คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 228 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7778/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์, การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง, และสิทธิภาระจำยอมในที่ดิน
แม้เดิมศาลชั้นต้นจะรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 19368 ทั้งแปลงโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ก็ตาม แต่ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแย้งดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และมีคำสั่งใหม่ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เฉพาะในส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ 60 ตารางวา เท่านั้น ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 แต่เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 คู่ความสามารถอุทธรณ์ได้ทันทีตามวรรคสุดท้ายของมาตรา 18 โดยต้องอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และ 228 (3) วรรคสอง แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จำเลยที่ 1 เพิ่งอุทธรณ์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมายเกือบ 2 ปี จำเลยที่ 1 จึงหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์ในปัญหาส่วนฟ้องแย้งที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนแล้ว จึงถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ทั้งแปลง มิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 249 วรรคหนึ่ง แต่ในส่วนฟ้องแย้งที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ของโจทก์ตามที่โจทก์ล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ 60 ตารางวา โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นแล้ว
ที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ของโจทก์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ของจำเลยที่ 1 อยู่ติดกัน เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันคือที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ซึ่งเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. บิดาของจำเลยที่ 1 และ ส. และตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบมาก็ยอมรับว่าบ้านเลขที่ 38 ที่ปลูกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์นั้น จ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปี มาแล้ว และพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้พร้อมกับบุตรซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 1 ด้วย ตั้งแต่ที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้แบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 แล้ว จ. จึงยกที่ดินส่วนที่มีบ้านเลขที่ 38 ปลูกอยู่ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 19367 และที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19368 จึงทำให้บ้านเลขที่ 38 ของจำเลยที่ 1 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์มาจากการรับซื้อฝากจาก ว. หลานของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฟ้องแย้งไม่ เพราะเห็นได้ว่าเป็นการครอบครองฉันญาติพี่น้องตามที่ครอบครองมาแต่เดิม มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองเพื่อเอากรรมสิทธิ์แต่อย่างใด
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปลูกบ้านเลขที่ 38 แต่ จ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกสร้างและอยู่อาศัยมาก่อนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ก่อนที่จะมีการแบ่งแยกออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ซึ่งต่อมาตกเป็นของโจทก์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ทำให้บ้านเลขที่ 38 ซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ปลูกบ้านเลขที่ 38 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ แต่บ้านเลขที่ 38 ปลูกอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นของโจทก์ จึงต้องถือว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นการปลูกรุกล้ำโดยสุจริต กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านเลขที่ 38 ส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ออกไปจากที่ดินของโจทก์และเรียกค่าเสียหายได้เพราะมิใช่กรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าใช้ที่ดินและจดทะเบียนสิทธิในที่ดินส่วนที่ปลูกบ้านรุกล้ำเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องโดยใช้สิทธิดังกล่าวบังคับจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา การเปลี่ยนแปลงทรัพย์สิน และการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดที่ดินของจำเลยที่ 1 รวม 96 แปลง ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษา ตามคำร้องขอของโจทก์ จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกคำสั่งดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 267 วรรคสอง หรือใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 วรรคสอง คำสั่งดังกล่าวจึงถึงที่สุด ที่ดิน 96 แปลง
ในระหว่างที่ศาลมีคำสั่งอายัดที่ดินชั่วคราวนั้น ศาลมีคำพิพากษาตามยอมในคดีอื่นให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งถูกอายัดชั่วคราวบางแปลงให้แก่ผู้ซื้อ โจทก์จึงยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวครั้งที่สอง ขอให้อายัดเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับในการโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าว ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดชั่วคราว จึงเป็นหลักประกันเบื้องต้นในการที่โจทก์จะบังคับคดีได้ เมื่อต่อมาปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับตัวทรัพย์ที่ศาลชั้นต้นสั่งอายัดชั่วคราวได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวจนทำให้คำสั่งอายัดที่ดินชั่วคราวไร้ผล และทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงินจากการบังคับคดีของเจ้าหนี้ จึงถือเสมือนว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาแทนที่ที่ดินที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ประกอบกับเงินเป็นทรัพย์ที่สามารถยักย้ายถ่ายเทหรือปิดบังซ่อนเร้นโดยง่าย กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้อายัดเงินดังกล่าวไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา และไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3474/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟ้องแย้งหลังศาลชั้นต้นพิพากษาคดีเดิมแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีเหตุรื้อฟื้นพิจารณา
ศาลชั้นต้น ไม่รับฟ้องแย้ง จำเลย อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแต่ศาลอุทธรณ์มิได้ให้ศาลชั้นต้นงดการพิจารณาไว้ในระหว่างอุทธรณ์และเมื่อศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษาคดีเดิมเสร็จโดยอยู่ระหว่างอุทธรณ์จึงไม่มีเหตุให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งและรื้อฟื้นพิจารณาพิพากษาประเด็นตามฟ้องแย้งใหม่กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าฟ้องแย้งเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รับ ฟ้องแย้งจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2499

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจจัดการทรัพย์สินมรดก: ข้อตกลงจำกัดเฉพาะการเก็บค่าเช่าเดิม, ไม่รวมถึงการให้เช่าเพิ่มเติม
โจทก์จำเลยตกลงกันในระหว่างการพิจารณาในคดีที่พิพาทกันเรื่องมรดกว่าโจทก์จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเก็บผลประโยชน์จากทรัพย์สินกองมรดกยอมให้จำเลยที่ 1 เก็บและจัดการไปฝ่ายเดียวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดถ้าจำเลยแพ้คดีและต้องส่งเงินผลประโยชน์ให้กองมรดกแล้วจำเลยไม่มีส่งก็ให้ศาลบังคับเอาจากผู้ค้ำประกันได้ในวงเงินสองแสนบาทนั้นข้อตกลงดังกล่าวนี้ไม่กินความไปถึงว่าให้จำเลยมีอำนาจให้บุคคลอื่นเช่าที่ดินกองมรดกปลูกสร้างอาคารเพิ่มเติมขึ้นอีกเพราะคำว่าให้จำเลยเก็บผลประโยชน์และจัดการไปฝ่ายเดียวนั้นหมายความเฉพาะเรื่องให้จำเลยเก็บเงินผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองมรดกในระหว่างคดีเป็นการชั่วคราวเท่านั้น
โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งอ้างว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลซึ่งอนุญาตให้จำเลยเพียงเป็นผู้เก็บค่าเช่าแต่กลับให้บุคคลอื่นเช่าที่ดินมรดกปลูกสร้างอาคารเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง แล้วเก็บเงินค่าเช่าและเงินกินเปล่าเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียเองฝ่ายจำเลยแถลงว่าจำเลยให้บุคคลเช่าที่ดินปลูกสร้างอาคารนั้นเพื่อให้เกิดผลประโยชน์เท่าที่ควรได้ตามข้อตกลงนั้นแล้วเช่นนี้เมื่อศาลมีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างใด ถือว่าคำสั่งนี้เป็นคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณา และเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาด้วยคำสั่งของศาลดังกล่าวนี้คู่ความย่อมอุทธรณ์ฎีกาได้ภายในกำหนด 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228 วรรคสอง