คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
จตุรงค์ นาสมใจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 73 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 586/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาร่วมลงทุน: การรับผิดชอบซื้อหุ้นคืนตามสัดส่วนและหนี้ที่มีลูกหนี้หลายคน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า บันทึกข้อตกลงและสัญญาร่วมลงทุนไม่เป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 กลับอุทธรณ์และฎีกาว่าบันทึกและสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะโดยอ้างเหตุผลขึ้นใหม่นอกเหนือจากคำให้การ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้จึงไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ข้อตกลงตามสัญญาระบุให้จำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 3 และหรือจำเลยที่ 4 และหรือจำเลยที่ 5 รับผิดซื้อหุ้นทั้งหมดคืนจากโจทก์ตามสัดส่วนการถือหุ้น จึงเป็นกรณีที่เป็นหนี้ที่มีลูกหนี้หลายคนอันจะแบ่งกันชำระได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 290 การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จึงขัดต่อมาตรา 290 และข้อสัญญาดังกล่าว การวินิจฉัยขัดต่อข้อกฎหมายและข้อสัญญาเช่นนี้ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 5 ไม่ฎีกา ก็สมควรให้มีผลถึงจำเลยที่ 5 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลาภมิควรได้จากการถมดินในที่ดินที่เพิกถอนการขายทอดตลาด สิทธิของเจ้าของเดิมได้รับการคุ้มครอง
แม้คดีที่จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และโจทก์มิได้ฎีกาทำให้คดีถึงที่สุด แต่ภายหลังพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 (1) ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบ ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวเปิดช่องให้สามารถทำได้ไม่ต้องห้าม เพราะเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดี และหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบตามที่โจทก์ยื่นคำร้อง ย่อมมีผลทำให้โจทก์ไม่จำต้องฟ้องเรียกดินที่ถมเป็นคดีนี้ แม้ต่อมาศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ว่าการยื่นคำร้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ใช้สิทธิตามช่องทางที่มีกฎหมายรองรับ จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายหาใช่เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต เมื่อคดีที่โจทก์ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ว่าการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 30 มีนาคม 2553 การที่โจทก์ฟ้องเรียกดินที่ถมในที่ดินพิพาทคืนเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 จึงยังไม่พ้นอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 แม้ต่อมาจำเลยจะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท แต่ตราบใดคดีที่จำเลยขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดโจทก์ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่จะใช้สอยที่ดินพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ถมดินในที่ดินพิพาทก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและคดีถึงที่สุดจึงย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ และกรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่โจทก์สมัครใจถมดินในที่ดินพิพาทตามอำเภอใจตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โดยรู้อยู่ว่าอาจมีการเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทภายหลังได้ ส่วนข้อสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยหาอาจนำมาอ้างให้เสื่อมสิทธิของโจทก์และเป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ เพราะเป็นข้อตกลงที่โจทก์มีต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี หาได้เกี่ยวและมีผลผูกพันจำเลย แต่เมื่อจำเลยได้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยได้ดินที่โจทก์ถมไว้โดยสุจริตในที่ดินพิพาทไปด้วย อันทำให้มูลค่าที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สิ่งใดที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยต้องคืนดินที่ถมในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ปรับปรุงถมดินเต็มเนื้อที่ในที่ดินพิพาทเพื่อจะปลูกสร้างบ้านเป็นเวลาล่วงเลยมานานถึง 12 ปี ดินที่โจทก์นำมาถมย่อมเปลี่ยนแปลงสภาพเกลื่อนกลืนกับที่ดินพิพาทของจำเลยไปตามกาลเวลากลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 139 แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนดินที่ถมหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนก็ตาม ก็ไม่อาจคืนดินที่ถมไปแล้วให้แก่โจทก์ได้ แต่การที่โจทก์ขอให้ใช้ราคาแทนดินที่ถม ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เสียไปอันทำให้ที่ดินของจำเลยมีราคาสูงขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 417 ที่บัญญัติให้โจทก์เรียกจากจำเลยได้ก็เพียงเท่าราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 1 ไร่ 38 ตารางวา และโจทก์ถมดินไป 3,000 คิว ประกอบกับสภาพสถานที่ตั้งของที่ดิน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีแล้วเห็นควรกำหนดให้จำเลยใช้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 510,000 บาท
ตราบใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้มีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุด การที่โจทก์ถมที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน และมีการตัดต้นไม้ในที่ดินพิพาทเพื่อถมดิน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎหมายในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ หาเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยไม่ และแม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ถึงที่สุดดังกล่าวจะมีผลเท่ากับว่าไม่มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทมาแต่แรก ทำให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ล.5 ไม่มีผลบังคับ แต่ก่อนที่ผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะถึงที่สุด สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 อยู่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18368/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเพิกถนิติกรรมซื้อขายที่ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ แม้มีการฟ้องคดีปล่อยทรัพย์พิพาทมาก่อน
แม้ชั้นบังคับคดีในคดีก่อน จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่ยึด โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) ไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง โดยอ้างเหตุแห่งการนั้นเช่นเดียวกับคำฟ้องคดีนี้ก็ตาม ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) ฟ้องจำเลยที่ 3 (จำเลยที่ 1 คดีนี้) ต่อศาลแขวงนครราชสีมาและศาลมีคำพิพากษาให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) แล้ว ถือว่าผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) เป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จึงอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน การทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้อง (จำเลยที่ 4 คดีนี้) กับจำเลยที่ 3 (จำเลยที่ 1 คดีนี้) จะทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใดไม่มีประเด็นพิจารณาในคดีก่อน ดังนี้ คดีก่อนศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะและการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการสมคบกันทำการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสี่คดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีในประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกันอันจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15315/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมเอกสารสิทธิเพื่อขอสินเชื่อธนาคาร ผู้เสียหายมีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ และการปรับบทมาตรา 265
มีผู้ปลอมสัญญาจะซื้อจะขายโดยมีการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในฐานะผู้จะขายแล้วนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปใช้ติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ย่อมทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้
ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยเอกสารหลายประเภท ดังที่บัญญัติว่า "ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ" เมื่อเอกสารที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ใช้เป็นเอกสารสิทธิอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265 จึงต้องปรับบทและนำโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 265 มาใช้บังคับแก่คดี ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 265 นั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13875/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาผูกพันรับผิดชอบหนี้จากการออกหนังสือค้ำประกัน ไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตามกฎหมาย
สัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์ หากโจทก์ต้องชำระหนี้จากการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อบริษัท อ. จำเลยที่ 1 จะรับผิดชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์นั้นเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 แสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงจึงมิใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอนั้น เมื่อบริษัท อ. มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับอ้างว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัท อ. และเมื่อโจทก์ชำระเงินจำนวน 10,000,000 บาท ให้แก่บริษัทดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวไป จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในฐานะผู้จำนอง และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จำนำ ย่อมต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน สัญญาจำนอง และสัญญาจำนำด้วย
จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า บริษัท อ. เป็นฝ่ายผิดสัญญากับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่มีความรับผิดต่อบริษัท อ. โดยจำเลยที่ 1 ทำหนังสือแจ้งให้โจทก์ระงับการจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันแล้วนั้น เห็นว่า ข้อต่อสู้ดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท อ. ซึ่งตามคำขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะโต้แย้งหรือยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้กับโจทก์ในการที่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้หรือโต้แย้งกับบริษัท อ. เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องไปว่ากล่าวเอากับบริษัท อ. เองต่างหาก จำเลยทั้งห้าจะอ้างเหตุดังกล่าวให้ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์มิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7793-7794/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลอุทธรณ์และการใช้บังคับค่าธรรมเนียมศาลเดิมที่เกิดขึ้นก่อนการรวมสำนวนคดี
ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า ถือว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ยังคงไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ และอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์เช่นนี้ แสดงว่าศาลชั้นต้นพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลแล้วว่า ไม่มีข้อเท็จจริงใดอันจะทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวเป็นอย่างอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156/1 วรรคสาม และคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์เช่นนี้ ย่อมรวมถึงเงินที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ตามมาตรา 157 ด้วย ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 วางเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา 229 จึงเป็นคำสั่งไม่ชอบ แม้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จะนำเงินบางส่วนมาวางศาล ย่อมไม่มีผลผูกพันให้ต้องนำเงินส่วนที่ขาดมาวางเพิ่มเติมเป็นค่าธรรมเนียมใช้แทนในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ตามมาตรา 229

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6793/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องคดีอาญาหลังศาลอุทธรณ์เปลี่ยนฐานความผิดเป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์มีสิทธิถอนฟ้องได้ก่อนคดีถึงที่สุด
แม้โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นคดีความผิดต่อแผ่นดิน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงและลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม และยังไม่มีคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงแก้ไข กรณีย่อมถือว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งโจทก์ชอบที่จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยจำเลยไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6368/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืน แม้ใช้ร่วมกันได้ ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
การมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง ส่วนการมีกระสุนปืนที่สามารถใช้ร่วมกันได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นความผิดตามมาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง การที่กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตรา ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์จะแยกความผิดสองฐานนี้ออกจากกัน แม้ว่าจำเลยจะมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองในเวลาเดียวกัน อาวุธปืนและกระสุนปืนใช้ร่วมกันได้ การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้องจึงไม่อาจแก้ไขให้เรียงกระทงลงโทษในส่วนนี้ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวง: คดีครอบครองปรปักษ์ที่มีการโต้แย้งกรรมสิทธิ์และราคาประเมินไม่เกิน 300,000 บาท
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดิน 29 แปลง ซึ่งการพิจารณาคดีศาลจะต้องแยกพิจารณาที่ดินแต่ละแปลงออกต่างหากจากกัน รวมถึงเมื่อพิจารณาแล้วจะต้องพิพากษาตามคำขอของโจทก์เป็นรายแปลง แม้โจทก์จะมีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่เมื่อจำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีที่มีการกล่าวแก้ข้อพิพาทว่าด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดิน อันเป็นคดีมีทุนทรัพย์ มิใช่คดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อีกต่อไป เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาที่ดินพิพาทไร่ละ 12,000 บาท และคำนวณราคาที่ดินพิพาทแต่ละแปลงแล้วไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนคดีนี้ไปยังศาลแขวงพิษณุโลกตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย นั้น ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3231/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชัดเจน-เกินสองแสน-ฟังข้อเท็จจริงนอกคำให้การ ศาลฎีกาคืนค่าขึ้นศาล
ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการฎีกา บัญญัติให้คู่ความผู้ยื่นฎีกาต้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างไว้ให้ชัดแจ้งในฎีกา แต่ฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงแต่อ้างข้อเท็จจริงที่ได้จากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยมาแสดงประกอบคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น แล้วอ้างว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้และตามคำให้การที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ไว้ เมื่อปรากฏว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ถูกกลับโดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และฎีกาของจำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ไม่ถูกต้องอย่างไร และที่ถูก ต้องเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น เมื่อข้อต่อสู้ตามฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า ศาลชั้นต้นมิได้ฟังข้อเท็จจริงนอกคำให้การ ไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง และมาตรา 177 ดังกล่าวเป็นฎีกาในข้อกฎหมายที่ไม่ชัดแจ้ง ทั้งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงเพื่อการวินิจฉัยอันมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และคดีในส่วนของโจทก์แต่ละคนมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่มิชอบ และไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย แม้ศาลฎีกาจะมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นดังกล่าว กรณีก็ไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยให้
of 8