คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 353

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษา: สิทธิของบุคคลภายนอก และนิติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้" เมื่อสิทธิเรียกร้องในหนี้ที่ตกลงโอนให้แก่กันดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ง.509/2545 ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งต้องร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 และพวกชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โจทก์เดิมและเจ้าหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จึงมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 และไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ซึ่งมิใช่คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแทนโจทก์เดิมได้ ดังเช่นที่
พระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ให้สิทธิแก่สถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมได้ ดังนั้น โดยสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่เปิดช่องให้โอนแก่ลูกหนี้ที่ 2 และเจ้าหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคแรก นอกจากนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 2 ในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวก็มีที่มาจากการที่ลูกหนี้ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิม โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม การที่ลูกหนี้ที่ 2 ชำระเงินให้แก่ธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ผู้เข้าสวมสิทธิแทนบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์เดิมในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน 3,000,000 บาท แล้วธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 โดยให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่น และผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ย่อมมีผลทำให้สิทธิและความรับผิดในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกันคือ ลูกหนี้ที่ 2 และทำให้หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเป็นอันระงับสิ้นไปสำหรับลูกหนี้ที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง, 353 ซึ่งมีผลให้ลูกหนี้ที่ 2 ไล่เบี้ยเงินจำนวนเฉพาะที่ได้ชำระหนี้ไปตามคำพิพากษาดังกล่าวคืนจากลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 เท่านั้น การที่ลูกหนี้ที่ 2 และธนาคาร ท. จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โดยตกลงให้ลูกหนี้ที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ที่ 1 ผู้ค้ำประกันรายอื่นและผู้จำนำ จำนอง ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเต็มจำนวนเป็นเงินรวม 71,728,342.42 บาท แทนแต่เพียงผู้เดียว จึงเป็นการทำนิติกรรมที่มีลักษณะเป็นการซื้อขายความ มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาแล้ว เจ้าหนี้จึงไม่อยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8829/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยผู้รับประกันภัยมีหนี้โจทก์แยกจากสิทธิไล่เบี้ยจากผู้กระทำละเมิด หักกลบลบหนี้มิได้
จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์และรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เมื่อรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ในความเสียหายที่โจทก์ได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และในฐานะที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกคือโจทก์ในความเสียหายที่เกิดจากรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เช่นนี้ จำเลยที่ 4 จึงมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองกรณีเพียงฝ่ายเดียว โจทก์ไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และรับช่วงสิทธิจากโจทก์ไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ที่ทำให้รถยนต์โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เท่านั้น หาได้ก่อให้เกิดภาระหนี้แก่โจทก์ไม่ เมื่อการใช้ค่าสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 4 แก่โจทก์ยังไม่เพียงพอแก่ความเสียหายที่แท้จริง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนที่ขาดจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ทำละเมิด และยังเรียกให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ภายในวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้อีกด้วย จำเลยที่ 4 จึงตกเป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนที่ขาดแก่โจทก์อีก เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 4 จึงไม่ใช่กรณีที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุประสงค์เป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระที่ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจนำเอาหนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้วมาหักกลบลบกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องส่วนที่ขาดอีกได้ ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีที่สิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลเดียวกันอันจะทำให้หนี้รายนั้นระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 353

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6509/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดตามสัญญาเป็นโมฆะ ศาลใช้ดอกเบี้ยตามกฎหมายแพ่ง
จำเลยทำใบคำเสนอขอสินเชื่อจากธนาคารโจทก์โดยตกลงจะชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี และในวันเดียวกัน จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งจำเลยได้รับเงินกู้ไปเรียบร้อยแล้ว จะเห็นได้ว่า ใบคำเสนอขอสินเชื่อเป็นเพียงคำเสนอของจำเลยที่เสนอต่อโจทก์เท่านั้น ส่วนสัญญากู้ยืมเงินเป็นข้อตกลงในการทำสัญญาที่จัดทำขึ้นภายหลังที่โจทก์ได้พิจารณาคำเสนอของจำเลยแล้ว โจทก์จึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้นข้อความหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืม จึงเป็นจำนวนที่ชัดแจ้งไม่มีข้อความเป็นที่น่าสงสัยหรือมีความเป็นสองนัยอันจะต้องตีความตามเจตนาอันแท้จริงของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงินว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีที่จำเลยผิดนัดเพราะต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
แม้โจทก์จะมีวิธีคิดในการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งในกรณีที่ไม่ผิดนัดและผิดนัดตามประกาศของโจทก์ก็ตาม แต่วิธีการปฏิบัติดังกล่าวก็เป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติของโจทก์ต่อจำเลยเท่านั้น หามีผลกระทบต่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ได้ตกลงกันอย่างชัดแจ้งในสัญญากู้ยืมเงินไม่ข้อตกลงดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ อย่างชัดแจ้ง จึงตกเป็นโมฆะ และแม้โจทก์จะมีสถานะเป็นสถาบันการเงินตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 3(2) และพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยได้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็ตาม แต่ตามประกาศของกระทรวงการคลังและของโจทก์ที่ออกมาใช้บังคับในช่วงของการทำสัญญากู้ยืมเงินนี้กำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดในกรณีที่ลูกหนี้ปฏิบัติผิดเงื่อนไข หรือเบิกเงินเกินวงเงินให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีเท่านั้น ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีที่โจทก์กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขมิใช่อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าในกรณีเงินกู้ทั่วไป การที่โจทก์กำหนดในสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเกินกว่าประกาศและคำสั่งของโจทก์ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทั่วไปจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีเท่านั้น ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยคงรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5758/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำมั่นจะซื้อขาย+สัญญาเช่า: การโอนที่ดินติดจำนอง-สิทธิค่าเช่า-เจตนาไม่ติดจำนอง
ตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยระบุว่าหากผู้เช่าประสงค์จะซื้อที่ดินแปลงที่เช่านี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเวลาใดที่สัญญาเช่านี้ยังมีผลบังคับผู้ให้เช่ายินยอมขายที่ดินดังกล่าวให้ผู้เช่าในราคายุติธรรมซึ่งจะได้เจรจาทำความตกลงกันแต่ราคาที่ดินตามโฉนดทั้งแปลงต้องไม่สูงกว่ายี่สิบห้าล้านบาทถ้วนและสัญญาให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินระหว่างโจทก์จำเลยระบุว่าหากผู้ใช้ประสงค์จะซื้อที่ดินแปลงทำสัญญานี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเวลาใดที่สัญญานี้ยังมีผลบังคับผู้ให้เช่ายินยอมขายที่ดินดังกล่าวให้ผู้ใช้ในราคายุติธรรมซึ่งจะได้เจรจาทำความตกลงกันแต่ราคาที่ดินจะต้องเป็นไปตามสัญญาเช่าที่ดินข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวที่จำเลยได้แสดงเจตนาผูกมัดตนเองว่าจะขายที่พิพาทกันให้แก่โจทก์การแสดงเจตนาของจำเลยดังกล่าวมีลักษณะแน่นอนไม่มีเงื่อนไขหรือทางเลือกสำหรับจำเลยที่จะบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามเจตนาที่แสดงไว้จึงมีผลเป็นคำมั่นผูกพันจำเลยที่จะต้องขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ในราคาไม่สูงกว่า25,000,000บาทเมื่อโจทก์แสดงเจตนาจะซื้อที่พิพาทไปถึงจำเลยจึงก่อให้เกิดเป็นสัญญาผูกพันจำเลยที่จะต้องขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา456วรรคสองเมื่อจำเลยผิดสัญญาโจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยโอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้ แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายแต่โจทก์ก็ได้แนบสัญญาดังกล่าวมาท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องและในชั้นชี้สองสถานศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทด้วยว่าจำเลยต้องผูกพันตามสัญญาเช่าและสัญญาให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินในอันที่จะต้องขายที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใดการที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยถูกผูกพันที่จะต้องขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าวเพราะสัญญาดังกล่าวเป็นคำมั่นของจำเลยที่จะขายที่พิพาทให้แก่โจทก์จึงหาใช่เป็นการพิพากษานอกเหนือคำฟ้องไม่ เมื่อสัญญาเช่าและสัญญาให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินระหว่างโจทก์จำเลยเป็นคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา456วรรคสองและโจทก์ก็ได้แสดงเจตนาจะซื้อที่พิพาทไปถึงจำเลยเป็นผลให้เกิดสัญญาผูกพันจำเลยที่จะต้องโอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์และเมื่อกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโอนไปเป็นของโจทก์แล้วโจทก์ย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งรวมทั้งสิทธิที่จะเก็บค่าเช่าด้วยบุคคลหาอาจเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ของตนเองได้ไม่กรณีเช่นนี้กฎหมายให้ถือว่าหนี้เป็นอันระงับด้วยเกลื่อนกลืนกันไปตามมาตรา353โดยโจทก์และจำเลยไม่ต้องมีการตกลงกันหรือแสดงเจตนาต่อกันเมื่อคำมั่นในการซื้อขายเกิดเป็นสัญญาและสิทธิจะเก็บค่าเช่าจากที่พิพาทของจำเลยระงับแล้วจึงไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าคำมั่นในการซื้อขายขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา569และตกเป็นโมฆะ คำมั่นจะขายที่ดินพิพาทกำหนดราคาซื้อขายกัน25,000,000บาทโดยไม่มีข้อความระบุว่าการจดทะเบียนการโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์จะต้องติดจำนองไปด้วยหรือไม่ดังนั้นการที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์จำเลยมีข้อตกลงให้โอนที่พิพาทโดยไม่ติดจำนองจึงเป็นการนำสืบว่ามีข้อตกลงในเรื่องการโอนที่พิพาทต่างหากจากคำมั่นจะขายอีกส่วนหนึ่งถือไม่ได้ว่าเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมหรือแก้ไขคำมั่นจะซื้อขายที่พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5758/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำมั่นจะขายที่ดินผูกพันสัญญาซื้อขาย และการระงับหนี้เมื่อกรรมสิทธิ์โอนแล้ว
ตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยระบุว่า หากผู้เช่าประสงค์จะซื้อที่ดินแปลงที่เช่านี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเวลาใดที่สัญญาเช่านี้ยังมีผลบังคับผู้ให้เช่ายินยอมขายที่ดินดังกล่าวให้ผู้เช่าในราคายุติธรรมซึ่งจะได้เจรจาทำความตกลงกัน แต่ราคาที่ดินตามโฉนดทั้งแปลงต้องไม่สูงกว่ายี่สิบห้าล้านบาทถ้วน และสัญญาให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินระหว่างโจทก์จำเลย ระบุว่า หากผู้ใช้ประสงค์จะซื้อที่ดินแปลงทำสัญญานี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเวลาใดที่สัญญานี้ยังมีผลบังคับ ผู้ให้เช่ายินยอมขายที่ดินดังกล่าวให้ผู้ใช้ในราคายุติธรรมซึ่งจะได้เจรจาทำความตกลงกันแต่ราคาที่ดินจะต้องเป็นไปตามสัญญาเช่าที่ดิน ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวที่จำเลยได้แสดงเจตนาผูกมัดตนเองว่าจะขายที่พิพาทให้แก่โจทก์การแสดงเจตนาของจำเลยดังกล่าวมีลักษณะแน่นอนไม่มีเงื่อนไขหรือทางเลือกสำหรับจำเลยที่จะบิดพลิ้วไม่ปฎิบัติตามเจตนาที่แสดงไว้ จึงมีผลเป็นคำมั่นผูกพันจำเลยที่จะต้องขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ในราคาไม่สูงกว่า 25,000,000 บาทเมื่อโจทก์แสดงเจตนาจะซื้อที่พิพาทไปถึงจำเลยจึงก่อให้เกิดเป็นสัญญาผูกพันจำเลยที่จะต้องขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456วรรคสอง เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยโอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย แต่โจทก์ก็ได้แนบสัญญาดังกล่าวมาท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง และในชั้นชี้สองสถานศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทด้วยว่า จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาเช่า และสัญญาให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินในอันที่จะต้องขายที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยถูกผูกพันที่จะต้องขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าว เพราะสัญญาดังกล่าว เป็นคำมั่นของจำเลยที่จะขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ จึงหาใช่เป็นการพิพากษานอกเหนือคำฟ้องไม่
เมื่อสัญญาเช่าและสัญญาให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดินระหว่างโจทก์จำเลยเป็นคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและโจทก์ก็ได้แสดงเจตนาจะซื้อที่พิพาทไปถึงจำเลยเป็นผลให้เกิดสัญญาผูกพันจำเลยที่จะต้องโอนขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ และเมื่อกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโอนไปเป็นของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งรวมทั้งสิทธิที่จะเก็บค่าเช่าด้วย บุคคลหาอาจเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ของตนเองได้ไม่ กรณีเช่นนี้กฎหมายให้ถือว่าหนี้เป็นอันระงับด้วยเกลื่อนกลืนกันไป ตามมาตรา 353 โดยโจทก์และจำเลยไม่ต้องมีการตกลงกันหรือแสดงเจตนาต่อกันเมื่อคำมั่นในการซื้อขายเกิดเป็นสัญญาและสิทธิจะเก็บค่าเช่าจากที่พิพาทของจำเลยระงับแล้วจึงไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า คำมั่นในการซื้อขายขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 และตกเป็นโมฆะ
คำมั่นจะขายที่ดินพิพาท กำหนดราคาซื้อขายกัน 25,000,000บาท โดยไม่มีข้อความระบุว่าการจดทะเบียนการโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์จะต้องติดจำนองไปด้วยหรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์จำเลยมีข้อตกลงให้โอนที่พิพาทโดยไม่ติดจำนอง จึงเป็นการนำสืบว่ามีข้อตกลงในเรื่องการโอนที่พิพาทต่างหากจากคำมั่นจะขายอีกส่วนหนึ่ง ถือไม่ได้ว่าเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมหรือแก้ไขคำมั่นจะซื้อขายที่พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1362/2520

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีไม่มีทุนทรัพย์: การฟ้องขอคืนเช็คเพื่อลบล้างหนี้ ไม่ใช่การเรียกร้องค่าเช็ค
ตามฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องอ้างว่าหนี้ระงับแล้ว ขอให้บังคับจำเลย ส่งคืนเช็คสองฉบับให้โจทก์ตามสัญญา มิใช่เป็นการฟ้องเรียกร้องกระดาษเช็คในฐานะที่เป็นทรัพย์สินที่มีราคามาเป็นของโจทก์ เพราะ โจทก์หาได้ประสงค์จะถือเอาประโยชน์จากเช็คอันมีมูลค่าฉบับละ 25 สตางค์ นั้นไม่ และหาใช่หนี้ตามเช็คจะระงับต่อเมื่อโจทก์ได้รับเช็คพิพาทคืนมาไม่ แต่เป็นคำฟ้องที่อ้างว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้แล้ว ดังนี้ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ อยู่ในอำนาจศาลจังหวัดพิจารณาพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1362/2520 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีไม่มีทุนทรัพย์: การฟ้องขอคืนเช็คเพื่อระงับหนี้ ไม่ใช่การฟ้องเพื่อเอาทรัพย์สิน
ตามฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องอ้างว่าหนี้ระงับแล้ว ขอให้บังคับจำเลยส่งคืนเช็คสองฉบับให้โจทก์ตามสัญญา มิใช่เป็นการฟ้องเรียกร้องกระดาษเช็คในฐานะที่เป็นทรัพย์สินที่มีราคามาเป็นของโจทก์ เพราะโจทก์หาได้ประสงค์จะถือเอาประโยชน์จากเช็คอันมีมูลค่าฉบับละ 25 สตางค์นั้นไม่ และหาใช่หนี้ตามเช็คระงับต่อเมื่อโจทก์ได้รับเช็คพิพาทคืนมาไม่แต่เป็นคำฟ้องที่อ้างว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้แล้ว ดังนี้ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ อยู่ในอำนาจศาลจังหวัดพิจารณาพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 725/2505 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการโอนที่ดินชำระหนี้จำนอง และสิทธิการรับชำระหนี้ของผู้รับจำนองรายหลัง
จำเลยจำนองที่ดินมือเปล่าไว้แก่โจทก์แล้วออกโฉนดนำไปจำนองไว้แก่ผู้อื่น ต่อมาโอนที่รายนี้ให้แก่ผู้รับจำนองรายหลังเป็นการชำระหนี้ โจทก์ทราบจึงฟ้องบังคับจำนองและขอให้เพิกถอนการโอนตามขอ ดังนี้ แม้หนี้จำนองรายหลังหมดไป เมื่อจำเลยโอนที่ให้ก็จริง แต่เมื่อศาลพิพากษาเพิกถอนการโอนชำระหนี้เสียแล้ว การชำระหนี้ก็เป็นอันไร้ผล ผู้รับจำนองรายหลังจึงมีสิทธิร้องขอรับชำระหนี้จำนองของตนได้