คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/13

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าปรับจากสัญญาจ้างทำไม้: อำนาจฟ้อง, สัญญาไม่เป็นโมฆะ, อายุความ 10 ปี
โจทก์ตั้งสิทธิฟ้องเรียกร้องคดีนี้สืบเนื่องจากการที่จำเลยผิดสัญญาจ้างทำไม้ต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จะต้องถูกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรียกร้องค่าปรับ ค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า ไม่ใช่เรื่องการรับช่วงสิทธิที่โจทก์ต้องชำระค่าปรับก่อนแล้วจึงจะใช้สิทธิฟ้องบังคับเอาจากจำเลยได้ แม้ปรากฏว่าเคยมีมติคณะรัฐมนตรีไม่ให้หน่วยงานราชการฟ้องร้องกันก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการด้วยกันที่มีต่อกันระงับไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าปรับจากจำเลย
โจทก์ได้รับสัมปทานทำไม้จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยทำไม้โดยจำเลยผู้รับจ้างได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่โจทก์ผู้ว่าจ้างขายไม้ที่จำเลยทำได้นั้นให้จำเลยตามราคาที่ตกลงกัน ซึ่งถือเป็นสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการทำไม้แก่จำเลย สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างทำของ ไม่ใช่การขาย ให้เช่า มอบให้หรือโอนไปด้วยประการใดๆ ซึ่งสิทธิอันได้มาตามสัมปทานให้แก่จำเลย ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงไม่เป็นโมฆะ
สัญญาจ้างทำไม้ระบุว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจจากกรมป่าไม้ได้กำหนดจำนวนเงินเบี้ยปรับการทำผิดของผู้รับจ้างและได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ว่าจ้างนำเงินเบี้ยปรับไปชำระ ผู้รับจ้างจะต้องนำเงินเบี้ยปรับไปชำระแทนภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง โจทก์ได้รับแจ้งให้นำเงินค่าปรับไปชำระเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 โจทก์จึงอาจทวงถามให้จำเลยนำเงินค่าปรับไปชำระได้ในวันนั้น และจำเลยต้องนำเงินค่าปรับไปชำระภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2532 หากจำเลยไม่นำเงินค่าปรับไปชำระภายในกำหนด จึงจะถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญานับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดให้จำเลยต้องชำระซึ่งถือเป็นวันเริ่มนับอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/13 เมื่อนับแต่วันเริ่มนับอายุความคือวันที่ 11 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 22 กรกฎาคม 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องค่าจ้างทำของเริ่มต้นเมื่อส่งมอบงานเสร็จสิ้น ไม่ต้องรอทวงถามหนี้
สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามในคดีนี้มิได้มีกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้ให้เจ้าหนี้ต้องทวงถามลูกหนี้เพื่อให้ชำระหนี้เสียก่อนแต่ประการใด จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์อันจะเป็นสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ยังไม่อาจบังคับได้จนกว่าจะได้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระเสียก่อน และเมื่อระยะเวลาที่ได้ทวงถามนั้นได้สิ้นสุดลงแล้วจึงได้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ระยะเวลาที่ได้สิ้นสุดไปแล้วนั้นเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/13 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาสินจ้างจากจำเลยทั้งสามได้ตั้งแต่เมื่อจำเลยทั้งสามรับมอบการงานที่โจทก์ทำเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการตกลงว่าจ้างกันด้วยวิธีการใดก็ตาม เพราะอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่ขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 มิใช่ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่โจทก์ให้เวลาจำเลยทั้งสามชำระหนี้หลังจากที่จำเลยทั้งสามรับทราบการกำหนดราคาหรือประเมินค่าจ้างจากโจทก์ เพราะหากกรณีเป็นดังที่โจทก์ต่อสู้แล้วก็เท่ากับโจทก์สามารถกำหนดวันเริ่มต้นที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปหรืออีกนัยหนึ่งคืออายุความแห่งสิทธิเรียกร้องได้ด้วยตนเองตามอำเภอใจนั่นเอง และตราบใดที่โจทก์ยังไม่ประสงค์ที่จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม โจทก์ก็ยังไม่ต้องส่งหนังสือทวงถามหรือไม่ต้องส่งหนังสือแจ้งการกำหนดราคาค่าจ้างไปให้ฝ่ายผู้ว่าจ้างทราบ การกระทำเช่นนี้ย่อมขัดต่อเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมาย อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรีตามที่โจทก์อ้างก็เป็นระเบียบวิธีปฏิบัติที่ทางราชการอนุโลมหรือผ่อนผันให้ใช้กับงานจ้างของหน่วยงานราชการ ไม่มีผลไปยกเว้นหรือยกเลิกหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ต้องใช้บังคับแก่บุคคลทุกคนโดยเสมอภาคแต่ประการใด ข้อโต้แย้งของโจทก์นี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เอกสารการส่งมอบและรับสินค้า ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามตกลงหรือขอให้โจทก์หักหนี้ค่าจ้างที่จำเลยทั้งสามค้างชำระกับหนี้สินค้าที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลยทั้งสาม กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามทำหนังสือรับสภาพหนี้หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากสงสัยแสดงให้เป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ส่วนใบเซ็นรับเอกสารการประมาณการค่าใช้จ่ายที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเอกสารไว้นั้น ก็ไม่มีข้อความใดที่ระบุหรือแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าเป็นหนี้ตามที่โจทก์อ้าง การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับเอกสารดังกล่าวไว้ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำอันปราศจากสงสัยที่แสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์แต่อย่างใด กรณีตามที่โจทก์อ้างจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 ที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง และการรับสภาพหนี้จะต้องเป็นการกระทำก่อนที่หนี้จะขาดอายุความ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี ตั้งแต่จำเลยทั้งสามรับมอบงานที่โจทก์ทำเสร็จสิ้นแล้ว สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้จ้างทำของทั้ง 3 รายการของโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7436/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าบริการทางกฎหมาย: เริ่มนับเมื่อใด ตามมาตรา 193/13
โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ชำระค่าบริการในการที่โจทก์ร่างสัญญาให้เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเรียกเอาค่าการงานที่ทำให้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (16) ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี
โจทก์ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2540 ย่อมถือได้ว่าเวลาแรกที่โจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ก็คือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป การที่โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2541 วันดังกล่าวมิใช่เวลาแรกที่โจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 193/13 และเมื่อจำเลยยังไม่ต้องชำระหนี้จนกว่าจะพ้นกำหนดเวลา 30 วัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 เกินกว่า 2 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1629/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของ, การโอนสิทธิสัญญา, อายุความ, และการปฏิบัติตามสัญญา
แม้สัญญาการจัดพิมพ์และโฆษณาสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ระหว่างบริษัท ช. กับองค์การ ท. จะมีข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามสัญญาให้แก่ผู้อื่น แต่ข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าวก็มีข้อยกเว้นไว้โดยหากได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากองค์การท. ก็สามารถโอนสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาได้ แสดงว่ามิใช่การห้ามโอนโดยเด็ดขาดและการผิดสัญญาในข้อกำหนดห้ามโอนก็เป็นเพียงการให้สิทธิองค์การ ท. ที่จะบอกเลิกสัญญาได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าทางองค์การ ท. ถือว่าบริษัท ช. กระทำผิดสัญญาและมีการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาประการใด สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยจึงบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยฎีกาว่าทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในตัวบุคคล เพราะเข้าใจว่าโจทก์ได้รับสิทธิมาจากบริษัท ช. นิติกรรมการว่าจ้างจึงเป็นโมฆะนั้น ฎีกาของจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 จึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา
สัญญาการจัดพิมพ์และโฆษณาสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เป็นความรับผิดระหว่างบริษัท ช. กับองค์การ ท. ซึ่งเป็นคู่สัญญา แต่ความรับผิดระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นไปตามสัญญาจ้างทำของ เมื่อสัญญาจ้างทำของมิได้ให้ถือเอาสัญญาการจัดพิมพ์และโฆษณาสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างทำของการนับอายุความจึงต้องแยกจากกัน เมื่อสัญญาจ้างทำของกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าการชำระเงินให้ชำระภายใน30 วัน นับจากวันที่ที่ระบุใบแจ้งหนี้ จึงต้องนับอายุความนับแต่นั้น เพราะเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ ส่วนก่อนหน้านั้นยังไม่มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/13 หาใช่เริ่มนับแต่วันทำสัญญาหรือถือเอาตามสัญญาเดิม
จำเลยว่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือประกอบกิจการเพื่อรับจ้างทำของให้ ทำการโฆษณาสินค้า โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำ สิทธิเรียกร้องจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1) เมื่อตามใบแจ้งหนี้ระบุวันที่ครบกำหนดชำระไว้เป็นวันที่ 30 กรกฎาคม2539 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายในกำหนด2 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1629/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของ, การโอนสิทธิสัญญา, และอายุความค่าจ้าง
แม้สัญญาการจัดพิมพ์และโฆษณาสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ระหว่างบริษัท ช. กับองค์การ ท. จะมีข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามสัญญาให้แก่ผู้อื่น แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้โดยหากได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากองค์การ ท. ก็สามารถโอนได้แสดงว่ามิใช่การห้ามโอนโดยเด็ดขาด และการผิดสัญญาในข้อกำหนดห้ามโอน ก็เป็นเพียงการให้สิทธิองค์การ ท. ที่จะบอกเลิกสัญญาได้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าทางองค์การท. ถือว่าบริษัท ช. กระทำผิดสัญญาและมีการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยจึงบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ
จำเลยฎีกาว่าจำเลยทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในตัวบุคคล เพราะเข้าใจว่าจำเลยโจทก์ได้รับสิทธิมาจากบริษัท ช. นิติกรรมการว่าจ้างจึงเป็นโมฆะนั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 จึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา
สัญญาการจัดพิมพ์และโฆษณาสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เป็นความรับผิดระหว่างบริษัท ช. กับองค์การ ท. ซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่ความรับผิดระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นไปตามสัญญาจ้างทำของซึ่งมิได้ให้ถือเอาสัญญาการจัดพิมพ์และโฆษณาสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างทำของการนับอายุความจึงต้องแยกจากกัน เมื่อสัญญาจ้างทำของกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า การชำระเงินให้ชำระภายใน 30วัน นับจากวันที่ที่ระบุในใบแจ้งหนี้ จึงต้องนับอายุความนับแต่นั้น เพราะเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ ส่วนก่อนหน้านั้นยังไม่มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/13 มิใช่เริ่มนับแต่วันทำสัญญาหรือถือเอาตามสัญญาเดิม
จำเลยว่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเพื่อรับจ้างทำของให้ทำการโฆษณาสินค้า โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) เมื่อตามใบแจ้งหนี้ระบุวันที่ครบกำหนดชำระไว้เป็นวันที่ 30 กรกฎาคม 2539 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายในกำหนด 2 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2251/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายยางแอสฟัลท์ การผิดสัญญา การค้ำประกัน และดอกเบี้ยผิดนัด
ตามประกาศประกวดราคาของกรมทางหลวงโจทก์ ข้อ 3 กำหนดเพียงว่าโจทก์คาดว่าจะลงนามในสัญญากันได้ประมาณ 30 วัน นับจากวันเปิดซองประกวดราคา และตามข้อ 2 ระบุว่า หากว่าโจทก์มีความจำเป็นอันไม่อาจลงนามในสัญญาได้ตามกำหนดเวลาและจำต้องเลื่อนเวลาการลงนามในสัญญาต่อไป ผู้เสนอราคาที่ได้รับเป็นคู่สัญญายินยอมลงนามในสัญญาในระยะเวลาที่เลื่อนต่อไปไม่ถือกรณีเลื่อนเวลาการลงนามในสัญญานี้เป็นข้อผิดสัญญาของโจทก์ประการใด กับในข้อ 4 ระบุว่าต้องยืนราคาที่เสนอขายเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน นับจากวันเปิดซองประกวดราคา ส่วนในข้อ 10ระบุอีกว่า โจทก์จะรับทำสัญญาผูกพันกับผู้ใดต่อเมื่อได้รับอนุมัติงวดเงินสำหรับค่าของรายนี้แล้ว ดังนี้เห็นได้ว่าระยะเวลา 30 วัน เป็นระยะเวลาที่ประมาณไว้และคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ หาได้กำหนดเป็นระยะเวลาแน่นอนที่ต้องลงนามในสัญญาไม่ และในกรณีที่จำต้องเลื่อนเวลาการลงนามในสัญญา ผู้เสนอราคาที่ได้รับเป็นคู่สัญญายินยอมลงนามในสัญญาในระยะเวลาที่เลื่อนต่อไปโดยไม่ถือการเลื่อนเวลาการลงนามในสัญญาเป็นข้อผิดสัญญาของโจทก์ทั้งประกาศประกวดราคาก็กำหนดให้จำเลยที่ 1 ยืนราคาที่เสนอขายเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยื่นใบประกวดราคายืนราคาที่เสนอขายเป็นระยะเวลาดังกล่าวด้วย แสดงว่าการลงนามในสัญญาอาจเกินกว่า 30 วันได้แต่หากเกิน 120 วัน จำเลยที่ 1 ย่อมปฏิเสธที่จะขายในราคาที่เสนอและปฏิเสธการลงนามในสัญญาได้ การที่โจทก์ออกประกาศกำหนดให้ยื่นซองประกวดราคาภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2527 แต่โจทก์เพิ่งประกาศผลการประกวดราคาในวันที่ 6 กันยายน2527 และให้จำเลยมาทำสัญญากับโจทก์ภายใน 15 วัน คือภายในวันที่ 21 กันยายน2527 จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อความในประกาศประกวดราคาและถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการดังกล่าวโดยไม่ชอบ หรือไม่สุจริต
ตามรายการสัญญาซื้อขายยางแอสฟัลท์ที่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญากับโจทก์ในปีงบประมาณ 2527 มีรวมทั้งหมด 19 สัญญา แต่มีสัญญาที่ลงนามกับโจทก์ในเดือนกันยายน 2527 จำนวน 10 สัญญา การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอราคาขายยางตามประกาศประกวดราคาซื้อพัสดุของโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมทราบเงื่อนไขในประกาศประกวดราคาดังกล่าวดี และเมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นซองประกวดราคา จำเลยที่ 1 ย่อมต้องผูกพันและพร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในประกาศประกวดราคาเมื่อจำเลยที่ 1 ประกวดราคาได้รวมทั้งย่อมต้องพร้อมที่จะปฏิบัติตามสัญญาที่ตนลงนามด้วย การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เสนอราคาที่ได้รับเป็นคู่สัญญากับโจทก์ และต้องลงนามในสัญญารวม 10 สัญญาในเดือนกันยายน 2527 เดือนเดียวกัน หาเป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 จะนำมาอ้างว่าการส่งมอบยางเป็นพ้นวิสัยเพราะต้องส่งพร้อม ๆ กัน เป็นจำนวนมากได้ไม่ เพราะเป็นความสมัครใจของจำเลยที่ 1 เองที่เข้าเสนอราคากับโจทก์และยอมลงนามเป็นคู่สัญญากับโจทก์การที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจส่งมอบยางให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ตามสัญญาซื้อขายที่พิพาทในส่วนที่เกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาและเบี้ยปรับมีข้อความว่า
"ข้อ 8. เมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้ว ถ้าผู้ขายไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อ หรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวน ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อริบหลักประกัน หรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7. เป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควรและถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นเต็มจำนวน หรือเฉพาะจำนวนที่ขาดส่งแล้วแต่กรณีภายในกำหนดหกเดือน นับแต่วันที่บอกเลิกสัญญาโดยให้นับวันที่บอกเลิกสัญญาเป็นวันเริ่มต้น ผู้ขายยอมรับผิดชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ด้วย
ข้อ 9. ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8. ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดหนึ่งห้า (0.15) ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วน
ในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา และริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 7. กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 8. วรรคสอง นอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้" ดังนี้ถ้าโจทก์บอกเลิกสัญญาตามข้อ 8 ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับรายวันตามสัญญาข้อ 9 แต่ตามพฤติการณ์คดีนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขายไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญากล่าวคือ ส่งมอบยางแอสฟัลท์เพียงบางส่วนไม่ครบถ้วนไม่ตรงตามกำหนดเวลา และไม่ส่งมอบยางแอสฟัลท์ส่วนที่เหลือให้โจทก์อีกเลย โจทก์มีหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบยางแอสฟัลท์ตามสัญญาซื้อขายภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2528 หากพ้นกำหนดจะพิจารณาบอกเลิกสัญญาและดำเนินการจัดซื้อใหม่ หากของแพงขึ้นจะเรียกค่าเสียหายจากผู้ขายต่อไปโดยสงวนสิทธิเรียกร้องค่าปรับในอัตราร้อยละ 0.15 ของราคายางแอสฟัลท์ที่ยังไม่ได้รับมอบและสงวนสิทธิการเรียกค่าเสียหายอันจะพึงมีขึ้น และจำเลยที่ 1 มีหนังสือขอผ่อนผันการส่งยางแอสฟัลท์ถึงวันที่ 25 กันยายน 2528 แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาที่ไม่ประสงค์จะให้มีการบอกเลิกสัญญาโดยทันที หลังจากนั้นโจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2528 โดยระบุว่า จำเลยที่ 1ยังขาดส่งยางแอสฟัลท์ตามสัญญาดังกล่าว รายการที่ 1-22 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1ผิดสัญญา โจทก์จึงขอบอกเลิกสัญญาโดยสงวนสิทธิที่จะเรียกและริบเงินประกันสัญญาและปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.15 ของราคายางแอสฟัลท์ที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาฉบับนี้ดังนี้ข้อความในหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 9 วรรคสอง ซึ่งโจทก์มีสิทธิริบเงินประกันกับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาของที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งค่าปรับจากจำเลยที่ 1 เป็นรายวันจนถึงวันบอกเลิกสัญญา
ตามหนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ เป็นเงินไม่เกิน 200,321 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใด ซึ่งโจทก์มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับและหรือค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ได้แล้ว จำเลยที่ 2 ยอมชำระเงินแทนให้ทันที โดยมิต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระก่อน ไม่มีข้อจำกัดความรับผิดไว้ว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันเพียงร้อยละ 5 ของจำนวนเงินค่าซื้อยางแอสฟัลท์ที่โจทก์ยังไม่ได้รับทั้งตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็มีข้อความว่าหลักประกันที่จำเลยที่ 1นำมามอบไว้ โจทก์จะคืนให้เมื่อจำเลยที่ 1 พ้นจากข้อผูกพันตามสัญญานี้แล้ว แสดงอยู่ในตัวว่าหนังสือค้ำประกันที่นำมาเป็นหลักประกันเป็นการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายทั้งหมดและตลอดไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะพ้นข้อผูกพันตามสัญญาซื้อขายดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกันและตามหนังสือค้ำประกันมีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับรู้และยินยอมด้วยในกรณีที่โจทก์ได้ยินยอมให้ผัดหรือผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น เป็นการที่จำเลยที่ 2 ยินยอมด้วยล่วงหน้าในการที่หากจะมีการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 และถือว่าการที่โจทก์ผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแล้ว จึงไม่เข้าข่ายที่จำเลยที่ 2 จะหลุดพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 700 แม้จะมีข้อความตอนท้ายของหนังสือค้ำประกันระบุว่า โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น และการที่โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาในเรื่องนี้ก็ตาม ข้อความตอนท้ายดังกล่าวก็มิใช่สาระสำคัญอันเป็นเงื่อนไขว่าหากมิได้ปฏิบัติตามแล้วจะทำให้ข้อความตอนต้นไม่เป็นผล เพราะข้อความตอนต้นของสัญญาค้ำประกันเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่มีผลเป็นการยินยอมด้วยในการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาไปแล้ว มิใช่ข้อสัญญาว่าจะปฏิบัติการชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นเพียงคำขอร้องหรือเสนอแนะเท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด
โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเบี้ยปรับที่ศาลกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224วรรคแรก