คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 238

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 137 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4750/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความคุ้มครองประกันภัยรถจักรยานยนต์จำกัดเฉพาะผู้เอาประกันภัยที่ระบุชื่อ แม้ผู้ขับขี่ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง
คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 โดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 นำรถจักรยานยนต์ไปประกันภัยกับจำเลยตามหนังสือรับรองการประกันภัย โจทก์ที่ 2 มอบให้โจทก์ที่ 1 ครอบครองใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวขับไปโรงเรียน ต่อมาโจทก์ที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ประสบอุบัติเหตุทำให้ได้รับบาดเจ็บและทุพพลภาพ ตามหนังสือรับรองการประกันภัยระบุคุ้มครองถึงการสูญเสียชีวิต การสูญเสียสายตาและทุพพลภาพถาวร... ตามรายชื่อผู้ครอบครอง/ผู้เอาประกันภัยที่ระบุด้านล่าง... แสดงว่า หนังสือรับรองการประกันภัยดังกล่าวคุ้มครองเฉพาะบุคคลที่ระบุชื่อไว้ในช่องผู้ครอบครอง/ผู้เอาประกันภัยเท่านั้น เมื่อช่องผู้ครอบครอง/ผู้เอาประกันภัย ระบุชื่อโจทก์ที่ 2 เท่านั้น มิได้ระบุชื่อโจทก์ที่ 1 ด้วย แม้โจทก์ที่ 1 จะเป็นผู้ครอบครองใช้รถจักรยานยนต์ก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19694/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแลกเปลี่ยนที่ดินราชพัสดุต้องครบถ้วนตามขั้นตอนกฎหมาย
คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยไว้แล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 238
ที่ดินโฉนดเลขที่ 2220 ของจำเลยที่ 2 มีสภาพเป็นที่ราชพัสดุการจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่เอกชนจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ ตามนัยของมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 การที่เจ้าของที่ดินเดิมของที่ดินโฉนดเลขที่ 31645 กับโรงเรียนบ้านโนนสังข์ทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกันถือเป็นเพียงการปฏิบัติในเบื้องต้นอันเป็นขั้นตอนหนึ่งในการจะโอนกรรมสิทธิ์เท่านั้น เพราะเหตุยังต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนอื่นๆ ตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการอีกหลายประการให้ครบถ้วนเสียก่อน เมื่อยังไม่มีการดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการจนครบถ้วน โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามสัญญาการแลกเปลี่ยนที่ดินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดของทายาทต่อหนี้จากการประมูลทอดตลาดที่ไม่สมบูรณ์ และอำนาจฟ้องของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้ตาย และแต่งตั้ง ก. เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. แทน ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกในคดีนี้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
อ. ผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม อ. ผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 516 แห่ง ป.พ.พ. การกระทำของ อ. ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง เนื่องจากโจทก์ผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งถือว่ามีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 280 (1) แห่ง ป.วิ.พ. กล่าวคือ เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หากขายได้ราคาสูงหรือต่ำย่อมมีผลต่อการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการบังคับเอาเงินส่วนที่ขาดไปจาก อ. ผู้สู้ราคาสูงสุดคนเดิม มิใช่เพียงแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดเท่านั้นที่จะมีอำนาจบังคับเอาจาก อ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10674/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานสรรพสามิต และการริบของกลางตาม พ.ร.บ.ยาสูบ
ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 136 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 พูดต่อผู้เสียหายที่ 2 กับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิตผู้มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับสรรพสามิตว่า "พวกมึงเป็นข้าราชการรังแกประชาชน แกล้งจับกู" ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควร แต่เป็นถ้อยคำดูถูก สบประมาทผู้เสียหายที่ 2 กับพวก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 136
แสตมป์ยาสูบของกลางที่อ้างแสดงอยู่บนซองบุหรี่ของกลางเป็นเครื่องอุปกรณ์ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 ต้องริบเป็นของกรมสรรพสามิตตาม มาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6086/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คดีชายคาล้ำที่ดิน vs. ฟ้องขับไล่ทั้งแปลง ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์
คดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนคดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านโดยมีชายคาและเสาค้ำชายคาล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทนี้ จำเลยให้การตอนแรกมีใจความสรุปว่า ที่ดินของจำเลยทางด้านทิศตะวันตกไม่ได้ติดกับที่ดินของโจทก์แต่ติดถนนสาธารณะ และให้การต่อมาว่าโจทก์ได้ที่ดินดังกล่าวมาโดยไม่ชอบไม่ทราบว่าขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในที่ดินพิพาทได้อย่างไรเนื่องจากเป็นถนนสาธารณะ จำเลยสร้างบ้านซึ่งโจทก์อ้างว่ามีชายคารุกล้ำมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน สิทธิของจำเลยดีกว่าโจทก์ ขอให้ยกฟ้องจึงเท่ากับเป็นการอ้างว่าที่ดินตามฟ้องเป็นถนนสาธารณะ และจำเลยมีสิทธิในที่ดินในส่วนที่รุกล้ำดีกว่าโจทก์เท่านั้น มิได้หมายความว่าจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยไม่ใช่ของโจทก์ เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลมีคำวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าชายคาบ้านดังกล่าวอยู่ในที่ดินตามฟ้องแต่อยู่ในที่ดินของจำเลยเองและพิพากษายกฟ้อง จึงไม่ได้เป็นการวินิจฉัยว่าที่ดินตาม น.ส.3 ก. ที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นของโจทก์หรือเป็นของจำเลย เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยและห้ามจำเลยคัดค้านการรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดที่ดินโดยอ้างว่าที่ดินตาม น.ส.3 ก. ดังกล่าวเป็นของโจทก์ทั้งแปลง จึงเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยในคดีก่อน ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8367/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้และธุรกิจเฉพาะ: การยกเลิกหุ้นส่วนและการคืนเงินลงทุน ไม่ใช่การขายทรัพย์สิน
สำหรับข้อหาที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางฟังมาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงเดียวกันกับข้อหาอื่นที่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันเกินกว่า 50,000 บาท ซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และทุกข้อหาตามฟ้องเกิดจากการที่โจทก์ได้รับเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับพิพาทเพียงฉบับเดียว แต่โจทก์ได้รับเงินเป็นงวดๆ และถูกประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นรายเดือนที่ได้รับเงินมาและถูกประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปีภาษีที่ได้รับเงินมานั้น หากโจทก์ผู้ถูกเรียกเก็บภาษีไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีดังกล่าว ย่อมเป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปัญหาว่าบุคคลใดต้องเสียภาษีหรือได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีโดยรับฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนและเป็นกรณีที่โจทก์อุทธรณ์ข้อเท็จจริงเดียวกันนั้นได้สำหรับข้อหาที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงมีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมาสำหรับข้อหาที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 246 และ 142 (5) ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
โจทก์กับ ส. ตกลงเป็นหุ้นส่วนซื้อที่ดิน ต่อมา จ. สามีของ ส. จดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าวและนำที่ดินนั้นไปจดทะเบียนจำนองโดยไม่ปรากฏว่า จ. เป็นตัวแทนของโจทก์และ ส. แต่อย่างใด ต่อมาโจทก์กับ ส. ขัดแย้งกันในการดำเนินงานหุ้นส่วน โจทก์กับ ส. ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกเลิกห้างหุ้นส่วนโดยตกลงคืนเงินทุนของโจทก์ เงินที่โจทก์ได้รับมาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นเงินทุนของโจทก์เอง มิใช่ค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเป็นหุ้นส่วนซึ่งจะถือได้ว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ส่วนของที่ดินให้แก่ ส. จึงมิใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่ง ป.รัษฎากร และมิใช่รายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5569/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้ซื้อในการยึดหน่วงราคาเมื่อทรัพย์สินชำรุด และขอบเขตการแก้ไขคำพิพากษาเรื่องค่าทนายความ
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารและส่งมอบทาวน์เฮ้าส์พิพาทคืนให้โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าออกไปจากทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ เป็นคดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง การวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247
โจทก์มอบอำนาจให้ ข. ทำสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น พร้อมที่ดินกับจำเลยในราคา 1,900,000 บาท จำเลยได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญาจำนวน 100,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น 6 งวด โดยจำเลยได้เข้าอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวและจำเลยชำระเงินให้โจทก์เป็นเวลา 5 งวด เมื่อทาวน์เฮ้าส์ที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยมีความชำรุดบกพร่องหลายแห่ง จำเลยจึงมีสิทธิให้โจทก์แก้ไขความชำรุดบกพร่องและยึดหน่วงยังไม่ต้องชำระราคาค่าซื้อในงวดสุดท้ายได้ การที่จำเลยยังไม่ชำระราคาค่าซื้องวดสุดท้าย เพราะโจทก์ยังมิได้แก้ไขความชำรุดบกพร่องจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และมาตรา 488

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4215/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่และบดบังทัศนียภาพ ทำให้เจ้าของที่ดินเสียหาย
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์ แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าอาจให้เช่าได้เดือนละ 60,000 บาท แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงเดือนละ 5,000 บาท โจทก์มิได้ฎีกา ส่วนจำเลยฎีกาโต้แย้งว่าค่าเสียหายควรต่ำกว่านั้น จึงถือได้ว่าเป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่อาจให้เช่าได้ขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง ศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
คำฟ้องโจทก์ตอนท้ายได้บรรยายแล้วว่า โจทก์ประสงค์จะนำที่ดินไปทำประโยชน์โดยทำเป็นท่าเรือขนส่งสินค้า จึงให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งบังหน้าที่ดินของโจทก์ทั้งหมดออกไป และบรรยายฟ้องต่อไปอีกว่า การที่จำเลยไม่รื้อถอนบ้านจำเลยบางส่วนแม้จะปลูกนอกเขตที่ดินโจทก์ แต่บังหน้าที่ดินทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้หน้าที่ดินที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาทำประโยชน์ได้ ขอให้รื้อถอนบ้านจำเลยบางส่วนออกไปจากหน้าที่ดินพิพาทด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เป็นกรณีที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่า การที่จำเลยใช้สิทธิปลูกบ้านในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือควรคาดหมายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์บังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านที่ปลูกบังหน้าที่ดินโจทก์ทั้งยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทนจากจำเลยได้อีก จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6238/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำแนกประเภทพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับกากกุ้ง: พิจารณาจากลักษณะ 'ป่น' ตามหลักเกณฑ์การตีความ
พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากรฯ กำหนดสินค้าตามประเภทพิกัด 0508.00 ว่า "หินปะการังและสิ่งที่คล้ายกันที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ ... เปลือกของสัตว์น้ำจำพวกโมลลุสก์ ครัสตาเซีย หรือเอคไคโนเดิร์ม และลิ้นทะเลที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ แต่ไม่ได้ตัดเป็นรูปทรง รวมทั้งผงและเศษของสิ่งดังกล่าวด้วย" และกำหนดสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 ว่า "ปลาหรือสัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซีย โมลลุสก์ สัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ที่ป่นที่ทำเป็นเพลเลต" เห็นว่า สินค้าที่จัดอยู่ประเภทพิกัด 0508.00 จำกัดว่าเป็นเปลือกของสัตว์น้ำจำพวกดังกล่าวรวมทั้งผงและเศษของสิ่งดังกล่าวที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ ส่วนสินค้าสัตว์น้ำจำพวกเดียวกันนี้ที่จัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 ไม่ได้จำกัดว่าเป็นเฉพาะเปลือก แต่กำหนดลักษณะว่าได้ป่นหรือได้ทำเป็นเพลเลต และคดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทตามใบขนสินค้าขาเข้าฯ แต่ละฉบับไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 25 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 238 ดังนั้น จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมาว่า สินค้ารายพิพาทเป็นกากกุ้งประกอบด้วยหัว เปลือก หาง และอาจมีเศษเนื้อติดอยู่บ้างที่เหลือจากการนำเนื้อกุ้งไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแล้ว มีลักษณะป่นเป็นผง เมื่อสินค้ามีลักษณะป่นเป็นผงจึงจัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 ตามวิธีการตีความที่ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากรฯ ภาค 1 หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร หลักเกณฑ์ ข้อ 3 (ก) ที่กำหนดไว้ว่า ของที่อาจจำแนกประเภทได้ตั้งแต่สองประเภทขึ้นไป ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะและประเภทอื่นระบุไว้อย่างกว้าง ๆ ให้จัดของนั้นเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4877/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดประเภทอัตราอากรสินค้ากากกุ้ง: พิจารณาจากสภาพสินค้า (ป่น/ทำเป็นเพลเลต) เพื่อวินิจฉัยตามพิกัดอัตราศุลกากร
ประเภทพิกัด 0508.00 ระบุว่า "หินปะการังและสิ่งที่คล้ายกัน ที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ... เปลือกของสัตว์น้ำจำพวกโมลลุสก์ ครัสตาเซีย หรือเอคไคโนเดิร์ม และลิ้นทะเล ที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ แต่ไม่ได้ตัดเป็นรูปทรง รวมทั้งผงและเศษของสิ่งดังกล่าว" และประเภทพิกัด 2301.20 ระบุว่า "ปลาหรือสัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซีย โมลลุสก์ สัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ที่ป่น ที่ทำเป็นเพลเลต" ดังนั้น เปลือกของสัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซียที่จัดอยู่ในประเภทพิกัด 0508.00 อัตราอากรร้อยละ 35 ควรจะต้องเป็นเปลือกของสัตว์น้ำที่ยังคงรูปร่างสมบูรณ์ของสภาพเดิมของสัตว์น้ำนั้น ๆ จึงได้ระบุไว้ว่าที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ แต่ไม่ได้ตัดเป็นรูปทรง ส่วนประเภทพิกัด 2301.20 อัตราอากรร้อยละ 10 นั้น ต้องอยู่ในสภาพป่นและที่ทำเป็นเพลเลต คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ พ.ศ. 2528 มาตรา 25 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ซึ่งศาลภาษีอากรกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สินค้าที่จำเลยนำเข้าเป็นกากกุ้งที่ได้จากการทำกุ้งแห้ง ประกอบด้วยหัว หาง เปลือก และมีเศษเนื้อติดมาบ้างเล็กน้อย นำเข้ามาเป็นอาหารสัตว์ แม้ไม่ปรากฏคำว่า "ป่น" หรือ "ทำเป็นเพลเลต" หรือไม่ แต่สภาพของกากกุ้งที่ได้จากการทำกุ้งแห้ง ย่อมไม่เหลือเค้าโครงเดิมของสภาพเปลือกกุ้งที่สมบูรณ์ โดยสภาพต้องอยู่ในสภาพป่น ๆ เพราะถูกคัดเอาเนื้อกุ้งส่วนดีออกไปแล้ว จึงต้องจัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 เสียอากรอัตราร้อยละ 10
of 14