คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พิศิฏฐ์ สุดลาภา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 136 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8474/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบอาวุธปืน: ความผิดฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ทำให้ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ต้องริบ
จำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ความผิดจึงอยู่ที่การไม่ได้รับใบอนุญาต หาทำให้อาวุธปืนและซองกระสุนปืนที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนผิดกฎหมายไปไม่ อาวุธปืนดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดอันจะพึงต้องริบ และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 ไม่อาจริบตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ ชอบที่จะต้องส่งคืนแก่เจ้าของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6177/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการในคดีสัญญาจ้างเหมา: การไม่ละเลยประเด็นผิดสัญญาแม้ไม่ใช่ Turn-Key
คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเหมาคดีนี้ไม่ใช่แบบ Turn - Key แต่เป็นสัญญา Design Built จึงจำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า แม้ไม่ใช่สัญญาจ้างเหมาแบบ Turn - Key ผู้ร้องกระทำผิดสัญญาหรือไม่ เพราะข้ออ้างหลักของคำเสนอข้อพิพาท คือ ผู้ร้องกระทำผิดสัญญา มิใช่ว่าเมื่อสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างไม่ใช่สัญญาแบบ Turn - Key เสียแล้วจะต้องตัดประเด็นอื่น ๆ ไปเสียทั้งหมดซึ่งจะทำให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่ตนก่อ อันจะเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น และการที่คำเสนอข้อพิพาทอ้างว่าผู้ร้องทำงานล่าช้า ตอกเสาเข็มไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานวิชาช่าง แล้วขนย้ายคนงานและวัสดุออกไปจากสถานที่ก่อสร้าง อันเป็นการผิดสัญญา ก็หมายความว่าผู้ร้องละทิ้งงานนั่นเอง ดังนั้น ที่คณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าผู้ร้องผิดสัญญาเพราะละทิ้งงาน จึงอยู่ในประเด็นที่คณะอนุญาโตตุลาการกำหนดไว้ ไม่เป็นการวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาท
ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นเรื่องสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างเอกชนกับเอกชนสมัครใจตกลงกัน ข้อสัญญาไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเมื่อฟังได้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากไม่ได้วินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ การยอมรับและการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5275/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกายกคำพิพากษาเดิม สั่งให้สืบพยานเพิ่มเติม กรณีข้อพิพาทอำนาจกรรมการและเจตนาซื้อขายที่ดิน
ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงเพียงพอวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นพิพาทข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผูกพันโจทก์หรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยรับฟังข้อเท็จจริงตามรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ทั้ง ๆ ที่โจทก์แถลงว่าเป็นเอกสารที่เป็นเท็จ และวินิจฉัยประเด็นพิพาทข้อหลังว่าเมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน จำเลยที่ 2 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน ต้องรับฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริต ดังนี้ เท่ากับศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากคำฟ้องและคำให้การของคู่ความ อันจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง แต่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำแถลงรับของคู่ความทั้งสองฝ่าย และนำข้อเท็จจริงที่คู่ความยังโต้เถียงกันมาวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นพิพาททั้งสองข้อ และที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคู่ความทั้งสองไม่ติดใจสืบพยานแล้วนั้น ประเด็นข้อพิพาทข้อแรก การที่คู่ความไม่ติดใจสืบพยาน จึงหมายความแต่เฉพาะในข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันตามที่บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาเท่านั้น มิได้หมายความว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยานใด ๆ เสียทีเดียว ส่วนข้อความตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าประเด็นพิพาทข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายและข้อความต่อไปที่ว่า เมื่อทนายโจทก์และทนายจำเลยที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน กรณีจึงไม่ต้องสืบพยาน เห็นได้ชัดว่าเป็นเพียงคำสั่งที่ให้มีผลว่า ก่อนศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยเบื้องต้นในปัญหานั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง มิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผลต่อคู่ความอันจะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่โจทก์จะต้องโต้แย้งไว้เพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยยังมีข้อโต้เถียงกันว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เป็นการกระทำโดยนอกเหนืออำนาจและนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ จึงสมควรที่จะให้คู่ความทุกฝ่ายได้สืบพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีมานั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา จึงมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานของคู่ความให้สิ้นกระแสความ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5025/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีถึงที่สุดหลังศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีคำฟ้องอุทธรณ์ไม่ชอบ
การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 215 ประกอบมาตรา 158 (7) การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีศาลฎีกาได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 แล้ว แม้จะไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายอันศาลฎีกาจะพึงรับวินิจฉัยหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3711/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าต้องกระทำต่อหน้าผู้เสียหาย ฎีกานี้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 393 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยอยู่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3094/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก: ผู้ถือหุ้นที่ออกค่าปลงศพไม่มีสิทธิ
ผู้ร้องเป็นเพียงนิติบุคคลซึ่งผู้ตายถือหุ้นอยู่ ถึงแม้ว่าผู้ร้องจะเป็นผู้จัดการทำศพของผู้ตาย และได้ออกเงินค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ แต่ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดก หรือบุคคลที่ผู้ตายแต่งตั้งไว้ให้มีหน้าที่จัดการทำศพ หรือบุคคลที่ทายาทมอบหมายให้มีหน้าที่จัดการทำศพ หรือผู้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด หรือบุคคลที่ศาลเห็นสมควรตั้งให้จัดการทำศพ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพตาม ป.พ.พ. มาตรา 1649 ค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพผู้ตายที่ผู้ร้องจ่ายไปจึงไม่เกิดมีหนี้เป็นคุณในการจัดการทำศพนั้น อันอาจเรียกได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 253 (2) ดังที่ บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1650 ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะใช้สิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2514/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดขัดขวางเจ้าพนักงานและการประมาทเลี่ยงได้หากบรรยายตามลำดับเหตุการณ์ชอบ
ฟ้องโจทก์บรรยายอ้างว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติการตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมายในขณะเข้าทำการตรวจค้นจำเลยกับพวก โดยบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดเริ่มตั้งแต่จำเลยฉวยโอกาสขึ้นไปบนรถยนต์ซึ่งจอดอยู่แล้วติดเครื่องยนต์รถขับถอยหลัง อันเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงการกระทำว่าจำเลยกระทำโดยเจตนา และโจทก์บรรยายต่อไปถึงการกระทำของจำเลยต่อเนื่องกันว่า แล้วจำเลยขับรถถอยหลังออกไปอย่างรวดเร็วด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ซึ่งจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ รถที่จำเลยขับถอยออกไปอย่างรวดเร็วเฉี่ยวชนกระแทกถูกดาบตำรวจ พ. เจ้าพนักงานตำรวจล้มลง เป็นเหตุให้ดาบตำรวจ พ. รับอันตรายสาหัส และชนรถจักรยานยนต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับรถยนต์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ ธ. ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำขัดขวางของจำเลยที่ติดต่อต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดตอนว่าเป็นการกระทำโดยประมาท มิใช่เป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงการกระทำการขัดขวางอันเป็นการกระทำในเวลาเดียวกันกับการกระทำตอนเริ่มต้นที่จำเลยฉวยโอกาสขึ้นไปบนรถแล้วขับรถถอยหลังออกไป กรณีจึงมิใช่เรื่องฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำอันเป็นการขัดขวางของจำเลยโดยแสดงว่าเป็นการกระทำโดยประมาทและเจตนา ซึ่งขัดแย้งกันหรือเป็นไปไม่ได้ในเวลาเดียวกัน ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไปตามลำดับเหตุการณ์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว ไม่เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หมิ่นประมาททางหนังสือพิมพ์: ศาลฎีกายืนโทษ แต่แก้คำพิพากษาเรื่องการโฆษณาคำขออภัย
ป.อ. มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาเท่านั้น มิได้มีกฎหมายให้อำนาจศาลสั่งให้โฆษณาคำขออภัยด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำขออภัยโจทก์จึงเป็นการลงโทษจำเลยที่ 2 นอกเหนือจากโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ต้องห้ามตาม ป.อ มาตรา 2 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเช่าเป็นสินสมรส: แม้เป็นเพียงสิทธิการเช่าก็มีมูลค่าและถือครองได้ หากได้มาช่วงสมรส
อาคารพาณิชย์เลขที่ 35 และ 36 ที่โจทก์และจำเลยเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แม้มีเพียงสิทธิการเช่า แต่สิทธิการเช่าก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่มีราคาและถือเอาได้ เมื่อได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส และตรงตามบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง จำเลยจึงต้องแบ่งสินสมรสให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21814/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญา: ผู้ตายมีส่วนก่อเหตุย่อมไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยฆ่า น. ผู้ตาย โดยบันดาลโทสะ ผู้ตายจึงมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ดังนั้น ตามคำฟ้องของโจทก์ถือว่าผู้ตายมิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและมารดาผู้ตายจึงไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ บ. และ อ. เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนี้ บ. และ อ. จึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์และฎีกาด้วย
of 14