คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พิสิฏฐ์ สุดลาภา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8471/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเพิกถอนนิติกรรม: ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าอายุความสะดุดหยุดตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง
คดีเดิมศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องอายุความ แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง บัญญัติว่า การฟ้องเพิกถอนนิติกรรมตามมาตรา 1476 ที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งทำไปฝ่ายเดียว โดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีเดิมอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ครั้นศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องคดีเดิมโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีเดิมให้คู่ความฟังวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาศาลฎีกาคดีเดิมถึงที่สุด จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทเฉพาะมาใช้บังคับแก่อายุความ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 305/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยผิดสัญญาได้ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายจากพยานหลักฐาน ชอบแล้วตามกฎหมาย
การกำหนดค่าเสียหายเป็นการใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ต่างๆ สำหรับข้อวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญามาจากข้อเท็จจริงในสำนวนที่ว่าผู้ร้องไม่ส่งมอบงานงวดที่ 3 ไม่เข้าร่วมประชุมวันที่ 23 มีนาคม 2554 เพื่อปรับปรุงงานงวดที่ 3 ของกรมการค้าภายในและไม่เข้าร่วมประชุมวันที่ 24 มีนาคม 2554 กับคณะกรรมการตรวจรับงานงวดที่ 3 ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับงานมีมติให้ผู้รับจ้างแก้ไขงานงวดที่ 3 ให้เสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 หลังจากนั้นคณะกรรมการตรวจรับงานยังประชุมกับคณะทำงานของผู้คัดค้านอีกอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยผู้ร้องไม่เข้ามาดำเนินการใดในงวดที่ 3 ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยเห็นว่าข้อแก้ตัวต่างๆของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ดังนั้นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงชอบแล้ว การยอบรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดย่อมไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำพิพากษาของศาลแพ่งไม่ได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15087/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งมอบยาเสพติดระหว่างผู้ร่วมกระทำผิด และอำนาจศาลในการลงโทษฐานครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้ฟ้องไม่ตรง
จำเลยมอบเมทแอมเฟตามีนให้ อ. นำไปจำหน่ายเป็นการส่งมอบระหว่างผู้กระทำผิดด้วยกันไม่ถือเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ อ. แต่การที่จำเลยมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ อ. เพื่อนำไปจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นไม่ใช่การมอบให้ในลักษณะเด็ดขาดแต่เป็นการมอบให้ในลักษณะที่จำเลยกับ อ. ยังคงร่วมกันครอบครองเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวอยู่ แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวมา แต่เมื่อพิจารณาได้ความเช่นนั้น จึงต้องถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้องในรายละเอียด ทั้งจำเลยนำสืบอ้างฐานที่อยู่จึงไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่ได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นพิจารณาเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง