คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 89/1

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 33 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3558/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ใบกำกับภาษีปลอม: ความรับผิดทางอาญาแยกจากความรับผิดทางแพ่ง แม้ชำระภาษีแล้วก็ยังมีความผิดอาญา
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนากระทำความผิด ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งขัดแย้งกับคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ป.รัษฎากร บัญญัติให้ผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม ต้องรับผิดทางแพ่งโดยเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 (7) และ 89/1 และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 90/4 (7) อีกทางหนึ่งด้วย การที่จำเลยทั้งสองชำระค่าภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามฟ้อง ข้อ 1.3 และ 1.4 ครบถ้วนก็เป็นเรื่องของความรับผิดทางแพ่งมีผลให้หนี้ภาษีอันเป็นหนี้ทางแพ่งระงับ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับความรับผิดทางอาญาหาใช่ทำให้ความรับผิดทางอาญาระงับไปด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3719/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ชำระบัญชีต้องรับผิดในหนี้ภาษีของบริษัท หากมีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้
จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 จึงต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีที่ต้องชำระแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระสะสางกิจการของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จสิ้นไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รวมทั้งถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ใช้หนี้ต้องมีหน้าที่วางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้น ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระหนี้ภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ก่อนหรือวางเงินเท่ากับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ตามกฎหมายก่อนที่จะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แต่จำเลยที่ 2 มิได้ชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวให้แก่โจทก์และได้แบ่งคืนทรัพย์สินไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายจากการที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำละเมิดต่อโจทก์ คงรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี จำเลยที่ 1 มีหนี้ภาษีธุรกิจเฉพาะค้างชำระแก่โจทก์เป็นเงินภาษี 1,493,353.17 บาท เบี้ยปรับ 746,676.59 บาท พร้อมเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องและภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,351,084.21 บาท แต่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 มีเงินสดคงเหลือมากกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดแก่โจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจำนวน 3,351,084.21 บาท แม้จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยไปพบเจ้าพนักงานและยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีตามผลการตรวจสอบ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีและเบี้ยปรับเงินเพิ่มแก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้วโดยชอบเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรและเบี้ยปรับเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จำนวน 3,351,084.21 บาท ซึ่งไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรืออัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7839-7840/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรขาเข้ากรณีสินค้าขาดหายในคลังสินค้า, การคิดเงินเพิ่มภาษี, และข้อยกเว้นตามมาตรา 78/2
เมื่อโจทก์เป็นผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ความรับผิดในค่าภาษีย่อมเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้า ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ การที่โจทก์นำหัวน้ำเชื้อสุราที่นำเข้ามาฝากเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป เป็นเพียงการชะลอการชำระค่าภาษีซึ่งอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 87 มาตรา 88 และ มาตรา 10 ทวิ วรรคสอง ที่ให้คำนวณตามพิกัดอัตราศุลกากรที่ใช้อยู่ในเวลาซึ่งได้ปล่อยของออกไป หากโจทก์นำสินค้าที่นำเข้าดังกล่าวออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรก็จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและอากรขาออกแก่ของที่ปล่อยออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ตามมาตรา 88 วรรคสอง แต่หากโจทก์นำสินค้าออกเพื่อบริโภคภายในประเทศ โจทก์ยังคงต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าตามมาตรา 10 ทวิ กรณีนี้โจทก์นำหัวน้ำเชื้อสุราวิสกี้จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและได้นำของเข้าเก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป ต่อมาโจทก์ขออนุมัติขนย้ายหัวน้ำเชื้อสุราดังกล่าวไปยังคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าของโจทก์ และปรากฏว่าหัวน้ำเชื้อสุราขาดหาย ไปจากจำนวนที่เคยจดแจ้งไว้ในใบขนสินค้าเดิมที่นำเข้าเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป โจทก์จึงไม่อาจนำปริมาณหัวน้ำเชื้อสุราที่ขาดหายไปก่อนนำเข้าคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าไปรวมกับปริมาณหัวน้ำเชื้อสุราที่คงเหลืออยู่แล้วถือว่าได้ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกอันจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 และแม้โจทก์จะอ้างว่าหัวน้ำเชื้อสุราที่ขาดหายไปเกิดจากการระเหยตามธรรมชาติที่เกิดจากขั้นตอนการจัดเก็บและหมักบ่มเป็นกระบวนการผลิตสุราวิสกี้ แต่เหตุดังกล่าวไม่ใช่การสูญหายหรือถูกทำลายโดยอุบัติเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา 95 ที่จะได้รับยกเว้นภาษีอากรได้ โจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับหัวน้ำเชื้อสุราที่ขาดหายไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปดังกล่าว
กรณีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นจากการนำเข้า โจทก์จึงต้องรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในวันที่ต้องชำระอากรขาเข้า โดยโจทก์มีหน้าที่ยื่นใบขนสินค้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานกรมศุลกากร พร้อมกับชำระอากรขาเข้าตามมาตรา 83/8 และมาตรา 83/9 แห่ง ป.รัษฎากร และถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อโจทก์ไม่ชำระหรือนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ โจทก์จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 การที่เจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 เริ่มคิดเงินเพิ่มนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2544 วันที่ 9 สิงหาคม 2544 และวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์นำเข้าและยื่นใบขนส่งสินค้าเพื่อนำของเข้าเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปอันเป็นวันที่ต้องชำระอากรขาเข้าจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายทอดตลาด: เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่นำส่ง ผู้ซื้อถูกหักภาษี โจทก์พ้นความรับผิด
ป.รัษฎากร มาตรา 83/5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการขายทอดตลาด ให้ผู้ทอดตลาดซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเสีย" และวรรคสองบัญญัติว่า "ให้ผู้มีหน้าที่นำส่งตามวรรคหนึ่ง นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยื่นรายการตามแบบนำส่งภาษีที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่และกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 52 และให้นำมาตรา 54 และมาตรา 55 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" ซึ่งตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าผู้จ่ายเงินตามมาตรา 50 และมาตรา 53 มิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่ง หรือตามจำนวนที่ขาดไป แล้วแต่กรณี" และมาตรา 54 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีไว้ตามมาตรา 50 หรือมาตรา 53 แล้ว ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีพ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษีเท่าจำนวนที่ผู้จ่ายเงินได้หักไว้แล้วนั้น และให้ผู้จ่ายเงินรับผิดชำระเงินภาษีจำนวนนั้นแต่ฝ่ายเดียว" จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลย นอกจากนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 308 แสดงให้เห็นว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ทำหน้าที่ทอดตลาด จึงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกันฟังได้ว่า ราคาหรือเงินได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ที่ผู้ซื้อนำมาชำระแก่กรมบังคับคดีเป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว การที่กรมบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์จนหมด โดยมิได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยตามมาตรา 83/5 จึงเป็นกรณีที่กรมบังคับคดีได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อและหักภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วแต่มิได้นำส่งแก่จำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินต้องรับผิดชำระเงินภาษีแต่ฝ่ายเดียว มีผลให้โจทก์พ้นความรับผิดที่จะต้องชำระเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเท่าจำนวนที่กรมบังคับคดีได้หักไว้แล้วนั้น ตามมาตรา 54 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10780/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มหลังชำระหนี้บางส่วน: ต้องคำนวณแยกแต่ละช่วงเวลาที่ชำระ
ภายหลังห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. โดยลูกหนี้ที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีกันยายน 2540 และได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มบางส่วน คงเหลือภาษีค้าง 26,000 บาท การคำนวณเงินเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89/1 ประกอบมาตรา 27 นั้นให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีหรือยื่นแบบนำส่งภาษีจนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่งภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง ดังนั้น เมื่อต่อมา ห้างฯ ชำระหนี้ภาษีแก่เจ้าหนี้และหักกลบลบหนี้ รวม 4 ครั้ง เงินที่ชำระแต่ละครั้งต้องนำไปหักกับภาษีมูลค่าเพิ่มค้าง ส่วนการคำนวณเงินเพิ่ม ต้องคิดจากยอดหนี้ภาษีค้างแต่ละช่วงที่เหลืออยู่ภายหลังหักชำระหนี้แต่ละครั้งแล้ว มิใช่นำเงินทั้งสี่จำนวนมารวมกันแล้วนำไปหักออกจากยอดภาษีค้างแล้วจึงคิดเงินเพิ่มเพียงครั้งเดียว ดังเช่นที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพราะเป็นการชำระหนี้คนละคราวต่างช่วงเวลากัน และลูกหนี้ที่ 1 ต้องรับผิดในส่วนของเงินเพิ่มไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8310/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า: ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อวางหลักประกันฯ ไม่ใช่เมื่อชำระภาษี
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 78/2 ไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการที่วางหลักประกันโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไว้เป็นพิเศษ ความรับผิดของโจทก์สำหรับสินค้าเครื่องจักรที่ไม่ได้รับอนุมัติให้ยกเว้นภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับผู้นำเข้าที่วางหลักประกันอากรขาเข้าอื่น กล่าวคือ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนี้เกิดขึ้นเมื่อโจทก์วางหลักประกันอากรขาเข้า เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเวลาที่โจทก์วางหลักประกันอากรขาเข้า โจทก์คงนำเงินไปชำระค่าภาษีอากรภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการประเมิน จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรครบถ้วนในกำหนดเวลาตามมาตรา 78/2 โจทก์จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) และรับผิดชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8301/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้ากรณีวางหลักประกันและการชำระภาษีล่าช้า
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 78/2 ไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในกรณีนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเป็นการเฉพาะ ความรับผิดของโจทก์สำหรับสินค้าเครื่องจักรที่ไม่ได้รับอนุมัติให้ยกเว้นภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับผู้นำเข้าที่วางหลักประกันอากรขาเข้าอื่น กล่าวคือ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนี้เกิดขึ้นเมื่อโจทก์วางหลักประกันอากรขาเข้า แม้โจทก์จะนำเงินไปชำระค่าภาษีอากรภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการประเมินก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรครบถ้วนในกำหนดเวลาตามมาตรา 78/2 โจทก์จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89 (3) และรับผิดชำระเงินเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8300/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้รับการยกเว้นอากร ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อวางหลักประกัน
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 78/2 ไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในกรณีนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเป็นกรณีพิเศษ ความรับผิดของโจทก์สำหรับสินค้าเครื่องจักรที่ไม่ได้รับอนุมัติให้ยกเว้นภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับผู้นำเข้าที่วางหลักประกันอากรขาเข้าอื่น กล่าวคือ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนี้เกิดขึ้นเมื่อโจทก์วางหลักประกันอากรขาเข้า แม้ขณะโจทก์นำเข้าสินค้า เครื่องจักรบางรายการยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยโจทก์วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นหลักประกันการชำระภาษีอากรเพื่อโจทก์จะได้นำสินค้าพิพาทออกจากอารักขาของกรมศุลกากรและต่อมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้อนุมัติยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าบางส่วนและบางส่วนให้ชำระอากร หลังจากนั้นโจทก์นำเงินไปชำระค่าภาษีอากรภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการประเมินก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในเวลาที่โจทก์วางหลักประกันอากรขาเข้า จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรครบถ้วนในกำหนดเวลาตามมาตรา 78/2 อันจะเป็นเหตุทำให้ไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10698/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใบกำกับภาษีปลอม: ผู้รับประโยชน์ต้องพิสูจน์ตัวตนผู้ออก หากพิสูจน์ไม่ได้ ถือเป็นใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หนังสือแจ้งการประเมินแต่ละฉบับได้แสดงเหตุผลที่ประเมินว่า โจทก์แสดงยอดซื้อสูงไปเป็นเงินจำนวนเท่าใด และนำภาษีซื้อต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 (3) มาถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเป็นเงินจำนวนเท่าใด จึงชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง แล้ว
หลังจากที่โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์เพิ่มเติม แล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีความเห็นว่าหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งเจ้าพนักงานผู้ออกคำสั่งสามารถจัดให้มีเหตุผลเพิ่มเติมภายหลังได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ การประเมินจึงชอบแล้ว
ใบแนบเพื่อแจ้งเหตุผลเพิ่มเติมนั้นเป็นปัญหาในเรื่องรูปแบบการทำคำสั่งทางปกครองไม่ใช่เนื้อหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ในการเสียภาษีอากรที่จะต้องอุทธรณ์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัย โดยโจทก์สามารถยกปัญหาที่เกี่ยวกับการทำคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบขึ้นกล่าวอ้างฟ้องต่อศาลโดยไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมิน ดังนั้น แม้โจทก์จะยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้ก็ไม่มีผลทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบ
จำเลยส่งใบแนบหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มภายหลังจากที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมิน เมื่อส่งให้แก่โจทก์ก่อนสิ้นสุดกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ การส่งใบแนบจึงชอบแล้ว
กรณีที่โจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อล่วงเลยระยะเวลาเพราะจำเลยมิได้ดำเนินการทำคำสั่งทางปกครองภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับอุทธรณ์นั้น เห็นว่า พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 47 บัญญัติว่า การใดที่กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ขอบเขตการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และ ป.รัษฏากร มาตรา 32 ได้บัญญัติขอบเขตในการพิจารณาอุทธรณ์โดยให้มีอำนาจดำเนินการไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ต้องนำระยะเวลาที่กำหนดให้วินิจฉัยอุทธรณ์แล้วแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 45 มาใช้ สำหรับกรณีที่จำเลยไม่ได้จัดส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์แก่โจทก์ภายใน 7 วันนั้น เห็นว่า ระยะเวลาดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่กำหนดขึ้นเพื่อเร่งรัดการปฏิบัติหน้าที่ราชการของข้าราชการจำเลย ไม่มีผลถึงขนาดทำให้เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้การที่เจ้าพนักงานไม่ได้จัดทำคำวินิจฉัยให้มีข้อความตรงกัน 2 ฉบับนั้น ก็เป็นเพียงแต่เอกสารในส่วนของคำวินิจฉัยที่อยู่ที่เจ้าพนักงานมีรายการคำนวณภาษีเงินเพิ่มและเบี้ยปรับดังกล่าวก็มีปรากฏอยู่ในข้อ 1 เช่นเดียวกัน การที่คำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่มีข้อความตรงกับที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ทำให้เป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบ
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์นำใบกำกับภาษีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการและใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลภาษีอากรกลางจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่าเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2542 มีการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน 26,568 บาท ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติให้ลดเบี้ยปรับ คงเรียกเก็บเพียงหนึ่งในสามของเบี้ยปรับตามกฎหมาย แม้คำนวณเงินเพิ่มเท่ากับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระตามกฎหมายแล้ว ก็ยังมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยให้เฉพาะในส่วนเดือนภาษีนี้
ส่วนเดือนภาษีอื่น เหตุผลที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มคือโจทก์นำใบกำกับภาษีที่ออกโดยกลุ่มบริษัทที่ออกใบกำกับภาษีโดยมิชอบมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า โจทก์ซื้อขายสินค้าตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยกลุ่มผู้ประกอบการที่ถูกตรวจสอบว่าสงสัยว่าจะเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเนื่องจากโจทก์เป็นผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งถือว่าค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง การที่โจทก์มีการใช้น้ำมันในปริมาณสูงมาเปรียบเทียบกับรายรับของโจทก์ตามสัญญาจ้างที่โจทก์นำส่งในชั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในชั้นตรวจสอบ จำเลยจึงได้พิจารณาต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมันให้โจทก์เป็นเงินจำนวน 36,330,230.75 บาท เป็นการพิจารณาที่เป็นคุณแก่โจทก์มากแล้วนั้น เห็นได้ว่า เมื่อโจทก์เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการออกใบกำกับภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากใบกำกับภาษี พฤติการณ์ที่โจทก์นำสืบมาเป็นกรณีที่โจทก์ผู้ได้รับประโยชน์จากใบกำกับภาษีไม่สามารถนำสืบได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีพิพาท จึงถือว่าใบกำกับภาษีที่โจทก์นำมาใช้ในการคำนวณภาษีเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นใบกำกับภาษีปลอมตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89 (7) วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อโจทก์นำใบกำกับภาษีดังกล่าวมาใช้จึงต้องเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่า ของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 89 (7) และเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับแก่โจทก์คงเหลือหนึ่งในสามของเบี้ยปรับตามกฎหมายนับว่าเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3108/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์โดยการบังคับคดี: หน้าที่ในการเสียภาษีของผู้ถูกบังคับคดี
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสองเห็นว่า การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นเป็นการมิชอบ ศาลภาษีอากรกลางแจ้งว่าในประเด็นที่เกี่ยวกับเงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่นเป็นประเด็นย่อย ซึ่งอยู่ในประเด็นหลักที่ว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ จึงไม่ได้กำหนดประเด็นย่อยในการชี้สองสถานไว้นั้น เมื่อตามรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดชี้สองสถานและสำนวนความ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง โดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลสั่งกำหนดประเด็นข้อพิพาท ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 20 ประกอบข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 21 วรรคท้าย จึงต้องถือว่าประเด็นข้อพิพาทมีอยู่ตามที่ศาลภาษีอากรกลางชี้สองสถานและได้กำหนดไว้
แม้ว่าการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเพื่อชำระให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ทั้งสองไม่จำต้องอาศัยความสมัครใจของโจทก์ทั้งสอง เมื่อเข้าลักษณะเป็นกรณีจำหน่ายจ่ายโอนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสอง ย่อมต้องด้วยนิยามคำว่า "ขาย" ตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น อันเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วย พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (6) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามการประเมิน ซึ่งหน้าที่ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นเป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองยังคงต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากร จะอ้างว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการขายทอดตลาดมิใช่หน้าที่ของโจทก์ทั้งสองหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่เสียหรือนำส่งภาษีธุรกิจเฉพาะภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับตามมาตรา 91/21 (6) ประกอบมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเสียภาษีส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
of 4