คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 56 วรรคแรก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 318/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อ, การแก้ไขคำให้การ, และเหตุบรรเทาโทษในคดีฉ้อโกง
คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แม้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยยังคงต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา การที่คดียังไม่ถึงที่สุดไม่ใช่เหตุที่จะนำมานับโทษต่อไม่ได้
จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การจากให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพในชั้นฎีกาได้ เพราะการแก้ไขคำให้การต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา แต่การยื่นคำร้องดังกล่าวถือเป็นการรับข้อเท็จจริงว่ากระทำความผิดโดยไม่โต้แย้งคำพิพากษาลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2
จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยเป็นทนายความ ทำให้โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลย เป็นการกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คำนึงถึงความเสียหายและความเดือดร้อนของผู้อื่น ไม่มีเหตุรอการลงโทษ แต่การนำเงินค่าเสียหายมาวางต่อศาลเพื่อชดใช้แก่โจทก์ เป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งคดี ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6576/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรอการกำหนดโทษในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่มีโทษจำคุก ศาลฎีกาตัดสินว่าไม่สามารถรอการกำหนดโทษได้
ป.อ. มาตรา 56 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกและในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน... ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้... ก็ได้" ดังนั้น การที่ศาลจะรอการกำหนดโทษจำเลยได้นั้นต้องปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดซึ่งกฎหมายบัญญัติให้มีโทษจำคุก เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 28 (1) ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง คือ ปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทโดยไม่มีโทษจำคุก ดังนั้น การกระทำความผิดของจำเลยฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ของผู้เสียหายด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงจึงเป็นความผิดที่ไม่อาจรอการกำหนดโทษตาม ป.อ. มาตรา 56 วรรคแรกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7586/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดุลพินิจศาลในการลงโทษคดีลักทรัพย์และการรอการลงโทษจำคุก พิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีและสภาพจำเลย
ป.อ. มาตรา 56 วรรคแรก บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดให้เหมาะสมแก่สภาพของผู้กระทำความผิดในแง่อัตวิสัย หาใช่บทบังคับให้ศาลต้องรอการลงโทษจำคุกแก่ผู้กระทำความผิดตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เสมอไปไม่
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) วรรคแรก มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจวางโทษก่อนลดให้จำคุกจำเลย 6 เดือน จึงเป็นการลงโทษจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขกำหนดโทษให้เป็นไปตามบทกฎหมายได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4705/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ชิงทรัพย์ vs. ลักทรัพย์: การขอเงินด้วยท่าทางข่มขู่ไม่ถึงขั้นขู่เข็ญใช้กำลัง
การที่จำเลยซึ่งไม่เคยรู้จักกับผู้เสียหายมาก่อน เดินตรงเข้ามาหาผู้เสียหายขณะรอรถยนต์โดยสารเพื่อจะกลับบ้านหน้าโรงเรียนมีท่าทางขึงขัง ลักษณะจะทำร้ายผู้เสียหายพร้อมกับแบมือ และพูดว่าขอเงิน 1 บาท ผู้เสียหายส่งเงินให้ไป 1 บาท หลังจากนั้นจำเลยได้เดินไปขอเงิน 1 บาทกับนักเรียนอื่นอีกคนหนึ่ง ดังนี้จำเลยเพียงแต่ขอเงินผู้เสียหาย โดยยังไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ฉะนั้นที่ผู้เสียหายเห็นจำเลยมีท่าทางขึงขังและคิดว่าจะทำร้ายตนนั้นเป็นเพียงลักษณะท่าทางวัยรุ่นที่มีความประพฤติไม่เรียบร้อยด้วยการแสดงอำนาจบาตรใหญ่มากกว่า ซึ่งยังไม่พอฟังว่าเป็นลักษณะขู่เข็ญว่าในทันใดจะใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์(เพียงแต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์) พฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นเรื่องที่จำเลยแสดงอำนาจบาตรใหญ่อยู่บ้าง แต่จำเลยได้พูดขอเงินจากนักเรียนที่บริเวณหน้าโรงเรียนในเวลากลางวันเพียงคนละ 1 บาทเท่านั้น หลังจากนั้นจำเลยนำเงินไปซื้อก๋วยเตี๋ยวรับประทานเพื่อบรรเทาความหิวโหย ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงสมควรรอการลงโทษจำคุก และวางมาตรการคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย