คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พิศิฏฐ์ สุดลาภา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 136 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10313/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: การประมาทเลินเล่อร่วมกัน, การรับผิดของนายจ้าง, และขอบเขตความรับผิด
โจทก์เป็นภริยาของ ส. แม้ ส. จะเป็นเจ้าของรถตู้คันเกิดเหตุและโดยสารมาในรถตู้คันเกิดเหตุที่มี ว. ลูกจ้างของ ส. เป็นผู้ขับรถตู้คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. มีส่วนประมาทเลินเล่อในเหตุการณ์รถชนที่เกิดขึ้น การที่ ส. ถึงแก่ความตายจึงเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของ ว. และของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับรถบรรทุกและรถพ่วงคู่กรณี ว. และ จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการตายของ ส. ด้วยกัน และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจำเลยที่ 1 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ซึ่งฟ้องในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ณ. ทายาทของ ส. ผู้ตาย แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เพียงฝ่ายเดียวโดยมิได้ฟ้อง ว. ลูกจ้าง ส. ให้ร่วมรับผิดด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กับ ว. ต้องรับผิดเท่ากัน และให้ลดค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ลงกึ่งหนึ่งจึงชอบแล้ว
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เด็กหญิง ณ. มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น แม้เรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งคู่ความอาจยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในข้อดังกล่าวไว้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10129/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเนื่องจากข้อจำกัดการฎีกาในคดีเยาวชนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 91 รวมจำคุก 3 ปี 9 เดือน และปรับ 25 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 จำคุก 7 วัน โทษจำคุกให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี ยกฟ้องข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น และร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยเปิดเผยและโดยไม่มีเหตุสมควร ซึ่งเป็นการแก้ทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษอันเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามไม่ให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 การที่โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพรับฟังได้ว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายและร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยและโดยไม่มีเหตุสมควรอันเป็นความผิดตามฟ้อง เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9857/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย: ลูกจ้างในทางการจ้างไม่ใช่บุคคลภายนอก
อนุญาโตตุลาการสืบพยานของคู่พิพาทเสร็จแล้ว รับฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของ ช. มีหน้าที่ขนไก่ขึ้นลงจากรถ วันเกิดเหตุหลังจากส่งไก่เสร็จแล้ว ช. จะไปซื้อหญ้าที่อำเภอองครักษ์มาปลูกที่บ้าน ผู้ตายขอไปด้วยเพราะรู้จักสถานที่ จึงโดยสารมาในรถ ระหว่างที่ ช. ขับรถยนต์พาผู้ตายกลับบ้าน เกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระหว่างทางการที่จ้าง ผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ตายเดินทางไปกับ ช. หลังจากเสร็จสิ้นการส่งไก่ ไม่ใช่ทางการที่จ้าง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยข้อเท็จจริง ไม่ใช่กรณีที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (1) (2) วรรคสาม ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชอบแล้ว ส่วนอุทธรณ์ของผู้ร้องอีกข้อหนึ่งว่า ตามเงื่อนไขท้ายกรมธรรม์ หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านไม่อาจยกความไม่สมบูรณ์ของกรมธรรม์หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก เพื่อปฏิเสธความรับผิดนั้น แต่เงื่อนไขท้ายกรมธรรม์หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 1.1 วรรคท้าย ระบุว่า บุคคลภายนอกไม่รวมถึงผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายตลอดจนลูกจ้างในทางการที่จ้างของผู้ขับขี่ ผู้ตายจึงไม่ใช่บุคคลภายนอกตามความหมายในเงื่อนไขกรมธรรม์ข้อนี้ ผู้คัดค้านย่อมไม่ถูกห้ามปฏิเสธความรับผิดตามเงื่อนไขข้อ 8 ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงไม่ขัดต่อข้อสัญญา การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำสั่งของศาลชั้นต้นก็ไม่ได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) (2) วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9661/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานเบียดบังทรัพย์โดยทุจริต: การร่วมวางแผนและบทบัญญัติผู้ช่วยเหลือ
พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 308 กำหนดความผิดของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เบียดบังเอาทรัพย์ของนิติบุคคลเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่ง ไม่ได้เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของโจทก์ร่วม แม้การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการสั่งจ่ายเช็คที่ไม่มีเงินและไม่มีวงเงินในบัญชีกระแสรายวัน แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราวโดยมิชอบ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้เงินดังกล่าวไปจากโจทก์ร่วม ซึ่งลักษณะเป็นการร่วมวางแผนและร่วมลงมือมาแต่ต้น แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นตัวการได้ อย่างไรก็ดี บทบัญญัติมาตรา 315 ได้กำหนดความผิดไว้โดยเฉพาะสำหรับผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กระทำความผิดตามมาตรา 308 ไม่ว่าก่อนหรือขณะกระทำความผิดแล้ว อาชญากรรมทางธุรกิจมีความซับซ้อนหลายขั้นตอน การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนดังกล่าว อันเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 308 จึงไม่ต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9375/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเจ้าหนี้ซ้ำ ศาลวินิจฉัยเป็นกระบวนการซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องย่อมมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนตามคำร้องในวันนัดไต่สวน อันเป็นการสืบพยานเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี มิใช่การสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีที่โจทก์และจำเลยพิพาทกัน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดที่ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 มาใช้บังคับดังที่ผู้ร้องฎีกา เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้อง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่มีพยานมาไต่สวนให้ได้ความตามคำร้อง ให้ยกคำร้อง ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิฉบับนี้โดยอ้างเหตุว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาจากผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ อันเป็นเหตุเดียวกันกับคำร้องฉบับก่อนที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้ว คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8904/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ซื้อประมูลห้องชุดต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนกลางค้างชำระของเจ้าของเดิม หากทราบก่อนประมูลและประกาศขายทอดตลาดระบุไว้
โจทก์รู้ตั้งแต่ก่อนประมูลซื้อห้องชุดว่า เจ้าของร่วมเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ทั้งตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่ค้างชำระด้วย การที่โจทก์เข้าร่วมประมูลซื้อห้องชุดรายนี้เท่ากับโจทก์ตกลงยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดดังกล่าวกับเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า หากโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อห้องชุดได้และมีหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางที่ค้างชำระอยู่โจทก์ยินยอมเป็นผู้รับผิดชำระหนี้รายนี้ เมื่อปรากฏว่าเจ้าของร่วมเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มให้แก่จำเลยที่ 1 ที่โจทก์อ้าง ป.วิ.พ. มาตรา 309 จัตวา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2558 มาตรา 3 ที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบอกกล่าวให้นิติบุคคลอาคารชุดแจ้งรายการหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเพื่อออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว เมื่อขายทอดตลาดแล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจนถึงวันขายทอดตลาดแก่นิติบุคคลอาคารชุดก่อนเจ้าหนี้จำนอง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้นั้น มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป แต่การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 309 จัตวา มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ เมื่อโจทก์ไม่ยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่เจ้าของร่วมเดิมค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8823/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าพนักงานใช้อำนาจโดยทุจริต และมีส่วนได้เสียในหน้าที่ โครงการสาธิตในที่ดินภริยา
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 152 ไม่มีองค์ประกอบของความผิดหรือมูลเหตุชักจูงใจว่า อันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกส้มเขียวหวานปลอดโรค "การจัดทำแปลงสาธิตระบบการให้น้ำเหนือผิวดิน" โดยดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการตั้งแต่เริ่มจนแล้วเสร็จ ไม่ปรากฏว่ามีขั้นตอนใดที่กระทำโดยฝ่าฝืนระเบียบหรือมีระเบียบห้ามไว้ ในขั้นตอนของการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และขั้นตอนการตรวจรับและการติดตั้งก็ไม่ปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกิดขึ้น แต่พื้นที่แปลงสาธิตเป็นของ ส. ภริยาของจำเลย แม้การจัดหาที่ดินแปลงสาธิตจะเป็นดังที่จำเลยอ้างว่าเกษตรอำเภอแม่วงก์เป็นผู้จัดหาที่ดินและเกษตรกรได้รับประโยชน์จากแปลงสาธิตก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบของตนได้ เพราะเกิดมีความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของผู้มีตำแหน่งหน้าที่และมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด การนำที่ดินของ ส. มาดำเนินการโดยมีการนำวัสดุอุปกรณ์และกิ่งพันธุ์ส้มเขียวหวานปลอดโรคมาลงในที่ดิน ที่ดินของ ส. ย่อมได้รับประโยชน์อยู่ในตัวโดยปริยาย เมื่อจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่กำกับดูแลกิจการโครงการดังกล่าว ถือว่าจำเลยเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับภริยาตนเนื่องด้วยกิจการนั้น จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 152

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8784/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของมารดาผู้ตายในคดีอาญา ผู้ตายมีส่วนร่วมในการวิวาท
พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความว่า ผู้ตายเป็นฝ่ายเริ่มก่อเหตุ เมื่อเห็นรถจักรยานยนต์ของจำเลยเสียหลักล้มลง ผู้ตายวิ่งเข้าหาจำเลย จำเลยวิ่งหนี ผู้ตายวิ่งไล่ตามไป ครั้นเมื่อวิ่งไปทันผู้ตายวิวาทชกต่อยจำเลย ต่อมาจึงถูกจำเลยกับพวกใช้อาวุธมีดฟันและแทงจนถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายสมัครใจเข้าวิวาทกับจำเลยจึงมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอในคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7301/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนคืนการให้ที่ดินเนื่องจากพฤติกรรมเนรคุณ การด่าว่าเป็นคนจัญไรถือเป็นการหมิ่นประมาทร้ายแรง
จำเลยด่าโจทก์ว่า เป็นคนจัญไร ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า "เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล" อันเป็นถ้อยคำรุนแรงไร้ความเคารพนับถือเป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดาผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7072/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหย่า, ค่าเลี้ยงดูบุตร, อำนาจปกครองบุตร, สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู, การเปลี่ยนแปลงสถานะทางครอบครัว
ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่าจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง อีกฝ่ายหนึ่งจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1526 วรรคหนึ่ง แต่แม้จะได้ความว่าการหย่าเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นความผิดของฝ่ายจำเลยก็ตาม แต่ศาลจะกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงว่าอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงด้วย โจทก์มีอาชีพรับจ้างตัดต่อภาพทางคอมพิวเตอร์ มีรายได้ประมาณเดือนละ 5,000 บาท โจทก์เป็นบุตรคนเดียวของบิดามารดา บิดารับราชการแต่เกษียณอายุแล้ว มารดาเป็นแม่บ้าน เมื่อแยกทางกับจำเลยแล้วโจทก์ต้องกลับไปพักอาศัยกับบิดามารดา ต้องช่วยค่าใช้จ่ายในบ้านด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการหย่าเป็นเหตุให้โจทก์ยากจนลง แต่เมื่อปรากฏจากรายงานผลการกำกับการทดลองปกครองเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ครั้งที่ 1 ของผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 โจทก์ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับ อ. ซึ่งเป็นคู่ครองใหม่ของโจทก์แล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าเป็นการอยู่กินฉันสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นพฤติการณ์ที่ศาลสามารถนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ ศาลฎีกาสมควรกำหนดให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2557 และเมื่อปรากฏว่าโจทก์อยู่กินกันกับคู่ครองคนใหม่ซึ่งมีบุตรชายที่มีอายุมากกว่าบุตรสาวจำเลย 1 คน เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และพักอาศัยอยู่ร่วมกันโดยโจทก์นำบุตรพักนอนอยู่ห้องเดียวกับสามีใหม่ เป็นการไม่เหมาะสม และอาจเกิดอันตรายแก่บุตรสาวของจำเลยได้ ทั้ง อ. เคยทำร้ายร่างกายจำเลยจนถูกศาลชั้นต้นพิจารณาลงโทษไปแล้ว และโจทก์ก็มีบุตรกับสามีใหม่แล้ว โจทก์ยังไม่ได้ประกอบอาชีพเพราะมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรใหม่ สำหรับผู้เยาว์ โจทก์พาไปฝากบิดามารดาของโจทก์เลี้ยงบ้าง ทั้งโจทก์ยังนำผู้เยาว์ซึ่งอายุ 7 ปีแล้ว ไปนอนรวมห้องเดียวกับสามีใหม่ แสดงว่าบ้านพักอาศัยคับแคบ และสามีใหม่ของโจทก์มีบุตรชายติดมาด้วย 1 คน แสดงว่ารายได้ของโจทก์และสถานที่พักอาศัยของโจทก์ไม่เอื้ออำนวยให้โจทก์อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้ได้เหมาะสมตลอดจนปลอดภัยต่ออนาคตและสวัสดิภาพของผู้เยาว์ได้ จำเลยในฐานะบิดาย่อมเล็งเห็นสภาพข้อเท็จจริงที่โจทก์เลี้ยงดูผู้เยาว์รวมทั้งสภาพแวดล้อมและความประพฤติอุปนิสัยของบุคคลรอบข้างผู้เยาว์และหาหนทางป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เยาว์ได้ดี เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของผู้เยาว์ จึงเห็นสมควรให้ผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลย เมื่อศาลฎีกากำหนดให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวแล้ว จำเลยย่อมต้องเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์แก่โจทก์อีก
of 14