีกันแล้วเงินคงเหลือก็คือค่าบำเหน็จตอบแทนการขายซึ่งตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งนับแต่เปิดบัญชีจำเลยที่ 1 เป็นผู้เบิกถอนเงินและเป็นผู้เก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝากตลอดมา ดังนั้น แม้ต่อมาโจทก์ร่วมได้ถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ต้องส่งคืนใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีรวมทั้งสมุดบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์ร่วม แต่จำเลยที่ 1 ยึดหน่วงไว้ไม่ยอมส่งคืนอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ร่วม ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในทางแพ่งยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5161/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลอกข้อมูลและเอกสารจากบริษัท ไม่ถือเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือเอาไปเสียซึ่งเอกสาร เนื่องจากข้อมูลไม่ใช่ทรัพย์และเอกสารไม่ใช่ความลับ
เอกสารข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือรับรองของบริษัท บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น งบบัญชีกำไร-ขาดทุน และ สำเนาหนังสือเดินทาง เป็นเอกสารที่บุคคลสามารถไปขอตรวจสอบและขอคัดสำเนาได้จากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์จึงไม่ถือเป็นความลับของบริษัทลูกค้าโจทก์ร่วมอันต้องปกปิด การที่จำเลยใช้เอกสารดังกล่าวปฏิบัติในหน้าที่ให้แก่โจทก์ร่วมเสร็จแล้วไม่นำกลับคืนแก่โจทก์ร่วม จึงไม่น่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหรือลูกค้าของโจทก์ร่วมต้องเสียหาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่โจทก์ร่วมหรือผู้อื่น
ข้อมูล ตามพจนานุกรมให้ความหมายว่า ข้อเท็จจริง หรือ สิ่งที่ถือหรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง สำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ ส่วนข้อเท็จจริง หมายความว่า ข้อความแห่งเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือที่เป็นอยู่จริง ข้อความหรือเหตุการณ์ที่จะต้องวินิจฉัยว่าเท็จหรือจริง ดังนั้นข้อมูลจึงไม่นับเป็นวัตถุมีรูปร่าง สำหรับตัวอักษร ภาพ แผนผัง และตราสารเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดความหมายของข้อมูลออกจากแผ่นบันทึกข้อมูล โดยอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ มิใช่รูปร่างของข้อมูล เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 137 บัญญัติว่า ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง ข้อมูลในแผ่นบันทึกข้อมูลจึงไม่ถือเป็นทรัพย์ การที่จำเลยนำแผ่นบันทึกข้อมูลเปล่าลอกข้อมูลจากแผ่นบันทึกข้อมูลของโจทก์ร่วม จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336-3337/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และทำลายเอกสาร โดยการกระทำของลูกจ้างที่ทุจริตต่อหน้าที่
บทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 84 หมายความว่า ผู้ใช้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยผู้ถูกใช้รู้ว่าการกระทำตามที่ถูกใช้เป็นความผิด หากผู้ถูกใช้กระทำความผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ หากผู้ถูกใช้ไม่กระทำผิดตามที่ถูกใช้ ผู้ใช้ต้องรับโทษหนึ่งในสามของโทษที่กำหนด คดีนี้ บ. เป็นนักการภารโรงไม่มีส่วนได้เสียในบัญชีเงินกู้และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างหรือให้ประโยชน์แก่ บ. ในการเผาทำลายบัญชีเงินกู้ จึงไม่มีเหตุที่ บ. ต้องเผาบัญชีเงินกู้ หาก บ. ทราบว่าการเผาทำลายบัญชีเงินกู้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย บ. ก็คงไม่กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เนื่องจาก บ. อาจต้องรับโทษโดยที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์ แต่ บ. ยอมเผาบัญชีเงินกู้ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาคงเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ บ. เผาบัญชีเงินกู้นั้น จึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะ บ. ผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ใช้ บ. เป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม
of 11