พบผลลัพธ์ทั้งหมด 136 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4503/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินอันเกิดจากการฉ้อฉล เพื่อบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แต่ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ได้เนื่องจากทรัพย์สินที่ยึดมีภาระหนี้จำนองไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ ซึ่งเป็นการฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองอันเกิดจากการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ให้ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 เพื่อการใช้สิทธิในการบังคับคดีของโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องและมีคำขอตอนท้าย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้ตกเป็นของบุตรทั้งสี่ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะโจทก์ได้เลือกใช้สิทธิในการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 9 แล้ว จึงไม่อาจย้อนกลับมาบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 4 ได้อีก แต่คำฟ้องและคำขอบังคับถือเป็นคนละส่วนกัน ไม่มีผลทำให้คำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์ในตอนแรกที่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบต้องเสียไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4071/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อตกลงท้าคดีอาญาผูกพันคดีแพ่ง: ผลคำพิพากษาคดีอาญาเป็นข้อแพ้ชนะในคดีแพ่งตามที่ตกลง
การที่คู่ความตกลงท้ากันให้ถือเอาผลของคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3604/2555 ของศาลชั้นต้น เป็นข้อแพ้ชนะคดีนี้แทน ถือเป็นกระบวนพิจารณาที่คู่ความตกลงกันในประเด็นแห่งคดี เพราะเป็นคำท้าที่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญาซึ่งมีคู่ความรายเดียวกันและในมูลกรณีเดียวกันกับคดีนี้ จึงเป็นคำท้าที่ชอบด้วยกฎหมายมีผลผูกพันคู่ความและศาลต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามคำท้านั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคหนึ่ง กรณีถือได้ว่าจำเลยยอมรับอำนาจศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีอาญาแล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดโดยฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นบุตรผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง คำท้าจึงมีผลผูกพันจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2027/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สุจริตในการซื้อขายฝากที่ดิน: หนังสือรับรองสินส่วนตัวและจำนองธนาคารเป็นหลักฐานสำคัญ
ตามหนังสือรับรอง ระบุว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำเอกสารขึ้นวันเดียวกับวันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ม. โดยทำต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความว่า โจทก์รับรองว่าเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นสินส่วนตัวหรือทรัพย์ส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ทั้งหนังสือรับรองฉบับนี้มีคำแปลภาษาอังกฤษทุกข้อความ โจทก์ย่อมเข้าใจความหมายทั้งหมด เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารราชการเก็บอยู่ที่สำนักงานที่ดิน บุคคลอื่นสามารถตรวจสอบได้ก่อนทำสัญญาขายฝาก จำเลยที่ 2 ได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าวแล้วทำให้เชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่ระบุในเอกสารได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นสามี อีกทั้งตามสำเนาโฉนดที่ดิน ระบุว่า ในวันทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับ ม. จำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างนี้ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคาร ซึ่งในสัญญาจำนองก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้และผู้จำนองเพียงผู้เดียว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ให้ความยินยอมในการทำสัญญาดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 ไว้ จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1858/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาพิพาท (Funding Agreement) ไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน และศาลยืนตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ปี 2538 ผู้ร้องกับบริษัท ท. ร่วมกันจัดตั้งบริษัทกิจการร่วมค้า ตามคำคัดค้านชั้นอนุญาโตตุลาการ ปี 2544 บริษัทกิจการร่วมค้าดังกล่าวทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้คัดค้าน โดยผู้ร้องทำสัญญาพิพาทไว้กับผู้คัดค้านรับรองว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้โครงการของผู้กู้แล้วเสร็จ โดยเอกสารระบุว่าสัญญานี้อยู่ภายใต้บังคับและการตีความตามกฎหมายไทย ซึ่งกฎหมายไทยไม่มีบทบัญญัติว่าจะต้องนำสัญญาดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อหน่วยงานของรัฐก่อนการมีผลใช้บังคับ แม้ผู้ร้องไม่ได้นำสัญญาไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ก็ไม่ทำให้ผู้ร้องบกพร่องความสามารถในการเข้าทำสัญญาตามกฎหมายไทย สัญญาพิพาทจึงสมบูรณ์ เมื่อสัญญาพิพาท ข้อ 2 ระบุว่าผู้ร้องให้คำรับรองว่าจะสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทกิจการร่วมค้า ผู้กู้ เพื่อให้สามารถทำโครงการจนแล้วเสร็จ และข้อ 3 ระบุว่าผู้ร้องจะชำระเงินแก่ผู้คัดค้านในฐานะผู้ให้กู้สำหรับการขาดทุน ต้นทุน ค่าใช้จ่าย และค่าเสียหายต่าง ๆ เนื่องจากผู้ร้องไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 2 ดังนั้น ข้อตกลงหลักของสัญญาพิพาทคือผู้ร้องมีหน้าที่สนับสนุนทางการเงินแก่ผู้กู้ จะมีความรับผิดต้องชำระเงินแก่ผู้ให้กู้ต่อเมื่อผู้ร้องไม่ปฏิบัติหน้าที่ข้างต้น ไม่ใช่ข้อตกลงที่ผู้ร้องยอมผูกพันตนชำระหนี้แก่ผู้ให้กู้หากผู้กู้ไม่ชำระ สัญญาพิพาท (Funding Agreement) จึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. แต่เป็นสัญญาทางแพ่งประเภทหนึ่งที่ไม่มีชื่อระบุใน ป.พ.พ. แม้ผู้คัดค้านขยายระยะเวลาการชำระหนี้แก่ลูกหนี้ ผู้ร้องก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิด ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคดีนี้ชอบด้วยกฎหมาย การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่มีเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1593/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการรับเงินประจำตำแหน่ง ส.ส. แม้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่ต้องรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและแจ้งประธานสภา
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (2) บัญญัติให้สมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อผู้นั้นเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ตามมาตรา 92 บัญญัติให้การสิ้นสุดสมาชิกภาพดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงแล้วแต่กรณี คดีนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลาย เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงหรือไม่ แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกภาพของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังกล่าว ประกอบกับในระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 จำเลยทั้งเจ็ดยังคงทำหน้าที่มิได้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ ดังนั้น จำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่ต้องคืนเงินที่รับไประหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1465/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยตามพยานหลักฐานในสำนวนได้ชอบแล้ว การโต้แย้งดุลพินิจข้อเท็จจริงไม่อาจขอเพิกถอนได้
การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งหลายที่อยู่ในสำนวน มิใช่พิจารณาจากพยานหลักฐานชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือสองชิ้นเท่านั้น คดีนี้คณะอนุญาโตตุลาการได้พิจารณาพยานหลักฐานของคู่พิพาททั้งสองฝ่าย ทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริง คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการย่อมชอบด้วยกฎหมาย คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการขัดแย้งต่อพยานหลักฐานในสำนวน จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ให้ผู้คัดค้านขอเพิกถอนหรือไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท: โฉนดที่ดินมีน้ำหนักกว่าการครอบครอง
แม้โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ส่วนฝ่ายจำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ก็ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเช่นกัน แต่มาตรา 1367 เป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครอง จึงต้องบังคับตามมาตรา 1373 ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหมดสิทธิในที่ดินจากการทิ้งร้างและย้ายภูมิลำเนา ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์สระแก้ว อันเป็นที่ดินของรัฐที่เพียงแต่อนุญาตให้สมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้วที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการของการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้ได้เข้าทำประโยชน์เท่านั้น แม้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถนำที่ดินของรัฐที่ทำประโยชน์อยู่ไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามมาตรา 11 วรรคสองก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังมิได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐที่เพียงอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ได้เท่านั้น มิได้มอบสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์เด็ดขาดให้แก่ผู้ใด จำเลยเพิ่งจะยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้ว เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับอนุญาตจากนิคมสหกรณ์สระแก้วให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์สระแก้ว ดังนั้น แม้จำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทมาจาก ม. และทำประโยชน์โดยปลูกต้นยูคาลิปตัสบนที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2550 ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของนิคมสหกรณ์สระแก้วได้ ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้วที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2550 แต่ที่ดินพิพาทก็มิใช่ที่ดินที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน โจทก์ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่ามีสิทธิในที่ดินพิพาทและมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย เดิมโจทก์มีภูมิลำเนาที่บ้านเลขที่ 600 หมู่ที่ 4 ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 โจทก์ย้ายภูมิลำเนาไปบ้านเลขที่ 600/1 หมู่ที่ 4 ตำบล อำเภอ และจังหวัดเดียวกัน ก่อนจะย้ายภูมิลำเนาไปบ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 15 ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2549 ดังนั้น ก่อนออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) เลขที่ 164 ให้แก่โจทก์ในวันที่ 11 มกราคม 2551 โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสมุทรปราการตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2547 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2549 กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์ไปจากนิคมสหกรณ์สระแก้วเกินหกเดือน ซึ่งเป็นผลให้โจทก์ขาดจากการเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์สระแก้วและหมดสิทธิในที่ดินพิพาท ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 13 แม้โจทก์จะอ้างว่าเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2547 ไม่ได้สละสิทธิในที่ดินพิพาท เนื่องจากถูก ส. พี่สาวโจทก์หลอกก็ตาม แต่การที่โจทก์ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่กับหัวหน้านิคมสหกรณ์สระแก้วนั้น เท่ากับโจทก์รู้แล้วว่าโจทก์พ้นจากการเป็นสมาชิกเพราะไปจากนิคมสหกรณ์สระแก้วเกินหกเดือนจึงเป็นเหตุให้โจทก์ต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ และการที่หัวหน้านิคมสหกรณ์สระแก้วเรียกโจทก์ไปพบเพื่อสอบถามเรื่องการสละสิทธิในที่ดินพิพาทนั้นยังถือได้ว่านิคมสหกรณ์สระแก้วทราบถึงการแสดงเจตนาสละสิทธิในที่ดินพิพาทของโจทก์แล้ว พฤติการณ์ของโจทก์ที่สละสิทธิไม่ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและย้ายไปที่อยู่อื่นแล้ว ภายหลังย้ายชื่อในทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในเขตนิคมสหกรณ์สระแก้วทั้งที่ไม่ได้มาอยู่จริงจึงเป็นเพียงเพื่อให้ได้สิทธิในการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทกลับคืนมาเท่านั้น แต่เมื่อโจทก์หมดสิทธิในการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของนิคมสหกรณ์สระแก้วไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 517/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อตกลงหย่าโดยความยินยอมตามมาตรา 1514 พ.ร.บ.แพ่งฯ: ความถูกต้องของลายมือชื่อพยาน
ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี มีข้อความว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไป จึงได้ตกลงดังนี้ ในเรื่องการหย่านั้น ฝ่ายหญิงจะดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไป โดยมีโจทก์ จำเลย พนักงานสอบสวน และเจ้าพนักงานตำรวจอีกนายหนึ่งลงลายมือชื่อไว้ บันทึกดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยโดยตรง มีข้อความชัดเจนว่า ทั้งสองไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไป คือต้องการแยกทางกันหรือหย่ากันนั่นเอง แม้มีข้อความในข้อ 2 ว่า ฝ่ายหญิง คือโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องหย่าตามกฎหมายต่อไปก็เป็นความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายว่าจะต้องไปดำเนินการฟ้องหย่าต่อกันเท่านั้น ข้อความดังกล่าวมิได้ลบล้างเจตนาที่แท้จริงของทั้งโจทก์และจำเลยที่ไม่ประสงค์จะอยู่กินกันต่อไปแต่อย่างใด บันทึกดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่โจทก์จำเลยประสงค์จะหย่ากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1514 พนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานตำรวจที่ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้เขียนบันทึก เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ ได้รับรู้ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยตามข้อความในบันทึกดังกล่าว ถือได้ว่าคนทั้งสองได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะพยานผู้ทำบันทึกแล้ว จึงถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจปกครองบุตร: กรณีผลตรวจ DNA ขัดแย้งกับข้อตกลงในทะเบียนหย่า และฟ้องแย้งไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม
โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอบังคับให้โจทก์มีอำนาจปกครองเด็กหญิง จ. แต่เพียงผู้เดียวพร้อมทั้งให้จำเลยส่งมอบบุตรผู้เยาว์คืนโจทก์ โดยเป็นการเรียกบุตรคืนโดยอาศัยอำนาจปกครองบุตรตามที่โจทก์กับจำเลยทำบันทึกไว้ท้ายทะเบียนหย่า จำเลยฟ้องแย้งโดยขอให้ชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยต้องจ่ายไป ทั้งนี้หลังจากที่มีการทราบผลการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมว่าจำเลยไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมเป็นบิดาของเด็กหญิง จ. ฟ้องแย้งในส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นฟ้องแย้งที่อาศัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ในระหว่างพิจารณาคดีโดยเป็นการบังคับแก่โจทก์ให้ชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคนละเรื่องกับคำฟ้องของโจทก์ซึ่งไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6