พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3638/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิทางผ่านที่ดิน: จำเลยจัดสรรที่ดินสร้างสาธารณูปโภค โจทก์ไม่เคยใช้สิทธิทางผ่านเดิม ศาลยกฟ้อง
ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า "ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยแต่ที่สุดที่จะเป็นไปได้..." ดังนั้น ในการที่จะพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิผ่านที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะในฐานะทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้หรือไม่ เพียงใด ต้องคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ที่ดินแปลงที่ล้อมอยู่ให้น้อยที่สุดเป็นประการสำคัญด้วย เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินในปี 2528 จากนั้นดำเนินการแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยประเภทที่อยู่อาศัย บ้านเดี่ยว บ้านแฝดและอาคารพาณิชย์ รวมกันเกินกว่า 200 แปลง กับจัดสร้างถนนคอนกรีตและกำแพงคอนกรีตเป็นรั้วล้อมรอบที่ดินจัดสรรและบนที่ดินโฉนดเลขที่ 60883 ด้านที่ติดกับที่ดินของโจทก์เพื่อให้เป็นสาธารณูปโภคของที่ดินจัดสรรนับแต่นั้นเป็นต้นมา นาย ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 77725 ในขณะนั้นก็ดี และโจทก์ที่ได้รับโอนที่ดินมาในฐานะผู้จัดการมรดกของ นาย ส. เมื่อปี 2551 ระยะเวลารวมกันนานกว่า 30 ปี นาย ส. และโจทก์ต่างไม่เคยกล่าวอ้างว่าที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตออกยาว 8 เมตร บ่งชี้ว่าการจัดสรรที่ดินของจำเลยที่ดำเนินการมาเป็นเวลานานก่อนถึงวันที่โจทก์บอกกล่าวมิได้มีผลใด ๆ ต่อการออกสู่ทางสาธารณะต่อที่ดินของโจทก์ ทั้งข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า ที่และวิธีทำทางผ่านนั้น โจทก์ได้เลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งได้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม นอกจากนี้ พฤติการณ์ที่เจ้าของที่ดินของโจทก์เดิมมิได้ขวนขวายหาทางออกสู่ทางสาธารณะให้ที่ดินเสียตั้งแต่ได้มาเมื่อปี 2510 และปล่อยทิ้งร้างที่ดินไว้เป็นเวลานาน ครั้นเมื่อปี 2528 จำเลยเข้าไปปรับปรุงที่ดินหลายแปลงด้วยการขออนุญาตจัดสรรและด้วยเงินลงทุนที่สูงมากจนสามารถพัฒนาที่ดินทำให้สภาพแวดล้อมมีความเจริญ มีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก ถนนคอนกรีตมีความสะดวกสบายในการใช้สอยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันยังบ่งชี้ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้เพื่อฉกฉวยโอกาสให้ตนเองกับบริวารสามารถใช้ถนนคอนกรีตในที่ดินจัดสรรได้โดยไม่ต้องลงทุนในการทำถนนด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองและยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ที่ดินของโจทก์ไปในตัว ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 อีกด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตและเข้าไปใช้สอยถนนคอนกรีตบนที่ดินโฉนดเลขที่ 60883 ของจำเลยในฐานะที่เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 77725 ของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5792/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิผ่านที่ดินของผู้อื่นเมื่อที่ดินถูกล้อมรอบ: ทางสาธารณะรวมถึงทางน้ำ แม้จะไม่สะดวก
ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้" ทางสาธารณะมิได้จำกัดเฉพาะทางบกเท่านั้นทางน้ำเช่นแม่น้ำนครชัยศรี ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐก็เป็นทางสาธารณะ แม้การสัญจรทางแม่น้ำนครชัยศรีจะไม่สะดวกไม่สอดคล้องกับความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองเท่าการสัญจรทางบกดังที่โจทก์ทั้งสองอ้าง ก็หาทำให้แม่น้ำนครชัยศรีสิ้นสภาพการเป็นทางสาธารณะไปไม่ ทั้งที่ดินของโจทก์ทั้งสองตลอดแนวด้านทิศตะวันออกติดแม่น้ำนครชัยศรี โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองสู่แม่น้ำนครชัยศรี ต้องข้ามสระ บึง หรือมีที่ชันอันมีระดับที่ดินกับแม่น้ำนครชัยศรีซึ่งเป็นทางสาธารณะสูงกว่ากันมาก อันจะถือเป็นเหตุอนุโลมเสมือนว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2861/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ทางจำเป็น: แม้มีทางออกแต่ถูกจำกัดด้วยสภาพภูมิประเทศและถนนสูงกว่า ทำให้ที่ดินไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ
แม้แต่เดิมโจทก์ใช้ลำห้วยหนองแสงที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์จำเลยเข้าออกสู่ถนนสาธารณะซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ แต่เมื่อในภายหลังได้มีการราดยางและยกระดับถนนสาธารณะสูงขึ้นจนสูงระดับศีรษะ ทำให้โจทก์ใช้ลำห้วยหนองแสงเป็นทางเข้าออกได้ลำบาก เนื่องจากตามปกติลำห้วยหนองแสงซึ่งลึกประมาณ 1 เมตร มีสภาพแห้งไม่มีน้ำ เวลาฝนตกจึงจะมีน้ำขัง แต่เป็นเวลาไม่นานก็จะแห้งอีก ไม่อาจใช้สัญจรไปมาตามปกติได้ ลำห้วยหนองแสงจึงไม่มีสภาพเป็นทางสาธารณะ เมื่อพิจารณาสภาพของลำห้วยหนองแสงในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ต่ำปละลึกไม่สะดวกที่โจทก์จะใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะที่มีระดับสูงกว่ามากเช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่ดินโจทก์มีทางออกได้ แต่มีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากขวางอยู่ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง และต้องบังคับตามความในมาตรา 1349 วรรคหนึ่ง โดยถือว่าที่ดินโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ โจทก์ย่อมมีสิทธิผ่านทางพิพาทในที่ดินจำเลยซึ่งเป็นทางที่จำเลยจะเสียหายน้อยที่สุดเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1979/2500
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิผ่านที่ดินแปลงอื่นเมื่อที่ดินถูกล้อม – การตีความ ม.1349 วรรคสอง
ความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่งจำกัดความในวรรคสองให้แน่นแฟ้นขึ้น กล่าวคือที่ที่อยู่ในวงล้อมนั้นแม้ว่าจะมีทางอื่นออกได้อยู่ก่อนแล้ว แต่ออกหรือผ่านไปได้ลำบากมากเพราะมีสภาพเป็น สระ บึงทะเลฯ ก็ยังให้เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมมีสิทธิผ่านที่ดินแปลงอื่นที่ล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1349 วรรคสอง แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าไม่มีทางอื่นจะออกได้อยู่ก่อนเลยจึงไม่อยู่ในบังคับตามความในวรรคสอง ไม่มีเหตุจะต้องพิเคราะห์ถึงสภาพของการเป็นหรือไม่เป็น สระ บึง ทะเลฯ