คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 91/5 (6)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16750/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทรัพย์หลักประกันเพื่อฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์เป็นบริษัทเฉพาะกิจ ตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมผู้บริหารบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) มีวัตถุประสงค์รับเป็นผู้จัดการดูแลผลประโยชน์และเก็บผลประโยชน์จากการรับโอนหลักประกันของลูกหนี้ รายบริษัทคันทรี่ฯ ซึ่งปรับโครงสร้างหนี้กับ (บสท.) โดยผ่านกระบวนการฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลาง การที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ในโครงการคันทรี่ มารีน่า ซิตี้ ซึ่งเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของบริษัทคันทรี่ฯ แล้วขายคืนให้แก่นิติบุคคลทั้งสามที่ลูกหนี้เสนอซื้อก็เป็นไปเพื่อแก้ไขฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ และมีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ (บสท.) เพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ ย่อมถือได้ว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นหลักประกันของลูกหนี้ของโจทก์เป็นการขายแทน บสท. เมื่อ บสท. ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากรจากกฎหมายทั้งปวงในการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 จึงไม่มีภาษีธุรกิจเฉพาะที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5941/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์: การเลือกใช้มาตรฐานการบัญชีและผลของการคืนเงินมัดจำ
โจทก์และจำเลยทั้งสี่ต่างรับข้อเท็จจริงกันแล้วว่ารายรับที่โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจากองค์การรถไฟฟ้ามหานครงวดแรกและงวดที่สองเป็นรายรับจากการขายที่ดินที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร ประกอบ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244)ฯ มาตรา 3 (5) ดังนั้น โจทก์จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากฐานภาษีรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ตามมาตรา 91/5 (6) และตามมาตรา 91/8 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญญัติให้คำนวณตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีซึ่งโจทก์มีสิทธิเลือก เมื่อโจทก์เลือกปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใดแล้วให้ถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันตลอดไปเว้นแต่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงได้ โจทก์นำเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนมารับรู้รายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในวันที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยเลือกปฏิบัติทางบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 26 เรื่อง การรับรู้รายได้สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยรับรู้รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามวิธีการ หลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชีเป็นอย่างอื่นมาก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิเลือกปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 26 ทั้งการที่โจทก์นำเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวมารับรู้รายได้เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในวันที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสอดคล้องกับหลักเกณฑ์รับรู้รายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ เมื่อโจทก์โอนความเสี่ยงและผลประโยชน์ที่มีนัยสำคัญให้แก่ผู้ซื้อแล้ว ประกอบกับข้อต่อสู้ของโจทก์มิได้ขัดแย้งกับเอกสารหลักฐานทางบัญชีของโจทก์ และจำเลยทั้งสี่ไม่นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นจึงฟังได้ว่า โจทก์ปฏิบัติถูกต้องตามมาตรา 91/8 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากรแล้ว ซึ่งต่อมาได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.รัษฎากร (ฉบับที่ 34)ฯ เพิ่มความเป็นวรรคสามของมาตรา 91/8 ว่า "...ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีกรณีดังกล่าวเสียภาษีโดยคำนวณจากฐานภาษีตามมาตรา 91/5 (6) ในขณะที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นตามอัตราภาษีที่กำหนดไว้ในมาตรา 91/6..." อันเป็นการบัญญัติกฎหมายให้ชัดเจนทั้งยังสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่โจทก์ถือปฏิบัติทางบัญชีมาก่อนแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์
แม้ตามบันทึกข้อตกลงการวางมัดจำราคาซื้อขายที่ดินมีข้อความระบุว่าโจทก์จะเรียกเงินจำนวน 500,000,000 บาท ที่ได้รับจากบริษัททุนมหาลาภ จำกัด ว่าเป็นมัดจำก็ตาม แต่โดยเนื้อหาสาระแห่งข้อตกลงและนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับเงินมัดจำตามข้อตกลงดังกล่าวหาใช่เป็นมัดจำ ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 377 และมาตรา 378 ไม่ เพราะเนื้อหาสาระแห่งข้อตกลงเพียงแต่กำหนดให้คู่สัญญาต้องเจรจาตกลงกันในสาระสำคัญและรายระเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินตามที่ระบุไว้ให้แล้วเสร็จเท่านั้น และในประการสำคัญผลของการที่คู่สัญญาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงภายในกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้นเพียงว่า ให้โจทก์คืนเงินมัดจำดังกล่าวแก่บริษัททุนมหาลาภ จำกัด เท่านั้น หาได้มีข้อตกลงให้ริบหรือส่งคืนเงินมัดจำไม่ เงินมัดจำตามข้อตกลงเช่นนี้จึงมิใช่เงินที่ให้ไว้เมื่อเข้าทำสัญญาเพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว และเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 377 อีกทั้งตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้นก็ได้ตกลงยกเว้นหลักการเกี่ยวกับผลของมัดจำที่มาตรา 378 (1) ถึง (3) กำหนดให้ส่งคืนหรือให้ริบเสียทั้งสิ้น เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงโจทก์ได้คืนเงินมัดจำจำนวน 500,000,000 บาท ไปแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีรายรับจากเงินมัดจำจำนวน 500,000,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7952/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ: การประเมินราคาซื้อขายต่ำกว่าราคาตลาด และอายุความ
ป.รัษฎากร มาตรา 91/5 (6) กำหนดให้ฐานภาษีสำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรคือรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น และมาตรา 91/1 (1) บัญญัติว่า "รายรับหมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทนหรือประโยชน์ใดๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ" นอกจากนี้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจตามมาตรา 91/16 (6) ที่จะกำหนดราคาทรัพย์สินตามราคาตลาดในวันที่มีการโอนทรัพย์สินในกรณีที่โอนทรัพย์สินมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร และตามมาตรา 91/1 (3) บัญญัติว่า "ราคาตลาด หมายความว่า ราคาที่ซื้อขายกันหรือที่คิดค่าบริการตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง" แม้โจทก์ทั้งสองทำสัญญาซื้อขายที่ดินระบุว่าได้รับเงินเพียง 7,000,000 บาท แต่เมื่อราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตาม ป.ที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนเป็นจำนวนเงิน 12,629,200 บาท และโจทก์ทั้งสองลงชื่อในบันทึกถ้อยคำการชำระภาษีอากรยอมให้เจ้าพนักงานที่ดินหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ โดยรับรองรายการว่าทุนทรัพย์ที่ถือเป็นเงินได้สำหรับคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์เป็นเงิน 12,629,200 บาท ประกอบกับโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าที่ดินแปลงอื่นในบริเวณใกล้เคียงมีราคาต่ำกว่าราคาประเมินดังกล่าว จึงฟังได้ว่าราคาขายที่ดินแปลงพิพาทตามสัญญา 7,000,000 บาท นั้นต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ราคาประเมินดังกล่าวเป็นฐานภาษีประเมินให้โจทก์ทั้งสองเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4667/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอรับชำระหนี้ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์: เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอผ่านเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งดังกล่าว ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ตามมาตรา 27 และมาตรา 91 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจตรวจคำขอรับชำระหนี้ และสอบสวนพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้วเสนอความเห็นต่อศาล ศาลมีอำนาจพิจารณามีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือยกคำร้องขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 106, 107 เจ้าหนี้จะดำเนินการแจ้งการประเมินตามวิธีการที่กำหนดไว้ใน ป.รัษฎากรฯ เพื่อเรียกให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หาใดไม่
ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/5 (6) บัญญัติให้คิดฐานภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีบทบัญญัติในหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะให้ถือเอาราคาประเมินทุนทรัพย์ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินเป็นฐานในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ ส่วนที่เจ้าหนี้ประเมินภาษีธุรกิจเพิ่มโดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 49 ทวิ ก็อยู่ในส่วนการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดา และมาตรา 69 ทวิ ก็อยู่ในส่วนเก็บภาษีนิติบุคคล ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้นำมาใช้บังคับในหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย ดังนั้น การที่ลูกหนี้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะโดยมีฐานภาษีจากรายรับการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ก่อนหักรายจ่ายซึ่งเป็นราคาซื้อขายกันในขณะนั้น เป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะในราคาตลาดตามความหมายของมาตรา 91/16 และมาตรา 91/1 (3) แล้ว เจ้าหนี้ไม่มีอำนาจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยประกันและเงินเพิ่มอีก