คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 147

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 259 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานยักยอกเงินบริจาคของโรงเรียน ผิดต่อหน้าที่ราชการ และความชอบด้วยกฎหมายในการสอบสวน
แม้ตามหนังสือที่ ศธ 0806/1917 มีใจความสำคัญว่า กรมสามัญศึกษาได้แจ้งการสนับสนุนให้โรงเรียนรับบริจาคเงินเพื่อการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการบริจาคโดยมีวัตถุประสงค์หรือไม่มีวัตถุประสงค์ก็ตาม ทั้งนี้ การรับบริจาคนั้นต้องไม่มีเงื่อนไขในการรับนักเรียน และหนังสือที่ ศธ 0804/5175 กรมสามัญศึกษาซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการรับบริจาคเงินและสิ่งของในช่วงระยะเวลาที่โรงเรียนรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ระบุว่า การรับบริจาคเงินและสิ่งของควรดำเนินการโดยไม่นำมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อต่อรองในการรับนักเรียนเข้าเรียน ไม่ว่าจะเป็นการรับนักเรียนกรณีพิเศษ หรือรับนักเรียนในพื้นที่บริการอันเห็นได้ว่าการรับบริจาคโดยมีเงื่อนไขในการรับนักเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ควรดำเนินการ แต่ตามหนังสือที่ ศธ 0880/1523 ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดสุรินทร์มีหนังสือสั่งการไปยังโรงเรียนในสังกัดว่า ถ้าโรงเรียนได้รับเงินบริจาคโดยมีเงื่อนไขในการรับนักเรียนเข้าเรียนก็ขอให้โรงเรียนคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ปกครองทั้งหมด เงินที่มีผู้บริจาคโดยมีเงื่อนไขฝ่าฝืนต่อหนังสือซักซ้อมความเข้าใจของกรมสามัญศึกษา จึงเป็นเงินของทางราชการเพราะเหตุว่ายังมีหน้าที่ต้องคืนให้แก่ผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้บริจาค และแม้ทางปฏิบัติสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียน ส. เป็นผู้บริจาคเงินดังกล่าวโดยออกใบเสร็จรับเงินให้ในนามของตนเองแทนโรงเรียนก็ไม่ทำให้เงินดังกล่าวไม่เป็นเงินของทางราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่จัดการหรือรักษาของจำเลยเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการและกรมสามัญศึกษา การที่จำเลยรับเงินไว้ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งมีหน้าที่บริหารงานและกิจการการศึกษาของโรงเรียนตลอดจนบริหารงานและควบคุมดูแลด้านการเงินทุกประเภทของโรงเรียนให้เป็นไปโดยเรียบร้อย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในการรับและเก็บรักษาเงินบริจาคดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติราชการตามกฎหมาย การที่จำเลยมิได้นำเงินเก็บรักษาไว้ตามระเบียบจนกระทั่งมีการร้องเรียนและตรวจสอบพบการกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเงินบริจาคของโรงเรียน ส. ที่อยู่ในหน้าที่จัดการหรือรักษาของจำเลย ไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147
ป.วิ.อ. มาตรา 133 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายเรียกผู้เสียหายหรือบุคคลใดซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำของเขาอาจเป็นประโยชน์แก่คดีให้มาตามเวลาและสถานที่ในหมาย ดังนั้น การสอบสวนจึงกระทำในสถานที่ใดๆ ก็ได้ ไม่จำต้องเป็นที่สถานีตำรวจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15248-15249/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานยักยอกทรัพย์และเบียดบังทรัพย์ของโจทก์โดยเจ้าหน้าที่ แม้ฟ้องผิดฐาน แต่ศาลลงโทษได้ตามความผิดที่รับฟัง
จำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยของโจทก์ ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยดังกล่าวคือ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดคำนิยามของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความหมายของ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับนี้แตกต่างจากความหมายของ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" ตามกฎหมายฉบับเดียวกัน กล่าวคือ "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตาม พ.ร.บ.นี้ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างสำคัญแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า "ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา จึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วน "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้เป็นพนักงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้าราชการ อีกทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาก็มิใช่เงินเดือนอันมีที่มาจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะระบุว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความหมายของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนตามข้อ 4 แห่งข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิแล้ว ล้วนได้ความตรงกันว่าพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งสองประเภทได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปหรือเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เมื่อจำเลยเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมิใช่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและไม่ได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา ประกอบกับไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดกำหนดให้พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และศาลไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 157 และ 161 ได้
จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในงานเบิก - จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบเอกสารเงินยืม ติดตามเงินยืมและตัดยอดเงินยืม ดังนั้น แม้จำเลยจะจัดทำเอกสารเกี่ยวกับงานการเงินในหน้าที่รับผิดชอบของจำเลยไม่ตรงกับความเป็นจริงและใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 ฐานปลอมเอกสาร มาตรา 268 ฐานใช้เอกสารปลอม และมาตรา 137 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เพราะจำเลยเป็นผู้บันทึกข้อความลงในเอกสารต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้เป็นผู้แจ้งข้อความดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานอื่นแต่อย่างใด
เงินตามเช็คเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินของโจทก์ที่ ธ. ในฐานะเลขานุการโครงการต้นกล้าอาชีพทำหนังสือขอให้โจทก์อนุมัติเพื่อนำไปชำระเงินยืมที่โครงการยืมเงินกลางของโจทก์มาใช้จ่าย เงินจำนวนนี้จึงมิใช่เงินส่วนตัวของ ธ. ทั้ง ธ. ก็ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ซึ่งโจทก์จะต้องชำระหนี้ให้แก่ ธ. การที่ ธ. มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค จึงเป็นกรณีที่ ธ. ได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้มีหน้าที่รับเงินตามเช็คแล้วนำไปชำระเงินยืมให้แก่โจทก์ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์ที่ถูกจำเลยเบียดบังไป โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้
แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 147 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยเบียดบังทรัพย์ของโจทก์ไปในฐานะบุคคลธรรมดาซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 ไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21355/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์: เลขานุการสภาตำบลเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้ผู้รับจ้างที่ยังทำงานไม่เสร็จ
จำเลยซึ่งเป็นเลขานุการตำบล ล. และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการและรักษาเงินงบประมาณค่าจ้างของสภาตำบล ล. ได้เบิกเงินงบประมาณค่าจ้างของสภาตำบล แล้วจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ในขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. ยังทำงานขุดลอกคลองไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ทั้งๆ ที่องค์การบริหารส่วนตำบล ล. ยังไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ค. การกระทำของจำเลยดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการและรักษาเงินงบประมาณค่าจ้างนั้น ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8413/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์และการแก้ไขเอกสาร การกระทำเป็นกรรมเดียว
จำเลยมีตำแหน่งเป็นเสมียนตรามีหน้าที่รับเงินและออกใบเสร็จรับเงิน เมื่อใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกไปมีข้อความหรือจำนวนเงินผิดพลาด จำเลยย่อมมีอำนาจหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง การแก้ไขดังกล่าวมิใช่การกระทำในขณะจำเลยหมดอำนาจที่จะแก้ไข จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จแต่การทำเอกสารอันเป็นเท็จดังกล่าวเพื่อให้สมเหตุผลในการยักยอกทรัพย์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวคือเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812-3814/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ - ขาดอายุความ - ความผิดฐานฉ้อโกง
จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอโนนแดง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของอำเภอโนนแดง เงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้งสี่โครงการรวม 1,308,104.40 บาท เป็นเงินที่ทางอำเภอโนนแดงต้องเบิกจากทางจังหวัดนครราชสีมาไปชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. แต่จำเลยไม่ได้เป็นกรรมการรับเงินที่จะมีอำนาจหน้าที่ไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าว การที่จำเลยใช้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ผู้ลงชื่อประสงค์จะตั้งจำเลยไปดำเนินการดังกล่าว ทั้งบางคำสั่งก็ตั้งกรรมการไม่ครบตามกฎระเบียบไปแสดงต่อเสมียนตราจังหวัดเพื่อขอเบิกและรับเงินโครงการดังกล่าว เมื่อได้รับเช็คแล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปโดยทุจริต เป็นการกระทำในส่วนที่นอกอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเจ้าพนักงาน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 147 ตามฟ้องอันเป็นบทเฉพาะได้ แต่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์เงินดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นจำเลยไม่ได้รับมอบทรัพย์โดยชอบแล้วเบียดบังไว้โดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อ ก. เพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษฐานนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ จึงเป็นการแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม แต่อำเภอโนนแดงร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13624/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่อุทธรณ์ข้อกฎหมายในชั้นอุทธรณ์ และเหตุผลที่ไม่รอการลงโทษจำคุกจากพฤติการณ์ร้ายแรง
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 147 จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกเท่านั้น ไม่ได้อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ด้านการเงิน มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการทำบัญชีการเงิน การรับเงิน จ่ายเงิน การเบิกถอนเงิน การเก็บรักษาเงินของสถานีอนามัยบ้านดอนนา ได้ครอบครองเงินจำนวน 433,420 บาท ของผู้เสียหาย และมีหน้าที่ดูแลรักษาเงินจำนวนดังกล่าวให้ครบถ้วน การเบิกจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานหนังสืออนุมัติก่อหนี้ผูกพันและหนังสืออนุมัติให้จ่ายเงินจากผู้มีอำนาจ แต่จำเลยไม่มีหลักฐานหนังสืออนุมัติก่อหนี้และหนังสืออนุมัติให้จ่ายเงินจากผู้มีอำนาจที่ใช้ประกอบกับใบคำขอถอนเงินเพื่อเบิกเงิน แต่จำเลยกลับใช้ใบเบิกถอนเงินจำนวน 433,420 บาท จากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย แล้วเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่นโดยทุจริต เห็นได้ว่าโจทก์ได้กล่าวข้อเท็จจริงถึงองค์ประกอบความผิดที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการหรือรักษาเงินของผู้เสียหาย แล้วเบียดบังเงินของผู้เสียหายไปโดยเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย พอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5571/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลังฟ้องคดี และอำนาจการร้องทุกข์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจในคดีทุจริต
เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว มี พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 มาใช้บังคับ โดยให้มีผลเป็นอันยกเลิก พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นไป และกำหนดให้นำ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มาใช้บังคับแทน และมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ที่ถูกยกเลิกบัญญัติให้พนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่ใช้บังคับแทนมิได้บัญญัติให้พนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 147 จึงเป็นการไม่ชอบ การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก เพียงบทเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเพียงพอของฟ้องอาญา: การระบุรายละเอียดการเบียดบังเงิน
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเบียดบังเงินค่าประกันสังคมจากลูกจ้างชั่วคราวเพื่อนำส่งประกันสังคม 1,558 บาท เงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพื่อนำส่งสรรพากร 6,733.33 บาท เงินภาษีบำรุงท้องที่ที่ต้องนำฝาก 7,871 บาท เงินสดที่ต้องมีไว้ให้ตรวจนับ 13,321.30 บาท รวมเป็นเงิน 29,483.63 บาท ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยก่อนนำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเป็นของจำเลยหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ฟ้องโจทก์ได้กล่าวข้อเท็จจริงถึงประเภทเงินกับจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไว้และยักยอกเอาไปพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ไม่จำต้องกล่าวถึงรายละเอียดว่าจำเลยเบียดบังเงินค่าประกันสังคมลูกจ้างชั่วคราวคนใดเมื่อใด เงินภาษีบำรุงท้องที่เป็นเงินที่จำเลยได้รับมาจากบุคคลใด เมื่อใด และเงินสดที่ต้องมีไว้ให้ตรวจนับเป็นของผู้เสียหายหรือไม่ อย่างไร เพราะโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11554/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานยักยอกเงินค่าอาหารกลางวันของโรงเรียน: การปฏิบัติหน้าที่ราชการและความรับผิดทางอาญา
การที่ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นในกระทรวงการคลังจากเงินงบประมาณของแผ่นดิน โดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุนซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน จัดสรรเงินของกองทุนดังกล่าวให้แก่โรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติทั่วประเทศเพื่อให้โรงเรียนประถมศึกษานำไปดำเนินการจัดอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือภาวะโภชนาการ และลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียน แสดงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์ให้การจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา เป็นภาระหน้าที่หรืองานราชการส่วนหนึ่งของโรงเรียนประถมศึกษาด้วย ทั้งก่อนหน้านี้ยังมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียน พ.ศ.2509 ตลอดจนหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติถึงผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับจ่ายเงิน การลงบัญชี การรักษาเงินและการตรวจสอบเงินค่าอาหารกลางวันทั้งที่เป็นเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ (ส่วนที่เรียกเก็บจากผู้ปกครองหรือมีผู้บริจาค) ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบและคำแนะนำของกรมบัญชีกลาง สรุปได้ว่าให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนโดยให้มีอำนาจเรียกเก็บเงินค่าอาหารกลางวันจากนักเรียนได้ การรับเงินต้องออกใบเสร็จรับเงินของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ให้มีการลงบัญชี ผู้รับผิดชอบเก็บรักษาเงิน การนำเงินฝากเข้าบัญชีและเบิกจ่ายตามระเบียบที่ทางราชการกำหนดโดยให้ถือว่าเป็นเงินของทางราชการประเภทเงินนอกงบประมาณ แต่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเพื่อการจัดอาหารกลางวันโดยเฉพาะ เห็นได้ว่าการจัดโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ไม่ว่าใช้เงินงบประมาณหรือเงินนอกงบประมาณล้วนเป็นการปฏิบัติราชการของสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียน การที่ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลระยองมีคำสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นครูของโรงเรียนทำหน้าที่รับจ่ายและเก็บรักษาเงินค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเป็นการสั่งการหรือมอบหมายตามอำนาจของหัวหน้าสถานศึกษาให้จำเลยปฏิบัติหน้าที่ราชการของโรงเรียนโดยชอบ การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย เมื่อจำเลยเบียดบังเอาเงินค่าอาหารกลางวันที่จำเลยมีหน้าที่จัดเก็บและรักษาไว้นั้นไปโดยทุจริต ย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7540/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหน้าที่จัดการทรัพย์สินเบียดบังเงินบริจาค – อำนาจฟ้อง – เหตุบรรเทาโทษ
แม้จำเลยเป็นเจ้าอาวาสของโจทก์ร่วมและได้รับเงินเดือนประจำที่เรียกว่านิตยภัตจากเงินงบประมาณของรัฐ แต่ผู้ที่ได้รับเงินเดือนประจำที่จะถือว่าเป็น "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งเจ้าอาวาสไม่อยู่ในความหมายดังกล่าว และในปัจจุบันวัดจัดตั้งขึ้นโดยวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งกำหนดให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทน แต่ก็มีอำนาจอย่างจำกัดตามมาตรา 37 เฉพาะในการบำรุงวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม และอื่นๆ อันเป็นกิจการของสงฆ์โดยเฉพาะ ส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมการศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการ วัดจึงหาใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ไม่ว่าในตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือในตำแหน่งอื่นใดก็ตาม จึงหาได้อยู่ในความหมายของคำจำกัดความว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ส่วน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 45 ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา" ก็เป็นเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่พระภิกษุบางตำแหน่งเท่านั้น และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และฉบับปัจจุบันบัญญัติให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้น โดยบัญญัติถึงกระบวนการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้เป็นกรณีพิเศษโดยใช้วิธีการไต่สวนเท่านั้น บุคคลอื่นๆ คงใช้กระบวนการสอบสวนตามปกติตาม ป.วิ.อ. ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนมิได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง
มาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) กำหนดให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือนับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น ข้อความในมาตรา 233 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่จำเลยเบิกความเป็นพยาน คำเบิกความของจำเลยย่อมใช้ยันจำเลยนั้นได้ และศาลอาจรับฟังคำเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ แต่การที่จำเลยตอบคำถามก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จำเลยย่อมไม่อาจคาดหมายได้ว่าคำเบิกความของตนจะใช้รับฟังลงโทษตนเองได้ บทบัญญัติดังกล่าวมีผลเป็นโทษแก่จำเลย จึงไม่อาจมีผลย้อนหลัง และถือไม่ได้ว่าโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว
กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความในมาตรา 40 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ข้อ 5 บัญญัติให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน 3,000 บาท ขึ้นไปให้เก็บรักษาโดยฝากกรมการศาสนา จังหวัด อำเภอ หรือธนาคาร หรือนิติบุคคลที่กรมการศาสนาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ให้ฝากในนามของวัด ดังนั้น การฝากเงินของวัดคือโจทก์ร่วมต้องฝากในนามของโจทก์ร่วมเท่านั้น หากมิได้ดำเนินการดังกล่าวโดยเจตนาก็เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 ได้ ส่วนการจัดการทรัพย์สินของวัดก็ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเป็นสำคัญ แต่การนำเงินค่าผาติกรรมซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วมอย่างหนึ่งไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์ร่วม โดยมิได้เบียดบังเป็นของตนเองหรือผู้อื่น การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เงินผิดไปจากมติมหาเถรสมาคม หรือเป็นการใช้เงินผิดระเบียบเท่านั้น
of 26