คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ม. 44 (เดิม)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1165/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินจัดสรรที่เป็นที่ดินสาธารณูปโภคเป็นโมฆะ ผู้ซื้อไม่สุจริตต้องคืนที่ดิน
จำเลยร่วมที่ 1 ได้โฆษณาหรือให้คำรับรองแก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในโครงการว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในแผ่นพับโฆษณาและแผนผังโครงการ แม้จะมิได้มีการจดแจ้งให้ปรากฏในโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็ไม่ทำให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่เป็นที่ดินสำหรับสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะโดยเปลี่ยนเป็นที่ดินสำหรับจัดสรรเพื่อขายไปได้ โดยถือว่าข้อความในแผ่นพับโฆษณาและแผนผังโครงการเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกรายตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 และถือว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงรวมทั้งสระว่ายน้ำและสวนหย่อมที่ได้จัดทำขึ้นแล้วบนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65722 เป็นสาธารณูปโภคและตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง
การที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะโดยพลการก็โดยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยมีเงื่อนไข ข้อจำกัดทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ สำหรับการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะไปยังบุคคลอื่นก็อาจทำให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับความเดือดร้อนเสียหายลักษณะเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้นแล้ว ผู้จัดสรรที่ดินก็ต้องดำเนินการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (1) (เดิม) หรือหากไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ผู้จัดสรรที่ดินต้องเป็นผู้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน หรือผู้จัดสรรที่ดินต้องจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (2) หรือ (3) (เดิม) ประการหนึ่งประการใด ดังนี้ การที่ผู้จัดสรรที่ดินโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อสาธารณะไปยังบุคคลอื่นจึงเป็นนิติกรรมที่ไม่อาจกระทำได้ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33
การซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65722 ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยร่วมที่ 2 การขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างจำเลยร่วมที่ 2 กับโจทก์ และการซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65657 ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับโจทก์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดเพชรบุรี จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
จำเลยได้จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโดยชอบด้วย พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้วจำเลยร่วมที่ 1 ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอันเป็นสาธารณูปโภคให้แก่จำเลยไปจัดการและดูแลบำรุงรักษาตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (1) (เดิม) โดยโจทก์ไม่มีสิทธิเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4240/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินที่เป็นสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์ ผู้จัดสรรที่ดินพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ที่ดินพิพาทเป็นถนนที่จำเลยที่ 1 จัดให้มีขึ้นเป็นสาธารณูปโภคเพื่อการจัดสรรที่ดิน จึงตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ซึ่งจำเลยที่ 1 หรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปมีหน้าที่บำรุงรักษาที่ดินพิพาทให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดสรรที่ดิน และ ป.พ.พ. มาตรา 1390 แต่จำเลยที่ 1 และผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปมีสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทอันเป็นสาธารณูปโภคของที่ดินจัดสรรให้เป็นสาธารณประโยชน์เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาที่ดินพิพาทได้ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ย่อมเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปและมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เพียงแต่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 มีหน้าที่บำรุงรักษาที่ดินพิพาทและมีสิทธิอุทิศที่ดินพิพาทอันเป็นสาธารณูปโภคของที่ดินจัดสรรให้เป็นสาธารณประโยชน์เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาที่ดินพิพาทตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ได้
ต่อมาขณะที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ ได้มี พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งมาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน เช่น ถนน สวน สนามเด็กเล่น ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ เช่นเดียวกับประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง และมีบทเฉพาะกาล มาตรา 70 วรรคสาม บัญญัติว่า การพ้นจากความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภค ให้นํามาตรา 44 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยมาตรา 44 วรรคหนึ่ง (เดิม) บัญญัติว่า ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 43 เมื่อได้มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามลำดับ ดังต่อไปนี้ ...(3) ผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ ดังนี้ บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการเพื่อให้พ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคที่แตกต่างจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งถูกยกเลิกแล้ว จึงต้องใช้พ.ร.บ. ดังกล่าวบังคับแก่คดีนี้ แต่เมื่อตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 70 วรรคสาม ให้นํามาตรา 44 (เดิม) มาใช้บังคับโดยอนุโลม จึงต้องพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ที่บุคคลต่าง ๆ มีอยู่ก่อนแล้วตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ประกอบด้วย การนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้นหมายความเพียงว่า ให้ใช้บังคับเท่าที่จะบังคับได้ เมื่อตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง กำหนดให้ผู้จัดสรรที่ดินมีอำนาจอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 44 (เดิม) บัญญัติให้ผู้จัดสรรที่ดินพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคเมื่อได้โอนทรัพย์สินให้เป็นสาธารณประโยชน์ การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นสาธารณประโยชน์จึงชอบแล้ว แม้บุคคลทั่วไปนอกจากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรสามารถใช้สอยที่ดินพิพาทในฐานะเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้ แต่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรยังคงใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางภาระจำยอมได้เป็นปกติดังเดิม ไม่ทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแต่ประการใด จึงไม่ขัด ต่อ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ