คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 434 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค ต้องระบุหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด ฯลฯ" ตามบทบัญญัติดังกล่าวการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดการที่โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับซึ่งจำเลยทั้งสองออกเพื่อชำระหนี้ค่าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดโจทก์ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า "โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย" เป็นที่เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5)
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกด้วยแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าสมควรลงโทษจำเลยทั้งสองสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ เพื่อให้การวินิจฉัยกำหนดโทษของจำเลยทั้งสองเป็นไปตามลำดับศาล เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4204/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานออกเช็ค – ผู้สลักหลังเช็คเป็นตัวการร่วมได้ – เจตนาทุจริต
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 คำว่า "ผู้ใดออกเช็ค" มิได้มีความหมายเฉพาะผู้ออกเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายเท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำความผิดได้ บุคคลอื่นแม้มิใช่ผู้สั่งจ่ายก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คโดยเป็นตัวการร่วมกันตาม ป.อ. มาตรา 83 ได้ ดังนั้น ผู้สลักหลังเช็คจึงอาจเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คได้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาท โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ออกเช็คพิพาทและจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันออกเช็คพิพาทชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุมีคำสั่งให้ระงับการจ่าย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2592-2593/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค: การออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชี หรือสั่งห้ามการใช้เช็ค ถือเป็นความผิดครบองค์ประกอบ
คำบรรยายฟ้องของโจทก์ตามเช็คพิพาทฉบับที่ 2 และที่ 3 เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) และ (3) ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว แม้คำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเช็คพิพาทฉบับที่ 2 และที่ 3 จะมิได้บรรยายว่า จำเลยห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริตตามมาตรา 4 (5) ด้วยก็ตาม ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์ซึ่งบรรยายครบองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 4 (1) และ (3) แล้ว ต้องขาดองค์ประกอบความผิดไปแต่อย่างใดไม่
แม้โจทก์ร่วมจะไม่ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยรับเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าในนามบริษัทโจทก์ร่วมตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 66 อันมีผลให้การกระทำของโจทก์ร่วมและจำเลยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการแก่โจทก์ร่วมและจำเลย แต่ในระหว่างตัวแทนกับตัวการด้วยกัน ตัวแทนจะอ้างบทกฎหมายดังกล่าวเพื่อไม่ต้องรับผิดคืนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับไว้จากลูกค้าของโจทก์ร่วมหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2589/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายจัดตั้งศาลแขวง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิยฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์สละสิทธิหรือไม่ยึดถือสิทธิใดๆ ในเช็คพิพาทอีกต่อไป จึงเป็นการยอมความในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยโดยพิเคราะห์ว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 เมื่อโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์อีก จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ แม้โจทก์จะยื่นฎีกาโดยมีผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่การอนุญาตให้ฎีกาดังกล่าวไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 221 ซึ่งผู้พิพากษาดังกล่าวจะอนุญาตให้ฎีกาได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษานั้นอนุญาตให้ฎีกาในกรณีดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมไม่อาจฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2002/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาและอำนาจศาล: การลงโทษปรับเกิน 1 หมื่นบาท ต้องมีผู้พิพากษามากกว่าหนึ่งคน
คดีนี้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงแรกเป็นเงิน 30,000 บาท และกระทงที่สองเป็นเงิน 25,000 บาท โดยมีผู้พิพากษาลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเพียงคนเดียว เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้น ซึ่งมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับอายุความคดีเช็ค: เริ่มนับวันรุ่งขึ้นตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 และจะครบกำหนด 3 เดือน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 150/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีเช็ค: เริ่มนับจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ไม่ใช่วันที่ออกเช็ค
คดีความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 ซึ่งความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน มิใช่เกิดขึ้นในวันที่ลงในเช็คพิพาท ดังนี้ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ 24 กรกฎาคม 2538 จึงถือว่าความผิดของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นในวันดังกล่าว ฉะนั้น การเริ่มนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นต้นไป มิใช่นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2538 อันเป็นวันที่ลงในเช็คพิพาท เมื่อโจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในวันที่ 20 ตุลาคม 2538 ภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7887/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีเช็ค การบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิด และการกำหนดโทษที่เหมาะสม
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาท 7 ฉบับ ให้แก่โจทก์ เพื่อเป็นการชำระหนี้ตามกฎหมายที่มีอยู่จริง ที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าประเภทเครื่องสำอาง คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าประเภทเครื่องสำอางอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้แนบเอกสารที่แสดงถึงมูลหนี้มาท้ายฟ้องด้วยก็ตาม เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5799/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเช็ค: ผู้เสียหายต้องเป็นผู้ทรงเช็คหรือได้รับมอบอำนาจจากผู้ทรงเช็ค
จำเลยและ ป. ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากบริษัท ร. ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นกรรมการ เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับแม้จะเป็นเช็คออกให้แก่ผู้ซื้อ แต่เป็นเช็คที่จำเลยและ ป. ร่วมกันออกเพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่บริษัท ร. มิใช่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมเป็นส่วนตัว บริษัท ร. จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท แม้โจทก์ร่วมจะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ร. โจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัวก็ไม่อยู่ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาท และมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยได้ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5008-5010/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายทำให้เช็คไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยไม่มีความผิด
โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 24 ต่อปี เกินกว่าอัตราตามกฎหมายย่อมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เมื่อไม่ปรากฏว่าการสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับตามฟ้องแยกเป็นการชำระเงินต้นเท่าใด ชำระดอกเบี้ยเท่าใด จึงถือว่าเช็คตามฟ้องที่จำเลยสั่งจ่ายแก่โจทก์ได้รวมดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเอาไว้ด้วย แม้ธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
of 44