คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 15

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14863/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพการจ้างที่เลือกปฏิบัติต่อเพศขัดต่อกฎหมาย และโมฆะ
เดิมผู้ร้องกำหนดเกษียณอายุของพนักงานชายเมื่ออายุ 55 ปี พนักงานหญิงเมื่ออายุ 45 ปี ต่อมาสหภาพแรงงานทอผ้า ม. ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานในกิจการของผู้ร้องและผู้ร้องต่างแจ้งข้อเรียกร้อง จนมีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดให้พนักงานหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุ 47 ปี แม้การทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จะเกิดขึ้นจากเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำกันขึ้นนั้นจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 15 บัญญัติให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้ ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านจะเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงานทอผ้า ม. เข้าร่วมเจรจาและทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวด้วยก็ตาม แต่เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในส่วนที่กำหนดให้พนักงานหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 47 ปี แตกต่างจากกำหนดเกษียณอายุของพนักงานชายเมื่ออายุครบ 55 ปี โดยไม่ปรากฏว่าลักษณะหรือสภาพของงานแตกต่างกัน จึงเป็นการปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยไม่เท่าเทียมกัน ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 15 ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ผู้ร้องจึงต้องให้ผู้คัดค้านเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปี เท่าเทียมกับลูกจ้างชาย กรณีจึงไม่มีเหตุอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการเกษียณอายุได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7400/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างด้วยเหตุเกษียณอายุและการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ การฟ้องร้องโดยไม่สุจริต
จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่อครบ 55 ปี เมื่อโจทก์อายุครบ 55 ปี จำเลยให้โจทก์ทำงานต่อไป เมื่อโจทก์อายุ 55 ปีเศษ โจทก์ไปพูดกับผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยว่าน่าจะให้โจทก์เกษียณอายุการทำงานได้แล้ว และโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อความระบุว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายค่าชดเชยเป็นการเลิกจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมายกล่าวคือ เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมและเป็นการกระทำที่เป็นธรรมแก่โจทก์แล้วโจทก์สัญญาว่าจะไม่ติดใจเรียกร้อง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือเงินใด ๆ จากจำเลยอีก จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร้องขอให้จำเลยเลิกจ้างและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1562/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดเกณฑ์เกษียณอายุตามตำแหน่งงาน ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ หากหลักเกณฑ์เดียวกัน
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 15 ที่บัญญัติว่า "ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้" เป็นการกำหนดหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างให้เท่าเทียมกันในการจ้างงาน ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างมีเพศแตกต่างกันเท่านั้น มีข้อยกเว้นให้ปฏิบัติแตกต่างกันได้ก็ต่อเมื่อลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติให้เท่าเทียมกันได้ ปรากฏว่าคำสั่งของผู้ร้องที่ให้ลูกจ้างเกษียณเมื่ออายุแตกต่างกัน โดยพนักงานคนงานชายและหญิงเกษียณอายุ 50 ปี บริบูรณ์ พนักงานโฟร์แมนชายและหญิงเกษียณอายุ 55 ปี บริบูรณ์ และพนักงานหัวหน้าโฟร์แมนชายและหญิงเกษียณอายุ 57 ปี เป็นการกำหนดโดยอาศัยตำแหน่งงานของลูกจ้างว่าลูกจ้างตำแหน่งใดจะเกษียณอายุเมื่อใด หาใช่เอาข้อแตกต่างในเรื่องเพศมาเป็นข้อกำหนดไม่ ลูกจ้างในตำแหน่งเดียวกันไม่ว่าชายหรือหญิงยังต้องเกษียณอายุโดยอาศัยหลักเกณฑ์เดียวกัน คำสั่งของผู้ร้องดังกล่าวจึงไม่ขัดกับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 15 ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30 วรรคสอง และมิได้ตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 865/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากข้อบังคับการทำงานที่เลือกปฏิบัติทางเพศ ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงาน
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ที่หากจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม จะต้องรับผิดชอบทางอาญาตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม.131 ต้องเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายและใช้บังคับได้ด้วย เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดเรื่องการออกจากงานกรณีเกษียณอายุไว้ให้ลูกจ้างชายเกษียณอายุเมื่อครบอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ และลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่อครบ 50 ปีบริบูรณ์ ซึ่งแตกต่างกันโดยพิจารณาจากเพศของลูกจ้างแต่เพียงอย่างเดียว และต่อมามี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาบังคับใช้ โดยมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเฉพาะส่วนที่ให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ จึงขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 15 อันเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่มีผลบังคับใช้ต่อไป จำเลยจะอ้างว่าจำเลยจำต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอันถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ได้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุผลสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์ออกจากงานเป็นผลเนื่องจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์เกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย มิใช่เป็นผลเนื่องจากโจทก์ยื่นใบลาออก อุทธรณ์ของจำเลยแม้เป็นการยกข้อกฎหมายขึ้นอ้างแต่ก็เพื่อจะให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นเพราะโจทก์ยื่นใบลาออก มิใช่เลิกจ้างเพราะโจทก์เกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางจึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลต้องวินิจฉัยประเด็นสำคัญเรื่องการลาออกหรือเลิกจ้างก่อนพิพากษาคดีแรงงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีโดยมิได้รับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานตามที่คู่ความนำสืบ และยังมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์ได้ยื่นใบลาออกจากงานจริงหรือไม่ทั้งการที่โจทก์ออกจากงานเป็นผลเนื่องจากโจทก์ยื่นใบลาออกหรือจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุโจทก์เกษียณอายุ ถือว่าเป็นคำพิพากษาที่มิได้แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 51 ชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6011-6017/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเร็วกว่าลูกจ้างชายถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกับลูกจ้างของจำเลยเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้างสวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นใดอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานจนถึงออกจากงาน จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 5,10,11 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 108 ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานที่มีผลผูกพันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ข้อบังคับดังกล่าวกำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 50 ปี และลูกจ้างชายเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปี เป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยไม่เท่าเทียมกัน โดยไม่ปรากฏว่าลูกจ้างชายและหญิงทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานแตกต่างกันอย่างไร จึงขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 15 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อบังคับดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่อครบ 50 ปี จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่มีผลใช้บังคับ
การที่จำเลยให้โจทก์เกษียณอายุโดยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้เนื่องจากการเกษียณอายุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 วรรคสอง โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่มีเหตุให้เลิกจ้างได้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 49
จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยกำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณเมื่ออายุครบ 50 ปี ส่วนลูกจ้างชายเกษียณเมื่ออายุครบ 55 ปี ตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการตลอดมาขณะโจทก์ทำสัญญาจ้างเข้าทำงานกับจำเลยก็รับรู้และยอมผูกพันตามข้อบังคับฯ แต่ต่อมาข้อบังคับฯ ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 15 ทำให้ข้อบังคับฯในส่วนที่กำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 50 ปี ไม่มีผลบังคับต่อไป ดังนั้นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมของจำเลยส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากผลของการแก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่เกิดจากการที่จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะใช้ประกอบดุลพินิจของศาลแรงงานกลางว่าจะให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด จึงสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
of 2